แนะนำรุ่นพี่ NSC : ทรงกริช สันตินันตรักษ์ (NSC 2002)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนตุลาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ปิ่นพงศ์ เนียมมะณี
องค์ประกอบของความสำเร็จมีอยู่หลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ลงมือทำ

…‘อ๊อฟ’ ทรงกริช สันตินันตรักษ์ CEO หนุ่มวิสัยทัศน์ไกล เปิดเผยถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่ทำให้อดีตชายหนุ่มที่มีเงินอยู่แค่ 5 หมื่นบาท สามารถก่อร่างสร้างตัวมาถึงจุดของการเป็นหุ้นส่วนบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่างแอดไวซ์ที่มียอดขายกว่าหมื่นล้านต่อปีได้ ว่าแล้วก็มาล้อมวงกันเถอะ…เขาอยากจะเผยเคล็ดลับแล้ว

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

ฝันแรงกล้าแต่วัยเด็ก

ตั้งแต่เด็กๆ ก็คล้ายกับทุกคนที่โตมากับเกม เราไปเจอเพื่อนบ้านที่เขามีเครื่องเกม ชอบไปเล่นกับเขาจนกระทั่งคุณแม่ซื้อเครื่องเกมมาให้เราเล่นเลย ก็เริ่มจากตรงนั้น สนใจว่าเกมมันเป็นอย่างไร มันผลิตอย่างไร เริ่มศึกษาตั้งแต่ประถมฯ ว่าเกมมันเป็นมาอย่างไร จนกระทั่งมัธยมฯ มีแต่คนบอกว่าต้องไปเรียนแพทย์ฯ นะ อยากให้ลูกเรียนสูงๆ แต่เรามาสายนี้ เราบอกพ่อแม่ว่าอยากเป็นคนผลิตซอฟต์แวร์ อยากเป็นคนผลิตเกม ซึ่งตอนนั้นผู้ใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เกมคืออะไร ทำไมไม่ไปเป็นหมอ ทำไมไม่ไปเป็นอะไรที่มันดีกว่านี้ แต่เราก็ต้องการตามความฝันของตัวเอง

วิศวะคอมฯ คือที่หนึ่งในใจ

จนกระทั่งจบ ม.6 ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งตอนนั้นเน้นไปทางวิศวกรรมศาสตร์เลย แต่ปี 1 ยังเป็นวิชาพื้นฐานวิศวกรรมทั่วไปอยู่ พอปี 2 เริ่มเลือกภาควิชา ในใจผมเลือกภาควิชาคอมพิวเตอร์มาเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ก็เริ่มบูมขึ้นมาระดับหนึ่งและมีคนต้องการเลือกเยอะเหมือนกัน ก็เริ่มเข้ามาสายคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนนั้น จนกระทั่งได้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตอนปี 3 แล้วก็มารู้จักเนคเทคตอนปี 3 เช่นกัน เริ่มเข้าสู่เวทีแข่งขันในตอนนั้นครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ไม่มีอะไรยากเมื่อเราพยายาม

ที่เราเคยคิดไว้การเขียนโปรแกรมก็แค่เอาภาพมาปะติดปะต่อให้มันเป็นเกมสักเกมหนึ่ง แต่พอเข้าไปเรียน ช่วงแรกที่ได้เรียนรู้คือพวกภาษาปาสกาล (Pascal) ที่อาจารย์เอามาสอน มันคืออะไร? โปรแกรมแรกเลยคือ Hello world โปรแกรมเมอร์จะรู้ว่าเบื้องต้นต้อง Hello world ให้ได้ก่อน ตอนนั้นคิดว่าทำไมมันยากนัก เลือกถูกไหมที่จะมาสายนี้ แต่พอเรามีความตั้งใจ เราอยากได้เกมสักเกมหนึ่งมาเล่นและอยากลองทำด้วยตัวเอง ก็พยายามทำ พยายามศึกษา ทดลองเขียนโปรแกรม เขียนคำนวณตัวเลขต่างๆ ตามพื้นฐานที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียน มันก็เริ่มเรียนรู้ เริ่มมีทักษะมากขึ้น เริ่มมีความเข้าใจ logic ต่างๆ ในการเขียนโปรแกรมแล้วพัฒนาขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เริ่มชอบซอฟต์แวร์ตั้งแต่ตอนนั้น

แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่

ตอนนั้นเริ่มมีอินเทอร์เน็ตแล้วแต่เราไม่รู้ข่าวสารภายนอกเลย ได้แต่เรียนจริงๆ จนกระทั่งมีอาจารย์มาบอกว่ามีการแข่งขัน NSC ซึ่งมีรุ่นพี่เคยไปแข่งขันเเล้วได้รางวัลมาก่อนคือ พี่เพิ่ม (เพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต) เราก็เลยมีรุ่นพี่เป็นแรงบันดาลใจ แล้วเข้าแข่งขันตั้งแต่ปี 3 ครั้งแรกยื่นสมัครกับเพื่อนคนหนึ่ง จำได้ว่าจะผลิตเกม แต่พอดีเป็นช่วงปิดเทอม เเบ่งหัวข้อกับเพื่อนๆ แล้วแยกย้ายกันไป ช่วงนั้นไม่มีโทรศัพท์ มีแค่เพจเจอร์แต่ติดต่อกันไม่ได้ เราก็พยายามตั้งใจเขียน จนสุดท้ายเปิดเทอม ต่างคนต่างทำของตัวเองกลายเป็นว่ามันไม่สมบูรณ์ ครั้งแรกคือล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ เราเลยไม่ได้ส่งผลงานปีนั้น แล้วคืนเงินสนับสนุนไป แต่ตั้งใจว่าไม่เป็นไร ยังมีทีสิส (Thesis) เดี๋ยวเริ่มใหม่

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

ถ้าไม่ลองทำ…นวัตกรรมก็ไม่เกิด

พอขึ้นปี 4 เป็น NSC ครั้งที่ 4 ก็ลองสมัครโดยส่งผลงานโปรเจกต์จบเข้าแข่งขัน ซึ่งเราก็คิดร่วมกับท่านอาจารย์ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ตอนนั้นอาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจกต์ เราพยายามพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยเหลือคนพิการทางสายตา ช่วงนั้นซอฟต์แวร์ที่คนชอบใช้กันมากๆ เลยก็คือ MSN เป็นโปรแกรมแชทที่ฮิตกันมาก แต่คนพิการทางสายตาเขาพิมพ์ไม่ได้ เราก็พยายามคิดหาวิธีแล้วชวนเพื่อนอีกคนมาเป็นคู่โปรเจกต์ ซึ่งอาจารย์แนะนำให้ทำเป็นโปรแกรมที่สั่งงานได้ด้วยเสียง ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีซอฟทต์แวร์สั่งงานได้ด้วยเสียง เราก็ยังตกใจอยู่ว่าจะทำได้หรือ ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจับซอฟต์แวร์มาได้ปีเดียวเอง แต่ก็ลองศึกษาแล้วพยายามทำออกมา ปรากฏว่าทำออกมาได้ดีด้วย นี่คือความตั้งใจที่บางคนอาจจะคิดว่ามันยาก ทำไม่ได้หรอกด้วยเวลาแค่นั้น ถ้าคุณไม่ลองทำมันก็ยังคงไม่ได้อยู่อย่างนั้น ลองทำดูว่าจะทำได้ไหม สำเร็จหรือไม่สำเร็จอีกเรื่องหนึ่งแต่ขอให้ได้ทำ ตอนนั้นก็เลยลงมือทำมาเรื่อยๆ จนสำเร็จแล้วส่งเข้าแข่งขัน NSC ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวดซอฟต์แวร์สำหรับคนพิการ

ประสบการณ์สอนให้ทำงานเป็นทีม

สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือความพยายาม ส่วนหนึ่งคือเราต้องทำ สลัดความคิดที่ว่าเราทำไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการทำงานร่วมกับคนอื่นด้วยเพราะเราต้องทำงานเป็นกลุ่ม เราคิดว่าเราทำคนเดียวได้ แต่พอได้ทำร่วมกับคนอื่นมันจะมีจุดที่ว่าเราจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างไร เราจะแบ่งงานกันอย่างไร จะทำอย่างไรให้งานของทั้งสองคนหรือทั้งทีมมารวมกันแล้วเข้ากันได้ เป็นผลงานที่ทำออกมาได้ดี นี่คือตอนนั้นที่ได้เรียนรู้ เพราะเราล้มเหลวตอนปี 3 เนื่องจากขาดการสื่อสารกับเพื่อน ขาดความเข้าใจกับเพื่อนว่าเป้าหมายที่ต้องทำคืออะไร พอมาปี 4 เรารู้แล้วก็เริ่มแบ่งงานกับเพื่อนในทีม แล้วเอาผลงานของทั้งสองคนมาประสานร่วมกันให้ได้ กลายเป็นว่าทุกอย่างมันลงตัวจนประสบความสำเร็จ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เวทีแห่งการโชว์ของ!

ตัวตนจริงๆ ของผม ณ ตอนนั้นคือเราเป็นคนที่ชอบอยู่กับหน้าจอของตัวเอง อยู่ในโลกส่วนตัวของตัวเอง ไม่กล้าเอาความคิดของตัวเองแสดงออกมาว่า ‘ฉันอยากทำอันนี้ ฉันอยากให้คนอื่นได้เห็นสิ่งที่ทำ’ เพราะคิดว่าเราอยู่ของเราแค่นี้แหละ ทั้งที่จริงเรามีความสามารถ NSC เป็นเวทีที่ทำให้ผมมีความกล้าที่จะเอาผลงานที่ตัวเองได้ทำออกมา ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าผลงานเรามีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร แต่เราได้แสดงความสามารถของเราแล้ว เราได้แสดงในเวทีที่เขาเปิดกว้างให้เราได้แสดงออก เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผมเลย ครั้งแรกอาจจะล้มเหลว พอครั้งที่สองประสบความสำเร็จมันทำให้เรารู้สึกว่า NSC เป็นเวทีที่ทำให้เราได้แสดงออกจริงๆ คิดว่ารุ่นน้องที่ได้มาสัมผัสตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเขาและก้าวต่อไปในอนาคต

เก็บประสบการณ์ลูกจ้าง เพื่อสร้างธุรกิจตัวเอง

ตอนเรียนจบใหม่ๆ มีบริษัทของญี่ปุ่นบริษัทหนึ่งมาสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยและรับเราเข้าทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ตอนนั้นชีวิตก็เหมือนมนุษย์เงินเดือนวัยทำงานทั่วไป พอทำงานกับบริษัทนี้ได้ 1 ปี คุณพ่อเริ่มมีอาการไม่สบายนิดหนึ่ง รู้สึกว่าอยากให้ของขวัญอะไรกับพ่อแม่บ้างก็คือการเรียนต่อให้มันสูงขึ้น เลยลาออกมาเรียนปริญญาโทที่จุฬาฯ หลักสูตร Software Business Development เป็นหลักสูตรทางด้าน Software Engineer พอจบปริญญาโทก็ไปทำงานต่อที่บริษัท True Corperation แต่ทำได้แค่ครึ่งปี ความรู้สึกตอนนั้นเราไม่อยากเป็นลูกจ้างเขา ด้วยลักษณะนิสัยเราที่อยากทำอะไรเป็นของตัวเอง เราไปทำงานตรงนั้นเพื่อได้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร เรียนรู้ถึงรากการเป็นชีวิตลูกจ้างว่าเป็นอย่างไร ได้เรียนรู้ความรู้สึกของลูกจ้างที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทว่าเป็นอย่างไร พอได้เรียนรู้แล้วก็คิดว่าน่าจะถึงเวลาที่เราจะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง

จากปลาเล็ก…สู่ปลาใหญ่

ตอนนั้นมีเงินทุนติดตัวแค่ 5 หมื่นบาท ด้วยความที่เราเรียนจบสายคอมพิวเตอร์และชอบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ก็ไปเดินดูตลาดที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่าเพื่อหาแนวทางหากต้องไปเปิดร้านคอมพิวเตอร์ของตัวเองที่ต่างจังหวัด ซึ่งไม่จำเป็นต้องใหญ่โต บางคนอาจจะคิดอยากไปตั้งบริษัทที่ใหญ่โต แต่ความคิดผมตอนนั้นเอาแค่เล็กๆ ก็พอ ขอแค่ให้มันเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่เราตั้งใจและได้เป็นเจ้านายของตัวเอง ได้ทำธุรกิจของตัวเอง เลยเอาเงิน 5 หมื่นบาทไปเปิดร้าน ธุรกิจก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลา 2 ปีธุรกิจเริ่มโต ร้านเริ่มใหญ่ขึ้น เริ่มมีพนักงานมากขึ้น เริ่มได้ควบคุมพนักงานหลากหลายรูปแบบ เริ่มเรียนรู้อะไรหลายอย่าง จนกระทั่งบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ซึ่งตอนนั้นมีเจ้าของสองท่าน เขาเห็นยอดขายของเราที่เป็นดีลเลอร์ให้เขาอยู่ ก็เลยชักชวนมาใช้ชื่อบริษัทฯ กึ่งๆ เป็นแฟรนไชส์ ซึ่งเราก็ยังเป็นเจ้าของอยู่ แต่เราเอาโลโก้ของบริษัทไปใช้เหมือนเป็นสาขาที่จังหวัดนั้นๆ ยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันบริษัท แอดไวซ์ฯ ยอดขายโดยรวมอยู่ที่ปีละหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาท เป็นตลาดไอทีเบอร์หนึ่ง ซึ่งเราพร้อมที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทุกคนก็เลยรวมกลุ่มกัน ตอนนี้ก็เหมือนเป็นหุ้นส่วนกันเตรียมตัวที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ใช้เวลา 10 ปี

เดินสู่ความสำเร็จด้วยตัวเอง

สิ่งที่ผลักดันให้มาถึงทุกวันนี้น่าจะเป็นความอยากประสบผลสำเร็จ เราโตมาในครอบครัวคนจีน คุณพ่อจะพูดเสมอว่าต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ต้องทำให้ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง การผลักดันก็น่าจะเป็นคำพูดของคุณพ่อ เขาไม่ช่วยเหลืออะไรนะ คุณต้องเดินด้วยตัวของคุณเอง ชีวิตคุณต้องประสบความสำเร็จด้วยตัวของคุณเอง เพราะฉะนั้น ในสมองเราจะคิดอยู่เสมอว่าเราต้องประสบความสำเร็จ มันเป็นจุดที่เราต้องทำสิ่งที่ชอบ ต้องเติบโต ต้องประสบความสำเร็จ ทำมาเรื่อยๆ เจออุปสรรคก็พยายามแก้แล้วเดินต่อไป เส้นทางขรุขระเราก็พยายามเดินมา ก็ผ่านมาเยอะพอสมควรกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จเต็มตัว ยังต้องก้าวต่อไปอีกระยะหนึ่งถึงจะประสบความสำเร็จ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

คนล้มเหลว คือคนที่ไม่ลงมือทำ

ผมมองว่า ทักษะเดียวที่น้องๆ ไอทีรุ่นใหม่ควรจะมีคือความตั้งใจ มันไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องชำนาญด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเก่งซอฟต์แวร์หรือเขียนโปรแกรมเก่ง เพราะถึงแม้คุณจะเก่งแต่ถ้าไม่มีความตั้งใจก็ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งเดียวที่ผมยึดถือมาตลอดคือทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ก็คือต้องทำ คนที่ทำแล้วไม่สำเร็จคุณไม่ได้ล้มเหลว คนที่ล้มเหลวคือไม่ได้ทำ ผมคิดแบบนี้เสมอ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณคิดอยากจะทำอะไรหรือมีความตั้งใจจะทำอะไรให้ทำ อย่าไปคิดมาก อย่าไปคิดว่าฉันทำไม่ได้ ฉันติดนั่นติดนี่ ฉันไม่มีเงินทุน ไม่มีคนสนับสนุน ฉันมีแค่ความสามารถ ฉันไม่มีเพื่อนไม่มีสังคม อย่าไปคิดแบบนั้น คุณต้องทำก่อน วางแผนให้ดีแล้วทำมันถึงจะมีคำว่าประสบความสำเร็จ อย่าไปคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ทุกคนมีความสามารถของตัวเอง เรียนรู้ได้ พยายามได้ ศึกษาได้ ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำได้ ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่ต้น แค่คุณพยายามและลองทำ ความสำเร็จรอคุณอยู่ข้างหน้า

สร้าง Connection สู่เวทีโลก

ในส่วนของ NSC ผมมองว่าการเป็นเวทีประกวดหรือแข่งขันที่ช่วยสนับสนุนเงินทุน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ถ้าจะให้เพิ่มเติมอีกก็คือ ความรู้ คอนเนคชันระดับที่ใหญ่ขึ้น ระดับประเทศ ระดับโลก เพราะปัจจุบันเรื่องไอทีคงไม่กระจุกอยู่ที่บ้านเรา ต้องมีคอนเนคชันกับต่างประเทศได้ เพิ่มศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาไทยไปสู่เวทีต่างชาติ เพื่อที่จะเทียบชั้นกับประเทศที่เขาโตแล้ว เช่น อินเดีย ซึ่งเด็กไทยมีความสามารถ ถ้า NSC อยากจะช่วยก็น่าจะเป็นเรื่องคอนเนคชันกับต่างประเทศ อาจจะมองว่ามันเร็วไปไหมสำหรับเด็ก ผมว่าไม่เร็ว เด็กสมัยนี้ศึกษาได้เร็วมาก สมองเขาเร็วมาก การที่จะไปคุยกับต่างประเทศหรืออะไรที่มันสเกลใหญ่ขึ้นเขาทำได้และเขาจะเติบโตเร็วมาก

วิสัยทัศน์วัดความอยู่รอด

สิ่งที่จะทำให้อยู่ในตลาดได้ยาวคือวิสัยทัศน์ ต้องตามเทรนด์ตลาดให้ทัน ตอนนี้ตลาดไปเร็วมากใครจะนึกว่ากล้องถ่ายรูปจะล้มได้ ใครจะนึกว่าโนเกียจะล้มไปได้ คือเราต้องตามให้ทันแค่นั้นเอง มีวิสัยทัศน์ในการมองว่าเทรนด์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่มองแค่ว่าเราจะทำตรงนี้ แต่อนาคตเทรนด์จะไปอย่างไรเราต้องวางแผนรองรับ แน่นอนว่าตอนนี้เทรนด์การซื้อของออนไลน์กำลังมา การที่คุณจะเปิดหน้าร้านอย่างเดียวมันไม่ได้ คุณจะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้ตามเทรนด์ได้ทัน เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่ยุคนี้จะต้องมีความคิดที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ตามเทรนด์ตามตลาดให้ทัน มองอนาคตให้ทันว่า อนาคตจะไปอย่างไร ถ้าคุณยังมองไม่ทันก็ยากที่จะเดินต่อ

ไม่มีปัญหาไหนที่แก้ไม่ได้!

เวลาเจอปัญหาต้องคิดก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น อุปสรรคที่เกิดขึ้นมันคืออะไร ด้วยตัวผมเองเป็นคนที่ซีเรียส คนที่อยู่ข้างๆ ผมจะรู้ว่าผมเป็นคนที่ซีเรียสมาก แต่ในภาพที่ผมซีเรียสอยู่สมองจะคิดหาวิธีการที่จะ ก้าวข้ามอุปสรรคตรงนั้นให้ได้ บางคนเจออุปสรรคแล้วท้อ ‘ไม่ได้หรอก ฉันข้ามไม่ได้หรอก’ แต่ผมจะคิดเสมอว่ามันต้องมีสักทางที่จะทำให้เราก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ซึ่งที่ผ่านมามันก็ทำได้อยู่ตลอด อย่าไปคิดว่าปัญหาบางอย่างแก้ไม่ได้ เพราะปัญหาทุกอย่างแก้ได้ อยู่ที่ว่าคุณพร้อมที่จะรับปัญหา รับความผิดพลาดที่เคยพลาดมาแล้ว แล้วจะแก้ไขอย่างไรให้ก้าวข้ามตรงนั้นไปได้ คนรอบข้างก็มีส่วนสำคัญเหมือนกันที่จะให้กำลังใจเรา แต่สุดท้ายอยู่ที่ตัวเราเอง สมองเราเอง จิตใจเราเอง คิดอย่างไรให้สามารถแก้ไขปัญหาตรงนั้นได้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ทุกวันนี้ผมพยายามทำตามฝันของตัวเอง ลงมือทำให้เต็มที่ ให้เต็มความสามารถของตัวเอง อย่าท้อ อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ สักวันหนึ่งคุณก็จะประสบความสำเร็จ ผมคิดเสมอว่าต้องพยายามทำ ต้องทำให้ได้ ซึ่งทุกคนต้องมีฝัน ความฝันก็คือเป้าหมายของตัวเอง เป้าหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพอพูดถึงความฝันอาจเป็นเป้าหมายที่สูงเพราะมันเหมือนฝัน ซึ่งความฝันก็คือการกำหนดเป้าหมายที่สูงเอาไว้ ปักธงไว้ว่าต้องขึ้นไปให้ถึงจุดนั้น ถ้าเราไม่มีเป้าหมายเราก็เดินไม่ถูก ต้องมีธงอยู่ข้างหน้าให้เห็นว่าเราจะไปตรงไหน ถ้าเป็นผมก็จะต้องมีการวางแผนและวางเป้าหมายให้ชัดเจน เราจะไปตรงนี้ ถึงตรงนี้ผ่านไปกี่ปี อายุเรากี่ปี เราจะเป็นอย่างไร มองตัวเองในอนาคตให้เห็น แล้วกำหนดไว้ว่าเราจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

ทุกคนมีฝันในชีวิต แต่น่าเสียดายที่หลายคนเลือกฝากความฝันของตัวเองไว้กับความกลัว จนไม่ได้ลงมือทำอะไร และสุดท้ายก็จบลงที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น…สำหรับอ๊อฟ มีหลายช่วงในชีวิตที่เขาต้องเผชิญหน้ากับความกลัว แต่สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะกล้าลงมือทำตามความฝัน และไม่ลืมที่จะบอกต่อรุ่นน้องๆ ว่า คงไม่มีวันนี้ถ้าไม่ลงมือทำในวันนั้น…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 
ข้อมูลการศึกษา
  • ปริญญาตรี Computer Engineering – มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ปริญญาโท Business Software Development – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ใบประกาศณียบัตร MBA – Nida
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2002
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • รางวัลที่ 1 การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 : NSC 2002
ปัจจุบัน
  • หุ้นส่วนบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด และ กรรมการบริษัท ยูนิตี้ ไอที ซิสเต็ม จำกัด
    • จำหน่ายปลีก-ส่ง สินค้าไอที และสมาร์ทโฟน ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต และหน้าร้าน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และสปป.ลาว กว่า 350 สาขา ปัจจุบันมียอดขาย 12,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นร้านค้าอันดับหนึ่งของประเทศไทย ทั้งทางด้านการครอบคลุมพื้นที่ และปริมาณการขายสินค้าไอที
  • Board of Directors Unity IT System Co.,Ltd.CEO และ Game Designer บริษัท ยูอาร์นีต สตูดิโอ จำกัด
ความเชี่ยวชาญ
  • JAVA
  • Microsoft .NET VB, C#
  • Mobile Application
  • ระบบเครือข่าย Network, Server
  • บริหารธุรกิจ