แนะนำรุ่นพี่ NSC : อิทธิพล ตีระพฤติกุลชัย (NSC 2012)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนพฤษภาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์
ผู้ใหญ่มักบอกว่า เด็กติดเกมอนาคตจะไม่เจริญ…

แต่เส้นทางชีวิตของ ‘เบย์’ อิทธิพล ตีระพฤติกุลชัย Asset Publisher หนุ่มไฟแรง บอกกับเราว่า โลกของเกมนั้นกว้างใหญ่เกินกว่าที่คนไม่เล่นเกมจะนึกถึง และโลกของนักสร้างเกมนั้นยิ่งกว้างใหญ่กว่าหลายเท่าตัว หนุ่มเบย์ยังบอกอีกว่า โลกของนักสร้างเกมนั้นยังมีที่ทางมากมายให้คนที่ชอบเกมเดินเข้าไปและสร้างรายได้จากความชอบของตัวเอง ภายใต้ข้อแม้เดียว… สิ่งนั้นคืออะไร มาหาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ของหนุ่มคนนี้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

แรงผลักดันของเด็กชอบเกม

ผมเรียนทำเว็บไซต์มาตั้งแต่ประถมฯ ครับ และในห้องคอมพิวเตอร์ก็จะมีเกมให้เล่น บางทีหลังเลิกเรียนก็ไปเล่นเกมกับเพื่อน พอ ม.ต้นผมก็เริ่มหัดเขียนโค้ด เขียนเว็บฯ จริงจังมากขึ้น โดยอ่านจากหนังสือภาษาไทยนี่แหละครับ เพิ่งมาเริ่มเขียนเกมตอน ม.ปลาย ตอนนั้นอยากลองเขียนเกมเอง เพราะชอบเกมอยู่แล้ว และด้วยระบบเกมมันมีอะไรให้ทำเยอะ เกมแรกที่เขียนก็เอาไปประกวด NSC เลยครับ คิดว่าไหนๆ หัดเขียนเกมแล้วก็ลองเอาไปประกวดด้วยเลย เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ตอนนั้นยังไม่ได้รางวัล ไปถึงแค่รอบคัดเลือกภาคเหนือครับ

เรียนสิ่งที่ชอบ ชีวิตจะใช่!

หลังจากนั้นผมเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ครับ ที่เลือกเรียนที่นั่นเพราะเป็นสาขานานาชาติด้วย เผื่อจะได้เก่งภาษาขึ้น จริงๆ ผมก็อยากเรียนสาขาอนิเมชันเหมือนกัน จะได้ตรงกับเกมมากกว่า แต่ผมก็ถนัดเขียนโค้ดมากกว่าอนิเมชัน ซึ่งการเรียนที่นั่นทำให้ได้เรียนรู้เยอะเลยครับ โดยเฉพาะเรื่องการเขียนโค้ด เขียนอย่างไรให้สวยและเป็นระบบระเบียบ รู้จักแพทเทิร์นต่างๆ ในการเขียนโค้ดว่าแต่ละแบบใช้กับสถานการณ์ไหน รวมทั้งการเขียนเอกสารเพื่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้

พอตอนปี 3 ก็เข้าแข่งขัน NSC อีกครั้งครับ ตอนนั้นอยากลองเขียนอะไรที่มันยากขึ้น เป็นผลงานเกม ‘กว่างออนไลน์’ ที่เล่นหลายคนพร้อมกันได้ ผมอยากทำเกมออนไลน์อยู่แล้ว เลยหาธีมอะไรที่เขาไม่ค่อยทำกัน และได้เข้ารอบสุดท้ายครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

พบพาร์ทเนอร์จากการแข่งขัน

การแข่งขัน NSC ทำให้ผมได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยได้ทำ ตั้งแต่ตอนเขียนข้อเสนอโครงการแล้วครับ ผมไม่รู้หรอกว่าเวลาจะส่งข้อเสนออะไรสักอย่างต้องทำอะไรบ้าง มันต้องมีการนำเสนอเกม ได้คิดว่าจะทำอะไรออกมาและนำเสนอรอบสุดท้ายด้วย นอกจากนี้ทำให้ได้รู้ว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันบ้าง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันคนอื่นก็ทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ น่าสนใจเยอะครับ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ด้วย

ที่สำคัญคือ ทำให้ผมได้ไปเจอรุ่นพี่คณะเดียวกัน แต่ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้คุยกันมาก่อน อาจเพราะอยู่คนละสาขาด้วย และเขาก็แนะนำให้ผมรู้จักกับรุ่นพี่อีกคนที่เรียนสาขาเดียวกับเขา ซึ่งเก่งกราฟิกมากๆ แล้วเราก็รวมทีมกันเพื่อทำเกมประกวดในงานของทรู ได้รางวัลที่ 2 มาครับ เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ผมต่อยอดได้ทำงานด้วย เพราะหลังจากนั้นทรูก็ทาบทามให้ไปทำงานกับเขาต่อเลย ทำให้เราได้ทำเกมและเริ่มขายตั้งแต่นั้น เป็นเกมแรกที่ได้ลองขายใน App store จริงๆ ซึ่งตอนเริ่มทำเกมแรกๆ ตั้งแต่ ม.5 – ม.6 ผมก็หัดเองตั้งแต่เขียนโค้ด ทำโมเดล เลยรู้ว่าตัวเองไม่ได้ชอบทำโมเดลและทำไม่ค่อยสวยด้วย พอไปรวมกับรุ่นพี่ทำให้เกมมันดูเป็นเกมมากขึ้น ผมว่าการทำงานเป็นทีมมันดีกว่า เพราะบางอย่างเราทำเองไม่ได้ทั้งหมด หรืออาจทำเองได้แต่ใช้เวลานาน

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

สร้างโลกของตัวเอง…สร้างเกมแบบของเรา

หลังจากเรียนจบผมก็ทำงานที่ทรูต่อเลยครับ ตำแหน่ง System Analyst ได้ทำเกมปล่อยไปหนึ่งเกม ผมคิดว่าเกมนั้นผมยังทำไม่สุด แต่มันก็มีความสบายใจที่เราได้ปล่อยเกมนี้ออกมา ผมอยู่ที่ทรูได้ 1 ปีก็ออกมาเป็น Game Developer อยู่อีกสองบริษัท ทำเกมลงบนมือถือเหมือนกันครับ แต่จะมีอิสระในการทำงานมากกว่า อาจเป็นเพราะเป็นบริษัทเล็กกว่า เลยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก จนบริษัทสุดท้ายปิดตัวลง ผมเลยลองออกมาทำเอง เพราะคิดว่าเราสามารถทำเองได้ทั้งเกม เลยออกมาทำเองดีกว่า ซึ่งคนที่คิดแบบผมน่าจะเยอะ เพราะปัจจุบันในเกมหนึ่งมันมีระบบหลายอย่างไม่ใช่เรื่องของเกมอย่างเดียว เช่น โปรโมชัน การขายของ ที่บางทีทำให้เกมไม่สนุกด้วย จริงๆ คือผมอยากสร้างอะไรที่เป็นของตัวเองด้วยครับ อยากมีตัวละครที่เป็นของตัวเอง และตัดสินใจเองได้ว่าจะเอาตัวละครไปทำอะไรต่อ

ช่วงเวลาของการ ‘ลับคมขวาน’

ผมชอบงานที่เราสามารถคิดเองได้ รวมทั้งรูปแบบการทำงานที่เหมาะกับเราด้วย เคยได้ยินคำคมของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่งบอกประมาณว่า ‘ถ้าจะตัดต้นไม้ เราจะใช้เวลาในการตัดต้นไม้เลย หรือลับคมขวานก่อนค่อยตัดต้นไม้’ ตอนนี้เหมือนผมลับคมขวานอยู่ ยังไม่ได้เขียนโค้ดเป็นเกมเต็มๆ ซึ่งมันทำให้ผมไม่ต้องเสียเวลาว่าต้องทำอะไรให้เสร็จก่อนค่อยขาย และสามารถหาเงินระหว่างทางได้ด้วย อีกอย่างก็คือ เหมือนกับก่อนผมจะทำเกม ผมก็เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมก่อน ก่อนที่จะเอามันไปใช้ทำเกมให้เสร็จอย่างรวดเร็วครับ

สร้างทุนชีวิตด้วย ‘เดโมเกม’

ย้อนไปตั้งแต่อยู่ทรู นอกจากทีมผมที่ทำเกมแล้วยังมีเพื่อนอีกทีมหนึ่งที่ทำเกมเหมือนกัน ก่อนมารวมกันรอบนี้ก็ไม่ได้เจอกันมาปีหรือสองปี พอผมตัดสินใจลาออกก็เลยมารวมกับเพื่อนคนนั้นจริงจัง เพื่อนผมเขามีความสามารถในการทำตัวละครมาก ผมก็เขียนโค้ดได้ แต่ยังขาดคนทำเนื้อเรื่องและฉากต่างๆ อยู่ วิธีทำงานก็จะเจอกับเพื่อนทางออนไลน์ครับ ผมจะคิดไอเดียออกมา เขียนโค้ดเกมแนวไหนก็ได้ แล้วขอเพื่อนใช้โมเดลตัวละครมารวมกับที่ผมทำอยู่ เพื่อทำเป็นเดโมแล้วไปขายในตลาดอีกที แต่ตอนนี้ยังไม่มีเกมขายครับ ขายแค่ซอร์ซโค้ด (source code) เกม คนซื้อคือคนที่ต้องการจะทำเกม

วิธีขายคือจะมีสโตร์สำหรับซอร์ซโค้ดทั้งขายซอร์ซโค้ดเกมและเอาซอร์ซโค้ดเกมนั้นไปทำต่อ ซึ่งแต่ละเดือนจะขายได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่ามีคนอยากได้ของที่เราทำมากเท่าไหร่ และขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญด้วย ก็อยู่ได้สบายๆ ครับ ช่วงแรกอาจได้น้อยหน่อย เพราะมันต้องสร้างของไว้เยอะๆ จึงจะมีโอกาสในการขายได้มากกว่า ที่จริงผมเข้าตลาดนี้ช้าด้วย ถ้าผมเข้ามาก่อนสมัยที่มันยังไม่มีอะไรมาก มันน่าจะขายได้เยอะกว่านี้ ซึ่งในไทยผมรู้จักไม่กี่คนที่ทำพวกนี้เด่นๆ เรียกว่าเป็น Asset Publisher

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ความยากคือความท้าทาย

หากจะสร้างเกมสักตัวผมต้องคิดก่อนว่าเกมนั้นจะมีส่วนประกอบอะไรบ้าง และออกแบบเครื่องมือที่ใช้งานง่าย ซึ่งถ้าเราเป็น Asset Publisher เราก็ไม่ต้องคิดเนื้อเรื่องเลยก็ได้ แต่ถ้าต่อไปผมจะทำเกมผมก็ต้องคิดเรื่องราวด้วย ที่จริงผมอยากจ้างคนที่เขียนนิยายจริงจังอยู่แล้วหรือลองหานิยายทั่วไปอ่านแล้วขอซื้อลิขสิทธิ์ ส่วนใหญ่จะเป็นนิยายแนวแฟนตาซี หรือไม่ก็คิดเอง แต่ผมก็ไม่ค่อยถนัด

ที่ชอบเขียนเกมเพราะมันมีจุดที่ต้องคิดอะไรที่ยากๆ คืออะไรยากๆ ผมชอบทำ ช่วงนี้ผมชอบทำระบบเน็ตเวิร์ค มันมีอะไรให้คิดหลายอย่าง ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้การส่งเน็ตเวิร์คมันราบรื่น ทำข้อมูลในการส่งเน็ตเวิร์คเล็กลงเพื่อให้ส่งได้ง่ายขึ้น ผมว่าเรื่องโค้ดอาจจะไม่ยากถ้าเราทำเสร็จไปครั้งหนึ่ง พอทำครั้งต่อไปก็จะง่าย ความยากน่าจะเป็นเรื่องความท้าทายในเกม ทำอย่างไรให้คนสนุกตั้งแต่เริ่มเล่นเกม และไม่เบื่อระหว่างการเล่นเกม ซึ่งการเป็นคนชอบเล่นเกมกับคนที่มาทำเกม มันมีความสนุกต่างกันนะ ผมเล่นเกมก็ชอบแกะว่าเกมนี้ทำอะไรบ้าง อยากรู้ว่าเขาดีไซน์อย่างไร

เมื่อโลกของคนสร้างเกม…เข้าถึงไม่ยากอีกต่อไป

ในการพัฒนาเกมก็มีแบ่งหลายสายครับ มีทั้งคนออกแบบเกม คนเขียนโค้ด ฯลฯ สำหรับคนออกแบบเกม นอกจากจะชอบเกมแล้วต้องแกะรายละเอียดของเกมได้ว่ามันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้ามีความสามารถในการแกะก็ดี และถ้าสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ด้วยก็จะดีมาก ส่วนคนเขียนโค้ดก็ต้องเริ่มเขียนโค้ด ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ว่าเราจะชอบหรือเปล่า และลองพวก Game engine ต่างๆ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยี Game engine ทำให้สามารถทำเกมได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากครับ ซึ่งการทำเกมมีหลายอย่างที่ต้องทำ บางคนอาจถนัดเรื่องทำกราฟิกก็เน้นทางกราฟิก แล้วหาคนที่เขียนโค้ดเป็นมาร่วมทีมกันทำเกมก็ได้ครับ ซึ่งผมคิดว่ารุ่นใหม่นี่เก่งนะ เก่งกว่ารุ่นผมอีก ข้อจำกัดสำหรับเด็กรุ่นใหม่ไม่น่าจะมีแล้ว เดี๋ยวนี้มีคนสอนเกี่ยวกับเกมเยอะขึ้น ความรู้ที่เป็นภาษาไทยก็เริ่มมีเยอะและเข้าถึงง่ายขึ้น แต่ก็ควรฝึกภาษาอังกฤษด้วย เพราะการที่เรารู้ภาษาอังกฤษมันทำให้หาเอกสารอ่านได้ทั่วโลก

ความแตกต่างคือจุดขาย

ในตลาดเกมจะแบ่งเป็นเอนจิ้น (engine) แต่ละเอนจิ้นจะมีตลาดของตัวเอง ใครถนัดเอนจิ้นไหนก็ลองทำโค้ดอะไรสักอย่างขาย อาจจะทำเป็นเกมเล็กๆ เกมหนึ่งแล้วลองขายดู แต่ผมแนะนำว่าควรทำเกมที่แตกต่าง เพราะถ้าทำซ้ำกับคนอื่นคนก็ไม่อยากซื้อของซ้ำ

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ผมเป็นคนที่อยากลองทำอะไรที่ผมคิดเอง อยากมีเรื่องราว อยากสร้างโลกของตัวเอง อยากใส่ตัวละครที่เราคิดเอง บางทีอาจจะใส่ตัวเองเข้าไปในเกมด้วย (หัวเราะ) ซึ่งผมไม่ได้กะจะเป็นแค่ Asset Publisher นะครับ ผมตั้งใจจะเอา asset ที่ผมทำไว้ไปทำเกมอีกที

จริงๆ ตอนนี้ผมก็สนใจบริษัทเกมหลายบริษัท รู้สึกว่าการรวมทีมของเขามันใหญ่ขึ้น ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น มีการแบ่งตำแหน่งชัดเจน มีคนเยอะ ผมก็ยังอยากทำเกมที่มันใหญ่กว่าเดิม ซึ่งถ้าทำเองต้องเก็บเงินจ้างคนทำอาร์ต เพราะเรื่องโค้ดผมทำได้อยู่แล้ว

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ขยายโลกไอทีไปสู่สาธารณชน

คำแนะนำสำหรับ NSC คือ ผมอยากให้ NSC เข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น ที่ผ่านมารูปแบบการแข่งขันจะให้คนที่สนใจเทคโนโลยีอยู่แล้วมาดูมากกว่า แต่บางซอฟต์แวร์อาจจะไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนที่ใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าคนทั่วไปที่ไม่ใช่สายไอทีจะรู้จัก NSC น้อยและเข้าถึงยาก แต่ผมก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร หรือมันอาจจะต้องมีการโชว์ผลงานก่อนไปโชว์ในงานจริง เช่น โชว์ผลงานออนไลน์ก่อน เปิดเว็บฯ เผยแพร่ผลงานก่อนไปถึงเวทีใหญ่เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้..

ทุกคนมีความชอบ แต่ความชอบนั้นจะยังผลอย่างไรต่อชีวิตของเรา ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจริงจังกับความชอบนั้นมากน้อยแค่ไหน? สำหรับหนุ่มเบย์ ความชอบเกมอย่างจริงจังของเขาได้นำพาชีวิตไปสู่การเรียนรู้และฝึกฝนทุกทักษะที่เกี่ยวข้องกับเกม จากนักศึกษาไปสู่การทำงานจริง มาจนถึงการออกเดินทางตามความฝัน กล่าวได้ว่า นี่เป็นชีวิตที่มีความสุขจากการที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบอย่างจริงจัง และที่สำคัญคือ ผลงานที่เกิดจากความชอบนั้นก็ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ชีวิตได้อีกด้วย

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ข้อมูลการศึกษา
  • B.S., Software Engineering – College of Arts, Media and Technology. Chiang Mai University, Thailand
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2012
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • 2018
    • Clinic Web App
    • Multiplayer Action RPG Template (SURIYUN)
  • 2017
    • Turnbase RPG Template (SURIYUN)
    • Shooter IO (SURIYUN)
    • Bomber IO (SURIYUN)
    • Battle IO (SURIYUN)
    • BASH (At Infinity Levels Studio)
  • 2016
    • Blades of Revenge (At Infinity Levels Studio), Works on UIs for Puzzle Strategy RPG Game to manage characters and items also works on Backend side for admin tools and game APIs
  • 2015
    • War of Gods: Rebirth (At Gen C Inspire), Turn based-RPG Game for Android/iOS
  • 2014
    • Jewel Tour, 5 in 1 Match 3 puzzle game in 1 application
    • Rune War (At True Digital Plus), Puzzle-RPG Game for Android/iOS
  • 2013
    • Dying Land Defender, FPS-MOBA Game for PC developed using UDK (Unreal Engine 3) This is thesis project, Popular vote project
    • Rune War (Web Game), A combination between match-3 puzzle game and RTS game for facebook, can challenge with online players realtime.
  • 2011
    • Net Warrior Online, MMORPG for PC, Joined IT creative games competition 2011, 3rd Prize and Popular vote
ปัจจุบัน
  • Asset Publisher, SURIYUN
ความเชี่ยวชาญ
  • Programming Language: C++, Java, C#, Lua, HTML, CSS, PHP, Javascript, SQL
  • Game Engine: Unity3d, Unreal Engine 4
  • Web Stack & Tools : Apache2, PHP5, PHP7, Composer, WordPress, Node.js, MySQL, MongoDB
  • Other Tools: Visual Studio Code, Android Studio, Visual Studio, Xcode, Git Clients (I like SmartGit), JIRA