แนะนำรุ่นพี่ NSC : รุ่งกานต์ วังบุญ (NSC 2004)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนกรกฎาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์
 
“ทุกคนอาจสอนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นครูได้…”

นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกตัวตนของ ‘ครูรุ่ง’ รุ่งกานต์ วังบุญ ครูคอมพิวเตอร์แห่งปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ได้ดีที่สุด เพราะครูรุ่งไม่ได้แค่สอนคอมพิวเตอร์ หากแต่ยังเป็นครูสอนแนะแนวการใช้ชีวิตให้ลูกศิษย์ และไม่ใช่เพียงสอนไปตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา หากแต่สอนจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้ปฏิบัติจริง อยากให้อ่านบทสัมภาษณ์ของครูรุ่ง แล้วเราอาจจะอิจฉาน้องๆ ปรินส์รอยแยลส์ฯ ที่มีครูที่ทุ่มเทขนาดนี้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ท้าทายในความเป็นครู

เมื่อก่อนเคยเป็นคุณครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง แต่หลังจากเรียนจบ Computer Science ก็ร้อนวิชาอยากเขียนโปรแกรม เลยไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่นิคมอุตสาหกรรมอยู่ 9 เดือน ถึงแม้จะได้เงินได้โอทีเยอะมาก แต่ทำให้รู้ว่านั่นไม่ใช่ตัวเอง หลังจากนั้นทางโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเรียกตัวมาสัมภาษณ์เพราะเราเคยสมัครไว้ ตอนสัมภาษณ์ท่านผู้อำนวยการพูดไว้ว่าความเป็นครูไม่ได้เป็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ แต่มันเป็นทุกวัน ไม่ใช่ถอดเครื่องแบบแล้วจะเลิกเป็น การเป็นครูไม่น่าเบื่อ ได้ทำอะไรหลายอย่าง คิดว่ามันน่าสนใจ และทางโรงเรียนจะส่งเสริมให้เรียนต่อปริญญาโทด้วย ก็เลยลาออกมาเป็นครูที่นี่ แล้วก็ได้เรียนต่อปริญญาโทจริงๆ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เจ็บเพื่อให้จำ ทำเพื่อให้รู้

พอเรียนจบปริญญาโททางโรงเรียนเลื่อนให้ขึ้นมาสอนระดับชั้น ม.ปลาย ซึ่งมีโครงการแข่งขันที่คุณครูท่านหนึ่งเคยทำไว้แล้ว เราก็คิดว่าจะทำได้หรือ แต่ก็ลองทำ ปีแรกปรากฏว่าเด็กได้รางวัลที่ 1 ของ NSC นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งในปีแรกถือว่าเด็กเก่ง เราแค่ให้แนวทางเล็กๆ น้อยๆ ปีต่อมามีการแข่งขันสำหรับคุณครู แต่เรายังไม่กล้าแข่ง จนกระทั่งก็มีคนมาบอกว่า เราจะแนะนำเด็กได้อย่างไรถ้าเราไม่เคยไปสนามนั้นจริงๆ ก็เลยตัดสินใจลงแข่งปีแรก เริ่มต้นจากที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทำให้ได้เข้าใจบรรยากาศการเขียนข้อเสนอ ความสงสัย ความกดดัน ความตื่นเต้น ที่สำคัญทำให้เราได้เรียนรู้ความเจ็บปวดจากการแข่งขัน NSC ด้วย คือสมัยก่อนจะไม่มีการนำเสนอ ครูส่งผลงานด้วยแผ่นซีดี มีข้อเสนอโครงการ มีกรรมการตรวจให้ แล้วรอฟังผล ทำมาอย่างนี้ทุกๆ ปี ปีนั้น (2549) เราก็ไม่ได้ไปนำเสนอเพราะวันนำเสนอเป็นวันแต่งงานพอดี ปรากฏว่าหลังจากนั้นหนึ่งเดือนมีจดหมายแจ้งมาที่โรงเรียนว่าอาจารย์รุ่งกานต์ส่งผลงานไม่ได้เกณฑ์ตามมาตรฐานและจะโดนยึดทุนคืน เราช็อคมาก เลยไปถามกรรมการ เขาบอกว่าแผ่นซีดีที่เราส่งไปมันเปิดไม่ได้ เพราะเครื่องไม่ได้ลงโปรแกรมแฟลชเพลเยอร์ไว้ ตอนนั้นโกรธ NSC มาก อายมาก ก็เจ็บช้ำไปประมาณสามเดือน

วิถีคนจริง!

หลังจากนั้นถามตัวเองว่าเราจะหยุดอยู่แค่นี้หรือ แล้วคนอื่นเขารู้ไหม หรือเราจะก้าวต่อไปให้คนอื่นเห็นว่าเราคือของจริง คนจริง และเราทำจริง ก็เลยเอาผลงานเดิมที่โดนยึดเงินไปส่งเข้าแข่งขันในปีถัดมา ปรากฏว่าทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศแล้วได้ไปนำเสนอ และได้รางวัลที่สองหรือรองชนะเลิศ ปีนั้นไม่มีที่หนึ่งเพราะผลงานยังไม่ถึงเกณฑ์ แล้วทำอย่างไรถึงจะได้ เราก็กลับมาถามตัวเองว่าจะแข่งต่อไปไหม คือมันเหมือนยังไม่ที่สุด ก็เลยกลับมาปรับปรุงพัฒนาผลงานใหม่ ดูเกณฑ์ทุกอย่างให้รัดกุมมากขึ้น แล้วส่งแข่งขันต่อจนได้รางวัลที่ 1

วิธีหาโจทย์คือจะดูว่าเราทำสื่ออะไรที่มีคุณค่า อย่างเช่น ถ้าเราทำสื่อที่เขาเข้าใจอยู่แล้ว ทำดีแค่ไหนเขาก็ไม่เห็นประโยชน์ แต่เราจะดูว่าเรื่องไหนที่ยาก เด็กเรียนในห้องแล้วไม่เข้าใจ ต้องไปเรียนพิเศษมากขึ้น หรือคะแนนสอบตก เราก็หยิบตรงนั้นมาดูว่าจะทำภาพอนิเมชันได้อย่างไร

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

อาบน้ำร้อนก่อน ถึงสอนเด็กได้

คุณค่าที่ได้รับคือระหว่างทางเราได้ประสบการณ์ เราได้ซึมซับหลายอย่าง ซึ่งตรงนั้นเราจะกลับมาบอกกับเด็กๆ ได้ เราจะโคชเด็กๆ ได้ เหมือนเราบอกว่าเด็กๆ ไปป่าอเมซอนนะ ทั้งที่เขายังไม่เคยไป เพราะฉะนั้นครูต้องไปก่อนถึงจะรู้แต่ละจุดว่าเป็นอย่างไร บอกได้ว่าควรจะทำอย่างไร หลีกเลี่ยงอะไร เพราะถ้าไม่เคยไปเราจะบอกเด็กไม่ได้ ซึ่งแต่ละปีก็จะไม่เหมือนกัน ก็พยายามไปแต่ละเวที ทำให้เข้าใจเด็กว่าเวลานำเสนอเขาจะตื่นเต้นอย่างไร จะต้องมีเทคนิคอะไรที่จะช่วยเขา อันนี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่จะนำมาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ต่อไป

ตอนที่เราไม่เคยเป็นคนแข่ง เราบอกให้เขาทำ ทำแบบนี้แล้วจะดี บางคนก็เชื่อ บางคนก็ยังไม่เชื่อ แต่ถ้าเราเคยทำมาก่อน เราจะเข้าใจหัวอกเขา รู้ว่าจังหวะนั้นเราเคยรู้สึกแบบนี้ เราต้องให้กำลังใจเขาอย่างไร เราต้องช่วยเขาอย่างไร เราต้องสนับสนุนเขาอย่างไร ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร แม้เขาพูดออกมาอย่างหนึ่ง แต่ใจจริงๆ เขาไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น มันก็จะมีวิธีปฏิบัติกับเด็กที่ต่างกันออกไป

ความพร้อมคือดาบสองคม

เมื่อก่อนเด็กจะกระตือรือร้นมาก เขาไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย ไม่มีโน้ตบุ๊กด้วย เวลาที่อยากทำต้องกลับไปทำที่บ้าน ถ้าอยากทำที่โรงเรียนต้องยกเคสยกหน้าจอมานั่งทำ บางคนต้องไปทำที่บ้านเพื่อน ต้องลาเรียนไป เขาต้องใช้ความอดทนมาก มีความมุ่งมั่นมาก แต่เด็กสมัยนี้ค่อนข้างพร้อม มีห้องคอมฯ มีครู มีทุกอย่าง บางครั้งจะเห็นว่าเด็กยุคใหม่จะท้อแท้ง่าย ไม่ค่อยสู้ฝ่าฟัน ต้องคอยให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือเขา แต่เด็กสมัยก่อนจะเข้มแข็งมาก เราแค่คอยแนะนำอยู่ห่างๆ ความมีวินัยไม่ต้องตามเยอะ สมัยก่อนถ้าสั่งปุ๊บจะทำ ถ้าทำไม่ได้จะมาบอกก่อน แต่เด็กสมัยนี้ต้องจี้ ต้องโคชละเอียด บางทีต้องโคชผู้ปกครองด้วย ก็เคยคิดว่าเป็นเพราะเขาพร้อมมากเกินไปหรือเปล่า แต่อาจเป็นเพราะสังคมในปัจจุบันด้วยที่เร่งด่วน ต้องการอะไรที่รวดเร็ว อีกอย่างเขาเรียนหนักขึ้นตั้งแต่เช้ายันเย็น เย็นต้องไปเรียนต่อ มีระบบ TCAS ที่บีบเขา เวลาที่จะมาทำตรงนี้ก็เลยแคบลง ถ้าไม่มีความพร้อมเด็กจะโดนกดดันและไปทางอื่นได้

เกรดวัดที่ชัดเจน กับความหลากหลายที่หายไป

ปัจจุบันครูสอนเด็กนักเรียนห้องกิฟท์คอมฯ (Gifted Computer) แต่ยุคแรกๆ สอนเด็กทุกคนเลย เมื่อก่อนเด็กทุกคนต้องเข้ามาเรียนคอมพิวเตอร์ชื่อวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทุกคนต้องเรียนเหมือนๆ กัน ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ก็สอน ม.4 ซึ่งต้องสอนพื้นฐานของกระทรวงให้จบไวๆ แล้วเราค่อยเพิ่มเติมในส่วนของโรงเรียนปรินส์ฯ เข้าไปให้เข้มข้นเพิ่มขึ้น ข้อดีคือเราจะเจอเด็กทุกคนไม่ว่าจะเด็กคนนั้นจะอยากเป็นวิศวะฯ คอมฯ หรือเปล่า แต่เราจะเจอ เราจะเห็นแววเด็กที่แตกต่างกันไป เราจะได้เห็นเด็กที่หลากหลาย แต่ถ้ากลุ่มเด็กกิฟท์คอมฯ จะมุ่งไปที่เขียนโปรแกรมการพัฒนา เราจะได้กลุ่มเด็กที่แคบลง แต่ความตั้งใจที่เขาจะมาทางด้านนี้ก็มีความชัดเจน

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เป้าหมายยิ่งสูง แรงพยายามยิ่งมาก

ที่ผลักดันให้เด็กได้เข้าแข่งขัน NSC อันดับแรกที่เห็นชัดเลยคือเด็กได้พัฒนาศักยภาพที่ชัดเจน ทำเพื่อแข่งในห้องก็แค่แข่งในห้อง แต่ถ้าทำเพื่อแข่งของโรงเรียนมันจะเพิ่มขึ้น ของภาคก็เพิ่มขึ้น ของประเทศก็เพิ่มขึ้น ตอนนี้ครูพยายามผลักดันเด็กว่าเวลาทำงานอะไรต้องมองไปที่นานาชาติ ถ้าเรามองไปที่นานาชาติได้ระดับประเทศก็ไม่ยาก เพราะแรงของเด็กจะไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ต้องสร้างเวทีที่ให้เด็กได้มีแรงขึ้นมาเอง แล้วจะป้อนอะไรก็ง่าย

ครูจะสอนเด็กว่าเห็นต้นไม้ไหม มันจะมีผลไม้ มีตั้งแต่ตกลงมาที่พื้นมีหนอนกินบ้าง มีข้างล่าง มีตรงกลาง มีข้างบน ข้างบนครูเปรียบเหมือนเป็นอมฤต ถามเด็กว่าอยากกินอันไหน เด็กบอกว่าข้างบน แต่ครูบอกว่าข้างบนมันเหนื่อยนะ อาจจะล้ม อาจจะเจ็บปางตาย ถลอกปอกเปิก เด็กบอกว่าไม่เป็นไรจะเอา เราก็เปรียบเทียบกับชีวิตจริง ถ้าอยากได้ที่ปลายยอด อย่างน้อยจะได้ที่ครึ่งต้น แต่ถ้าอยากได้ที่ครึ่งต้น มากสุดก็จะได้แค่ครึ่งต้น อันล่างๆ ก็จะเป็นของเธอ เขาก็จะเริ่มมองเป้าสูงที่จะทำให้เขามีแรงมากขึ้น ซึ่งแต่ละเคสจะไม่เหมือนกัน มีทั้งคนที่คิดว่าเขาทำไม่ได้หรอก เราก็ไม่มั่นใจหรอกว่าเขาจะทำได้ไหม แต่ต้องทำให้เขามั่นใจและเชื่อว่าเขาทำได้ แล้วเขาก็ทำได้จริงๆ บางคนเราไม่เคยคิดว่าเขาจะนึกถึงเรา วันหนึ่งพอลงจากเวทีเขาก็มากราบเท้าตรงนั้นเลย เขาบอกว่าผมมีวันนี้ได้เพราะครู เราก็อึ้งทำอะไรไม่ถูก (ยิ้ม)

สร้างความมั่นใจ ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน

วิธีสร้างความมั่นใจให้เด็ก อันดับแรกครูจะบอกว่า ในทีมต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าอีกคนมีเป้าหมายแค่ที่โรงเรียน อีกคนระดับภาค อีกคนระดับประเทศ ทำให้เราต้องมาคุยกันก่อนว่าเป้าหมายเราคืออะไร เอาให้ชัด เพราะแต่ละระดับไม่เหมือนกัน ก็ให้คนที่ตั้งเป้าหมายแต่ละระดับอธิบายในมุมของเขา สุดท้ายเด็กจะคิดเองได้ว่าเขาจะเอาเป้าหมายอะไร ให้เด็กได้คุยกันแล้วเขาจะมีความเข้าใจกัน เขาจะได้มีข้อมูลมากขึ้น ถ้ามีเป้าหมายเดียวกันการเสริมแรงก็จะไม่ยาก ถ้ามีเป้าหมายแบบนี้ครูสามารถให้คำแนะนำได้เลยว่าข้อเสนอมันถึงระดับไหน การันตีได้ไหม แต่ต้องทำเผื่อไว้ถ้าจะได้ร้อยต้องทำร้อยยี่สิบ เพราะฉะนั้น เด็กก็จะมั่นใจในการ ก้าวกับเราว่าเราเห็นทางข้างหน้าที่ชัดเจน ที่สำคัญ ต้องไม่ประมาท ต่อให้เก่งอย่างไรต้องพิชิตใจกรรมการให้ได้ จะได้ไม่พลาดแบบที่ครูพลาด เพราะเราต้องใช้เวลากับมัน สิ่งที่ครูพลาดไปก็เป็นประโยชน์ที่จะมาเล่าให้เด็กฟัง อย่าคิดว่าพลาดแล้วเสียไป ถ้ามองให้เป็นประโยชน์ก็เอามาใช้กับเด็กได้ มีเทคนิคมาสอนเด็ก

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

การเติบโตของเด็ก คือรอยยิ้มของครู

ถ้าถามถึงความสำเร็จในการส่งเด็กเข้าแข่งขัน เรื่องรางวัลก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ระหว่างทางเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก เขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความรับผิดชอบ มีความคิดที่เปลี่ยนไป มีความเสียสละ มีการนึกถึงคนอื่น อันนี้คือสิ่งที่ทำให้ครูมีรอยยิ้มได้เรื่อยๆ ถ้าเป็นคุณครูทั่วไปก็จะได้เงินเดือนแค่สิ้นเดือน เดือนละหนึ่งครั้ง แต่สำหรับครูคิดว่าทุกครั้งที่อยู่กับเด็กเราก็ได้ตลอดเป็นเม็ดเล็กเม็ดน้อย และต้องคอยรดน้ำไปเรื่อยๆ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของเขา เราก็มีความสุข

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

ชีวิตเราใช้ให้คุ้ม!

สำหรับคุณครูที่สนใจส่งเด็กเข้าแข่งขัน ถ้าเราจะแนะนำเด็กได้เราต้องเคยทำมาก่อน เหมือนคำที่มีคนพูดว่า คุณจะเข้าใจคนอกหักได้อย่างไรถ้าไม่เคยอกหัก แล้วคุณจะแนะนำเด็กได้อย่างไร ถ้าคุณไม่เคยลองเส้นทางนั้นแม้แต่ครั้งเดียว และไม่มีอะไรที่น่ากลัวเพราะเด็กของเราต้องการจะไปและครูต้องไปก่อนแค่นั้นเอง

ถ้าจะโคชเด็กให้เข้าแข่ง จะบอกเด็กๆ ว่า ชีวิตนักเรียนมันจะมีอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เราเดินไปกินข้าว แล้วกลับมาห้อง อย่างมากเธอจะได้ไปเล่นบาส อย่างมากเธอจะได้ไปทัศนศึกษาปีละหนึ่งหรือสองครั้ง แต่การที่เราได้ก้าวออกมาแล้วทำอะไรสักอย่างที่เราชอบ แล้วทำให้สุดทาง มันมากกว่าในห้องเรียน เธอจะได้ชีวิตอีกด้านหนึ่ง ได้การเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพื่อน การทำงานที่แท้จริง ความเก่งที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และการรักษาสมดุลไม่ว่าจะเป็นตัวเอง กับครอบครัว กับเพื่อน กับทุกอย่างๆ มันคือชีวิตมากๆ มีชีวิตทั้งทีต้องใช้ให้คุ้ม แต่ต้องรักษาความสมดุลระหว่างคะแนนและการแข่งขันด้วย เพราะเด็กหลายคนถ้ารักษาสมดุลไม่เป็นอาจจะเสียการเรียน เด็กบางคนถึงแม้เขาจะได้โควตาแต่เกรดไม่ถึง หรือแม้จะไปเรียนแล้วแต่เขาไม่มีพื้นฐาน เขาก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องรักษาสมดุล และครูก็ต้องช่วยด้วย

ครูอยากให้ NSC คงอยู่ไปนานๆ มันเป็นแรงผลักดันที่ดีมากของเด็ก โดยเฉพาะการมีโควตาให้กับเด็ก เพราะเด็กที่มาอยู่ในโครงการเป็นเด็กที่เสียสละเวลามาแล้ว เขาไม่ใช่เด็กที่จะอยู่แต่ในห้องเรียน แต่ต้องรักษาความสมดุล และมหาวิทยาลัยที่รับเขาไปก็จะไม่ผิดหวัง

ช่วยบ่มเพาะระหว่างทาง

ครูเคยได้เป็นวิทยากรให้กับเนคเทค ปัญหาที่ครูหลายคนเจอ เขาบอกว่าเด็กอยากทำครูก็อยากแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะ หนึ่ง ครูไม่ได้เขียนโปรแกรมได้เก่งมากมาย สอง เด็กยังไม่มีพื้นฐาน แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งน่าจะมีการบ่มเพาะระหว่างทางทั้งครูและนักเรียน จนกระทั่งเขาเขียนข้อเสนอได้ด้วย แต่ถ้าในระหว่างนั้นเขียนโปรแกรมไม่ได้ทำอย่างไร อย่างเช่นบางโปรแกรมที่เขียนยากๆ โรงเรียนปรินส์ฯ กว่าจะเขียนได้ก็ตั้งต้นนานเหมือนกัน แล้วถ้าเด็กข้างนอกจะเริ่มอย่างไร ทั้งที่เขามีไอเดีย ครูก็พร้อม อยากให้มีตรงนี้เข้ามาเชื่อมด้วย ถ้าเนคเทคสามารถช่วยตรงนี้ได้จะเป็นประโยชน์ และอีกอย่างที่ไปเมืองนอกจะเห็นเขาทำเป็น Landmark ที่ส่วนกลาง เด็กไม่มีเงินสักบาทแต่สามารถเดินเข้าไปใช้อุปกรณ์ได้หมดทุกอย่าง มีไกด์ไลน์ให้ สำหรับเด็กที่ยังไม่รู้ตัวเองหรือไม่มีความพร้อมตรงนี้ ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เด็กก็จะได้เป็นไอเดียต่อยอดได้

สำหรับโรงเรียนที่ห่างไกล อย่างแม่ฮ่องสอนก็น่าจะเป็นโมเดลที่ดีมาก มีทั้งการเขียนข้อเสนอ ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยโคชชิ่งให้ แล้วค่อยๆ ประคับประคองอย่างต่อเนื่อง ถ้าได้โมเดลนี้ขึ้นมาอาจจะไปช่วยที่อื่นได้ แต่ถ้ารอโมเดลอาจต้องใช้เวลา อย่างตอนนี้เรามีบทเรียนมากมาย ถ้าทำเป็นศูนย์เกี่ยวกับไอทีและเทคโนโลยี แบ่งเป็นหัวข้อ อย่างเช่นอาจารย์ถนัดหัวข้อนี้ก็อัดวีดีโอไว้ใส่เข้าไปรวบรวม อย่างน้อยมันมีอินเตอร์เน็ต เด็กเข้ามาแล้วก็ทำตาม มีอุปกรณ์ที่อยากได้ซื้อที่ไหน มีรายชื่อติดต่อผู้เชี่ยวชาญ ถ้ามีเว็บไซต์แบบนี้สักหนึ่งอันมันน่าจะไปได้

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

สำหรับตัวเอง ถ้าเป็นครูในห้องเรียนเราก็จะเป็นแนวที่จัดการเรียนการสอนให้สนุก ให้เด็กอยากรู้ ไม่มานั่งบอก 1 2 3 4 อยากให้เขาทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วเราทำหน้าที่เพียงช่วยเขาทำให้สำเร็จ แต่ถ้าเป็นโคชต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้พร้อมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นคน หลักสูตร ห้อง เนื้อหา การเชื่อมกับผู้บริหาร ผู้ปกครอง จัดให้พร้อม แล้วก็คอยดูว่าเขาขาดอะไร เราก็คอยเติมเต็ม

ที่ผ่านมาเราแข่งขันมาสิบกว่าปี ได้รับรางวัลก็ดีใจแป๊บๆ อนาคตอยากทำอะไรที่มันมี impact ในสิ่งที่เรารู้ให้กับคนอื่นบ้าง ไม่ว่ากับเด็กหรือคุณครู และเป็นระยะยาว อยากทำเว็บฯ ขึ้นมาเป็นศูนย์รวม ใครอยากรู้เรื่องไอทีเข้ามาตรงนี้จะรู้จริง สร้างเป็น hub และมี content ให้ครบถ้วน อีกหน่อยอาจจะมี conference ด้วยแต่ก็ยังเป็นความฝันอยู่ …

คำที่ว่า ความเป็นครูหาใช่อยู่ที่คุณวุฒิ หากแต่อยู่ในจิตวิญญาณของคนคนนั้น ยังคงเป็นจริงเสมอ และไม่อาจปฏิเสธเลยว่า ครูรุ่งคือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงคำข้างต้นได้อย่างชัดเจน แม้จะต้องสู้อุตสาหะเพียงไร ขอแค่ได้เห็นความสำเร็จของลูกศิษย์ นั่นคือสิ่งตอบแทนที่มากเกินพอแล้วสำหรับครู…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 
ข้อมูลการศึกษา
  • ปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2006
  • เป็นครูที่ปรึกษา”การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2004
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
ฐานะผู้ร่วมการแข่งขัน
  • 2007 โปรแกรม “เรียนสนุกกับไฟฟ้าเคมีออนไลน์” ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ2 (ไม่มีรางวัลชนะเลิศอันดับ1) ระดับประเทศ ประเภทสื่อการเรียนรู้ออนไลน์) ระดับครู อาจารย์ ในการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย (National Software Contest) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  • 2007 โปรแกรม “เรียนสนุกกับไฟฟ้าเคมีออนไลน์” ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ระดับประเทศ ประเภท E-Learning ในงานการประกวดผลงานแอนิเมชั่น เกม และสื่อการสอน ระดับบุคคลทั่วไป ในการแข่งขัน Thailand Animation & Multimedia2007 จัดโดย สำนักงานส่งเสิรมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SiPA)
  • 2008 โปรแกรม “เส้นสายประสาท หรรษา ออนไลน์” ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ระดับประเทศ ประเภทสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ระดับครู อาจารย์ ในการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย (National Software Contest) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  • 2008 โปรแกรม “เส้นสายประสาท หรรษา ออนไลน์” ได้รางวัลสื่อ ICT ดีเด่น ระดับประเทศ ในการประชุมวิชาการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนการสอน จัดโดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  • 2009 โปรแกรม ” สัตว์เลี้ยงอัจฉริยะกับความรู้คอมพิวเตอร์ออนไลน์” ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 (ไม่มีรางวัลที่1) ” ระดับประเทศ ประเภทสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ระดับครู อาจารย์ ในการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย (National Software Contest) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  • 2010 โปรแกรม ” สร้างโปรแกรมเมอร์น้อยด้วยโปรแกรมออนไลน์” ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ” ระดับประเทศ ประเภทสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ระดับครู อาจารย์ ในการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย (National Software Contest) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  • 2010 โปรแกรม ” สร้างโปรแกรมเมอร์น้อยด้วยโปรแกรมออนไลน์” ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ประเภท Education’s Choice สาขานวัตกรรมใหม่มีความโดดเด่น ระดับประเทศ จากกระทรวงศึกษาธิการและ บริษัทไมโครซอฟท์ประเทศไทย
  • 2010 โปรแกรม ” สร้างโปรแกรมเมอร์น้อยด้วยโปรแกรมออนไลน์” รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ประเภท ครูผู้นำด้านนวัตกรรมการเรียนการสอน ระดับประเทศจากกระทรวงศึกษาธิการและ บริษัทไมโครซอฟท์ประเทศไทย
  • 2010 จากโปรแกรม ” สร้างโปรแกรมเมอร์น้อยด้วยโปรแกรมออนไลน์” ที่ได้ทุนพัฒนาจาก Nectec ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ในการประกวดการใช้นวัตกรรมในกระบวนการเรียนการสอน ระดับกลุ่มครูประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แปซิฟิก ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้นำเสนองานในเวทีระดับโลก จากไมโครซอฟท์ Worldwide
  • 2010 จากโครงการ” สร้างโปรแกรมเมอร์น้อยด้วยโปรแกรมออนไลน์” ที่ได้ทุนพัฒนาจาก Nectec ได้เป็นตัวแทนครูไทย เพียง1เดียวร่วมนำเสนอ Worldwide Innovative Teacher Leadership Forum ณ เมืองเคปทาวน์ ประเทศ Soult Africa ในการใช้นวัตกรรมใหม่ในกระบวนการเรียนการสอนและ เข้าร่วมประชุมสัมนาการใช้นวัตกรรมการสอนระดับโลก
  • 2010 ครูรุ่งกานต์ วังบุญ รับเชิญเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลา 9.00-12.00 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
  • 2012 โปรแกรม “เรียนรู้ระบบเครือข่ายและการสื่อสารข้อมูลผ่านมือถือและแท็บเล็ต ” รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ระดับประเทศ ประเภทสื่อบทเรียนสำหรับระบบการเรียนรู้ออนไลน์ ประเภทสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ระดับครู อาจารย์ ในการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย (National Software Contest) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  • 2013 โปรแกรม “การเรียนรู้การพูดออกเสียงและเขียนภาษาอังกฤษ” รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ระดับประเทศ ประเภทสื่อบทเรียนสำหรับระบบการเรียนรู้ออนไลน์ ประเภทสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ระดับครู อาจารย์ ในการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย (National Software Contest) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ฐานะครูที่ปรึกษา 2004 – 2019 (15 ปี ) จากเวที NSC
  • 8 Teams : รางวัลระดับนานาชาติ
  • 12 Teams : ชนะเลิศระดับประเทศ
  • 19 Teams : ที่ 2 ระดับประเทศ
  • 23 Teams : ที่ 3 ระดับประเทศ
ปัจจุบัน
  • ครูผู้สอน ที่ปรึกษา นักเรียนในโครงการ Gifted Computer โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
  • หัวหน้างานส่งเสริมอัจฉริยภาพผู้เรียนด้านเทคโนโลยี โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
ความเชี่ยวชาญ
  • Java Programming
  • Python
  • IT Project Management
  • Action script3.0