แนะนำรุ่นพี่ NSC : นายสิบแสน สุขสุชะโน (NSC 2004)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนเมษายน 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์
ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ทุกวัน เพียงเราขยับมุมมอง…

…นั่นคือวิธีคิดของ ‘แสน’ สิบแสน สุขสุชะโน นักพัฒนาเกม ผู้ก่อตั้งบริษัท แอบซ์แทรค วิงซ์ จำกัด ตลอดเส้นทางของการเป็นนักพัฒนา เขาประสบความสำเร็จมานับครั้งไม่ถ้วน แม้จะไม่ใช่ความสำเร็จในความหมายของการเป็นมหาเศรษฐีหรือการได้กล่องรางวัลล้นตู้ แต่ความสำเร็จในนิยามที่เขาตั้งขึ้นเองนี้ คือตัวแปรที่มีพลังมหาศาลที่ทำให้ชีวิตนักพัฒนาของเขาก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความสำเร็จของเขาคืออะไร? บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้มีคำตอบ…

สิบแสน สุขสุชะโน (NSC 2004)

 

เริ่มจากจดจำ แล้วทดลองทำ

ผมสนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ สมัยนั้นการเข้าถึงความรู้หรือหนังสือที่ทันสมัยของเด็กต่างจังหวัดไม่ค่อยสะดวกนัก ต้องอาศัยอ่านตามร้านและพยายามจำให้ได้มากที่สุดแล้วกลับบ้านมาลองทำ ตอนนั้นสนใจว่าเขาเขียนคำสั่งกันอย่างไร

ตอนม.ปลาย โชคดีที่ผมได้เป็นนักเรียนในโครงการโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนมากๆ เพราะทำให้เราได้เจอชั้นเซียนในภูมิภาค ได้ศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่เขียนโปรแกรมใหม่ๆ จนถึงขั้นแข่งขันที่ต้องแม่นยำและฝึกฝน ทำให้ความรู้ความเข้าใจในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สูงขึ้นมากต่างจากที่ไปยืนอ่านตามร้าน (หัวเราะ) เพราะมันลงลึกมากกว่าเหมือนเราเรียนปริญญาตรี สนุกมากครับ

ให้ความอยากรู้นำทางชีวิต

ช่วงนั้นอินเตอร์เน็ตเริ่มเข้ามาแล้ว มีการใช้อินเตอร์เน็ตในค่าย ทำให้เรารู้ว่านอกประเทศมีความรู้มหาศาลเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม จากตรงนั้นผมก็เริ่มเขียนโปรแกรมเล็กๆ ไว้เล่นเอง เริ่มวาดกราฟิกได้ ทำอย่างไรให้กราฟิกเคลื่อนที่ จนเป็นรูปเป็นร่างได้เป็นเกมขึ้นมา ตอนนั้นการเผยแพร่ไม่ง่ายนัก แต่เราได้ทดสอบความสามารถของเรา เหตุผลที่ผมสนใจคอมพิวเตอร์กราฟิกเป็นพิเศษ เพราะมันมีสีสัน ดูน่าสนใจดี เพื่อนๆ เห็นเราทำก็สนใจว่าคือโปรแกรมอะไร พอได้โควต้ามาเรียนปริญญาตรี Computer Science ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความรู้ อยากรู้อะไรก็เข้าหาอาจารย์หรือถามรุ่นพี่ได้ สามารถลงเรียนในสิ่งที่อยากรู้ได้หมด ทำให้มีวิถีทางที่จะสร้างแอปพลิเคชันได้แล้ว

คบผู้รู้… ผู้รู้พาไปหาความรู้

ช่วงนั้นผมเสนอตัวเข้าไปเป็นแอดมินช่วยรุ่นพี่ที่ทำเกม เพราะอยากรู้ว่าซอฟต์แวร์ที่เรียนมาตั้งแต่มัธยมฯ ปลายทางมันอยู่ที่ไหน ซึ่งตอนผมเรียนโอลิมปิกวิชาการเคยเขียนแอปพลิเคชันเล็กๆ แต่ต้องมีพลังมาก อัลกอรึทึม (Algorithm) ต้องดีมากๆ จึงจะแก้ปัญหาที่ตั้งไว้ได้ ถ้าเป็นเชิงธุรกิจจะทำซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ แต่ไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพสูงมาก แค่ให้โครงสร้างทำงานได้ดี เราอยากรู้ว่ามีสไตล์การทำงานแบบไหนบ้าง ด้วยความที่รู้สึกว่าวิชาที่เราเรียนเกือบจะเอาไปใช้ได้แล้ว แต่มันยังไม่พอ เลยสมัครเป็นผู้ช่วยที่นั่น โชคดีที่เราได้แลกวิชากัน เราเขียนซอฟต์แวร์ เขียนเว็บไซต์ให้ฟรี พี่เขาก็ให้ความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมใส่โทรศัพท์ ซึ่งพอได้อยู่ในแวดวงที่มีความรู้เราก็จะมีความรู้และเติบโตไปด้วย

ความสุขของผู้ใช้คืองานของเรา

หลังจากนั้นมีโครงการทำเกมใหญ่ คนที่เป็นนักออกแบบเขียนโปรแกรมไม่เป็น แต่ในเกมต้องใช้ทักษะออกแบบแล้วแปลงเป็นรหัสโค้ดด้วย ผมเป็นคนกลางเชื่อมให้คนออกแบบสามารถออกแบบผ่านโปรแกรมของเรา แล้ว export ให้โปรแกรมเมอร์ต่อ เป็นโชคดีที่ได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนทั้งสองรูปแบบ ทำให้เข้าใจมุมมองทั้งฝั่งคนเขียนโค้ดและศิลปิน ทำอย่างไรให้เขาทำงานด้วยกันได้และโปรเจกต์ออกมาดี ตรงนี้เป็นจุดสำคัญของผมนะ ผมได้เรียนรู้ว่าหลักการเขียนโปรแกรมไม่ใช่เขียนเพื่อตัวเรา เราไม่ได้เขียนเพราะเราอยากเขียน แต่เราเขียนให้ user หรือคนสองฝั่งสะดวก มีความสุขในการทำงาน ซึ่งระหว่างเขียนจะมี requirement ตลอด เหมือนเราได้ฝึกฝน ไม่รู้สึกเหนื่อยกับการรับความคิดเห็นของคนอื่น จนกระทั่งมาทำธุรกิจของตัวเอง รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะมอบความสุข ความสนุก ความสะดวกสบายให้ลูกค้า

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

Startup ครั้งแรกกับ NSC

ตอนเรียนปี 3 ผมกับเพื่อน (กบ – วิศรุต เกียรติบุญศรี) ส่งผลงานแข่งขัน NSC เป็นระบบสำหรับทำเกม เรียกว่าเกมเอนจิ้น (game engine) โดยคุยกับเพื่อนว่า ก่อนที่เราจะทำซอฟต์แวร์เกมทั้งหลาย ถ้าไม่มีตัวนี้เราจะเหนื่อยเพราะเราต้องสร้างขึ้นทุกครั้ง ตอนนั้นแข่งถึงรอบสอง แต่รอบที่สามไปไม่ถึง หมดแรง (หัวเราะ) เพราะระบบมันใหญ่ เวลาในการแข่งขันไม่พอ เราทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งผลงานนี้ไม่ใช่โปรเจกต์จบด้วย แต่เป็นสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ แล้ว NSC ให้ทุนสนับสนุนเรา ความจริงนี่คือ startup นะ เราได้ทุนมาสองงวด 3,000 บาทกับ 6,000 บาท สำหรับคนทั่วไปอาจไม่มาก แต่สำหรับเราแค่นั้นก็ดีใจมากแล้ว นอกจากนั้นเรายังได้กำลังใจจากกรรมการ สิ่งที่กรรมการแนะนำช่วยให้เรามีกำลังใจ ผมว่ากำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมาก

จากแผ่นกระดาษสู่ตู้เกม ความฝันที่เป็นจริง

หลังจาก NSC เราก็มาทำต่อเอง ผมกับคุณกบทำงานนี้ด้วยกันทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน ใช้เวลา 6 เดือนจนเสร็จประมาณ 80% แล้วทำเป็นเกมเดโม (Demo) ออกมาเป็น prototype ไปเสนอกับบริษัททำเกม จนมีบริษัทหนึ่งสนใจฝีมือ สมัยนั้นเป็นเกมตู้ทัชสกรีนตามห้าง พวกเกมจับผิดภาพ ยิงลูกแก้ว แต่มันยังมีความเป็นโปรแกรมอยู่ คือเกมกับโปรแกรมมันต่างกัน เกมจะมีมิติความเป็นอาร์ตสูงและมีขั้นตอนเยอะกว่า ซึ่งเราเห็นว่าในตลาดยังมีจุดที่ต้องไปต่อ

ตอนนั้นเราทำเกมทัชสกรีนตัวหนึ่งขึ้นมาให้เขาในต้นทุนที่ถูกมากๆ แค่ไม่กี่หมื่นเอง เพราะยังคิดราคาไม่เป็น (หัวเราะ) พอบริษัทเห็นงานเรามีคุณภาพเลยบอกว่าจะผลิตตู้ให้กับเกมเราโดยเฉพาะ ไม่ต้องปนกับคนอื่น ตอนนั้นดีใจมาก เพราะ product ที่เราพยายามทำ เราเขียนโค้ดโปรแกรมตั้งแต่กระดาษเปล่าๆ จนวันหนึ่งมันมีสองสามหมื่นบรรทัด เริ่มมีภาพ มีเสียง ผลิตใส่ตู้ หยอดเหรียญ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ และมีคนมาเล่น

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เมื่อโปรแกรมเมอร์เริ่มศึกษาธุรกิจ

ผมโชคดีที่เริ่มต้นกับลูกค้ารายแรกที่มีระบบเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้ ทำให้ได้ศึกษาว่าผู้ใช้เป็นใคร สมัยนั้นจะมีกล้องที่ตู้เกม เรารู้เลยว่าผู้หญิงเยอะ เป็นผู้หญิงวัยทำงาน วัยผู้สูงอายุก็มาเล่น จากเกมแรกเราก็เริ่มทำเกมที่สอง สาม สี่… ซึ่งวิธีการเลือกว่าจะทำเกมอะไร ตอนแรกๆ เหมือนโยนหินถามทาง เกมแรกเราทำเกมยิงลูกแก้ว เพราะสมัยนั้นทุกตู้ที่ยิงลูกแก้วจะขายดีมาก จากนั้นก็ทำเกมเรียงสาม จับคู่ ฯลฯ ทีนี้รู้แล้วว่าบุคลิกของเกมแต่ละเกมผู้ใช้จะต่างกัน รู้ว่าเกมนี้ลงทุนในการผลิตเท่านี้แต่ได้เงินไม่เยอะ บางเกมลงทุนนิดเดียว ทำเกมง่ายๆ แต่รายได้เยอะ ประเด็นคือเราต้องหาสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างการลงทุนผลิตกับลูกค้า จากที่เราเป็นโปรแกรมเมอร์เนิร์ดๆ เลยต้องมาสนใจเรื่องธุรกิจด้วย

จะเป็นเถ้าแก่ (ทั้งที่ยังเรียนไม่จบ)

ด้วยความที่เรามีระบบสร้างเกมที่มันมีราคาในตัวมันเอง ถ้าบริษัทลงทุนจ้างโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งผลิตน่าจะเป็นล้าน เราเลยเอาไปเสนอขาย หลังจากนั้นพอเริ่มมีคนจ้างคนแรก ทำอย่างไรให้กระบวนการซื้อขายมันถูกต้อง มีการจ่ายภาษี มีส่วนแบ่ง รวมถึงความเป็นลิขสิทธิ์ ซึ่งระบบหุ้นและการเปิดบริษัทร่วมกันจะช่วยให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงสมัยที่ผมฝึกทำงานให้บริษัทรุ่นพี่ก็ได้ความรู้ว่าบริษัทมีข้อดีอย่างไร มีกลไกอย่างไร เลยคุยกับเพื่อนว่างั้นเราลองเปิดบริษัทกันดีกว่า ซึ่งตอนนั้นยังเรียนไม่จบด้วยครับ ผมรู้สึกว่าเราเหนื่อยกับมัน มันมีราคาแน่นอนก็เลยมั่นใจ สมัยนั้นเกมเอนจิ้นราคาแพง เราไม่มีเงิน เราก็ใช้เวลาแลกเงิน ใช้แรงแลกเงิน มันอาจไม่ได้ดีเท่าเกมเอนจิ้นที่ทำขายกันหรอก แต่ก็พิสูจน์ว่าเราสามารถทำเกมที่คนเล่นเป็นแสนๆ คนตามโรงหนังได้

บริษัทของเราภายนอกคนทั่วไปจะเห็นว่าเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ด้านความบันเทิง ทำเกม ทำของเล่น และเครื่องเล่นตามห้างหรือสวนสนุก ตอนนี้มีในโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ภายในโครงสร้างจริงๆ ที่เราทำจะเป็นบริษัท R&D (Research and Development) นอกจากเรา research ให้งานตัวเอง สร้างผลงานของตัวเอง เรายัง research ให้กับลูกค้าหลายๆ เจ้าด้วยครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

แก้ปัญหาได้ทุกครั้งคือความสำเร็จ

ที่ผ่านมามองว่า เราประสบความสำเร็จมาตลอดทางนะ พอดีความสำเร็จในมุมมองของเรามันตรงกับคนที่ทำงานมาด้วยกัน คือมีปัญหาที่ต้องแก้และเราก็แก้มันได้ หรือลูกค้าโยนปัญหามาให้เราแก้แล้วเราก็แก้มันได้ เราแก้มันได้ด้วยความรู้ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนมา ซึ่งตลอดทางที่เดินมาสิบกว่าปีก็ทำมาตลอด ปัจจุบันวงการธุรกิจซอฟต์แวร์เปลี่ยนแปลงเร็ว แต่สิ่งที่เรายึดถือคือองค์ความรู้ที่เหนือกาลเวลา เราไม่ได้ติดกับเทรนด์ต่างๆ เพราะฉะนั้นโปรดักส์ของเราจะออกมาไม่เยอะไม่ถี่ แต่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ถามว่าประสบความสำเร็จถึงขั้นไหน เราก็รู้สึกแฮปปี้มาตลอดทาง ผมว่าการที่เราแก้ปัญหาแล้วเราได้รางวัลจากการแก้ได้ หรือบางทีแก้ไม่ได้แต่ได้ลองแก้ ทำให้เรารู้สึกว่าเราสำเร็จนะ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

กำลังใจ (จากผู้ใช้) คือแรงผลักดัน

ผมเชื่อว่าทุกคนเวลาเจอปัญหา ถ้ายังมีชีวิตอยู่เขาจะแก้ปัญหาจนได้ ทุกวันนี้ที่เราอยู่ได้ กินได้ ใช้ชีวิตได้ เราสำเร็จมาตลอดทาง แต่สิ่งที่ทำให้เราเดินมาได้เรื่อยๆ คือกำลังใจมากกว่า นอกจากกำลังใจที่เราให้กันเองแล้ว เราได้กำลังใจจากลูกค้า อันนี้สำคัญที่สุด

ตอนที่ทำเกมบนตู้แล้วมันกระจายไปอยู่ตามห้าง ตามสวนสนุก เลิกงานผมจะไปเดินดู เห็นพ่อแม่เอาเด็กตัวเล็กๆ มาวางบนเครื่องที่เราออกแบบ เราเลยบอกช่างว่าตรงนี้ออกแบบให้โค้งมนจะได้ปลอดภัยไม่บาดเด็ก ข้างในขอใช้วัสดุตัวนี้จะได้ไม่สปาร์ค รายละเอียดที่เราพยายามใส่ลงไป สุดท้ายพออยู่ที่ตลาดแล้วมันได้ใช้จริงๆ ตรงนี้เป็นกำลังใจมากๆ ที่ทำให้เราอยากจะทำเกมที่สองสามสี่ เพราะเราเห็นลูกค้าได้ใช้ ยิ่งพอเรามาทำเกมบนโทรศัพท์มือถือ คราวนี้ไม่ใช่แค่ลูกค้าตามห้างแล้ว บางครั้งส่งมาเป็นภาษาอะไรที่เราอ่านไม่ออก หรือส่งหัวใจมาให้ทางเฟซบุ๊ก ทำให้เราต้องไปต่อเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผมก็ต้องหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะรู้ว่ามีคนที่มีความสุขจากสิ่งที่เราได้ทำ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

สร้างพลังด้วยการแข่งขัน

สำหรับผมสมัยเรียน NSC คือที่สุดของชีวิตแล้ว เพราะชื่อการแข่งขันซอฟต์แวร์แห่งชาติมันยิ่งใหญ่มาก ทุกคนที่เขียนซอฟต์แวร์เป็นจะมาที่งานนี้ ผมเลยคิดว่าจะใช้งานนี้ทำสิ่งที่อยากทำ ถ้าได้รางวัลก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ได้ทำสิ่งที่อยากทำ เพราะมันยากที่อยู่ดีๆ เราจะทำขึ้นมาเอง ถึงผมมีไอเดียอยากทำแล้วบอกเพื่อน เพื่อนก็คงไม่สนใจ แต่ถ้าบอกว่าเราทำแล้วส่งแข่งขันกัน มันมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่เป้าหมายแค่เราอยากทำแต่เป้าหมายมันใหญ่กว่านั้น มันเป็นเป้าหมายแห่งชาติ ถ้ามันใช้ได้มันจะได้ไปอยู่ในลิสต์ของอะไรสักอย่าง มันได้เริ่มสตาร์ท วันนี้ผมยังนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าไม่ได้ส่ง NSC ผมจะเริ่มทำเกมอย่างไร ถ้าทำส่งอาจารย์ก็คงไม่สามารถทำใหญ่ๆ ได้ และไม่มีทุนมาเป็นกำลังใจ อันนั้นสำคัญมากนะ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

พื้นที่ของคนที่มี Passion เดียวกัน

สมัยที่ผมเข้ามาในโครงการ NSC เราได้คุยกับคนที่เขียนโปรแกรมเก่งๆ หรือคนที่มีไอเดียทำฮาร์ดแวร์ ได้เจอเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นที่เก่งมากและให้คำแนะนำกัน หรือเราอยู่ศิลปากรมีมิติความเป็นอาร์ตอยู่ เราก็อธิบายให้เขาฟัง มันเป็น community ของคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นพื้นที่ที่มีแต่คนที่เราอยากคุยด้วย เป็นคนประเภทเดียวกัน ทุกวันนี้เวลาไปเจอน้องๆ NSC เราก็มีความสุข ซึ่งเขามีไอเดียที่เจ๋งและได้ลงมือทำ ตรงนี้เป็นคีย์ที่แตกต่างจากการเรียนทั่วไป ยิ่งถ้าสามารถทำแล้วเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมได้ต่อ ผมว่ามันมีพลังมากเลย

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

รู้วิชาหรือจะเท่าเข้าใจมนุษย์

เด็กสมัยนี้มีโอกาสใหม่ๆ เยอะขึ้น สามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ต้องนั่งรถไปห้องสมุด ไม่ต้องรออาจารย์สอน ไม่ต้องลงทะเบียนเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ความรู้ แค่เข้าไปในอินเตอร์เน็ตก็รู้ทุกอย่างแล้ว เป็นโอกาสที่เขาปลดล็อคปัญหาต่างๆ ที่เราเคยเจอ แต่สิ่งที่จะไปต่อคือ นอกจากสร้างสิ่งที่อยากสร้างแล้ว การไปเจอคนอื่นๆ จะเป็นตัวช่วยปลดล็อคข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ถ้าเด็กไอทีได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ไปเจอกับ user ได้ไปเจอคนที่มีความคิดต่าง เขาจะเข้าใจมนุษย์ เข้าใจวิธีการคิดของคน เขาจะเก่งและจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีๆ อีกเยอะเลย

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

หัวใจของเกมคือความรู้สึก

ถ้าเป็นธุรกิจเกม หัวใจคือความรู้สึก มันเป็นความรู้สึกของคนที่กำลังใช้ซอฟต์แวร์ของเราอยู่ เราต้องศึกษาหรือเรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกของคน บางทีต้องจำลองสถานการณ์ว่าเราไม่เคยรู้จักเกมที่เราเพิ่งสร้างเลย ถ้าเราได้ลองเล่นมัน เรารู้สึกอย่างไร เพราะถ้าเป็นเกมคนเล่นเขาอยากรู้สึก อยากตื่นเต้น อยากประทับใจ อยากแก้ปัญหา แล้วพอแก้ได้ เขาอยากรู้สึกดี อยากภูมิใจในตัวเอง การที่เราเรียงลำดับความรู้สึกให้คนรู้สึก สำหรับผมคือกุญแจในการออกแบบ การผลิตเกม การอยู่ในอุตสาหกรรมเกม

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ถ้าให้นิยามตัวเอง ณ วันนี้ ผมมองตัวเองเป็นนักพัฒนา เพราะชอบพัฒนาทุกเรื่อง ทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นนักพัฒนา เป็น developer อยู่ดี ไม่ใช่นักธุรกิจหรือคนทำธุรกิจอะไร เพียงแค่การที่เราชอบพัฒนา เช่น เห็นลูกค้าทำแบบนี้มันแพง ทำแบบนี้ถูกกว่า ทำแบบนี้มันนาน ทำแบบนี้เร็วกว่า ซึ่งมันเป็น logic เดียวกับการเขียนโปรแกรม และมันดันส่งผลทางธุรกิจได้ ทำให้ลูกค้าประหยัดเงิน เขาก็เลยซื้องานเราเท่านั้นเอง…

นอกจากวิธีคิดเชิงบวกที่ทำให้มีความสุขตลอดกระบวนการทำงานแล้ว ประสบการณ์ของแสนยังบอกกับเราว่า การแสวงหาความรู้คือสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับนักพัฒนา ทั้งในมิติของการลงทุน ลงแรง รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายคนเก่งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

และมากกว่านั้น คืออย่าดูดายกับปัญหาของคนอื่น เพราะนั่นคือต้นทางของการเกิดผลงานใหม่ๆ ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าและสังคม

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 
ข้อมูลการศึกษา
  • Bachelor’s Degree in Science Field of Study Computer Science at Silpakorn Universesity.
  • Unity Certified Developer
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2004
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • 2018:
    • Ultraman Rumble3 (iOS,Android)
    • TukTukMan (Remake) (iOS,Android) (Supported by Thailand Ministry of Culture)
  • 2017-2016:
    • Railway Mania (iOS,Android)
    • Ultraman Rumble2 (iOS,Android)
    • Soul of Symphony (iOS,Android)
  • 2015-2014:
    • Ultraman Battle Online : Multiplayer Realtime Online Game (iOS,Android)
    • Ultraman Bros (iOS,Android)
    • Starcat (Arcade)
    • Dino Run (Arcade)
    • Candy Run (Arcade)
    • Metal Drive (Arcade)
  • 2013-2011:
    • Ultraman Rumble for iOS, 3D Ultraman games with battle arena.Achieved #1 in Hong Kong, Macau, and TOP5 of many Asian corntries, Singapore, Malaysia, Indonesia,Taiwan and Others.
    • Early 2013 is Time for Social games, mobile and web-based games. We developed Battle Ground – MOBA Extreme, real-time web-based MOBA 3D games. Also 3D Avatar games called Seed Avatar, HD 3D Avatar system, many type of face, eyes, hair, shirt, etc..
  • 2010-2005:
    • Establish Arcade Game business, develop many of casual arcade games with Linux based OS and controller solution for factories.
    • Work with many brands of famous characters to develop character-baser games (Masked Rider, Hello Kitty, Pororo, I love Eggs, Mashimaro,etc) for Arcade and PC platform.
    • ผู้ออกแบบฮาร์ทแวร์สำหรับเครื่องเล่นเกมตู้ที่เหมาะสมกับการให้บริการในประเทศไทยโดยเฉพาะ นำเสนอในงาน Thailand ICT Awards 2009 ได้รับรางวัล Runner Up ในสาขา Infrastructure and Tools ในงานพิธีมอบรางวัลผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552
    • ผู้กำกับและออกแบบเครื่องเล่นและซอฟท์แวร์ประเภทเกมสำหรับสวนสนุก ที่ถูกจัดจำหน่ายไปแล้วมากกว่า 2000 เครื่องทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ
    • ผู้กำกับซอฟท์แวร์ประเภทเกมสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหลากหลายรูปแบบ โดยเกมที่ได้รับความนิยมเป็นที่รู้จัก Ultraman Game Series มียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 5 ล้านครั้ง
ปัจจุบัน
  • Managing Director, Abstract Wings Co., Ltd.
ความเชี่ยวชาญ
  • Game Director
  • Game Programming
  • Multiplayer Game Programming (TCP,UDP)
  • Server Programming
  • 3D Modelling (Blender)
  • UI&UX for Game
  • Game Design
  • Gamification
  • AR,VR,XR Technology