- “ผลงานไอทีนั้น…การสร้างไม่ยากเท่าการต่อยอด”
นั่นคือสิ่งที่ ปาล์ม นันทิพัฒน์ นาคทอง นวัตกรหนุ่มเจ้าของบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ ได้เรียนรู้ตลอดเส้นทางของการประดิษฐ์คิดค้นของตนเอง แต่แม้จะยากเย็นด้วยข้อจำกัดมากมายอย่างไรก็ตาม เขาก็ยังยืนยันว่า ผลงานไอทีนั้นไม่ควรจบแค่การแข่งขัน แต่สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องต่อยอดออกไปสู่ผู้ใช้จริง เพราะนั่นคือคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับนวัตกรรมชิ้นหนึ่ง และสำหรับนวัตกรคนหนึ่ง
จากเด็กเล่นหุ่นยนต์ สู่เส้นทางนักแข่ง
เริ่มแรกที่เข้าสู่เส้นทางนี้ ต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วง ป.5 – ป.6 คุณครูที่โรงเรียนเห็นแววเลยให้ไปลองเล่นหุ่นยนต์ แล้วส่งประกวดเวทีต่างๆ ในระดับพื้นที่และภูมิภาค หลังจากนั้นมีโอกาสได้เข้าแข่งขัน NLC (National Linux Competition) ครั้งที่ 7 จนกระทั่งมาแข่งขัน NSC ครั้งแรกตอนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตอนนั้นเห็นโปสเตอร์ที่ติดประกาศไว้ บวกกับเจอเพื่อนที่ชอบคอมพิวเตอร์เหมือนกัน เลยจับกลุ่มกับเพื่อนลงแข่งขัน หลังจากนั้นก็ส่ง NSC ต่อเนื่องมาอีก 2 – 3 ปีครับ
ท่องไปในโลกของการแข่งขัน
ปีแรกที่แข่ง NSC ส่งในหมวดโปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับลินุกซ์ เป็นโปรแกรมวาดภาพอนิเมชันสำหรับเด็ก ตอนนั้นยังไม่มีโปรแกรม open source เลยลองทำเป็นอนิเมชันง่ายๆ ได้รางวัลที่ 2 ครับ พอปี 3 ก็ลงในหมวดเดิม แต่เปลี่ยนเป็นทำโปรแกรมที่ช่วย SMEs หรือร้านโชห่วยสร้างระบบจัดการหน้าร้านของตัวเองแบบง่ายๆ ได้รางวัลชมเชยมาครับ ถัดมาตอนอยู่ปี 4 เปลี่ยนเป็นหมวดโปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการและผู้สูงอายุ ทำผลงานชื่อว่า ‘วิชันเนียร์’ เป็นแว่นตาแยกแยะสิ่งของสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการมองเห็น ได้รางวัลที่ 3 ครับ
หลังจากนั้นผมได้นำผลงานวิชันเนียร์เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ เป็นโครงการต่อยอดที่เนคเทคร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แล้วก็ต่อเนื่องอีกหลายเวทีเลยครับ ถ้าในประเทศก็อย่างเช่น Thailand ICT Awards , i-CREATe , เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี , Imagine Cup Thailand และมีโอกาสไปต่างประเทศด้วย เช่น i-CREATe ที่ประเทศสิงคโปร์ และ InnoServe (International ICT Innovative Services Awards Committee) ที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งแต่ละเวทีจะมีจุดเน้นไม่เหมือนกัน บางเวทีเน้นเรื่องเทคโนโลยี บางเวทีเน้นการใช้งานหรือการต่อยอดทางธุรกิจ
มองหาโจทย์จากสิ่งรอบตัว
เวลาพัฒนาผลงานผมจะเริ่มจากความชอบหรือความสนใจของทีมก่อน ตัวผมกับเพื่อนอาจจะมีหลายอย่างที่เราชอบ ตรงไหนที่ชอบเหมือนกันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ได้โจทย์ อีกส่วนหนึ่งเป็นสถานการณ์ในขณะนั้น อย่างโปรเจกต์ล่าสุดทำโปรแกรมเกี่ยวกับน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 เราก็จับตรงนั้นมาเป็นโจทย์ หรืออย่างตอนทำผลงานสำหรับคนตาบอด เราได้ไปเจอคนตาบอด เขามีปัญหาเยอะนะ ทำไมไม่มีใครทำเทคโนโลยีมาช่วยเขาเลย เราจะลองเอาความรู้เทคโนโลยีของเรามาทำอะไรให้เขาบ้างดีไหม ก็จะเริ่มจากสิ่งรอบๆ ตัวที่เราเห็นโอกาสครับ
แชร์ประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ
ผมมีโอกาสได้เป็นที่ปรึกษาให้น้องๆ ด้วย อย่างเช่นการทำโปรแกรมชุดการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานสำหรับเด็กประถมฯ และมัธยมฯ เพื่อให้เด็กได้ทดลองอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ยังเล็ก แล้วส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ YSC เนื่องจากตอนนี้ผมเรียนต่อปริญญาโทและมีโอกาสเป็นผู้ช่วยสอนด้วย ทำให้ได้เจอน้องๆ ในภาควิชาฯ ด้วยความที่เราไปประกวดมาเยอะ คิดว่าน่าจะสามารถแชร์ประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ได้ อยากให้น้องๆ ลองประกวดกันมากขึ้น เพราะการประกวดเป็นการเอาความรู้มาลองสร้างผลงานจริง
เวทีแห่งโอกาส สร้างเครือข่ายคนสายพันธุ์เดียวกัน
สำหรับผม NSC เหมือนเป็นเวทีที่เราได้แจ้งเกิดและเป็นเวทีที่ทุกๆ ปีเราได้เจอเพื่อน เจอคนที่มีความชอบเหมือนๆ กัน ได้แลกเปลี่ยนไอเดียและเรียนรู้จากทีมอื่นๆ ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง แนวโน้มไปทางไหน มีใครใช้เทคโนโลยีอะไร รวมทั้งได้เพื่อน ได้ความร่วมมือต่างๆ จากตอนแรกอาจจะเป็นคู่แข่งกัน แต่พอจบจากงานก็ยังติดต่อพูดคุยกันได้ แม้แต่ละคนอาจจะอยู่คนละบริษัท คนละเป้าหมาย แต่ยังสามารถแชร์แลกเปลี่ยนกันได้ ทำให้ได้คอนเนคชัน ซึ่งเรายังอยู่ในวงการนี้ การได้เจอคนหน้าเดิมๆ จึงเป็นมิตรภาพระยะยาวที่เราได้ครับ
จริงๆ ผมอยากให้มีสมาคมศิษย์เก่า NSC นะ ตอนนี้ 20 ปีน่าจะนานพอที่จะตั้งขึ้นมาได้ หรือถ้าเป็นไปได้น่าจะมีจัดประกวดสำหรับศิษย์เก่าด้วย อาจเป็นหมวดคนทั่วไปแต่ต้องเป็นคนที่เคยผ่านหมวดนักเรียนนักศึกษามาก่อน อาจเป็นการทำงานข้ามทีมหรืออะไรก็ตาม ผมว่าน่าสนุกครับ
ปรับหมวดตามยุค ปลุกพลังสร้างสรรค์
สิ่งที่อยากให้ NSC เพิ่มเติมก็คือเรื่องหมวดการแข่งขันที่ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ไม่เหมือนยุคที่ผมแข่งแล้ว อันนี้สำคัญมากครับ เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา NSC จะปรับตัวอย่างไรให้แต่ละหมวดเข้ากับยุคสมัย มีที่ทางให้ผลงานหรือเทคโนโลยีที่แต่ก่อนไม่เคยมีได้ส่งประกวด อย่างหมวดใหม่ล่าสุด เช่น หมวดปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) หรือหมวด IoT (Internet oh Things) ที่แต่ก่อนไม่มี แต่เพิ่งเพิ่มเข้ามา ผมว่าน่าสนใจ ซึ่งต่อไปคงต้องมีการปรับเรื่อยๆ ครับ
จากผลงาน NSC สู่บริษัทเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ
ตอนนี้ผมเปิดบริษัทของตัวเองด้วยผลงาน ‘วิชันเนียร์’ เป็นผลงานที่ทำตั้งแต่ตอนเรียนปี 4 และต่อยอดมาเรื่อยๆ ล่าสุดปีที่แล้วเปิดบริษัทขึ้นมาเพื่อมาทำให้จริงจังมากขึ้น และให้ผลงานนี้ส่งถึงมือผู้ใช้ได้จริงๆ ซึ่งบริษัทนี้ตั้งใจทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ มีวิชันเนียร์เป็นโปรดักส์ตัวแรก ถึงแม้ว่าตอนแรกเปิดบริษัทมาสำหรับโปรดักส์วิชันเนียร์โดยเฉพาะ แต่เราก็สนใจความพิการรูปแบบอื่นๆ ด้วยที่เรามองว่าเทคโนโลยีจะเข้าไปช่วยได้ หลักๆ จะเน้นที่คนพิการและผู้สูงอายุ เกี่ยวกับเรื่อง Assistive Technology หรือเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจว่า ทำอย่างไรให้ชีวิตคนด้อยโอกาสดีขึ้น โดยนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ แต่ตอนนี้เน้นที่คนตาบอดก่อนครับ
Startup ไม่ใช่ปลายทางของทุกสิ่ง
ผมมองว่าการต่อยอดเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่าง NSC เราจะต่อยอดผลงานของเด็กๆ ได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เพราะแต่ละปีเราจะเห็นผลงานเป็นร้อยผลงานที่ดี ทำอย่างไรให้ผลงานเหล่านี้ต่อยอดได้มากขึ้น บางครั้งคนอาจมองว่าการต่อยอดต้องไปเปิดบริษัท ต้องเป็น startup แต่ผมคิดว่าการต่อยอดไม่จำเป็นต้องเป็น startup หรือเปิดบริษัทก็ได้ นั่นอาจเป็นทางหนึ่ง ซึ่งถ้าเราสร้างผลงานมาชิ้นหนึ่ง ต้องยอมรับว่าทุกผลงานไม่ได้จบที่ startup อย่างเดียว มี startup น้อยมากที่ประสบความสำเร็จหรืออยู่รอดได้ เพราะฉะนั้นทุกผลงานไม่จำเป็นต้องจบที่ startup แค่เราต่อยอด เช่น ถ้าเราเป็นนักเรียน แค่นำผลงานนั้นไปใช้ในชุมชน ให้เพื่อนบ้านได้ใช้ หมู่บ้านได้ใช้ ชุมชนได้ใช้ หรือคนในโรงเรียนเดียวกันได้ใช้ หรือขายออนไลน์ได้ นี่คือการต่อยอดแล้ว แค่ก้าวออกจากห้องแล็บไปให้คนสิบคนร้อยคนใช้ สำหรับผมมันคือการต่อยอด
จงต่อยอด! แม้ข้อจำกัดรุมล้อม
ตอนที่เราเริ่มประกวดหรือแม้แต่ผมเอง บางทีเราก็มองแค่เดดไลน์ว่าส่งวันไหน หรือนำเสนอรอบสุดท้ายวันไหน พอได้รางวัลแล้วก็จบกัน พอมีงานประกวดใหม่เข้ามาเราก็ไปสมัครเวทีต่อไป หรือไปทำอย่างอื่นต่อ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดที่งานไม่เกิดการต่อยอด รวมทั้งระยะเวลาแข่งขันแค่ 3 – 6 เดือน หรือตัวเด็กเองมีภาระอื่นๆ เช่น ต้องเรียนในห้องเรียน เรียนพิเศษ เป็นจุดที่ทำให้การต่อยอดอาจจะยาก และเด็กมองไม่เห็นว่ามันมีช่องทางที่จะเอาผลงานไปให้คนในโรงเรียนหรือในชุมชนได้ใช้ ซึ่งคุณครูอาจจะมีส่วนผลักดันที่ไม่ใช่แค่เด็กได้รางวัลแล้วจบกัน แต่กระตุ้นให้เด็กได้พัฒนาต่อ เช่น อาจกระตุ้นว่าเรามาทำต่อกันอีกสัก 6 เดือนนะ ทำให้เด็กในโรงเรียนได้โหลดแอปฯ นี้ไปใช้จริงๆ แค่นี้ก็เป็นการต่อยอดแล้ว
เก่งไอทีไม่พอ…ต้องปากดีด้วย!
สำหรับทักษะที่เด็กไอทียุคนี้ต้องพัฒนา ผมคิดว่าเป็นเรื่องการสื่อสารครับ เพราะมักจะมีคนพูดว่าเด็กไอทีพูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ อาจไม่ถึงกับต้องเป็นนักพูดที่เก่งมาก แต่ทำอย่างไรให้สามารถถ่ายทอดงานของเราให้คนอื่นเข้าใจได้ เพราะมันสำคัญมากในการที่เราจะหาทุน หรือเอาไปให้คนใช้จริงๆ หรือเอาไปขาย เราอาจจะบอกว่าให้คนที่เรียนมาด้านอื่นไปช่วยถ่ายทอด แต่ถ้าเราเป็นคนทำเทคโนโลยี เราจะเข้าใจเทคโนโลยีที่เราทำเองมากที่สุด ถ้าเราพูดหรือสามารถถ่ายทอดเองได้จะดีมาก นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องการทำงานเป็นทีม บางคนมีความรู้สึกว่าชอบทำงานคนเดียว เขียนโปรแกรมคนเดียว เขียนกับเพื่อนไม่ได้ แต่สุดท้ายเราทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องทำเป็นทีม
หนังสือคือคลังปัญญา (แม้ในยุค 4.0)
สำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ที่สนใจแวดวงนี้ อยากให้เริ่มเอาตัวเข้ามาในงานเหล่านี้ก่อน ถ้ามีความสนใจหรือมีความฝันลองส่งผลงานเข้ามา ปีแรกอาจจะไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราได้เริ่ม ปีต่อไปก็ทำให้ดีขึ้น แต่มันต้องมีครั้งแรก นอกจากนี้ การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการอ่านหนังสือจะช่วยได้เยอะ สมัยก่อนผมจะชอบอ่านหนังสือมาก เริ่มจากไปอ่านหนังสือฟรีตามร้านหนังสือ (หัวเราะ) ซื้อบ้างไม่ซื้อบ้าง หลังๆ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เข้าหอสมุด จะมีหนังสือต่างประเทศให้อ่านหลากหลายขึ้น
การอ่านเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้ลึกรู้จริง บางครั้งเราดู tutorial หรือดูคลิปในยูทูปอย่างเดียวมันไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจจริงๆ ผมมองว่าหนังสือยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้เทคโนโลยีบางอย่างที่มาใหม่ๆ หนังสืออาจจะตามไม่ทัน แต่แนวคิดหลักๆ หนังสือยังเป็นสิ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าอ่านหนังสือแล้วก็สามารถไปหาเสริมในอินเตอร์เน็ตได้ แต่ยากที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ด้วยอินเตอร์เน็ตเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในไทยอาจมีหนังสือด้านนี้ค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะไม่มีคนเขียนด้วยหรือบางทีเขียนมาแล้วขายได้ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษซะมากกว่า
ทุกโอกาสคือการเติบโต
สิ่งที่ผลักดันให้ผมมาถึงวันนี้ อย่างแรกต้องขอบคุณคุณครูสมัยประถมฯ และมัธยมฯ ที่เห็นแววตั้งแต่ผมทำอะไรไม่เป็น เขียนโปรแกรมไม่เป็น ไม่เคยจับอะไรพวกนี้เลย ตอนนั้นที่โรงเรียนมีชุดหุ่นยนต์อยู่ชุดหนึ่ง ยังไม่มีใครเล่น คุณครูก็ให้โอกาสเข้าไปศึกษาและลองเล่นกับครู พอเราลองแล้วชอบคราวนี้ยาวเลยครับ พอมีอะไรก็ลองไปเรื่อย ใครจัดประกวดก็ไป มีอะไรก็ลองเล่นใช้เวลากับมัน ต้องขอขอบคุณคุณครูมากๆ ครับที่ให้โอกาส ที่สำคัญต้องมีความตั้งใจ พยายาม และทำไปเรื่อยๆ ประกวดไปเรื่อยๆ ชอบอ่านหนังสือ ชอบศึกษาก็ทำไปเรื่อยๆ ครับ
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่สนใจด้านเทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีไปใช้ ทำให้อะไรหลายๆ อย่างดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง ผมมองว่าเทคโนโลยีจับได้กับทุกอย่าง พอเอาไปจับแล้วสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงได้ ผมชอบเอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ในสาขาต่างๆ เพราะหากเทคโนโลยีอยู่เดี่ยวๆ มันไม่น่าสนใจต้องเอาไปจับกับอย่างอื่นด้วย เช่น คนพิการ การศึกษา การแก้ปัญหาต่างๆ จะน่าสนใจมากขึ้น
ก้าวต่อไปบนเส้นทางไอทีเพื่อสังคม
สำหรับอนาคตผมก็คงจะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มองโจทย์ใหม่ๆ เอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับสิ่งต่างๆ ต่อไป อย่างหนึ่งที่เป็นความฝันก็คือ สักวันหนึ่งอยากให้เทคโนโลยีที่เราสร้างสักชิ้นเกิดการแพร่หลายออกไป มีคนใช้เยอะๆ มีคนจดจำ อยากได้เทคโนโลยีสักอย่างที่พอคนพูดถึงจะนึกถึงชื่อเรา อย่างวิชันเนียร์ที่เกิดประโยชน์กับคนพิการทางสายตา ผมว่ามันน่าภาคภูมิใจ เราทำมาแล้วมีคนเห็นประโยชน์ มีคนติดตามรอที่จะใช้ รู้สึกว่ามันยืนยันว่าเรามาถูกทาง เป็นฟีดแบคที่ทำให้เราทำต่อไปครับ…
มากกว่าแรงบันดาลใจในการทำเพื่อสังคม คือความมุ่งมั่นในเส้นทางอย่างไม่ย่อท้อ นี่คือคุณสมบัติของนวัตกรที่ดีที่เราสัมผัสได้ตลอดการสนทนากับปาล์ม และเชื่อเหลือเกินว่า ด้วยโลกทัศน์และความสามารถที่มีอยู่ เขาน่าจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆ ให้แก่สังคมได้อีกมากมายทีเดียว
ข้อมูลการศึกษา
- 2015 – present Master of Engineering (Computer Engineering) King Mongkut’s University of Technology Thonburi
- 2011 – 2014 Bachelor of Engineering (Computer Engineering) First class honor, GPA 3.66 King Mongkut’s University of Technology Thonburi
- 1997 – 2011 Saint Francis Xavier School
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2012
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- 2018
- First prize winner of Thailand ICT Awards 2018 in Inclusion and Community (Education) category
- First prize winner of Thailand ICT Awards 2018 in the Internet of Things category
- 2017
- Finalist of Lee Kuan Yew Global Business Plan Competition (LKYGBPC) 2017 held at Singapore Management University, Singapore
- 2016
- First prize winner of Creative Business Cup Thailand Edition 2016
- First prize winner of Thailand ICT Awards 2016 in Inclusion & Community category
- Merit award from Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA 2016) in Inclusion & Community category, Taiwan
- 2005
- Grand prize winner of the 2015 VTKnowledgeWorks Global Student Entrepreneurship Challenge, Virginia, USA
- First prize winner of Thailand ICT Awards 2015 in tertiary student project category
- First prize winner of Microsoft Imagine Cup Thailand 2015 in the world citizenship category
- First prize winner of Samart Innovation Awards 2015
- First runner-up of the 8th Student Innovation Challenge held at the International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology (i-CREATe 2015), Singapore
- Merit award from Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA 2015) in tertiary student project category, Colombo, Sri Lanka
- Second runner-up from InnoServe Contest 2015, Taiwan
- Received NSTDA university industry research collaboration (NUI-RC) scholarship for a master’s degree study
- 2012-2014
- First prize winner of the Students with Solutions 2012 mobile application contest held by the United States Agency for International Development (USAID)
- Second runner-up of the National Software Contest 2014
- First runner-up of the National Software Contest 2013
- Finalist of Thailand ICT Awards 2013 in tertiary student project category
- Received a diamond scholarship, a KMUTT scholarship given to outstanding students
ปัจจุบัน
- 2017 – present: Founder InGarage Assistive Technology Co.,Ltd.
- 2013 – preset: Teaching Assistant Computer Engineering Department, KMUTT
ความเชี่ยวชาญ
- Introduction to Computer Programming
- Algorithms and Data Structures
- Circuits and Electronics for Computer Engineering
- Digital Systems Design
- Embedded System Design
- Computer Architectures and Systems
- Operating System