แนะนำรุ่นพี่ NSC : ปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ (NSC 2016)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนตุลาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ปิ่นพงศ์ เนียมมะณี
 
“ทุกคนมีสิ่งที่ชอบ ทุกคนมีความฝัน สิ่งสำคัญคือ อย่าลืมลงมือทำ!…”

นี่คือข้อความที่ ‘เจมส์’ ปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ CEO หนุ่มน้อยแห่งยูอาร์นีค สตูดิโอ ฝากบอกถึงคนรุ่นใหม่ทุกคนที่มีความฝัน ว่าอย่ามัวปล่อยให้ความฝันเป็นเพียงความฝัน แต่จงลงมือทำซะ! เพื่อแปรรูปฝันนั้นให้กลายเป็นจริง

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ความฝันของเด็กชอบคอมฯ

ผมชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็กเลยชอบเล่นคอมพิวเตอร์ไปด้วย ตั้งแต่ ป.1 – ป.2 ชอบจับคอมพิวเตอร์ วิชาที่ชอบเรียนตอนประถมฯ ก็คือคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งที่เราสนใจมาโดยตลอด โตขึ้นมาก็ทำกิจกรรม เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น มันก็เลยเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และพบว่าอยากทำเกมเป็นของตัวเองตั้งแต่ประถมฯ มีความฝันมาตลอดว่าอยากเขียนโปรแกรม อยากเขียนเกม แต่ไม่เคยได้ทำ

ใช้ความฝันกดดันตัวเอง

จนกระทั่งขึ้นมหาวิทยาลัย ผมเรียนวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ ได้เลือกภาควิชาตอนปี 2 ซึ่งถ้าจะติดภาควิชาคอมพิวเตอร์ให้ได้เราต้องเขียนโปรแกรมเป็น ก็เลยตั้งใจทุ่มเททำการบ้าน เป็นเด็กเนิร์ดในห้อง อาจารย์สอนอะไรก็ยกมือถาม รู้สึกว่าถ้าเราอยากเข้าภาคคอมฯ เราต้องโชว์ให้ได้ว่าเราเขียนโปรแกรมเป็น เลยเป็นทักษะแรกๆ เกี่ยวกับโปรแกรมมิ่งตั้งแต่ตอนปี 1 จริงๆ เป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน แต่บางคนไม่ชอบก็คือไม่ชอบ เพราะวิศวะฯ ก็มีหลากหลาย แต่ผมกดดันตัวเองว่าถ้าเราอยากเข้าภาคคอมฯ เราต้องทำได้

ใช้โอกาสครั้งเดียว ได้ 2 เป้าหมาย

ผมประกวด NSC ตอนปี 3 ก่อนหน้านั้นเคยรวมทีมกับเพื่อนทำเกมด้วยกันมา แต่ผมไม่ได้เป็น ตัวนำอะไรแค่ไปแจมกับเพื่อน คือเพื่อนสนิทผมเขาไปเกาะกลุ่มกับคณะอื่นที่เป็นเพื่อนโรงเรียนเก่า เขาทำเกมด้วยกัน ผมได้ยินก็เลยไปแจมไปประกวดเกมด้วย เเล้วเอามาส่งประกวด NSC ได้รางวัลที่ 2 เป็นเกม puzzle บนมือถือ พอปี 4 ทำโปรเจกต์จบก็เลยอยากจะทำเกม เพราะเป็นเป้าหมายชีวิตที่อยากทำเกมอยู่แล้ว อาจารย์ก็แนะนำว่าควรจะประกวด เลยเป็นเป้าหมายแรกว่าจะทำโปรเจกต์จบแล้วชนะ NSC ให้ได้ ตอนนั้นได้รางวัลที่ 1 มาครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

มากกว่ารางวัลคือมิตรภาพ

สิ่งที่ผมรู้สึกว่าสำคัญมากกว่ารางวัลก็คือคนที่ผมร่วมงานด้วย ปกติถ้าเราทำการบ้านที่โรงเรียนมันก็แค่การบ้าน แต่ตอนทำโปรเจกต์นี้เรามีความจริงจังมากๆ เราต้องทำให้สำเร็จเพราะเป้าหมายมันใหญ่ ตอนนั้นรวมตัวกับเพื่อนเช่าคอนโดนอนด้วยกันเลย ทำกับข้าว ซักผ้าอยู่ด้วยกัน ก็เลยได้รู้จักเพื่อนมากขึ้น กลายเป็นเหมือนพี่น้องเพราะเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

อีกส่วนหนึ่งก็คือการได้เจอกับทีมอื่นๆ ผมว่านี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของการได้ไปแข่ง NSC ปกติเวลาเรียนเราสนใจแค่นี้ เราเป็นกลุ่มเดียวในคณะด้วยซ้ำ แต่พอมาแข่ง NSC เราได้เจอคนอื่นที่สนใจด้านไอที สนใจอะไรแนวเดียวกับเรา มี passion คล้ายๆ กัน แต่เราไม่เคยเจอเขามาก่อน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยแต่ละคณะก็มีพื้นฐานที่ต่างกัน นิสัยที่ต่างกัน แม้เราจะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ความคิดอะไรหลายๆ อย่างไม่เหมือนกัน รู้สึกว่าการที่ได้เจอคนที่มีความฝันคล้ายๆ กันแต่มีเบื้องหลังที่ต่างกันมันเป็นอะไรที่จุดประกายให้ผมด้วย แล้วพวกเขาก็เป็นเพื่อนที่ดี ทุกวันนี้ก็ยังเก็บคอนเนคชันอยู่ ไปกดไลค์รูปในเฟซบุ๊กบ้าง บางคนตอนนี้ก็มาช่วยงานผมด้วย รู้สึกว่าการแข่ง NSC มันได้อะไรหลายๆ อย่าง ไม่ได้มีแค่ถ้วยรางวัลตอนจบ แต่มันคือประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น

โอกาสดีๆ ต้องทุ่มชีวิตเข้าใส่!

ด้วยความที่โปรเจกต์จบมันเป็นโปรเจกต์ประกวดด้วย ก็เลยโชคดีที่ Microsoft เขาติดต่อให้เราประกวด Imagine Cup โชคดีได้ชิงแชมป์โลกแล้วก็โชคดีที่ชนะเลิศมาครับ (หัวเราะ) มันเลยเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต คิดว่าไม่น่าจะมีใครมีโอกาสโชคดีไปกว่าพวกผม ที่มีทุนจากรางวัล มีคอนเนคชันจาก Microsoft ก็เลยรู้สึกว่าถ้าไม่ใช่เราทำก็คงไม่มีใครทำได้อีกแล้ว เพราะเรามีโปรเจกต์ที่เราเชื่อมั่นว่ามันน่าจะเวิร์ค และเราได้ความเชื่อมั่นจากผู้ใหญ่ในบ้านเรา ผู้ใหญ่เมืองนอกเขาเชื่อมั่นว่าโปรเจกต์เราจะรอด เรามีทุนจากรางวัลด้วยทำให้รู้สึกว่าทำไมเราจะทิ้งโอกาสนี้ไปทำงานก่อน เลยคิดว่าลองมาทำตรงนี้ก่อน ถ้าเจ๊งก็เสียเวลาแค่ปีหรือสองปี ถ้าไม่เจ๊งก็แฮปปี้ไป เพราะมันเป็นโอกาสที่ดี พวกเราเลยตั้งบริษัทชื่อว่า ยูอาร์นีค สตูดิโอ ก่อตั้งเมื่อต้นปีนี้ ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้เป็นบริษัทจริงจังอะไร หลักๆ ก็ทำเพื่อพัฒนาตัวเกม คิดไทม์ไลน์ ตอนนี้เป็นบริษัทรับจ้างด้วย รับงาน outsource ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ พวกเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

พิชิตสตาร์ทอัพด้วยทีมที่ดีและทุนที่พอ!

ถ้าพูดถึงสตาร์ทอัพมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่เขาบอก ที่สำเร็จจริงๆ น้อยนิดมาก ถ้าใครคิดจะมาแนวสตาร์ทอัพสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมีก่อนอย่างอื่นเลยก็คือทีม ต้องมีคนที่มีทักษะพร้อมในการทำสิ่งนั้นๆ ด้วย ซึ่งการจะชวนคนมาอยู่กับเราโดยที่เรายังไม่มีเงินเดือนนะ เรายังไม่มีรายได้นะ ผมว่ามันยาก เพราะฉะนั้น เราต้องชวนคนที่มีความฝันและ passion เดียวกันให้ได้ก่อนเเล้วเริ่มไปด้วยกัน เริ่มตั้งแต่จุดแรกมันง่ายกว่ามาก แม้แต่การประกวด NSC ทีมก็คือพระเอกที่สุดเพราะเราทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ขนาดสตีฟ จ็อบส์ ยังมีพนักงาน ต่อให้คุณอัจฉริยะแค่ไหนก็ต้องมีทีมงาน บริษัทก็ยังมีทีมงาน ทุกคนต้องมีทีมงานกันหมด ผมเชื่อว่าทีมคือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำอะไรก็ตามแต่ ผมเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและได้คุมเด็กแข่ง NSC ยกตัวอย่างสองทีมที่มีความแตกต่างกันชัดเจน ทีมหนึ่งไม่มีความเป็นทีมเวิร์คเลย ไม่มีใครคุยกัน ไม่มีแผน ทุกคนทำตามสไตล์ตัวเองที่อยากจะทำ กับอีกทีมหนึ่งคุยกันตลอด พยายามวางแผน พยายามคุยกัน ซึ่งผมเห็นผลลัพธ์ที่ได้มันแตกต่างกันมาก ดังนั้น ทักษะสำคัญที่เด็กไอทีต้องมีคือทีมเวิร์ค ต้องทำงานเป็นทีมเป็น ต้องฟังคนอื่นด้วย อีกอย่างคือต้องมีทุน เพราะเราต้องกินต้องใช้ ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดโดยที่ไม่ตายก่อน ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมันต้องพร้อมทุกๆ ด้านทั้งทุนและทีม

ฝีมือเจ๋งอย่างเดียวไม่พอ ต้องขายของเป็นด้วย

อีกอย่างที่สำคัญและเด็กไอทีหลายคนมักจะขาดมากคือ เด็กไอทีมีของแต่มักจะขายไม่เป็น ทำโปรเจกต์อย่างเจ๋งเลยแต่เอาไปพรีเซนต์กรรมการไม่รู้เรื่อง กรรมการไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำอะไรอยู่ ต่อให้เราทำของเจ๋งสุดยอด ถ้าไม่สามารถพรีเซนต์ให้คนอื่นรู้ว่าทำไมต้องมีของชิ้นนี้ มันก็เหมือนคุณทำขยะขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น คุณทำของที่ดีแล้วคุณต้องขายมันเป็นด้วย อันนี้คือสิ่งสำคัญ

เป็นโคชที่ไม่คุม

ตอนที่ผมไปเป็นโคชก็สนุกดีครับ ได้ดูคนอื่นแข่ง ไม่เครียด (หัวเราะ) รู้สึกสบายขึ้น เพราะตอนแข่งมันเหนื่อย มันต้องทำกันโต้รุ่ง แต่มันก็เป็นประสบการณ์ในการแข่งขัน ได้ความสนุกเหมือนเราเป็นคนเล่นเกมเอง แต่พอเป็นที่ปรึกษาของคนอื่นเราแค่ให้คำแนะนำเขา เรารู้ว่าเขาจะเจออะไรบ้าง เรารู้ว่าเขาจะต้องผ่านอะไรอีก เราก็แค่ให้คำแนะนำ พยายามบอกอะไรที่เขาไม่ต้องไปเจอแบบเราหรือเสียเวลาแบบเรา แต่มันก็ไม่ใช่เราอยู่ดี บางทีเขาอาจจะทำตาม บางทีเขาอาจจะไม่ทำตาม มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขาด้วย มันก็เลยเป็นอีกมุมมองหนึ่งว่าถ้าเราจะไปคุมเขาเราแข่งเองดีกว่า

สร้างเมนเทอร์ประจำทีม

ถ้า NSC จะช่วยน้องๆ หลักๆ อยากให้เพิ่มเรื่องการให้คำแนะนำมากขึ้น คอยดูแลในภาพรวมแล้วค่อยมาให้คำแนะนำดูแลแบบถึงตัวตรงๆ เพราะเท่าที่ผ่านมาเราจะไม่ได้มีคอนเนคชันหรือติดต่อกับ NSC โดยตรง เหมือนเราแค่ไปประกวดแล้วจบกลับบ้าน ยังไม่เคยมีความรู้สึกว่ามีที่ปรึกษาหรือเมนเทอร์ (mentor) แต่ก็เข้าใจว่าเพราะมีครูที่ปรึกษาของน้องๆ แต่ละโรงเรียนอยู่แล้ว เข้าใจว่า NSC ไม่ได้มีคนเยอะพอที่จะหาที่ปรึกษามาให้ได้ แต่ที่ผมเคยไปประกวดเวทีอื่นเขาจะมีเมนเทอร์ขององค์กรนั้นเข้ามาช่วยจัดการช่วยดูแลเหมือนเป็นพี่เลี้ยง ช่วยพาเราสำเร็จตามเดดไลน์ได้ ช่วยคิดหรือให้คำแนะนำบางอย่างเพิ่มเติม เช่น สอนเรื่องพื้นฐานว่าทีมเวิร์คเป็นอย่างไร หรือช่วยทำอย่างไรให้งานเสร็จเร็วขึ้น แนะนำเทคนิค และเคล็ดลับในการใช้เครื่องมือมากขึ้น ซึ่งจะมีหลากหลายวิธีที่ทำให้เด็กทำงานได้ดีขึ้น หรือทำงานให้เสร็จได้ทันเวลา อย่างผมก็แค่อยากรู้ว่าเราควรทำอย่างไรให้เสร็จทันเวลา หรือถ้าไม่เสร็จทันเวลาเราจะแก้ไขอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง ถ้ามีอะไรแนะนำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเรามันจะดีมากขึ้นครับ อาจจะเขียนให้ความเห็นสักหนึ่งย่อหน้าเพื่อให้เรารู้ว่าจะปรับตรงไหนได้ ผมว่าน่าจะช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าใจว่าเขามีจุดอ่อนอะไรหรือทำให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าใจมากขึ้นด้วย

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

สร้าง Passion ร่วมกัน…ความฝันย่อมไปถึง

ผมว่าการที่เราจะได้รางวัลมันไม่ได้อยู่ที่ฝีมืออย่างเดียว มันเป็นเรื่องของโชคด้วย เพราะว่าทุกคนที่ไปแข่ง NSC เก่งอยู่แล้ว แต่ที่หนึ่งมันมีได้คนเดียว เพราะฉะนั้น คนที่อาจจะเก่งที่สุดและมีดวงเยอะที่สุดจึงจะชนะ ผมคิดว่าโปรเจกต์ของผมก็ไม่ได้ดีกว่าใคร ผมยังนั่งประเมินอยู่เพราะกลุ่มนี้ก็ดีกลุ่มนั้นก็ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของ passion ทุกคนต้องมี passion อย่างน้อยผู้นำต้องมีความสามารถถ่ายทอด passion ของตัวเองให้น้องๆ หรือเพื่อนในทีมทุกคนมี passion ร่วมกันได้ เพราะเขากำลังเดินตามฝัน เพราะเขากำลังวิ่งแข่งไปด้วยกันกับคุณ ถ้าเขาไม่รู้ว่าเป้าหมายนั้นคืออะไรก็ไม่มีใครอยากจะออกแรงวิ่งไปกับคุณ ถ้าคุณไม่มีความสามารถในการชักจูงผู้คนไปร่วมเป้าหมายกับคุณได้ ผมว่าก็ไม่ค่อยเวิร์ค

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

รางวัลไม่ใช่เส้นชัยของชีวิต

สำหรับตัวผมเองก็ยังไม่สำเร็จหลายๆ อย่าง เป้าหมายของผมคืออยากเป็นบริษัทเกมที่ใหญ่และมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้ อันนี้คือเป้าหมายของผม แต่ทีมผมยังน้องใหม่ในวงการเกมมาก ต่อให้เข้าวงการมาหนึ่งหรือสองปี แต่ยังไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน รู้สึกว่ามันยังไม่สำเร็จ ที่ผ่านมาที่สำเร็จก็แค่รางวัล แต่ถ้าพูดตามตรงสำหรับอาชีพในวงการอุตสาหกรรมแล้วไม่มีใครแคร์รางวัล มีคนบอกว่าคนที่แคร์รางวัลมีแค่คุณคนเดียว คนอื่นเขาไม่แคร์รางวัลคุณ ซึ่งมันคือความจริง รางวัลมันเป็นแค่จุดเริ่มต้นไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่ฉากสุดยอดในชีวิต มันแค่ฉากเปิดหนังด้วยซ้ำ แต่เราจะเอารางวัลนั้นไปทำอะไรต่อกับมันได้ ที่เขาแคร์จริงๆ ก็คือเราทำอะไร เราเป็นใคร เขาแคร์ตรงนั้นมากกว่า รางวัลอาจจะเป็นแค่จุดสุดยอดของนักศึกษาตอนนั้นที่เรารู้สึกว่า เราโคตรเทพเลย เจ๋งมาก แต่พอเข้าวงการมาปุ๊บไม่มีใครมารักเราขนาดนั้น เราไม่ได้เทพ เราก็แค่เด็กน้อยในวงการ

หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว

เวลาเจออุปสรรคหรือปัญหาต้องค่อยๆ คิดวางแผนว่า ทำไมเรายังไม่ถึงจุดนั้น มันไม่มีใครดูโลกใบนี้ได้ทุกอย่าง มันต้องมีการเสียสละบางอย่างไป ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีว่าอันไหนมันเวิร์คหรือไม่เวิร์ค ต้องชั่งใจวางแผนดูว่าจะจัดการปัญหานั้นอย่างไร ปกติผมก็พยายามคุยกับเพื่อนอยู่ตลอดเวลา ปรึกษาคนในทีม เพราะฉะนั้น ผมก็จะเน้นคำว่าทีมๆ หน่อย จะเป็นบทสัมภาษณ์ที่มีแต่คำว่าทีมนะครับ (หัวเราะ) ผมว่ามันคือสิ่งสำคัญที่สุดจริงๆ เพราะบางเรื่องเราคิดเองคนเดียวไม่ได้ มันต้องเป็นเรื่องที่ตัดสินใจร่วมกันด้วย ซึ่งหลายอย่างมันประกอบกัน เรามีฝีมือ มีทีม มีดวง มีทุกอย่างเลย เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เราได้มาถึงตรงนี้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ผมเป็นคนโชคดีที่มีเพื่อนที่ดีครับ และมี passion มีความเพ้อฝันของตัวเอง เพ้อฝันก็คือมีเป้าหมายไม่ใช่แค่อีก 10 ปีข้างหน้าฉันอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ไม่ได้มีเป้าหมายอย่างนั้น เป้าหมายเราคิดกว้างอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ อยากจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเกมไทย เพราะวงการเกมไทยมันพัฒนาได้มากกว่านี้ เราอยากจะพาเกมไทยไปถึงระดับญี่ปุ่นหรืออเมริกาหรือประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆ ผมคิดว่าเรามีโอกาสทำได้ ซึ่งทีมของผมสามารถประกวดเกมให้ชาวต่างชาติเชื่อได้ว่าเกมมันเวิร์ค ผมคิดว่าก็น่าจะทำให้คนไทยเชื่อได้เหมือนกันว่าทีมผมน่าจะเวิร์ค ก็เป็นความฝันหนึ่ง มันคือเป้าหมายของเราที่จะผลักดันวงการเกมไทยไปข้างหน้า แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นก็ต้องทำของเราให้รอดก่อน แต่เรามีเป้าหมายที่สูงกว่า เป็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น ผมเป็นคนที่มองอะไรใหญ่ เพ้อฝัน เราไม่ได้คิดเล็ก ผมว่าทุกคนฝันได้ อย่างน้อยได้ทำก็ยังดี

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ทำด้วยความเชื่อ และเชื่อว่าทำได้!

ถ้าให้คำแนะนำน้องๆ ก็อยากให้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้าชอบอะไรแล้วมันจะทำสิ่งนั้นได้อย่างมี passion ซึ่ง passion คือพลังงานที่ดีที่สุดสำหรับการทำอะไรสักอย่างที่เกินตัวเอง passion มันทำให้ชีวิตเราไม่น่าเบื่อ มันมีเป้าหมายที่ฉันอยากจะไปตรงนั้น สิ่งที่ฉันทำอยู่ทุกวันนี้มันทำให้ฉันไปถึงเป้าหมายตรงนั้นได้หรือยัง ทำทุกอย่าง ทำทุกวัน ฝากไว้ก่อนก็แล้วกันว่านั่นคือเป้าหมายชีวิตเรา ต่อให้ไม่ประสบความสำเร็จมันก็ยังไปได้สักที่ที่มันโอเค ต่อให้อยู่ท่ามกลางดวงจันทร์ ถ้าพลาดก็อยู่ท่ามกลางดวงดาว ส่วนผมก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ที่ 1 Imagine Cup ไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยแข่งทำเกมกับคนทั้งโลก ญี่ปุ่น อเมริกา จีน เกาหลี ทุกประเทศเลย แต่เราแค่เชื่อว่าเราจะทำให้ดีที่สุด เราเชื่อว่าเราทำได้แล้วกัน เชื่อไว้ก่อนจะทำได้ไหมไม่รู้ แต่เชื่อตัวเองทำให้มั่นใจที่สุด และเราทำมันดีกว่าไม่เคยลอง ผมเชื่อว่าเด็กไทยหลายๆ คนชอบประเมินตัวเองว่าทำไม่ได้หรอก ขี้เกียจ เล่นเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ดีกว่า ไถๆ จบกลับบ้านนอน ลองทำดูก่อนก็ได้ แค่คำว่าทำ Just do it อย่าให้ความฝันเป็นแค่ฝัน ทำแล้วมันจะเกิดขึ้น ต่อให้ไม่เกิดมันก็จะได้บางอย่างขึ้นมา

แน่นอนว่าการลงมือทำตามความฝันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งอาจสะดุด บางครั้งอาจพลาดฝัน สิ่งสำคัญที่เจมส์แนะนำก็คือ การมีความเชื่อและ passion ที่เข้มแข็ง แม้วันนี้เราอาจพลาดพลั้ง แต่ด้วยกำลังใจที่ดีจะช่วยเก็บกอบความผิดพลาดนั้นเป็นต้นทุนประสบการณ์ เพื่อผลักดันชีวิตไปให้ถึงฝันได้ในสักวันหนึ่ง…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 
ข้อมูลการศึกษา
  • จบการศึกษาจากวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2016
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • รางวัล 1st Place Winner in Game Design จากการแข่งขัน Imagine Cup Thailand 2016 ด้วยโปรเจคต์ Timeline
  • รางวัล 1st Place Winner in Games Category จากการแข่งขัน Imagine Cup 2016 ด้วยโปรเจคต์ Timeline
  • รางวัล Best Student Technical Project จากพิธีมอบรางวัล BIDC Awards 2017 ด้วยโปรเจคต์ Timeline
  • ก่อตั้งบริษัท ยูอาร์นีค สตูดิโอ จำกัด
  • บริษัทได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ Indie Games Accelerator โดย Google
ปัจจุบัน
  • CEO และ Game Designer บริษัท ยูอาร์นีต สตูดิโอ จำกัด
ความเชี่ยวชาญ
  • ออกแบบเกม
  • UI/UX Design
  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก เช่น Adobe Photoshop