แนะนำรุ่นพี่ NSC : ณัฏฐ์ ปิยะปราโมทย์ (NSC 2007)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนพฤษภาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์
 
“ความท้าทาย” คือเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความก้าวหน้า…

แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่เรื่องราวตลอดเส้นทางชีวิตที่ ณัฏฐ์ ปิยะปราโมทย์ โปรแกรมเมอร์หนุ่มไฟแรงแห่ง Agoda เล่าถึงตัวเขาให้เราฟัง ไม่สามารถหาคำอธิบายอื่นใดมานิยามเขาได้ชัดเจนไปกว่า คนหนุ่มที่ใช้การท้าทายตัวเองเพื่อขับเคลื่อนชีวิต และด้วยมโนทัศน์เช่นนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเขาพุ่งไปข้างหน้าแบบไม่หยุดยั้ง จากความสำเร็จหนึ่งไปสู่อีกความสำเร็จหนึ่ง ลองชิมบทสัมภาษณ์ของเขาดู แล้วจะพบว่า เมื่อเปลี่ยนความกลัวและปัญหาเป็นความท้าทาย ชีวิตจะไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้นเยอะ…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

เอาจริงกับสิ่งที่ชอบ!

ผมชอบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็กๆ ครับ ตอนประถมฯ คุณพ่อซื้อคอมฯ มาให้เล่นเกม แต่เกมช่วงนั้นจะเป็นสื่อการเรียนรู้มากกว่า การเข้าเกมค่อนข้างยาก ต้องพิมพ์คำสั่งถึงจะเข้าได้ พอตอนประถมปลายผมเห็นเว็บไซต์ sanook.com ขายได้แพงมาก เลยอยากลองหัดทำเว็บฯ บ้าง คุณพ่อก็หาหนังสือมาให้อ่าน แต่แค่ได้ฝึกทำเล่นๆ ไม่ได้ทำจนเสร็จ มาเข้าวงการจริงๆ น่าจะตอนสมัคร NSC ครั้งแรกตอน ม.1 ที่ได้ทำโปรเจกต์ ตอนนั้นไม่รู้จัก NSC เลย แต่คุณครูหัวหน้าหมวดคอมฯ บอกว่ามีโครงการนี้และให้ลองเขียนข้อเสนอโครงการไป ซึ่งผมยังไม่เข้าใจเลยว่าข้อเสนอโครงการคืออะไร (หัวเราะ) ต้องทำอย่างไรบ้าง แต่คุณครูช่วยผลักดันจนสมัครเข้าร่วมโครงการและพัฒนาเป็นผลงานเกม ตอนนั้นมีการ์ตูนดิจิมอน คล้ายๆ ทามาก็อตจิที่คนเอามาเลี้ยงกัน เราทำดิจิมอนจำลองบนคอมฯ เข้าถึงรอบชิงฯ และได้รางวัลที่ 2 ครับ

ไอเดียขยายจากความท้าทายของการแข่ง

หลังจากนั้นเหมือนมีสนามแล้ว ผมว่า NSC ยังเป็นอะไรที่ท้าทาย ปีถัดไปก็เข้าแข่งขันอีก ทำเกมต่อคำภาษาไทยให้เล่นแข่งกันได้สองคน หลังจากนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำว่ามีโครงการ YSC ที่สมัครได้ช่วงมัธยมฯ ก็ขยับมาทำโครงงานวิทยาศาสตร์ช่วง ม.3 ม.4 ปีแรกทำเป็นโปรแกรมบีบอัดวิดีโอ สมมติเราตั้งกล้องถ่ายวิดีโอวงจรปิดไว้ แม้มันจะบันทึกภาพไว้ตลอดเวลาแต่ภาพไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เหมือนฉายภาพซ้ำๆ จะมีวิธีอย่างไรให้ประหยัดพื้นที่ได้

ตอน ม.5 ผมยังสนใจเรื่องภาพวิดีโออยู่ และได้รู้จักโปรแกรม OCR เป็นโปรแกรมที่แปลงภาพเอกสารเป็นข้อความ สมมติเราไปเจอโปสเตอร์มีข้อความเต็มไปหมด โดยปกติเราสามารถใช้โปรแกรม OCR สแกนภาพแล้วดึงข้อความออกมา จะได้ไม่ต้องพิมพ์เอง ซึ่งถ้าเราไปเจอข้อความแต่ไม่สะดวกเอาโปสเตอร์มาสแกนเราจะใช้กล้องถ่ายรูปเอาภาพมาใช้ได้ไหม ผมเลยทำโครงการปรับภาพให้ชัดพอที่จะเอาไปเข้าโปรแกรม OCR ตอนนั้นได้รางวัลที่ 1 ทั้งสองปี ตอน ม.6 แข่งขัน NSC อีกครั้ง พยายามกลับมาทำโปรแกรม OCR เอง แต่ลองหยิบโจทย์ที่ท้าทายขึ้น คือ อยากทำ OCR ภาษาไทย แปลงรูปภาพตัวอักษรเป็นข้อความครับ

จงกล้าท้าทายตัวเอง!

หลังจากนั้นผมเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนั้นผมไปแล็บของอาจารย์ที่ทำเกี่ยวกับการประมวลผลภาษาของมนุษย์ ก็ลองหาโจทย์ท้าทายให้ตัวเอง เป็นโปรแกรมช่วยฝึกการออกเสียงภาษาไทย โปรแกรมจะบอกว่าเราออกเสียง ร ล ชัดไหม ผลงานนี้แข่งขัน NSC ถึงรอบชิงฯ แต่ไม่แน่ใจว่าได้รางวัลไหม ซึ่งการแข่งขันตอนมัธยมฯ กับมหาวิทยาลัยต่างกันมากครับ ตอนมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเป็นโปรเจกต์จบ ทุกคนก็จะเตรียมพร้อมทำมาดีกว่า และกรรมการก็จะตรวจจริงจังมากขึ้น

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

เด็ก NSC การันตีเรื่องความรับผิดชอบ

ผมว่าการแข่งขัน NSC เป็นการฝึกทักษะเรามากๆ ครับ ก่อน NSC ผมลองฝึกทำโปรแกรมเล็กๆ แต่พอทำไปแล้วติดขัดหรือยากเกินไปก็เลิกทำไป ต่างจาก NSC ที่เรามีเดดไลน์และเสนอโครงการไปแล้ว ถึงยากก็ต้องพยายามทำต่อจนเสร็จ เหมือนเรามีพันธะสัญญาว่าเราจะทำให้เสร็จ ซึ่งทักษะตรงนี้ผมว่าสำคัญ เพราะบางคนเรียนเขียนโปรแกรม ได้ลองทำโปรแกรมเล็กๆ แต่ไม่ได้ดันต่อจนเสร็จออกมาเป็นชิ้นงาน ซึ่งในการทำงานต้องบริหารจัดการเวลาด้วยครับ ในเวลาที่มีจำกัดเราจะเรียงลำดับอะไรก่อนหลังให้เสร็จ บางทีเราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แบบได้ ต้องเลือกทำ

ตอนทำงานผมมีโอกาสสัมภาษณ์งานน้องๆ ที่จบใหม่ ถ้าเขาเคยแข่งขัน NSC มันบอกอะไรได้บางอย่างว่าเขาจะสามารถรับผิดชอบงานจนเสร็จได้ แต่ถ้าทำเฉพาะโปรเจกต์ในมหาวิทยาลัยเราไม่รู้ว่าแต่ละที่เป็นอย่างไร หากผ่านเวที NSC จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่ง NSC เป็นเวทีที่ทำให้เด็กได้โชว์ความสามารถและมันบอกได้ว่าเขาน่าจะชอบการทำโปรแกรมจริงๆ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

พัฒนาตนจากคอมเมนต์ ฝึกพรีเซนต์เพื่ออนาคต

ที่ผ่านมา NSC ช่วยสอนผมเยอะเลยครับ เราได้ฝึกทักษะตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์จนผลักดันให้เสร็จ NSC ให้ประสบการณ์และฝึกการทำงานของเราตั้งแต่เด็ก ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะไม่รู้ว่ามันคือทักษะสำคัญในการทำงานจริง รวมทั้งกรรมการหรือผู้เข้าร่วมงานที่ให้ความเห็นต่องานเราระหว่างแข่งขันก็สำคัญ เพราะช่วยให้เราพัฒนาตัวงานและตัวเราเองด้วย อีกทักษะหนึ่งที่สำคัญที่ได้จาก NSC คือการนำเสนอผลงาน ถ้าทำเสร็จแล้วเล่าให้คนอื่นฟังไม่ได้ คนก็จะรับรู้งานเราได้น้อยลง ซึ่งช่วยมากเลยจนถึงตอนทำงานทักษะพวกนี้ก็ยังได้ใช้ตลอด รวมทั้งการเขียนเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ด้วยครับ

อย่าให้ผลงานหยุดแค่การแข่งขัน!

แต่สิ่งที่ยังเป็นโจทย์สำคัญอยู่คือ พอทำเสร็จเป็นโปรแกรมแล้ว ยังไม่มีการดูแลโปรแกรมหลังแข่งขันเสร็จ เหมือน NSC ได้ฝึกให้คนที่เข้าร่วมโครงการได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบแค่ไหน ได้เจอปัญหาจริง แต่นอกจากทำเสร็จเป็นเวอร์ชันแรกแล้ว หลังจากผลักดันให้มีคนใช้ คนใช้ติดปัญหาอะไร เราปรับปรุงต่ออย่างไร ตรงนี้อาจจะยังไม่เห็น ซึ่งน่าจะอยู่ที่ผู้เข้าร่วมด้วยว่าจะทำอย่างไรถึงจะต่อเนื่อง อย่างโปรแกรมของผมเองก็หยุดทำไป มันน่าเสียดาย

ให้ปัญหาเป็นครู เรียนรู้จากการทำงานจริง

หลังเรียนจบผมเริ่มทำงานที่ VC Group ครับ เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีน เขาอยากทำซอฟต์แวร์บน cloud และทำซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีนวัตกรรม ผมก็สนใจไปลองทำ เพราะผมชอบเล่นเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่แล้ว ถ้าเรามีโอกาสได้ไปพัฒนา เราอาจจะเป็นคนแรกที่ได้ลองเล่นก่อนคนอื่น ซึ่งบริษัทจากประเทศจีนคือบริษัทที่ผลิตให้ไอโฟน แต่เขาไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง เขาผลิตฮาร์ดแวร์ได้ แต่ไม่มีคนทำซอฟต์แวร์ ก็เลยมาร่วมลงทุนให้นักพัฒนาของไทยได้เข้าร่วมครับ ช่วงแรกบริษัททำเป็น R&D Hub วิจัยและพัฒนาระบบปฏิบัติการให้เขาทำเป็นสินค้าอีกที แต่พอเอาเข้าจริงพอวิจัยเสร็จแล้วมันไปไม่ถึงผู้ใช้ เราส่งชุดพัฒนาไปให้เขาขึ้นอยู่กับบริษัทที่จีนจะเอาไปทำเป็นสินค้าไหมหรือเขาหาลูกค้าได้ไหม ตอนหลัง VC Group ก็เลยลองทำสินค้าตัวเองดู เป็นกล่องดูทีวีออนไลน์ ก็ท้าทายดีครับ ได้ลองเอาชุดพัฒนาที่เราทำให้เขากลับมาลองใช้เอง ลองทำสินค้าเองและขายในไทย ได้เจอปัญหาหลายแบบ ผมเคยถูกส่งไปดูแลลูกค้าที่บ้าน คือลูกค้าซื้อไปใช้แต่พอต่ออินเตอร์เน็ตแล้วดูไม่ได้ บริษัทเลยส่งให้ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้กลับมาแก้ ก็ตื่นเต้นดีครับ (หัวเราะ) ต้องแก้ปัญหาให้ได้เร็วๆ

กระโจนเข้าโลกใหม่ที่ท้าทายกว่า…

ตอนนี้ผมย้ายไปทำงานที่ Agoda ครับ เป็น Software Engineering ทำมาได้ 4 เดือนแล้ว ที่ย้ายไปเพราะอยากฝึกภาษา อยากได้ฟีดแบค หมายถึงว่าเราจะได้ทำงานร่วมกันกับหลายชาติ ซึ่งจะให้ฟีดแบคกันตรงๆ และเป็นบริษัทที่ตัดสินกันด้วยข้อมูล เช่น ถ้าลูกน้องกับหัวหน้าเห็นไม่ตรงกัน ไม่เป็นไรเราเห็นไม่ตรงกันได้ งั้นเราสร้างการทดลอง เราทดลองกับผู้ใช้จริงๆ ว่าอย่างไหนที่โอเคกับผู้ใช้ ไม่ใช่หัวหน้าสั่งแบบนั้นแล้วต้องทำอย่างนั้น แต่ทำตามข้อมูลที่ผลการทดลองออกมา ซึ่งผมไปช่วยพัฒนาเว็บฯ ให้เขา ไม่อยากเชื่อเลยว่าหน้าเว็บฯ หนึ่งหน้าต้องใช้ทีมนักพัฒนาหลายคนมาก เพราะข้อมูลมีเยอะมากและรองรับถึง 38 ภาษา

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

โลกคงหยุดหมุน ถ้าคุณพอใจในสิ่งที่มี

ผมว่าปัจจุบันซอฟต์แวร์ทั้งหลายเริ่มพร้อม มีเกมให้เลือกเยอะ มีโปรแกรมให้เลือกเยอะ บางทีเด็กจะรู้สึกว่าเขาไม่ต้องสร้างแล้วก็ได้ การที่เขารู้สึกโอเคแล้วกับโปรแกรมหรือเกมที่มีน่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่ สมมติโปรแกรมที่เขาเคยใช้มันไม่สะดวก แต่เขาไม่ได้ฉุกใจคิดว่ามันน่าจะสะดวกได้มากกว่านี้ เริ่มต้นอาจลองเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ที่มีเยอะ แต่สำคัญที่สุดคือต้องลองเริ่มทำ ถึงแม้ว่าจะรู้สึกว่าซ้ำกับที่มีอยู่แล้ว เพราะถึงแม้จะซ้ำกับคนอื่น แต่อย่างน้อยทำให้เราได้ฝึกทักษะ ไม่งั้นจะกลายเป็นบล็อกตัวเองไปอีก อีกเรื่องคือภาษา เรามักจะเรียนรู้การเขียนโปรแกรมจากหนังสือภาษาไทย ซึ่งมันจะแคบกว่ามาก ถ้าอ่านภาษาอังกฤษได้ มันจะมีอะไรที่ใหม่ เร็ว และกว้างขึ้นครับ

เพราะไม่ชอบความลำบาก…จึงสำเร็จ!

ผมอาจจะโชคดีที่เล่นเกมไม่เก่งเลยแบ่งเวลาง่ายขึ้น ไหนๆ เราเล่นเกมไม่เก่ง งั้นเราสร้างเกมให้เขาเล่นดีกว่า อีกอย่างผมเป็นคนไม่ชอบความลำบากหรือความไม่สะดวก เช่น การมาทำโครงการถ่ายรูปแล้วให้มันเป็นข้อความได้ เพราะไม่ชอบความไม่สะดวกที่เจอแล้วต้องทำอะไรบางอย่างกับมัน จะบ่นอย่างเดียวไม่ได้ หรือถึงแม้ว่าเรารู้สึกสะดวกหมดแล้ว ก็อาจจะฟังคนรอบตัวว่ายังมีอะไรที่เขาไม่สะดวกบ้าง

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ผมอาจจะไม่ได้เป็นนักวิจัยที่วิจัยทฤษฎีอะไร แต่น่าจะเป็นนักเทคโนโลยีที่เอางานวิจัยหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ให้คนทั่วไปได้ใช้ ที่ผมเชียร์อยากให้น้องๆ ลองทำ และนอกจากทำแล้วเมื่อแข่งขันเสร็จอยากให้ไปถึงผู้ใช้เยอะๆ เพราะจากประสบการณ์ของผมเองที่มีผลงานคีย์บอร์ดชื่อว่า “แม่นๆ” ทำเป็นโปรเจกต์จบและอัปโหลดให้คนใช้จริง ตอนนี้ยังเป็นแอปพลิเคชันให้ใช้ฟรีอยู่ มันรู้สึกดีที่หันไปแล้วเจอคนใช้ผลงานเรา รู้สึกว่างานที่เราทำมันช่วยคนอื่นได้ อนาคตก็ยังอยากสร้าง impact จากงานที่เราทำต่อไปครับ ถ้ามันช่วยให้คนอื่นสะดวกสบายมากขึ้นได้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

สร้างชุมชนคนคอเดียวกัน

สิ่งที่อยากเห็นสำหรับ NSC น่าจะเป็นเรื่อง community ของผู้เข้าแข่งขัน คือนอกจากแข่งกันแล้ว ถ้าได้คุยกันด้วยจะดีมาก จริงๆ มันก็มีการคุยกันบ้างแต่อาจจะไม่ได้เป็นทางการ อย่างเราไปแข่งเราก็ได้เจอเพื่อนๆ ได้รู้จักคนในวงการ อาจจะได้คุยหรือปรึกษากัน ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ ได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ ต่างสถาบันที่สนใจซอฟต์แวร์เหมือนกัน เลยอยากให้มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนกันจริงจังมากขึ้น มากกว่าแค่พูดคุยทักทายกันครับ

จริงๆ น้องๆ ที่มาร่วมโครงการมีเยอะมาก ตั้งแต่รอบภูมิภาคน่าจะเปิดโอกาสตรงนี้ เพราะตอนรอบชิงฯ คนจะน้อยลง ผมเห็นบางภูมิภาคอย่างศูนย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม ที่นอกจากแข่งขันแล้ว มีการชวนผู้เข้าแข่งขันมาฝึกอบรมด้วย ผมว่าน่าสนใจดี แต่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไร หรือเมื่อมารวมตัวกันได้แล้วจะมาทำอะไรกันต่อดี อยากให้เป็นเวทีที่ได้มารวมตัวกัน ผมนึกถึงตอนสึนามิที่ดึงคนไอทีมารวมกันแล้วไปช่วยคนอื่น แต่มันต้องมีโจทย์ที่ชัดว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร..

เพราะโลกคงมาไม่ถึงทุกวันนี้ ถ้านักพัฒนารุ่นก่อนๆ พึงพอใจกับสิ่งที่มี การมองเห็นโอกาสจากปัญหา หรือเห็นสิ่งที่ดีกว่าจากสิ่งที่มีอยู่ คือการสร้างความท้าทายให้ชีวิต และเมื่อชีวิตเราขับเคลื่อนไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า นั่นเองคือแรงที่ผลักให้โลกหมุนไป

ไม่ต้องกลัวที่จะวิ่งชนกับความล้มเหลว เพราะในโลกของณัฏฐ์ ความล้มเหลวมีชื่อจริงว่า ประสบการณ์ ที่จะเป็นเชื้อเพลิงอีกอย่างที่ผลักดันชีวิตให้ก้าวต่อไปเช่นเดียวกัน

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 
ข้อมูลการศึกษา
  • Kasetsart University, 2007-2011 Bechelor’s Degree in Computer Engineering
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการประกวด “การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์: YSC” ตั้งแต่ปี 2001
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2007
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • Best of Thailand 2016 apps 0n Google Play, Keyboard ManMan, a predictive on screen keyboard (10+ million downloads)
  • Full scholarships for Bachelor degree, Junior Science Talent Project, a project by National Science and Technology Development Agency, 2007
  • cpskCut (ซีพีเอสเคคัท) – โปรแกรมแบ่งคำภาษาไทยได้รับรางวัล BEST Student จากการแข่งขันสุดยอดซอฟต์แวร์แบ่งคำภาษาไทย (BEST 2009)
  • ด้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันประชันทักษะสมองกลฝังตัวครั้งที่ 3 (TESA Top Gun Rally 2008) ในหัวข้อการพัฒนาต้นแบบ Real Time Engine Control Unit (ECU) ซึ่งจัดการแข่งขันโดยสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA)
  • ฝึกออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้องกับหนุ่มชัดสาวแอ๊บ – โปรแกรมช่วยตรวจสอบและให้คำแนะนำการออกเสียงคำควบกล้ำในภาษาไทยได้รับรางวัลชมเชย ประเภทโปรแกรมเพื่องานด้านวิทยาศาสตร์ จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC2008)
  • TanJai OCR – โปรแกรม OCR สำหรับภาษาไทยที่สามารถรู้จำได้จากภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Secondary Student Project ในการประกวดผลงานซอฟต์แวร์ในงาน Asia Pacific ICT Awards 2007 (APICTA 2007)
  • Statistically-based Adaptive Binarization for Document Imaging – วิธีการ Binarization ภาพเอกสารจากกล้องเพื่อการรู้จำตัวอักษร ได้รับ 3 รางวัลวัลจากการส่งโครงงานเข้าร่วมประกวดในงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ (Intel International Science and Engineering Fair – Intel ISEF) ดังนี้
    • รางวัลที่ 4 Grand Awards สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
    • รางวัลที่ 1 Special Awards จาก Association for Computing Machinery
    • รางวัล Special Awards สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านปัญญาประดิษฐ์จาก American Association for Artificial Intelligence
ปัจจุบัน
  • Software engineer Agoda Services Co.,Ltd.
ความเชี่ยวชาญ
  • Python/Django
  • Web Development
  • Android App Development
  • Linux/Docker