แนะนำรุ่นพี่ NSC : อธิป น้อมศิริ (NSC 2002)

Facebook
Twitter

บทสัมภาษณ์ | เดือนกรกฎาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์

“อนาคตของเด็กติดเกมไม่เลวร้ายเสมอไป ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างถูกจุด…”

เหมือนดังเช่นชีวิตของ ‘บิ๊ก’ อธิป น้อมศิริ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่อนาคตไกล ที่ยอมรับกับเราว่าเขาเริ่มเล่นเกมมาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ด้วยความสนใจอย่างลึกซึ้ง บวกกับแรงหนุนจากอาจารย์ ทำให้เขาก้าวเข้าสู่แวดวงการแข่งขันด้านไอทีอย่างจริงจัง ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาก้าวมาสู่จุดที่เขาวาดหวังไว้ได้สำเร็จ ติดตามเส้นทางชีวิตของเขาได้จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

เส้นทางชีวิตของเด็กติดเกม

เริ่มต้นตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 2 ขวบ คุณพ่อซื้อคอมพิวเตอร์มาให้เล่น เราก็เล่นเกมมาเรื่อยๆ พอ ป.2 มีคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่ง ด้วยความเป็นเด็กเราจะชอบเล่นเกม พยายามค้นหาวิธีว่าจะเล่นเกมนั้นได้อย่างไร หรือจะโหลดเกมที่อื่นมาใส่เครื่องที่บ้านได้อย่างไร นั่นเป็นจุดเริ่มต้น พอ ป.6 มีแข่งคอมพิวเตอร์งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ คุณครูก็ส่งเราไปแข่งโปรแกรมวาดภาพ ชนะได้รางวัลเหรียญทอง หลังจากนั้นคุณครูก็ส่งแข่งขันและได้รางวัลมาเรื่อยๆ จนถึง ม.4 ได้รู้จักโครงการ NSC เป็นครั้งแรก แม้จะเคยหัดเขียนโปรแกรมมาบ้างแต่ไม่เคยทำโปรแกรมเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ แต่ก็ลองส่งแข่งขันดู ครั้งแรกส่งในกลุ่มส่งเสริมการเรียนรู้ได้เข้ารอบสุดท้ายและได้รางวัลชมเชยมา หลังจากนั้นก็ส่ง NSC ต่อมาเรื่อยๆ จนถึง ม.6 เลยครับ

นักแข่งสายชีวะ

ปีแรก เป็นโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ ผมทำเป็นสื่อการเรียนการสอนเนื่องจากตอนนั้นมีความคับข้องใจอย่างหนึ่งคือเอนทรานซ์รุ่นนั้นมีการเปลี่ยนระบบใหม่ มีสอบสองครั้ง ทำให้ต้องอัดเรียนให้จบก่อนเพื่อให้ทันสอบรอบแรก บางเนื้อหาวิชาถูกตัดออกไป เลยคิดทำสื่อการสอนเรื่องระบบนิเวศและมีตัวจำลองระบบนิเวศด้วย สมมติในระบบนิเวศหนึ่งมีพืช แมลง นก ฯลฯ ถ้าจะให้ระบบนิเวศนั้นอยู่ได้ต้องมีสิ่งมีชีวิตแต่ละอย่างปริมาณเท่าไหร่ ถ้าใส่บางอย่างมากไประบบนิเวศจะพัง สิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะตายไป ซึ่งจะมีทั้งเนื้อหาและข้อสอบให้ทำ

ปีที่สอง เป็นโปรแกรมคำนวณแคลอรี ก็ยังอยู่ในแนวชีววิทยา ชื่อโปรแกรม ‘กินได้กินดี’ โดยประมวลกิจกรรมและแคลอรีที่ใช้แต่ละวัน ได้เข้ารอบสุดท้ายและได้รางวัลที่สาม

ปีสุดท้าย ตอน ม.6 เป็นโปรแกรมสำหรับเก็บข้อมูลคล้ายๆ แฟมิลี่ทรีแต่เป็นทางการแพทย์ โดยโปรแกรมนี้จะช่วยคำนวณ เช่น สมมติว่ามีพ่อแม่เป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง เรามีโอกาสเป็นเท่าไหร่ โดยมี user คือคุณพ่อ เพราะคุณพ่อผมเป็นหมอ คุณพ่ออยากเอาไปใช้เลยทำตัวนี้ขึ้นมา และมี requirement มาเลยว่าอยากได้แบบนี้ ผลงานนี้ได้รางวัลชมเชยมาครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

พรีเซนต์ของธรรมดา (ให้ไม่ธรรมดา)

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันในเรื่องการทำซอฟต์แวร์อันนี้แน่นอนชัดเจน แต่ที่ได้เรียนรู้มากขึ้น หลักๆ เป็นเรื่องการพรีเซนต์ เนื่องจากเราทำซอฟต์แวร์มา แม้ซอฟต์แวร์เราอาจไม่ได้ดีที่สุด มีของคนอื่นที่ดีกว่าเรา พอเข้ารอบไปมีแต่โปรแกรมสุดยอดทั้งนั้น ของเราธรรมดาแต่สิ่งที่วัดว่าโปรแกรมของเราจะได้รางวัลหรือเปล่า อยู่ที่ว่าเราสามารถนำเสนอแสดงคุณประโยชน์ให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร เป็นกุญแจสำคัญในการประกวด

สนามบ่มเพาะการทำงานจริง

สิ่งที่ได้ค่อนข้างเยอะนอกเหนือจากการเรียนรู้คือได้เพื่อน ได้รู้จักคนที่อยู่ในสายงานนั้นค่อนข้างมาก ทุกวันนี้ก็เป็นเพื่อนกันอยู่ ช่วยเหลือกัน เวลามีปัญหาก็ถามกันได้ ตอนที่ผมแข่ง NSC ผ่านมากว่าสิบปีแล้ว ตอนนั้นยังไม่มีโครงการไหนที่เป็นการแข่งลักษณะนี้เลย สิ่งที่ได้อีกอย่างคือประสบการณ์ที่คล้ายเราต้องทำงานจริงๆ เพราะในการแข่งขันอื่นๆ อาจจะวัดความสามารถโดยตรง เช่น โอลิมปิกวิชาการ เขาจะวัดความสามารถโดยตรง แต่ไม่ได้วัดการทำงานจริง แต่ NSC ได้ทำงานจริง ปฏิบัติจริง ทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่างมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ได้ทำงาน ได้มีชื่อเสียงระดับหนึ่ง

รางวัลเบิกทางสู่รั้วมหา’ลัย

พอแข่ง NSC ได้รางวัลระดับประเทศ หลายมหาวิทยาลัยรวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จะมีโครงการสำหรับคนที่เคยได้รางวัลจากการแข่งขัน NSC สามารถเข้าศึกษาต่อคณะวิศวะกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ได้เลย ผมก็ได้ประโยชน์จากการเข้าแข่งได้รางวัลมาและได้เรียนต่อในคณะวิศวะฯ มช. โดยไม่ได้ผ่านโควต้าอย่างอื่น แต่เข้าผ่านโครงการนี้

พอเรียนมหาวิทยาลัย ผมไม่ได้ประกวด NSC แล้ว หลักๆ ที่ไม่ได้ส่ง NSC เพราะพอเข้ามหาวิทยาลัยมาเราได้ทำกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยด้วยและฟอร์มทีมค่อนข้างยาก แต่ได้ประกวดโครงการอื่นบ้าง เช่น สามารถอินโนเวชันและโนเกียเอนเกจ เป็นการแข่งทำเกมทั้งคู่ ที่ทำเกมเริ่มจากตอนแรกที่หัดเขียนโปรแกรมเพราะอยากทำเกมตั้งแต่ต้น พอเข้ามหาวิทยาลัยมามีโอกาสได้แข่งขันเกมเพราะมีโครงการเข้ามา เราก็ได้โอกาสทำเกมส่ง

บันไดขั้นแรกของความฝัน

หลังจากเรียนจบผมตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทครับ เนื่องจากตอนนั้นคุณแม่เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นอัมพฤกษ์ ต้องดูแลอยู่ที่บ้าน เลยตัดสินใจเรียนต่อ ในช่วงเรียนต่อปริญญาโทปีที่ 2 ก็เริ่มทำบริษัทแรก เพราะความฝันที่อยากทำบริษัทของตัวเองมีมานานแล้ว ตั้งแต่เราอยากเข้าวิศวะฯ ซึ่งมีจังหวะโอกาสที่ดีที่ดีป้า (DEPA-สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) มีโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เลยไปเข้าร่วมโครงการตอนนั้น โดยเขามีการสนับสนุนสถานที่ทำงาน การอบรมเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการให้

หน้างานพาไปสู่เส้นทางใหม่

ตอนที่เริ่มทำบริษัท ตอนแรกอยากทำเกมเพราะเป็นฝันดั้งเดิม แต่เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยให้ทำเกม ณ ตอนนั้น ซึ่งผมเคยรับงานตั้งแต่ ม.ปลาย เช่น ทำเว็บไซต์ ทำโปรแกรม และได้โอกาสที่ดีจากหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ทำให้ผมได้เข้าไปอบรมการใช้ซอฟต์แวร์ให้หน่วยงานต่างๆ พอทำไปเรื่อยๆ งานหลักของเรากลายเป็นงานสอนหรือเทรนนิ่ง ซึ่งมีหลายกลุ่มหลายคอร์ส เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ในองค์กร เนื่องจากตอนนั้นมีเรื่องการจับการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนค่อนข้างมาก เราเข้าไปอบรมการใช้โปรแกรมทดแทน ช่วงหลังมีหน่วยงานรัฐอื่นๆ อยากได้โปรแกรมนั้นโปรแกรมนี้ หรือทางหน่วยงาน NEC ที่มีการอบรมผู้ประกอบการ เราก็มีการไปอบรมการตลาดออนไลน์ การถ่ายภาพ การทำโซเชียลเน็ตเวิร์ค กลุ่มที่มาอบรมจะมีตั้งแต่นักศึกษา เจ้าหน้าที่ พนักงานในหน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

จับปัญหา…ค้นคว้าการตลาด

จุดเริ่มต้นสำหรับคนที่อยากเข้ามาในเส้นทางนี้หรืออยากเป็นสตาร์ทอัพ ต้องเริ่มมองถึงเพนพ้อยท์ (pain point) ก่อน มีปัญหาอะไรที่เราจะสามารถเข้าไปแก้ให้กับคนอื่นได้ หลังจากรู้ว่าจะเข้าไปแก้ให้เขาอย่างไร รู้ปัญหาและวิธีแก้แล้ว อย่างที่สองที่สำคัญคือการตลาด อย่างผมจบวิศวะฯ มาเราจะอ่อนเรื่องการตลาดค่อนข้างมาก ด้านซอฟต์แวร์ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่การตลาดจะเป็นปัญหาที่ทำให้เราเติบโตหรือไม่เติบโต ซึ่งผมเริ่มเรียนรู้จากการอ่านหนังสือก่อน รวมถึงภาครัฐที่มีโครงการอบรมผู้ประกอบการเรื่อยๆ เราก็เข้าร่วมโครงการเหล่านั้นได้ จะช่วยให้เราได้ประสบการณ์และความรู้เพิ่มขึ้น

รักแล้ว…ต้อง (รับผิด) ชอบด้วย

ปัจจัยที่ส่งเสริมและผลักดันให้ผมมาถึงจุดนี้ อย่างแรกคือตัวเองต้องมีความรักและชอบในสิ่งที่ทำ ตรงนี้สำคัญมาก เนื่องจากผมมีโอกาสได้คุยกับน้องๆ เด็กๆ ที่โรงเรียน คนที่เราเห็นว่าเขาจะพัฒนาไปได้ไม่ได้เกิดจากคนที่เก่ง แต่เกิดจากคนที่มีความรักความชอบที่จะทำสิ่งนี้โดยตรง จะสามารถเติบโตไปได้ไกลมากกว่าคนเก่งที่เขาอาจไม่ได้ชอบตรงนี้จริงจัง นอกจากนี้ เรื่องความรับผิดชอบก็สำคัญ เนื่องจากงานของ NSC มีความแตกต่างจากงานแข่งขันอื่น สิ่งที่เราต้องมีคือความรับผิดชอบที่มากกว่า งานแข่งขันอื่นไปแข่งหนึ่งวันเสร็จปุ๊บกลับบ้าน แต่ NSC ต้องมีความรับผิดชอบที่จะทำงานให้เสร็จตามสิ่งที่เราได้เสนอไป ซึ่งมันเหมือนกับลักษณะการทำงานจริง เพราะปัจจุบันจะพบปัญหาว่าเด็กรุ่นใหม่ซึ่งเขาเก่งกว่าเราสมัยก่อนเยอะ แต่ถ้าให้เขามานั่งทำซอฟต์แวร์เป็นเดือนๆ เขาทำไม่ได้ เพราะเขาอดทนไม่พอในการที่จะทำมันจนเสร็จ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

สร้างช่องทาง…ส่งงานสู่การใช้จริง

ในมุมมองของผม สิ่งที่อยากให้ NSC เพิ่มเติมคือเรื่องการติดตามผลหรือการนำผลงานที่ทำเสร็จแล้ว ไปใช้งาน เนื่องจากตลอดโครงการดีมาก ผลงานที่ออกมาก็ดีมาก แต่หลังจากแข่งเสร็จเราไม่ได้ทำอะไรต่อกับตรงนี้ ถ้าเราโฟกัสอีกนิดว่าโปรแกรมนี้จะเอาไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง หรือตอนพรีเซนต์หรือช่วงงานมีนักลงทุนเข้ามาดูงานที่ส่งแข่งขันน่าจะดีขึ้น ตอนนี้จะขาดส่วนนี้ไป แต่ตั้งแต่ต้นโครงการมันโอเคหมดเลย อย่างผมการแข่งขัน NSC ก็เป็นส่วนหนี่งที่ทำให้เรามีความเชื่อมั่น มั่นใจว่าเราสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้คนเอาไปใช้ได้จริง

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

ช่วงวัยแห่งการฝึกปรือ

ผมคิดว่าช่วงมัธยมปลายหรือถ้าเป็นมัธยมต้นได้ยิ่งดี มันเป็นช่วงที่เรามีเวลาว่างเยอะที่สุด เหมาะแก่การสร้างเสริมประสบการณ์ ฝึกฝีมือ หรือเข้าแข่งขันมากที่สุด อย่างช่วง ม.ปลาย ถ้าน้องๆ คนไหนที่อยากเข้าเรียนต่อ ถ้าเข้าแข่ง NSC และได้รางวัลก็มีโอกาสได้เรียนต่อเลย ไม่ต้องปวดหัวกับการสอบแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงทุกปี (หัวเราะ)

ส่วนตัวผมที่เข้าโครงการนี้รู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์มาก เราได้เข้าเรียนตรงสายที่ต้องการโดยไม่ต้องไปแข่งขันกับคนอื่นมากนัก และมันเป็นการฝึกความสามารถเรา ส่วนหนึ่งอาจจะช่วยครอบครัวได้ด้วย พอเราแข่งขันได้รางวัลมา มันเป็นเครื่องการันตีอย่างหนึ่งว่าเราสามารถทำงานใดๆ ก็ตามให้เสร็จได้ จะทำให้ได้งานเร็วขึ้น หางานง่ายขึ้น เพราะถือว่ามีโปรไฟล์ที่ดีที่เมื่อเข้าไปสมัครงานและเขาจะรับ เป็นความพิเศษกว่าคนที่ไม่ได้แข่ง ถ้าเรียนอย่างเดียวจบมาอาจได้เกียรตินิยม แต่ถ้าอีกคนมีรางวัลจาก NSC ด้วย มันเปรียบเทียบได้ว่าคนนี้ทำงานได้จริงกับอีกคนไม่แน่ใจ

เปิดเวทีให้คนภายนอก

ผมเข้าใจว่าคนที่ผ่าน NSC ส่วนใหญ่น่าจะยังอยู่ในแวดวงนี้และอาจมีผลงานหรือโปรดักส์ของตัวเอง ถ้ามีการจัด Alumni ให้คนเก่าๆ ที่มีผลงานเอามาโชว์กันได้ มีการพบปะพูดคุยกัน บางคนอาจจะไม่มีผลงานแต่มีไอเดียเพิ่มเติมก็มาร่วมกันได้ ถ้าจัดแบบนี้น่าจะช่วยหาคนมาลงทุนให้ได้อยู่ เพราะ NSC ทำมาหลายปีน่าจะมีโปรดักส์เยอะพอสมควร นอกเหนือจาก Alumni อยากให้มีประกวดสำหรับผู้ประกอบการหรือคนทั่วไปเพิ่มเข้ามาอีกโจทย์หนึ่ง เพราะคนกลุ่มนี้อยากแข่งอยู่แล้ว แต่ไม่มีประเภทหรือหมวดให้ประกวด

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

นิยามสำหรับผมเป็นมอตโต้ที่ให้กับตัวเองและบริษัทด้วย คือ Make IT Simple ทำอย่างไรก็ได้เพื่อช่วยให้ไอทีง่ายสำหรับทุกคน ทำให้ไอทีเข้าถึงได้ง่ายครับ …

เพราะปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน เราจึงไม่สามารถชี้วัดได้ว่าอนาคตของเด็กจะเติบโตไปเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? แต่สำหรับบิ๊ก ต้องกล่าวได้ว่าเขาอยู่สภาพแวดล้อมที่เอื้อแก่การเติบโต ยิ่งบวกกับความสนใจ พลังการสร้างสรรค์ และความมุมานะพยายาม ก็ทำให้เขาสามารถพิชิตความฝันที่อยากจะเปิดบริษัทของตัวเองได้สำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย และมีเวลาเหลืออีกมากมายสำหรับความฝันชิ้นต่อๆ ไป…บนย่างก้าวของชีวิต

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ข้อมูลการศึกษา
  • 2556 วศ.ม. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปริญญาโท) หัวข้อวิจัย: การพัฒนาเครื่องมือสำหรับการพัฒนาโครงการซอฟต์แวร์ด้วยเทคนิคเพิร์ทซีพีเอ็ม และการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้
  • 2551 วศ.บ. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปริญญาตรี)
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2002
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • 2548 รางวัล Silver Award และอันดับที่ 1 ประเภท Game Application การแข่งขันพัฒนาโปรแกรม บนโทรศัพท์มือถือ Samart Innovation Award 2005
  • 2547 รางวัลชมเชย โครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6 (NSC 2004) ประเภทโปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน (นักเรียน)
  • 2546 รางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหาคอมพิวเตอร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในงานสัปดาห์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • 2546 รางวัลที่ 3 โครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 (NSC 2003) ประเภทโปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน (นักเรียน)
  • 2545 สอบผ่านการคัดเลือกเข้าค่ายโอบิมปิควิชาการ ค่าย 1 และ ค่าย 2 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ โดย มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) (POSN)
  • 2545 รางวัลชมเชย การแข่งขัน Intel Tri contest ระดับประเทศ
  • 2545 รางวัลเหรียญทองแดง และรองชนะเลิศอันดับ2 การแข่งขันโปรแกรม Visual Basic 5.0 กิจกรรม วันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
  • 2545 รางวัลรองชนะเลิศ การแข่งขันประกวดออกแบบเว็ปไซท์ หัวข้อ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ใน ชุมชนของฉัน” งาน IT EXPO Chiang Mai 2002 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • 2545 รางวัลชนะเลิศ การประกวด Webpage Comcamp II โดยชมรมคอมพิวเตอร์คณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • 2545 รางวัลชมเชย โครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 (NSC 2002) ประเภทโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ (นักเรียน)
ปัจจุบัน
  • Co-Founder & CEO บริษัท แม็กนีเซียม จำกัด
ความเชี่ยวชาญ
  • โครงสร้างข้อมูล และอัลกอริธึม
  • การออกแบบระบบ
  • การวิเคราะห์ธุรกิจ
  • การบริหารจัดการโครงการ
  • การบริหารจัดการความเสี่ยง
  • การอบรม
  • การให้คำปรึกษา