- อย่าแปลกใจ! หากเราพบว่าตัวเองอยากทำอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แต่จงแปลกใจถ้าเราไม่ชอบในสิ่งที่ทำอยู่ แต่ก็ยังไม่ลองมองหาสิ่งใหม่…
‘ซุป’ ศุภศักดิ์ กุลวงศ์อนันชัย นักวิจัยจีโนมสายพันธุ์คนไอที คือตัวอย่างที่ดีของคนที่ค้นหาตัวเองจนพบ จากการผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย และแม้วันนี้เขาจะค้นพบสิ่งที่ชอบและทำได้ดีแล้ว แต่ทำไมซุปยังคงมองหาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้อาจให้คำตอบพวกเราได้…
เกมคนอื่นเล่นไม่มัน…งั้นฉันเขียนเกมเอง!
สมัยเด็กผมชอบเล่นเกม แต่เล่นไม่ค่อยเก่ง เลยคิดว่าทำอย่างไรจะสนุกกับมัน หรือเราจะเขียนเกมขึ้นมาเอง? พอ ม.2 เลยลองเขียนเกมแรกแล้วศึกษามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่เขียนหรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จนคุณครูเห็นแววส่งเข้าแข่งขัน NSC นั่นคือจุดเริ่มต้นครับ
ปีแรกผมสนใจคอมพิวเตอร์กราฟิก เลยทำสื่อการสอนส่งแข่งขัน ครั้งนั้นทำให้ได้เรียนรู้ว่าใครทำเรื่องอะไร ใช้เทคโนโลยีแบบไหน เหมือนเปิดโลกใหม่ให้เรา แม้ปีแรกจะไม่ได้รางวัล แต่ทำให้เริ่มรู้จักองค์กร สวทช.ว่านอกจาก NSC แล้วยังมีการแข่งขันอื่นๆ ด้วย เช่น YSC (Young Scientist Competition – การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์) ซึ่งตอนนั้นผมได้เจออาจารย์ท่านหนึ่ง คือ ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ที่แนะนำให้ไปแข่งขัน YSC เพราะเกี่ยวข้องกับสาขาที่เราสนใจจริงๆ หลังจากนั้นจึงได้ทำงานร่วมกับอาจารย์จนถึงตอนนี้ ซึ่งเราได้เรียนรู้จากอาจารย์เยอะมากครับ
โลกที่ใส่จินตนาการได้เต็มที่
ปีถัดมาผมทำหัวข้อเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ตอนนั้นสนใจเครื่องบินบังคับวิทยุ เลยเอาสิ่งที่สนใจกับคอมพิวเตอร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน โดยทำแบบจำลอง (simulation) ออกแบบเครื่องบิน ปีกใบพัด แรงยกต่างๆ ซึ่งในศาสตร์คอมพิวเตอร์นั้นน่าสนใจตรงที่ลงทุนน้อย เราอยากทำเครื่องบินหรือรถไฟก็สามารถออกแบบได้ ไม่เหมือนวิศวกรรมหรือการประดิษฐ์อะไรสักอย่างที่ต้องลงทุนเยอะ คอมพิวเตอร์ทำให้สามารถจินตนาการและทำได้หลายแบบมาก เหมือนอีกโลกหนึ่งที่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำได้ ก็เลยสนใจด้านคอมพิวเตอร์มากๆ ครับ ตอนนั้นได้รางวัลที่ 1 ในการแข่งขัน YSC และมีโอกาสเป็นตัวแทนไปแข่งที่อเมริกา ได้ไป Silicon Valley ซึ่งที่นั่นถือว่าเป็นที่สุดๆ ของคอมพิวเตอร์เลย และยังได้เจอบูธข้างๆ ที่ผลงานเขามีอิมแพคมาก ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ยิ่งทำให้เราสนใจเข้าไปใหญ่ พอกลับมาก็เลยศึกษาลึกลงไปในสิ่งที่สนใจครับ
ทักษะมีไว้พัฒนา! (แล้วจะช้าอยู่ทำไม?)
ตอนอยู่ ม.6 ผมลงลึกเรื่องคอมพิวเตอร์กราฟิก การแสดงผล การประมวลผลภาพให้มันรวดเร็วมากขึ้น ก็เลยได้หัวข้อไปแข่ง YSC โชคดีได้รางวัลและเป็นตัวแทนไปแข่งขันอีกปีหนึ่งแล้วได้รางวัลกลับมาด้วย ถ้าเทียบกับระดับโลก ผมคิดว่าอย่างน้อยหัวข้อของเรามันมีอิมแพคในการนำไปใช้ ตอนนั้นเราพัฒนาตัวเองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี การพรีเซนต์ภาษาอังกฤษ แม้เราสื่อสารได้ไม่เต็มที่แต่พยายามนำเสนอสิ่งที่เราทำให้มากที่สุด
พอกลับมาเจ้าหน้าที่ สวทช.บอกว่ามีทุนการศึกษา JSTP (Junior Science Talent Project – โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน) ที่สนับสนุนทั้งเรื่องการเรียนและการวิจัยสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ผมก็เข้าร่วมคัดเลือกจนติดหนึ่งในสิบและได้ทุนเรียนระยะยาว ทำให้นอกจากเรียนแล้วยังสามารถทำวิจัยได้ด้วย ช่วงนั้นอาจารย์ศิษเฎศย้ายไปอยู่ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พอดี ผมก็เลือกเรียน Computer Science ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะอยู่ใกล้กับไบโอเทค ทำให้สะดวกในการทำงานวิจัยด้วยครับ
พัฒนาจากสิ่งที่ชอบ ต่อยอดให้เกิดประโยชน์
ตอนเริ่มเรียนปีหนึ่งผมกลับมาแข่งขัน NSC ใหม่ เป็นหัวข้อที่พัฒนาร่วมกับอาจารย์ศิษเฎศ เกี่ยวกับการประมวลผลภาพแบบขนาน (parallel processing) ทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์ธรรมดาสามารถประมวลผลได้เร็วขึ้น ผลงานนี้ได้รับรางวัลจากประสบการณ์และความสนใจของเราที่ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงหัวข้อที่เราทำ
ตอนปีสองผมก็แข่งต่อ ตอนนั้นคิดว่านอกจากการประมวลผลภาพสามมิติที่เราสนใจมันสามารถทำอะไรที่มีประโยชน์กว่านั้นได้ ก็เลยเอาไปประมวลผลด้านจีโนม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ไบโอเทคสนใจอยู่ โดยเอาความสามารถเรื่อง parallel processing ที่เราสนใจมาร่วมกัน ทุกปีกรรมการมักจะถามว่าอันนี้เป็นหัวข้อของอาจารย์หรือเปล่า ผมบอกไม่ใช่ เพราะผมสามารถเล่าให้ฟังได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นเราสนใจและมีประสบการณ์เรื่องนี้ ตอนปีสามผมก็แข่งอีก ซึ่งบางหัวข้อต่อยอดมาจากปีที่แล้ว อาจจะดูไม่ใหม่มาก แต่เราสนใจจริงๆ และคิดว่ามันมีประโยชน์
หาสิ่งที่ ‘ชอบ’ แล้วทำให้ ‘ใช่’
หลังจากเรียนจบ ผมเรียนต่อปริญญาโทด้าน Software Engineering ที่ AIT เกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟท์แวร์ที่มีความซับซ้อน หลังจากนั้นตัดสินใจมาทำงานที่ไบโอเทค เพราะที่นั่นต้องการคนที่มีความสามารถในการประยุกต์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในมุมหนึ่งงานวิจัยทำให้เรามีโอกาส ได้ทดลองเทคนิคการประมวลผลที่สูงกว่าเอกชน เพราะข้างนอกอาจยังไม่ได้ใช้เทคนิคนี้ พอเรามีทักษะ เมื่อเจอโจทย์ใหม่ๆ เราก็จะแก้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งตัวผมเองสนใจเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อมาทำสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นความต้องการว่าทำไมเราต้องเอาความรู้ที่มีมาช่วยงานด้านการประมวลผลต่างๆ
ปัจจุบันผมศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจีโนม เช่น พ่อแม่กลัวลูกเป็นโรค ดีเอ็นเอตรงไหนทำให้เกิดโรค ถ้าเจอว่าเกิดจากตำแหน่งนี้เราสามารถหายาไปช่วยเหลือเขาได้ หรือเปลี่ยนวิธีการรักษาได้ นี่คือแรงขับว่าทำไมเราลงแรงทำ แต่ก่อนความฝันเราคือสนุก ตอนนี้อิมแพคมันสูงกว่านั้น ผมทำวิจัยร่วมมาเรื่อยๆ เห็นสิ่งที่มันขาดอยู่ และทักษะที่เรามีจะช่วยเติมเต็มส่วนนั้นได้ครับ
มือต้องเปื้อน! ก่อนค้นพบตัวเอง
ตอนเป็นเด็ก รางวัลทำให้เรามีความภูมิใจ กลับกันถ้าผมแข่งแล้วไม่ชนะก็คงเหมือนนักมวยต่อยแล้วแพ้ ทุกคนก็จะลืมว่าคุณเป็นใคร และเราทำเพื่ออะไร โชคดีที่แข่งแล้วได้รางวัล ซึ่งมันคือแรงขับลึกๆ นะ แต่สิ่งที่ได้หลังจากการแข่งคือความรับผิดชอบต่องานที่ทำ มันต้องลงมือทำเอง ทำให้เราได้ประสบการณ์ เหมือนเขียนโปรแกรมมันคือทักษะ ยิ่งเขียนได้บ่อยเท่าไหร่เรายิ่งเก่งขึ้น เพราะฉะนั้น คุณค่าแรกคือรางวัล รางวัลคือความภูมิใจ และประสบการณ์ที่ได้ทำให้เรามีกระบวนการคิดที่ดี มีความรับผิดชอบต่องานที่เราทำ
สิ่งสำคัญคือทำให้เราค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น ที่ผมมาถึงจุดนี้ได้เพราะค้นพบตัวเอง เป็น passion ที่ทำให้วิชาภาคคอมพิวเตอร์ได้ A เกือบทุกตัวจนได้เกียรตินิยม จากที่สมัยเรียนมัธยมฯ ได้เกรด 2.5 ซึ่งการที่ผมมีโอกาสสัมผัสอะไรหลายอย่างทำให้ค้นพบตัวเองได้เร็ว ทำให้เรามีความมุ่งมั่นมากขึ้น ความสนใจมันเกิดตอนที่เราทำ ไปที่ไหนเราก็ยังค้นพบตัวเอง แต่มันต้องลองทำ ต้องมือเปื้อนก่อน ซึ่งผมมองว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องชัดเจนและน่าจะมีคำตอบให้พ่อแม่เข้าใจว่า ทำไมการแข่งขันแบบนี้มีประโยชน์
สร้างคนรุ่นใหม่สายพันธุ์ STEM
สิ่งที่อยากเห็นคือ การสร้างความตระหนักรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปถึงมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน ทำให้เขารู้ว่ามันสำคัญและมีอยู่จริง เดี๋ยวนี้มีคอนเซ็ปท์ STEM ก็คือ S – Science , T – Technology , E – Engineering และ M – Math เป็นพื้นฐานของเด็กตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมฯ ถ้าได้ฝึกเรื่องพวกนี้จะทำให้เขามีกระบวนการคิด มีหลักการวิเคราะห์ต่างๆ เช่น ขายของใช้คณิตศาสตร์เข้ามาช่วย เขาจะรู้ว่าคุ้มทุนไหม พอโตขึ้นทำให้มีพื้นฐานคิดวิเคราะห์ได้ ดังนั้น ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีแนวคิดที่จะมาพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จที่เอาแนวคิดกระบวนการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปใช้ ไม่ใช่เฉพาะเอกชนที่ทำได้ สวทช.ก็ทำได้เช่นกัน
หัวข้อแข่งชัด! ช่วยเด็กโฟกัสเป้าหมาย
หัวข้อที่แข่ง NSC สำคัญ อาจต้องมีการบรรยายหรือทำเป็นสื่อให้เด็กเห็นว่าเทคโนโลยีบ้านเราไปถึงไหน ต่างประเทศไปถึงไหน หรือเราเน้นเรื่องอะไรก็จัดขึ้นมาให้ชัด เพราะพอไม่ใช่หัวข้อที่เด็กสนใจเขาอาจจะเลิกไปเลย ไม่รู้ว่าแข่งแล้วได้อะไร ยกตัวอย่างเวทีต่างประเทศเขาจะแบ่งหัวข้อเป็นด้านเทคโนโลยีเหมือนเรา แต่สิ่งมีชีวิตหรือสัตว์ก็เป็นหัวข้อหนึ่ง คอมพิวเตอร์กราฟิกก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่ง ส่วนของเรากว้างไปทำให้เห็นแค่ความโดดเด่นแต่เทียบกันไม่ได้
ผมอยากให้ทุกคนวิน-วิน ประสบความสำเร็จ บางเรื่องต้องทำหลายๆ ปี ต้องติดตามต่อเนื่อง แต่ถ้ามีระยะเวลาแค่ 6 เดือนต้องโฟกัสมากขึ้น อาจให้นักเรียนส่งเข้ามาก่อนว่าอยากลงสาขาไหน แล้วจัดคอร์สอบรมเบื้องต้นหรือมีปาฐกถาเล่าให้ฟัง มันจะช่วยให้นักเรียนที่ส่งผลงานเข้ามามีพื้นฐาน และรู้ว่าเรื่องนี้อาจจะใช่หรือไม่ใช่สำหรับเขา หรือเริ่มพัฒนาหัวข้อให้ใกล้กับสิ่งที่เขาทำมากขึ้น ผมเชื่อว่าจะได้คุณภาพมากขึ้น
โอกาสอยู่รอบตัว (เด็ก)
สมัยก่อนแค่มีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งในบ้านมันยาก แต่เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์ถูกลง มือถือก็ถูกลง โอกาสมันอยู่รอบตัว เราสามารถลองทำได้ หลายอย่างก็เปลี่ยนไป เช่น การเข้ามาของเทคโนโลยี เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตทุกบ้าน จะสืบค้นข้อมูลมีหมด อยู่ที่ว่าสนใจแค่ไหน มันง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะ แต่ก่อนผมต้องออกไปซื้อหนังสือมาอ่าน ภาษาอังกฤษก็อ่านไม่รู้เรื่อง พอมีคอมพิวเตอร์ทุกอย่างมันง่ายขึ้น มันถึงต้องมี Gen X Y Z คือ Y มันต้องดีกว่า X เหมือนกันเด็กรุ่นใหม่ต้องทำได้ดีกว่าที่เราทำแน่นอน
ค้นหาตัวเองจากงานอดิเรก
ผมคิดว่าการค้นพบตัวเองสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ้าเรามีความชอบในสิ่งที่เราทำ ต่อให้มันยากหรือซับซ้อน เราก็ทำได้โดยที่ไม่เหนื่อย เรายินดีทำ เราสนุกกับมัน ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่ควรหาสิ่งที่อยากทำ การที่เรามีความสามารถ มีความอดทนทำงานเรื่องหนึ่งให้สำเร็จ เวลาต้องทำอะไรเราจะมีความพยายาม เพราะเรียนรู้แล้วว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ หลังจากนั้นไม่ว่าจะทำคอมพิวเตอร์หรืออะไรก็สามารถทำได้
ถ้าตอบคำถามชัดๆ คือต้องค้นหาตัวเองให้เจอ วิธีที่จะทำได้คือคุณต้องหางานอดิเรก สิ่งที่เราชอบ เพราะเรายังไม่รู้ว่าเราชอบอะไร ต้องลองหลายๆ อย่าง เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลอง พอทำสักพักแล้วมันจะคิดออกว่าอันนี้ใช่ อันนี้คนอื่นทำไม่ได้ มีเราที่ทำได้ พอเราได้ทำ เราเริ่มชอบ รู้สึกว่าทำได้ดี มีอิมแพคจากสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราคิด ทำให้เรายังทำต่อไป
สร้างเครือข่ายสานพลัง
จริงๆ ผมอยากช่วยคน ตอบเหมือนนางสาวไทยเลยนะ (หัวเราะ) เพราะบางคนเขาเดือดร้อนจริงๆ งานที่เราทำไปช่วยเขาได้ อยากมีเครือข่ายคนที่คิดเอาเทคโนโลยีและความรู้มาประยุกต์ใช้ คนที่สนใจเหมือนกันมาร่วมกันพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะเราทำหนึ่งคนก็ช่วยได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเอาคนหลายๆ คนมาทำร่วมกัน ผมคิดว่ามันจะดีกว่า ซึ่งคนไทยมักไม่ค่อยคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เราเดินมาไกลที่สุดได้แค่นี้ แต่ถ้ามีเครือข่ายจะช่วยได้มากขึ้น อย่าง NSC พอจบไปมี Alumni ไหม มีการรวมตัวกันไหม ใครจะไปรู้ว่าอาจจะเกิด startup จากการรวมตัวกันก็ได้ ซึ่งมันอาจจะไม่ง่าย แต่มันก็สามารถเป็นไปได้
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ถ้านิยามตัวเอง คิดว่า Ironman น่าจะใกล้เคียงกับผมมากที่สุด (หัวเราะ) ผมชอบเทคโนโลยี ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ชอบประดิษฐ์ อยากทำอะไรที่มีความสำคัญ และอยากช่วยเหลือผู้คน ซึ่งตอนนี้เริ่มสนใจสายธุรกิจด้วย ถ้ามันมีทุนที่จะทำให้สิ่งที่พูดมาทั้งหมดเกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่จะมาสนับสนุนให้เกิดการวิจัย เกิดทีม เกิดทรัพยากรใหม่ๆ ซึ่งมาจากการเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์กับธุรกิจ มีคอนเซ็ปท์ของการนำไปใช้มากขึ้น ภาพมันจะชัด เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เพื่ออะไร อย่างวันนี้เราได้แนวทางแล้วว่าจะทำอะไรต่อไป…
เพราะโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นมีพลวัตเปลี่ยนหมุนอยู่ทุกนาที จึงไม่แปลกที่คนสายพันธุ์ไอทีอย่างซุปจะรู้สึกตื่นใจกับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จะแปลกก็ตรงที่เขาไม่กลัวที่จะพาตัวเองเข้าไปทดสอบทดลองกับสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น อย่างกับไม่มีคำว่า ‘กลัวล้มเหลว’ อยู่ในพจนานุกรมชีวิตของเขา ซึ่งที่จริงแล้วเขากลัวไหม? เราก็ลืมถาม…
- รู้เพียงแค่ว่า ถ้าสิ่งใหม่นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นมากขึ้น เขาก็พร้อมจะลอง…
ข้อมูลการศึกษา
- 2007-2009 M.Sc., Computer Science, School of Engineering and Techonology, Asian Institute of Technology, Pathumthani Thailand, USA – GPA 3.85
- 2002-2006 B.Sc., Computer Science, (2st Class Honors Silver Medal), Faculty of Science and Technology, Thammasat University, Bangkok, Thailand – GPA 3.31
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการประกวด “การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์: YSC” ตั้งแต่ปี 2001
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 1999
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- Bhumibol Award (2006) : a mark given in honour to a student who got highest score of faculty at Thammasat University, Pathumthani, Thailand
- Second Class Honors, Computer Sciences, Thammasat University, Pathumthani, Thailand
- Second Prize: 7th National Software Contest (2005) Yet Another SNP Detection, National Electronics and Computer Technology Center, Bangkok, Thailand
- First Prize: 6th National Software Contest (2004) Distributed Computing Programming Interface for Generic Scientific Data Decomposition, National Electronics and Computer Technology Centre, Thailand
- First Prize: 5th National Software Contest (2003) 3D Ray-tracing Rendering on Distributed Computing Systems, National Electronics and Computer Technology Center, Thailand
- Special Award: The best use of Computers 53rd Intel International Science and Engineering Fair (2002), Louisville, Kentucky, USA
- First Prize: Young Scientist Competition in Computer Science (2002) Intelligent Ratio Adjustment for Level of Detail Rendering, National Science and Technology Development Agency, Thailand
- First Prize: Young Scientist Competition in Computer Science (2001) Concept Class Module of The Physics Formula, National Science and Technology Development Agency, Thailand
- First Prize: 2th National Software Contest (2000) Plane Simulation Engine, National Electronics and Computer Technology Center, Thailand
ปัจจุบัน
- ผู้ช่วยวิจัย หน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม
- ห้องปฎิบัติการชีวสถิติและสารสนเทศ
- ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
ความเชี่ยวชาญ
- Software Engineering & System Architecture