แนะนำรุ่นพี่ NSC : ศิริณเรจน์ วินัยพานิช (NSC 2006)

Facebook
Twitter

บทสัมภาษณ์ | เดือนกรกฎาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์

คำว่าวิกฤตอาจไม่มีอยู่จริง ถ้าเรามองมันให้เป็นโอกาส…

นั่นคือสิ่งที่ ‘รัน’ ศิริณรจน์ วินัยพานิช หนึ่งในสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง บอกกับเราผ่านเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของเธอ สะท้อนให้เห็นว่านอกจากทักษะความรู้แล้ว มุมมองและการตัดสินใจในชีวิตก็คือสิ่งสำคัญที่จะสร้างจุดเปลี่ยนไปสู่ความสำเร็จได้ ใครอยากเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ อยากชวนให้ลองอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ของเธอกัน…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

จากความสนุก สู่ความถนัด (ไอที)

เริ่มต้นจากตอนเด็กๆ คุณพ่อซื้อเครื่องวิดีโอเกมให้เล่น เรารู้สึกว่าคนคิดเกมเขาเจ๋งนะ เขาวางเงื่อนไขวางด่านในเกมให้คนเล่นรู้สึกสนุกเพลิดเพลินได้ เลยมีความฝันว่าโตขึ้นอยากทำเกมให้คนได้เล่นบ้าง พอเข้าสู่มัธยมฯ มีการแข่งขันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไอที ผลงานที่ภาคภูมิใจมากๆ คือ การทำโครงงานตกแต่งพาวเวอร์พ้อยท์ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเกมแต่เรารู้สึกว่าการที่มันมีกราฟิกสวยๆ แล้วเราสามารถทำและชนะได้รางวัลมามันเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง เป็นความสำเร็จขั้นต้นของเด็ก ณ ตอนนั้น อาจารย์ก็เริ่มมองว่าเราน่าจะมีความถนัดด้านไอที เลยเริ่มพาไปเทคคอร์ส เริ่มไปติวเกี่ยวกับวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ จนกระทั่งตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ

เลือกแล้วก็ลุยสักตั้ง!

จากความฝันตอนแรกที่อยากทำเกม แต่พอเข้าไปเรียนที่คณะวิศวะฯ ไม่เกี่ยวกับเกมเลย คือเราอยากทำเกมแต่เจอแคลคูลัส ฟิสิกส์ เริ่มรู้สึกยากแล้ว มันจะใช่หรือเปล่า แต่พยายามตั้งใจเรียนไปเรื่อยๆ ซึ่งโรงเรียนมัธยมฯ ที่เราจบไม่ได้เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด จะพูดว่าบ้านนอกก็ได้ พอมาเจอเพื่อนที่เรียนในเมือง เขามีทักษะหลายๆ ด้านเยอะกว่าเรา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและการคำนวณที่เขาค่อนข้างเก่งกว่า ทำให้เทอมแรกๆ ผลการเรียนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คุณพ่อก็ถามว่าไหวไหม จะไปเรียนอย่างอื่นไหม แต่จะเรียนอย่างอื่นอะไรดี จะให้ไปเรียนบัญชีก็ไม่ใช่ ชีวะฯ เราก็ไม่ชอบ สุดท้ายเลยตัดสินใจเรียนวิศวะฯ ต่อ พยายามขยันมากขึ้นและให้เพื่อนช่วยติวให้

ทบทวนตัวตนกับความฝัน

จนกระทั่งตอนปี 2 เพื่อนชวนทำโครงงานเข้าแข่งขัน NSC เนื่องจากความฝันของเราคือเกม พยายามจับกลุ่มเพื่อน 3 คนทำเกมขึ้นมา เกมที่เราชอบส่วนใหญ่เป็นบอร์ดเกมก็เลยลองเลียนแบบบอร์ดเกมมาสร้างเป็นเกมในคอมพิวเตอร์คือเกมเศรษฐี เรามีการทำวิจัยด้วยว่าเกมไหนที่คนเล่นแล้วสนุก แต่ก็ไม่เข้ารอบ (หัวเราะ) ปีถัดไปก็ยังไม่หยุดความพยายามค่ะ ตอนปี 3 มีความรู้มากขึ้นแล้ว ก็เลยส่งโปรเจกต์เดิมเข้าไป แต่มีฟังก์ชันเพิ่มมากขึ้น กราฟิกสวยขึ้น ซึ่งเราไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับโฟโต้ช้อปมาอ่าน ครั้งนั้นได้เข้าไปโชว์แต่ไม่ถึงรอบสุดท้าย เลยมานั่งคิดกับเพื่อนว่าหรือวงการบันเทิงไม่ใช่เรา (หัวเราะ) คือ NSC ถ้าส่งเกมจะไปอยู่หมวดโปรแกรมเพื่อความบันเทิง เราอาจต้องเปลี่ยนรูปแบบหรือเปล่า

แนะนำรุ่นพี่ NSC

ลองเดินในเส้นทางใหม่ (ที่ไม่ไกลจากเดิม)

พอขึ้นปี 4 เราต้องทำโปรเจกต์จบ แล็บที่อยู่คือ CG (Computer Graphic) ก็ลองคิดว่าอยากทำอะไร ตอนนั้นมีโอกาสเจอเพื่อนอีกคนที่เรียนอยู่เครื่องกล และมีอาจารย์ที่เครื่องกลแนะนำว่าตอนนี้มีความต้องการจากโรงงานอยากได้ระบบที่สามารถซิมูเลชันกับการสั่นของมอเตอร์โทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งเมื่อก่อนโทรศัพท์มือถือในระบบสั่นของเราจะค่อนข้างตัวใหญ่ มีหลายแกน ทำให้สูญเสียต้นทุนการผลิตเยอะ ถ้าสามารถมีระบบที่ซิมมูเลชันได้เขาจะลดต้นทุนการผลิตลงไป คิดว่ามันน่าสนใจและดูมีประโยชน์ เลยเอาโปรเจกต์นี้ส่งเข้า NSC อีกครั้ง ได้เข้ารอบสุดท้ายและได้นำโครงงานไปโชว์ที่แฟชั่นไอส์แลนด์ แม้ไม่ได้รางวัลที่หนึ่งแต่เราได้ใบประกาศมาใบหนึ่ง เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก มันคือรางวัลชิ้นแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเลือกถูกทางแล้ว ไอทีคือสิ่งที่เราชอบ มันคือความประทับใจ คือประสบการณ์ที่เราชอบและมีคุณค่ามากๆ ค่ะ

เปิดหูเปิดตา ก้าวขาสู่โลก CI

ตอนที่ไปออกงานที่แฟชั่นฯ เราได้เห็นผลงานของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่อยู่ในหมวดเดียวกับเรา รวมถึงได้เห็นผลงานของคนที่เขาทำด้านเกมด้วย ทำให้เห็นว่าเกมที่เราทำกับที่เขาทำมันต่างกันมาก เลยไม่แปลกใจว่าทำไมเราถึงไม่เข้ารอบ และประสบการณ์ที่ไปเดินดูบูธอื่น ทำให้รู้ว่าซอฟต์แวร์มันมีประโยชน์มาก มันสามารถเอาไปทำอะไรได้หลายๆ ด้าน ที่ชอบอย่างหนึ่งคือจากที่เราพยายามส่งด้านบันเทิงแต่ไม่ผ่าน แต่มีซอฟต์แวร์หนึ่งน่าจะของจุฬาฯ เขาทำเป็นแค่การฮัมเพลงแล้วมันก็ออกมาเลยว่าเป็นเพลงอะไร มันมหัศจรรย์มาก เขาใช้ลักษณะของ Voice Recognition แล้วเอามาทำด้าน AI จากนั้นเราจึงเริ่มเบนเข็ม ตรงนั้นเป็นจุดแรกที่ทำให้เราตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท โดยเลือกห้องแล็บที่เป็น CI (Computer Intelligence)

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

วิกฤติครอบครัว สู่โอกาสสร้างตัว

จุดเริ่มต้นที่มาทำบริษัทเพราะที่บ้านประสบปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย คุณพ่อเป็นข้าราชการ คุณแม่เป็นเจ้าของร้าน แล้วคุณแม่ประสบอุบัติเหตุ ต้องผ่าตัดสมอง ร้านที่บ้านต้องปิดไปเกือบปีเพื่อรักษาคุณแม่ คุณพ่อเป็นข้าราชการก็จริงแต่รายได้มีทางเดียว ตอนนั้นก็เลยคิดว่าถ้าจะเรียนต่อเราต้องส่งตัวเองเรียน ซึ่งการจะหาเงินมาเรียนได้มันต้องหางานข้างนอกทำ ก็เลยถามพี่ๆ น้องๆ ในคณะว่าใครมีงานให้ทำบ้าง พี่ๆ บางคนก็ส่งเว็บไซต์มาให้ทำ ส่งโปรแกรมมาให้ทำ อาศัยงานตรงนั้นหล่อเลี้ยงตัวเองมา พอเราเริ่มสะสมประสบการณ์ สะสมโปรไฟล์มากขึ้นก็มีคนมาทาบทามให้เปิดบริษัท ประกอบกับตอนนั้นมีโครงการของดีป้า (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) เขาสนับสนุนสตาร์ทอัพและให้พื้นที่ในการทำออฟฟิศ เลยตัดสินใจรวมตัวกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาเมื่อปี 2552 จากวันนั้นถึงวันนี้มีบริษัทที่ดูแลทั้งหมด 3 บริษัท รวมระยะเวลาในการตั้งบริษัทมาทั้งหมด 8 ปีแล้ว ด้วยวิกฤตชีวิตทำให้เราต้องดิ้นรน รู้สึกว่าถ้าทำบริษัทเองน่าจะทำเงินได้มากกว่า แต่เอาจริงๆ ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน (หัวเราะ)

ตะลุยโลกตลาดซอฟต์แวร์

บริษัทแรก ด้วยความที่ชอบกราฟิกเลยรับทำเกี่ยวกับ e-learning สื่อการสอน และได้รู้จักกับสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ก็เลยมีโอกาสทำโปรเจกต์วิจัยเกี่ยวกับเด็ก LD (Learning Disabilities) โดยเอาความรู้ด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกมาทำเป็นแอปพลิเคชันบนแท็บเล็ตแล้วแจกให้โรงเรียนที่มีเด็กเหล่านี้เรียนร่วมอยู่ด้วยได้ใช้ เป็นโปรเจกต์ที่ได้คัดเลือกระดับประเทศ

บริษัทที่สองทำเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการโรงแรม เริ่มต้นมาจากตอนที่เรียนปี 3 มีโครงการลอจิสติกของจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะวิศวะฯ เป็นผู้ดูแลโครงการ เขาประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เข้านำเสนอ พอดีเรากำลังเริ่มสนใจตลาดท่องเที่ยวเพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว เลยอยากทำระบบบริหารจัดการโรงแรม บริษัทนี้เลยก่อตั้งขึ้นมา

พอเริ่มมีลูกค้าประมาณ 21 แห่ง รู้สึกว่าระบบโรงแรมมีคู่แข่งเยอะ ทำอย่างไรให้เราแตกต่าง สามารถอยู่ในตลาดซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบบริหารจัดการโรงแรมได้ นึกขึ้นได้ว่ามีเรื่องไอทีอีกส่วนหนึ่งที่เรายังไม่ได้จับคือฮาร์ดแวร์ สิ่งที่คิดคือเราจะนำฮาร์ดแวร์มาใช้กับระบบโรงแรมได้อย่างไร ซึ่งโรงแรมเล็กๆ ที่อยู่ตามท้องถิ่นมักมีปัญหาเรื่องเช็คอิน-เช็คเอาท์ หรือพนักงานรับเงินมาแล้วเอาเงินเข้ากระเป๋าโดยที่เจ้าของไม่รู้ว่าเงินหายไป เราเลยคิดจะนำระบบควบคุมไฟที่สามารถควบคุมผ่านมือถือได้ คือพอเช็คอินปุ๊บไฟในห้องจะเปิด ถ้าไม่เช็คอินก็ใช้ไฟไม่ได้ เลยกลายเป็นบริษัทที่สามที่ก่อตั้งขึ้นโดยขยายจากระบบจัดการโรงแรม

หัวใจ 3 ข้อของไอทีสตาร์ทอัพ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ทักษะที่สำคัญสำหรับคนไอทีคือการสื่อสาร เนื่องจากโปรแกรมเมอร์หรือวิศวกรจะมีธรรมชาติที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การสื่อสารที่เป็นคำพูดค่อนข้างน้อยมาก และหัวเราจะคิดเร็ว บางครั้งเวลาเราคุยกับลูกค้าอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร หรือลูกค้าอาจรู้สึกไม่ประทับใจในบุคลิกหรือวิธีการสื่อสารของเรา อันนี้เป็นเรื่องแรกสุดที่เรียนรู้ในการทำธุรกิจ ยิ่งถ้าเราดีลงานกับผู้ใหญ่ การมีปฏิสัมพันธ์ การมีสัมมาคารวะ และความชัดเจนในการสื่อสารสำคัญมากๆ

สอง การศึกษาตลาด เมื่อก่อนเราอยากผลิตอะไร เราชอบอะไรเราจะอยากทำสิ่งนั้น ซึ่งบางทีเราไม่ได้สำรวจก่อนว่าตลาดต้องการจริงไหม ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราทำอะไรขึ้นมามันคือการลงทุนที่เราลงไปแล้ว มันไม่สามารถย้อนกลับไปได้ ถ้าเราทำออกมาแล้วมันขายไม่ได้ สุดท้ายก็เจ๊งเหมือนกัน

สาม บริษัทจะไม่สามารถเติบโตได้ถ้าเราเจอคู่แข่งแล้วเราหยุด ทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ได้และมีลูกค้าที่ใช้ต่อเนื่องกับเรา แสดงว่าเราต้องพัฒนาต่อเนื่องให้มันล้ำสมัยขึ้นไปอีก มีจุดเด่นในการทำเป็นธุรกิจให้ได้

สร้างทักษะการตลาดในเวทีแข่ง

การแข่งขัน NSC เป็นเวทีแรกที่ทำให้เราได้ฝึกการนำเสนองาน การถ่ายทอด เนื่องจากตอนนั้นอาจจะมีหลายโครงการ กรรมการที่มาเดินอาจไม่ได้โฟกัสการนำเสนองานของเรามากนัก เขาก็พยายามถามเพื่อให้คะแนนเรา ถ้าให้เสนอแนะ NSC น่าจะมีเรื่อง Pitching ให้น้องๆ ฝึกพัฒนาการถ่ายทอดด้วย รวมไปถึงการตลาด อาจให้เขามีโอกาสศึกษาตลาดก่อน แล้วเอามา Pitching ว่าโครงการนี้สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพจริงๆ ได้ไหม เพราะเท่าที่ผ่านมา NSC ทำได้ค่อนข้างดีมาก สร้างนักธุรกิจที่เติบโตจาก NSC ได้หลายๆ คน

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่คนที่เคยผ่าน NSC จะเปิดบริษัทกัน แต่โปรดักส์ที่มีกระจัดกระจาย ถ้าจัด Alumni ของ NSC อาจจะปลั๊กกันได้ โปรดักส์จะได้กว้างขึ้น หรืออีกอย่างคือคนที่แข่ง NSC ลึกๆ เขามีความชอบการแข่งขันอยู่แล้ว อาจจะท้าทายมีโจทย์ขึ้นมาใน Alumni ใครมีวิธีการแก้หรือมีโซลูชันมานำเสนออย่างไร

ตั้งคำถามกับตัวเอง ก่อนเป็นสตาร์ทอัพ

สำหรับคนที่อยากเป็นสตาร์ทอัพหรือทำธุรกิจต้องคุยกับตัวเองก่อนว่า เราอยากทำงานด้านนี้จริงไหม เพราะถ้าพูดถึงสตาร์ทอัพด้านซอฟต์แวร์มันมีเยอะมากในตลาดนี้ ถ้าเราชอบจริงเราจะอยู่กับมันได้นาน คำถามถัดไปคือเราชอบมันแล้ว เราอยากทำอะไร เราถนัดด้านไหน แล้วเราจะสามารถทำผลิตภัณฑ์อะไรที่ตอบโจทย์ตลาดได้ อีกอย่างถ้าเริ่มต้นใครมีทุนก็ดีไป แต่ถ้าไม่มีทุนต้องพยายามหาคนที่เป็นนักลงทุนให้ อาจเป็นทุนรัฐบาล ทุนวิจัย หรือทุนเอกชนก็ได้ เดี๋ยวนี้มีเยอะมาก เริ่มต้นจากตรงนี้ก็ได้ ข้อดีคือจะได้คนที่ช่วยสนับสนุนเราด้วย ถ้าเรามีทุนอยู่แล้วอาจจะเริ่มได้เร็วแต่ก็ต้องไปเจอคู่แข่ง ซึ่งการมีคนช่วยลงทุนเขาจะช่วยเราในเรื่องนี้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

ทักษะแห่งอนาคต

ความท้าทายสำหรับเด็กยุคใหม่ ยังมองว่าเป็นเรื่องการสื่อสาร ยิ่งสมัยนี้ข้อมูลข่าวสารมันเร็ว ความกระชับและชัดเจนของการถ่ายทอดก็ต้องเร็วด้วย ซึ่งเด็กสมัยนี้เขามีความคิดที่ดี แต่เขาอาจไม่อดทนในการสื่อสารให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจ ถ้าเราอยากเติบโตอยากพัฒนาอาจหาเวทีในการฝึกนำเสนอ การทำให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นธุรกิจที่เราจะทำ อีกอย่างคือความรับผิดชอบ สปิริต ไม่ว่าจะทำงานอะไร ทุกงานต้องมีความรับผิดชอบ เวลาที่เจออุปสรรคปัญหา ต้องพยายามก้าวข้ามอุปสรรคให้ได้ แก้ปัญหาให้ได้ อดทนรอคอย ซึ่งสมัยนี้ถ้าใครมีทักษะนี้เยอะจะได้เปรียบ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

คุณค่าที่มากกว่ารายได้

โดยส่วนตัวผลงานอะไรก็ตามที่ออกจากฝีมือหรือสมองเราและมีประโยชน์ต่อคนทั่วไป มันคือความสำเร็จ ผลงานที่ภูมิใจมากๆ ตั้งแต่ทำด้านไอทีมาก็คือโครงการวิจัยที่ทำสื่อการสอนให้เด็ก LD ณ ตอนที่ทำมันยังไม่มีโปรแกรมภาษาไทยที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ต้องซื้อจากต่างประเทศและค่าลิขสิทธิ์แพงมาก แต่งานนี้แม้ใช้ทุนวิจัยจำนวนมากเหมือนกัน แต่สุดท้าย 30 โรงเรียนของภาคเหนือที่มีเด็กเรียนร่วมได้ลองเอาไปใช้ และผลปรากฏว่าเด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มันเป็นความอิ่มใจที่ได้ทำเพื่อสังคมด้วย รายได้ก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง แต่ความสุขทางใจเป็นความสำเร็จที่เหนือกว่ารายได้ขึ้นไปอีก

แรงส่งจากวิกฤตและแรงหนุนจากอาจารย์

สิ่งที่ผลักดันให้มาถึงวันนี้คิดว่าเป็นวิกฤตในชีวิตด้วยนะคะ ถ้าตอนนั้นที่บ้านไม่เจอวิกฤต ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าความอดทนหรือความพยายามในการแก้ปัญหาของเราจะเยอะขนาดนี้ไหม อีกเรื่องหนึ่งต้องขอบคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านที่พยายามกล่อมเกลาพัฒนาให้เราเป็นคนเก่งขึ้นดีขึ้น ในรั้วมหาวิทยาลัยทำให้เราเจอประสบการณ์หลายอย่าง อาจารย์อาจไม่ได้พูดกับเราตรงๆ แต่วิธีการในการสั่งงานหรือให้การบ้านคือสิ่งที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้นไปอีก ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านตั้งแต่ประถมฯ ถึงปริญญาโทที่ดูแลเรามา

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

คำคมประจำใจของเราคือ ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามอยู่ที่นั่น’ สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่สำคัญ สำคัญที่วันนี้คุณพยายามแล้วหรือยัง อีกเรื่องคือชีวิตเราไม่ได้อยู่ตลอดกาล แต่สิ่งที่เราทำจะถูกจดจำยาวนานตลอดไป อะไรก็ตามที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือคนอื่นได้ประโยชน์ เชื่อเถอะว่าความสุขมันเกิดขึ้นในจิตใจ และมันมีคุณค่ามากกว่าเงินทอง เรามองว่าเราอาจจะไม่ได้เก่ง หรือถ้าจะพูดว่าเป็นนักพัฒนาอาจไม่ถึงขั้นนั้น แต่เราไม่หยุดที่จะทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นอีก จะเป็นนัมเบอร์วันหรือเปล่าไม่รู้ แต่ไม่หยุดแน่นอน

ครอบครัวมีสุข คือเป้าหมายชีวิต

เป้าหมายในชีวิตที่ตั้งไว้ตั้งนานแล้วคือปีนี้คุณพ่อจะเกษียณ มีความใฝ่ฝันอยากพาพ่อกับแม่ไปเที่ยวรอบโลก ในวันที่เราเริ่มมีเงินเก็บ เริ่มสร้างชีวิตแล้ว เขาใช้ชีวิตมาน้อยกว่าเรา เพราะต้องเก็บเงินเลี้ยงลูกสามคน เป้าหมายชีวิตคืออยากทำให้เขามีความสุข และเชื่อว่าการทำธุรกิจของเรา เราพยายามวางแผนมาตลอดว่าจะเติบโตไปทางไหน ถ้าเจอคู่แข่งจะเบนไปทางไหน ด้วยความที่เราไม่หยุดเชื่อว่าวันนั้นมาถึงแน่นอน

เส้นทางชีวิตของรันอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ด้วยทักษะวิชาชีพและมุมมองในการใช้ชีวิตก็ได้นำพาเธอมาสู่จุดแห่งความสำเร็จ…ที่ไม่ใช่แค่การทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการทำธุรกิจกับการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมผ่านทางผลงาน ซึ่งแน่นอนว่าด้วยมุมมองนี้อาจทำให้เธอต้องเหนื่อยและพยายามมากกว่าคนทั่วไป แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า นั่นคือความสำเร็จที่มีคุณค่ามากกว่าความสำเร็จทั่วๆ ไปด้วยเช่นกัน

แนะนำรุ่นพี่ NSC
 
ข้อมูลการศึกษา
  • 2550-2553 ปริญญาโท คณะวิศวกรรม สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • 2546-2550 ปริญญาตรี คณะวิศวกรรม สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2006
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • ได้รับทุนโครงการคูปองนวัตกรรมสานักงานนวัตกรรมแหง่ชาติ(NIA) ชื่อโครงการ : “Autism Smart app” โปรแกรมประยุกต์เพื่อการสื่อสารสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลบกพร่อง ทางการสื่อสาร ปีท่ีเร่ิมทางาน : 2559 ปีท่ีสิ้นสุดการทางาน : 2560
  • ได้รับทุนงานวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข(สวรส) ชื่อโครงการ : โครงการวิจัย การพฒั นาโปรแกรมประยุกต์ฟื้นฟูทักษะการอ่านคาศัพท์บน Tablet Computer สาหรับเด็กท่ีมีปญัหาทางการเรียนรู้ด้านการอ่านระดับช้ันประถมศกึษาปีที่2 ปีท่ีเริ่มทางาน : 2557 ปีที่ส้ินสุดการทางาน : 2558
  • ได้รับทุนโครงการคูปองนวัตกรรมสานักงานนวัตกรรมแหง่ชาติ(NIA) ชื่อโครงการ:การผลิตสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อการเรียนรู้สาหรบัเด็กออทิสติกบนแท็บเล็ตทักษะการสื่อสารการ เรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานปีท่ีเริ่มทำงาน : 2554 ปีที่สิ้นสุดการทำงาน : 2555
ปัจจุบัน
  • กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออาร์จี ไซเบอร์บิซ จำกัด
ความเชี่ยวชาญ
  • มีความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์และออกแบบและเขียนโปรแกรมตามหลัก OOP
  • มีความรู้เกี่ยวกับความฉลาดทางการคำนวน (CI) และสมองกล (AI)
  • มีความรู้เกี่ยวกับวิเคราะห์และประมวลผลภาพ (Image Processing)
  • มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจและการทำตลาดดิจิทัล
  • มีประสบการณ์ในการพัฒนาสื่อการสอนให้กับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
  • มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการโรงแรม และ IoT
  • มีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการ SME ในภาคเหนือ