- บทสัมภาษณ์ | เดือนตุลาคม 2561
- เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
- ภาพ | ปิ่นพงศ์ เนียมมะณี
- โลกเปลี่ยนแปลงได้จากฝันที่ยิ่งใหญ่ และฝันที่ยิ่งใหญ่ก็อาจเกิดมาจากคนตัวเล็กๆ
…เช่นเดียวกับ ‘ภี’ ภาดา โพธิ์สอาด นักส่งเสริมนวัตกรรมสาวแห่ง NIA ที่มีฝันอยากจะเปลี่ยนโลกด้วยไอที แม้วันนี้เธอจะยอมรับว่าความฝันนั้นยังไม่เป็นจริง แต่ถ้าอ่านบทสัมภาษณ์แล้วจะพบว่า เธอมาไกลไม่น้อยจากวันแรกที่ฝัน และจากจุดที่เธออยู่ในวันนี้ ถ้าความฝันของเธอจะเป็นจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
อยากเปลี่ยนโลกด้วยไอที
ภีชอบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ เด็กทุกคนชอบเล่นเกมอยู่แล้ว เริ่มจากตอนเด็กๆ ชอบเล่นเกมก็เลยคิดว่าถ้าเราอยากจะสร้างเกมของตัวเองจะทำอย่างไร เลยไปร้านหนังสือและลองซื้อหนังสือเกี่ยวกับการสร้างเกมมาเขียนเองดู เริ่มเขียนโปรแกรม ลองด้วยตัวเอง พอเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงตัดสินใจเรียนภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะตอนที่ไปศึกษาดูงานแต่ละคณะ แต่ละสาขาวิชา มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้บอกไว้ว่าถ้าอยากจะสร้างผลงานอะไรบางอย่างที่มีผลกระทบ (Impact) กับคนทั้งโลกให้เลือกเรียนทางด้านไอทีและคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราก็มองว่าถ้าอยากสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างให้โลกใบนี้ เครื่องมือทางด้านไอทีมันสามารถทำได้
จาก Senior Project สู่ NSC
ตอนแรกก็ไม่รู้ว่า NSC คืออะไร ตอนนั้นมีโฆษณาที่คณะฯ แล้วอาจารย์บอกว่างานของคุณมีศักยภาพที่สามารถส่งประกวดได้นะ ก็เลยตัดสินใจลองส่งผลงานเข้าแข่งขันดู ผลงานนี้เป็น Senior Project ด้วย เป็นของเล่นโต้ตอบอัตโนมัติสำหรับเด็กพิการทางสายตา ตอนนั้นคิดว่าอยากจะทำของเล่นที่เป็นแนว Interactive Toys สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นกลุ่มผู้ใช้ (User) ที่เฉพาะเจาะจง คิดว่าถ้าเราทำเป็นบล็อกที่กดแล้วมีเสียง หรือมีการสั่น หรือมีเทกเจอร์ (Texture) หรือมีอะไรบางอย่างที่แตกต่าง มันจะเป็นอย่างไร ก็เลยเอาฮาร์ดแวร์มาเล่น เอาซอฟต์แวร์มาเล่นค่ะ ได้ไปถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่ว่าไม่ได้รางวัล
เปิดมุมมองเมื่อได้ลองแข่ง
NSC เป็นเหมือนเวทีที่ทำให้ภีรู้สึกว่าได้เปิดมุมมองอะไรหลายอย่างมากขึ้น อย่างตอนแรกเราเคยอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย เคยเจอแต่เพื่อนที่เรียนมาเหมือนๆ กัน ลักษณะนิสัยคล้ายๆ กัน สังคมแบบเดียวกัน แต่ NSC ทำให้เราเจอเพื่อนจากมหาวิทยาลัยหลากหลายทั่วประเทศ มันทำให้ได้เปิดมุมมองว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยอื่นเขาทำอะไรอยู่ เขามีไอเดียแบบไหน บางคนที่เราคิดว่าเขาไม่น่าจะเก่งกว่าเรา แต่จริงๆ เขาเก่งกว่าเรามากๆ ก็มี เหมือนเป็นการเปิดโลก นอกจากนี้คณะกรรมการก็มีมุมมองและแนวคิดต่องานเราที่ทำให้เรารู้ว่ามันสามารถคิดในแง่นี้ได้ด้วยนะ มันทำให้เราสามารถพัฒนาผลงานได้ดีมากขึ้น
ต่อยอดผลงานไปกับต่อกล้าฯ
หลังจากเวที NSC มีพี่โบ้ (สิทธิชัย ชาติ) จากทางเนคเทคได้มาชวนให้ไปเข้าค่ายชื่อว่า ‘ต่อกล้าให้เติบใหญ่’ ก็เลยได้ลองส่งผลงานเข้าค่ายนั้น และได้ไปฝึกอบรมในค่ายนั้นด้วย สนุกดีค่ะ เป็นค่ายที่เราได้เจอทั้งรุ่นน้อง ทั้งเพื่อน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและได้เจอคนเก่งๆ มากมาย มี Mentor Experts ทางด้านต่างๆ มาช่วยขัดเกลาผลงานของเรา พัฒนาตัวเราเองให้เก่งขึ้น มีมุมมองที่กว้างและเฉพาะเจาะจงมากขึ้นค่ะ
โลกกว้างที่ออฟฟิศไม่มีให้…
หลังจากเรียนจบ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มเข้าค่ายต่อกล้าฯ ด้วย ทำให้เราไม่ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานแบบเป็นพนักงานประจำเลย แต่ได้มาลองทำโปรเจกต์ของตัวเองในค่ายต่อกล้าฯ แทน และมีอีกการแข่งขันหนึ่งที่ได้เข้าร่วมชื่อว่า i-CREATe ได้ไปแข่งที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เป็นการแข่งขันเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ก็เลยเริ่มชีวิตการทำงานแบบนั้น คือเริ่มจากโปรเจกต์ของเราก่อน ซึ่งมันก็จะต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ ตอนแรกก็เคว้งๆ ว่า เราคิดถูกไหมนะ เพราะเพื่อนคนอื่นเขาเริ่มทำงาน เขามีเงินเดือน เขาเริ่มที่จะดูแลตัวเองได้ เริ่มชีวิตแบบใหม่แล้ว แต่เราต้องอยู่กับโปรเจกต์ ไม่ได้เงินเดือนเฉพาะเจาะจง แถมยังต้องมีงานเสริมเพื่อที่จะจ่ายค่าครองชีพในแต่ละวัน แต่ประสบการณ์กับสิ่งที่ได้มามันคุ้มค่ามากกว่าการเข้าไปเป็นพนักงานประจำเลย จะมีสักกี่คนที่ได้มีโอกาสเอาผลงานที่ตัวเองคิดไปแข่งที่ประเทศญี่ปุ่น และมีคณะกรรมการจากทั่วโลก ทั้งจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ก็เลยคิดว่ามันเป็นการเปิดโลกให้เรา ยิ่งกว่านั้นยังได้คอนเนคชันกับเพื่อนที่มาจากหลากหลายประเทศทั้งคนสิงคโปร์ ไต้หวัน เยอรมัน ก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็นการเปิดโลกเราให้กว้างมากยิ่งขึ้น
ทำงานประจำ…แต่ความฝันยังเหมือนเดิม
หลังจากนั้นภีเริ่มงานประจำด้วยการไปเป็นโปรแกรมเมอร์ก่อนที่บริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานเขียนเว็บไซต์ เขียนแอปพลิเคชัน แต่รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการมากนัก มันเหมือนกับเป็นงานที่ไปถึงก็เขียนเว็บฯ เขียนโค้ดต่อจากคนโน้นคนนี้ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราสร้างผลกระทบอะไรให้กับสังคมหรือประเทศสักเท่าไหร่ ก็เลยคิดว่าอยากจะลองเปลี่ยนงานดู พอดีมีโอกาสเคยเอาโปรเจกต์นี้ไปแข่งในเวทีชื่อว่า TICTA – Thailand Innovation Awards ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ แล้วพี่เขาเห็นเรา อยากจะชวนเราไปทำงานด้วย สุดท้ายก็เลยได้เปลี่ยนงานมาเป็นที่ที่สองคือที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติค่ะ
ท้าทายไปกับงานพัฒนาคนอื่น (และตัวเอง)
พอมาทำงานที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติรู้สึกดีขึ้นมากเลยค่ะ เพราะว่าเปิดโอกาสให้เราได้เจอคนที่หลากหลายมากขึ้น ได้มุมมองที่แตกต่างมากขึ้น เหมือนเขาพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นนวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งมีงานหลายส่วนมาก มีทั้งให้ทุน (Funding) กับบริษัทต่างๆ รวมทั้งสตาร์ทอัพและ SMEs มีทั้งในส่วนพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาธุรกิจ ซึ่งตอนนี้ภีทำในส่วนการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการให้กับคน ส่วนมากก็จะจัดอีเวนต์หรือคอร์สอบรม ทำให้ได้เจอคนที่หลากหลายมากขึ้น แล้วเวลาที่มีการอบรมอะไรเราจะได้ไปเข้าร่วมเพื่อพัฒนาตัวเองด้วย นอกจากเราจะทำงานพัฒนาคนอื่นแล้ว เรายังพัฒนาศักยภาพตัวเองไปในตัวด้วยค่ะ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นงานที่สนุกและท้าทาย
NSC ต้นกล้าแห่งโอกาส
ถ้าไม่ได้มาแข่ง NSC ป่านนี้ภีคงเป็นพนักงานประจำ ใช้ชีวิตแบบกินเงินเดือนไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่คิดอะไรมากเท่านี้ มันเหมือนเวทีนี้มันทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง มากจริงๆ มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ต่อยอดให้เราได้ไปที่อื่นอีกมากมาย ทำให้โอกาสหลายอย่างผ่านเข้ามา ยกตัวอย่าง ถ้าภีไม่ได้เข้า NSC ก็คงไม่ได้เจอพี่โบ้แล้วก็คงไม่ได้เข้าต่อกล้าฯ ถ้าไม่ได้เข้าต่อกล้าฯ ก็คงไม่ได้แข่ง i-CREATe หรือไปแข่งเวทีอื่นต่อ แล้วสุดท้ายก็คงไม่ได้ทำงานที่สำนักงานนวัตกรรมฯ เพราะว่าไม่เคยเจอพวกพี่เขา มันเหมือนเป็นสิ่งที่ต่อเชื่อมกันมา ถ้าเราไม่ได้เริ่มที่จุดนั้น โอกาสต่างๆ เป็น 100 อันที่เข้ามาช่วงนั้นก็คงไม่ได้รับ
เติมความรู้ใหม่ ใส่ใจคอนเนคชัน
ภีมองว่า NSC เป็นการแข่งที่ดี เปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีสูงๆ ได้นำผลงานของตัวเองมาลองแข่งกัน แต่นอกเหนือจากการแข่งแล้ว NSC น่าจะมีอะไรที่มากกว่านั้น อย่างเช่น แทนที่จะแข่งกันอย่างเดียวอาจจะมีการอบรมให้นักศึกษาหรือมีอะไรที่เฉพาะเจาะจงโจทย์ เป็นโจทย์ที่ลึกขึ้นและเข้ากับหัวข้อในอนาคตมากขึ้น หรือเรามาลองทำเป็นแฮกกะตอน (Hackathon) ไหม หรือเป็นงานแบบใหม่ที่เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะตัวเองได้มากขึ้นกว่านี้ ซึ่งน่าจะต้องให้ความรู้เด็กด้วย มันเป็นโอกาสที่ดีนะที่เราได้เอาเด็กทั้งประเทศที่มีศักยภาพมากๆ มาอยู่ด้วยกัน แต่เขาแทบจะไม่ได้สร้างคอนเนคชันอะไรกันเท่าไหร่หรือแทบจะไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ต่างคนต่างทำงานตัวเอง ภีมองว่าเราสามารถให้ความรู้เขาได้ และยังสามารถสร้างคอนเนคชันให้เขาได้ด้วย ซึ่งคอนเนคชันเป็นสิ่งสำคัญในอนาคตเวลาที่เขาจะทำธุรกิจหรือทำอะไรก็ตามต่อไป
เชื่อมเครือข่ายด้วยค่ายเวิร์คช็อป
ในส่วนของการรวมตัวคนที่เคยผ่าน NSC น่าจะมีสองมุม มุมแรกก็คือถ้าจะสร้างคอนเนคชันหรือสร้างเครือข่ายกันอย่างเดียวก็อาจจะเป็นดินเนอร์ทอล์ค หรือไม่ก็อาจจะไปต่างจังหวัดเลย เหมือนไปแฮงค์เอาท์สักสองสามวันแล้วไปทำกิจกรรมสันทนาการหรือไปทำกิจกรรมอะไรบางอย่างร่วมกันก็น่าสนใจ แต่ถ้าอยากให้มาแล้วเกิดการเชื่อมโยงกันจริงๆ ภีมองว่าการจัดเวิร์คช็อปหรือพัฒนาศักยภาพก็น่าสนใจ อาจจะเสริมเรื่องความเป็นผู้ประกอบการหรือความเป็นผู้นำให้กับเด็ก สำหรับภีที่เคยผ่านโครงการ NSC มาก่อน คิดว่าแบบนี้ก็น่าสนใจดีค่ะ
อยากทันโลก…ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง
เราอาจจะไม่ต้องพูดถึงว่าเด็กไอทีจะต้องมีทักษะอะไรก่อนที่จะเข้ามาในเส้นทางนี้ แต่หลังจากที่เข้ามาเขาจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรมากกว่า ส่วนตัวภีเริ่มจากคนที่ไม่เก่งอะไรเลย ก็เลยกลับมาสู่สิ่งที่บอกว่าอยากให้ NSC จัดอบรมให้ความรู้เด็กมากขึ้น ซึ่งทักษะที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะว่าสมัยนี้โลกมันไปเร็วมากๆ ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ คุณไม่สามารถที่จะติดตามข่าวทุกวัน หรืออัพเดตเทคโนโลยีได้ทุกวัน สุดท้ายความรู้ที่มีอยู่มันก็จะเก่าและใช้ไม่ได้ เป็นทักษะหนึ่งที่ภีมองว่ามันสำคัญ
ของต้องดีและขายให้เป็น
อีกอย่างที่สำคัญคือเรื่องการพรีเซนต์ โลกสมัยนี้มันคือการขายและการประชาสัมพันธ์ ถ้าคุณไม่สามารถขายตัวเองหรือขายงานได้มันก็ยากที่คนอื่นจะเข้าใจว่าคุณทำอะไร หรือสามารถประสบความสำเร็จจนขายงานนั้นได้จริงๆ การที่เราจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ ตัวเราจะต้องเข้าใจสิ่งนั้นเป็นอย่างดีก่อน ถ้าเราสามารถอธิบายงานของเราได้ดีก็เหมือนกับได้ทบทวนไปด้วยว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันคืออะไร เราก็จะเข้าใจสิ่งนั้นได้ดีขึ้น
จากประสบการณ์ที่เคยเข้าแข่งขันมาหลายเวที ถ้าเทียบกันทางด้านเทคนิคทุกโปรเจกต์มันเกือบจะสูสีกันหมด แต่สิ่งที่คณะกรรมการเขาตัดสินใจให้คะแนนจากการแข่งขันคือการขายหรือการพรีเซนต์มากกว่าว่าคุณสามารถพูดออกมาให้มันมีผลกระทบแค่ไหน พูดออกมาให้คนฟังเข้าใจและอยากจะซื้อมันมากแค่ไหน มันเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าคุณไม่ควรทำด้านเทคนิคให้ดีนะ คืองานคุณก็ต้องดีด้วยแล้วคุณพรีเซนต์ให้ดีด้วย ซึ่งพอเป็นคำว่าทักษะมันก็คือสิ่งที่ฝึกได้ เพราะฉะนั้น ภีเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามถ้าเขาตั้งใจเขาจะสามารถพัฒนาทักษะขึ้นมาได้แน่ๆ อย่ามัวแต่กลัวหรือไม่อยากก้าวไปข้างหน้า มันควรจะตัดสินใจแล้วลงมือทำเลยดีกว่า คงไม่มีใครที่จะพร้อมตั้งแต่แรก ควรจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองแล้วก็ Go for It แค่นั้นค่ะ
คว้า (โอกาส) ไว้ไม่เสียหาย!
ภีมองว่าวันนี้ตัวเองก็ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จขนาดนั้น แต่ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเป็นคนที่ถ้ามีโอกาสอยู่ข้างหน้าจะคว้าเอาไว้ก่อน คือไม่ใช่คนที่เห็นแล้วมานั่งคิดว่าเราจะทำมันได้ไหมนะ ไม่เอาดีกว่า จะเป็นคนที่ได้ไม่ได้ไม่รู้ก็ลองคว้าไว้ก่อน ทั้งๆ ที่บางโอกาสที่เข้ามาบางอย่างก็ล้มเหลวเหมือนกันนะ แต่บางอย่างมันก็สำเร็จ มันก็คละกันไป แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะตัดสินใจทำอย่างไรกับโอกาสนั้นๆ เราเลือกที่จะคว้าไว้ไหม เราจะพัฒนาตัวเองเพิ่มเติมไหม ถ้าเราเอาแต่กลัว สุดท้ายเราก็จะไม่ได้อะไรจากสิ่งนั้นเลย
สักวันฉันจะเปลี่ยนโลก!
อีกอย่างน่าจะเป็นเรื่องของความฝัน ตอนเด็กๆ ภีจะเป็นคนที่มีความฝันแรงกล้ามากๆ ว่า อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ อยากจะเขียนโปรแกรม อยากจะสร้างอะไรบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศหรือสังคมได้ อาจเป็นเพราะเป็นคนที่ชอบเสพสื่อเยอะๆ อย่างบริษัทดังๆ Google , Facebook , Apple พวกนี้ พอเราเสพสื่อเยอะๆ ได้ฟังแล้วเหมือนเป็นแรงบันดาลใจ จากคนที่เขาอยู่ในมุมหนึ่งของโลกใบนี้ แต่เขาพยายามอย่างมากที่จะทำอะไรที่มันเป็นสิ่งดีๆ ออกมา มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจกลับมาที่เรา มองว่าเราก็อยากเป็นคนหนึ่งที่อยากทำได้แบบนั้นเหมือนกันนะ
ความสุขของผู้ใช้คือแรงผลักดัน
สำหรับงานของเล่นของเด็กตาบอดที่ทำตอนนั้น สิ่งที่ทำให้ก้าวผ่านอุปสรรคมาได้เป็นเพราะอย่างเดียวเลย คือได้ลองเอาโปรเจกต์ชิ้นนี้ไปให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตาที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพได้ใช้ แล้วเขามีความสุขกับมัน เหมือนเด็กๆ รู้สึกว่าอยากได้ของเล่นชิ้นนี้ เขาอยากจะเล่นอันนี้กับเพื่อน เป็นสิ่งที่ทำให้เราหยุดไม่ได้ เหมือนเราได้ให้สัญญากับผู้ใช้ (User) ไปแล้ว เราได้เล่นกับเขาไปแล้ว แล้วเขาต้องการที่จะได้ของชิ้นนี้จริงๆ ก็เลยเป็นแรงผลักดันว่าไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร เราก็ยังอยากจะทำมันออกมาให้ได้
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ภีไม่ได้มองว่าตัวเองเก่งเลยนะ แต่เป็นคนที่มองว่าถ้าโอกาสอะไรก็ตามที่เข้ามาเราก็จะคว้าไว้เสมอ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วมันจะล้มเหลว คือส่วนมากมันก็ล้มเหลวแหละมีสำเร็จแค่ไม่กี่อัน แต่ก็อยากจะลองดู และเป็นคนที่ชอบคิดเกินตัวมากๆ ตั้งแต่ปีหนึ่งก็วางแผนให้กับชีวิตตัวเองว่าเราอยากไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นสักครั้ง ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าทำอย่างไร แต่สุดท้ายพอปีสามก็ได้ไปจริงๆ เหมือนเป็นคนที่จะมองไปเสมอว่าเราอยากได้อะไร ภีเป็นคนที่รู้เสมอว่าตัวเองต้องการอะไรแล้วก็จะพยายามคว้ามันมาให้ได้ รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร คือไม่ใช่คนเก่งหรอก แต่พอรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แล้วเราขาดอะไร เราก็จะพยายามเสริมพยายามพัฒนาตัวเองขึ้นมาให้ได้
ตามหาจิ๊กซอว์ที่หาย…เป้าหมายคือยุโรป
ตอนนี้เป้าหมายสั้นๆ ก็คือภายในปีหน้าอยากจะไปเรียนต่อที่แถบยุโรปค่ะ ภีมองว่าสิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องคอนเนคชันกับความเข้าใจในทั้งวัฒนธรรม สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง อะไรหลายๆ อย่างของประเทศต่างๆ มันจะทำให้เราเข้าใจมุมมองของโลกใบนี้มากขึ้น ตอนนี้ภีเคยไปญี่ปุ่นแล้ว เคยไปอเมริกาแล้ว แต่ยังขาดในแถบยุโรปที่เราไม่ได้มีคอนเนคชันที่นั่น ก็เลยอยากจะไปเรียนต่อที่นั่น รวมทั้งด้านที่สนใจคือด้าน Innovation Management เพราะรู้สึกว่าประเทศไทยยังขาดอยู่พอสมควร ถ้าเราไปเรียนต่อที่นั่นได้ จะมีคอนเนคชันที่ดีมาก ได้ไปฝึกงานในบริษัทแถวนั้น แล้วเราเอาความรู้กลับมาใช้ในประเทศไทยได้ ก็น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้ไม่มากก็น้อย อาจจะนิดหน่อยแต่ก็คงช่วยได้บ้างค่ะ
แม้จะมีฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่น่าสนใจว่าภียอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่ง แต่สิ่งที่ทำให้เธอก้าวมาถึงจุดกึ่งกลางบนเส้นทางฝันนี้ได้ ก็เพราะเธอรู้ว่าตัวเองมีและไม่มีอะไร และถ้าสิ่งที่ไม่มีนั้นจำเป็นต่อความฝัน เธอก็ไม่รั้งรอที่จะไขว่คว้าหาโอกาสให้ได้มา เพื่อใช้ขับเคลื่อนพาตัวเองไปสู่ความฝันให้ได้สักวันหนึ่ง…
ข้อมูลการศึกษา
- 2012-2017
- Bachelor of Engineering in Computer Engineering , Chulalongkron University, Bangkok (Thailand)
- 2015-2016
- Certificate of Participation, Tohoku University, Sendai (Japan)
- 2015
- Internship Program, Tokyo University of Technology, Tokyo (Japan)
- 2017
- Newseed Camp , Nation Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
- Thailand Innovation Award Camp, Thailand Nation Innovation Agency (NIA), Bangkok (Thailand)
- nnovation and leadership Camp (Business Analysis and Design Thinking Workshops)
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2017
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- Global Student Innovation Challenge for Assistive Technology (i-CREATe in Kobe city, 2017) Design Category
- Merit Award
- Best Presentation Award
- Thailand Innovation Awards (2017)
- Third Place Award
ปัจจุบัน
- Innovation Coursellor, Thailand Nation Innovation Agency (NIA), Bangkok (Thailand)
ความเชี่ยวชาญ
- Foreign languages : English, Japanese