แนะนำรุ่นพี่ NSC : นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ (NSC 2012)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนเมษายน 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์
แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

นวัตกรรมเกิดได้ง่ายๆ จากปัญหารอบตัว…นั่นคือสิ่งที่ ‘อู๋’ ยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ นวัตกรหนุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ของเขา อย่างไรก็ตาม แม้คำพูดดังกล่าวจะฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่การที่นวัตกรรมชิ้นหนึ่งจะเกิดขึ้นและมีคุณค่าได้ ย่อมต้องตั้งอยู่บนฐานของการตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับนวัตกร หากปราศจากความมุมานะและตั้งใจจริง ถ้าใครนึกภาพไม่ออกว่าต้องตั้งใจแค่ไหน? บทสัมภาษณ์ของชายหนุ่มคนนี้อาจตอบคุณได้…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

อดีตเด็กช่าง (งัดแงะอุปกรณ์)

ด้วยความชอบส่วนตัวที่ชอบงัดแงะอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่เด็ก ทำให้ผมอยากเรียนอะไรที่สร้างประโยชน์หรือสามารถสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ออกมาได้ครับ ตอนนั้นเลยตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ตอนแรกที่เข้าไปก็คิดว่ามันจะตรงกับตัวเองหรือเปล่า จนได้รู้ว่ามันสามารถสร้างสิ่งต่างๆ ได้จากตัวเลข 0 กับ 1 เท่านั้นเอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องไอทีครับ เหมือนเรามีแรงบันดาลใจจากคนหลายคนที่สร้างสิ่งต่างๆ ออกมา รู้สึกอยากทำแบบนั้นบ้าง โดยคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมันต้องใช้ได้และมีประโยชน์ครับ

เมื่อวิศวะฯ เดินเข้าโรงพยาบาล

สมัยเรียนปริญญาตรีที่ภาควิชาคอมพิวเตอร์ต้องทำโปรเจกต์จบ ทุกอย่างถูกผลักดันด้วยการมีโครงการ NSC เพราะทางศูนย์ประสานงานภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ประสานมาที่คณะฯ ทางภาควิชาฯ จึงมีนโยบายให้ทุกคนส่งโปรเจกต์เข้าแข่งขัน ตั้งแต่ทำ proposal ในเชิง concept จนออกมาเป็น prototype ทำให้ตั้งแต่ปี 3 ผมก็เริ่มร่าง proposal ของตัวเองขึ้นมา แต่ก็ยังไม่มีไอเดียว่าจะทำอะไรดี กระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษาของผมคือ ผศ.เพ็ญพรรณ ใช้ฮวดเจริญ เห็นว่าเราเป็น TA (Teacher Assistant) และมีศักยภาพในการทำงาน เลยพาไปพบคุณหมอท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลสมเด็จราชเทวี ณ ศรีราชา ท่านดูแลเรื่องกระดูกเท้าและมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้เทคโนโลยีกับการแพทย์มาผนวกกันได้ โดยออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ในการตรวจวัดทางการแพทย์ โจทย์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้น เป็น milestone แรกที่ทำให้อยากทำงานและเอามาแข่งขัน NSC ครับ

Solution ดีมีชัยไปกว่าครี่ง!

เราพัฒนาผลงานเพื่อให้ user หรือคุณหมอใช้จริง พออาจารย์เห็นว่าผลงานมีศักยภาพเลยให้เอา prototype ส่งเข้าแข่งขัน NSC ซึ่งมักจะมีคำถามว่านวัตกรรมที่เราทำคืออะไร สามารถทำได้อย่างไร เพราะไม่เคยเห็นในท้องตลาดประเทศไทย ผมว่าเป็นจุดเด่นจากการพยายามหา perfect solution ที่ดีให้คุณหมอ ทำให้ผ่านรอบภูมิภาคและเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ จำได้ว่าทุกผลงานมีทฤษฎีที่ตอบโจทย์มาก แต่ก็เชื่อมั่นว่างานที่เราทำและค้นหาทางออกร่วมกับคุณหมอภายใต้การให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญน่าจะดีที่สุดในระยะเวลาที่จำกัดนั้น เราให้คนในงานได้ทดลองเพื่อเก็บ feedback มาใช้ ทำให้ได้พูดคุยกับคนหลากหลายทั้งสายสาธารณสุขและไอที บางท่านบอกว่าเราทำออกมาได้ตรงกับที่เขาเคยคิดไว้ เป็นสิ่งที่ดีมากที่เราได้เริ่มทำและสิ่งที่เขาคิดมีคนรังสรรค์ออกมาให้เป็นจริงได้ ตอนนั้นได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีนั้นไม่มีที่หนึ่งด้วยประสิทธิภาพของผลงานที่ยังต้องปรับจูนอีกหลายอย่างครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เมื่อกล้าแข่ง…โอกาสก็วิ่งเข้าหา

การมาแข่ง NSC ทำให้รู้จักพี่ๆ ใน NECTEC ที่หยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้ผมเยอะมาก ทำให้ได้ต่อยอดผลงานและได้รับโอกาสต่างๆ มากมาย ช่องทางแรกคือเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ รุ่นที่ 1 ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำให้สามารถพัฒนา prototype ในเวอร์ชั่นที่ 1 ให้ก้าวกระโดดต่อไปในเวอร์ชั่นที่ 2 ได้ ขณะเดียวกันหลังจากแข่งขัน NSC มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้มีโอกาสเข้ามามากขึ้นอีก โดยเฉพาะการที่โรงพยาบาลแพร่ที่ทำงานเรื่องเท้าเบาหวานติดต่อเข้ามาเพราะอยากเอาเครื่องนี้ไปใช้ เป็นจุดเริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบันที่ยังมีคอนเนคชั่นกับโรงพยาบาลแพร่และสามารถทำเป็นธุรกิจย่อมๆ สร้างรายได้ให้กับตัวเองพอสมควรครับ

ช่วงต่อกล้าฯ ก็ได้ทำงานร่วมกับคุณหมอที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะเดียวกันก็มีบริษัทรองเท้าของต่างชาติติดต่อมาว่าอยากทำเครื่องตรวจวัดรองเท้าไว้ใช้ในร้าน ซึ่งต้องมีด้านการแพทย์มาเกี่ยวข้อง ทำให้ได้ทำงานวิจัยร่วมกับคุณหมอจนถึงปัจจุบัน และได้นำผลงานชุดหนึ่งให้คุณหมอทดลองใช้กับกลุ่มนักศึกษาและในการเรียนการสอนด้วย นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนหลายรายที่ขายเครื่องมือแพทย์ติดต่อเข้ามา ซึ่งปัจจุบันทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 เครื่องทั่วประเทศ กระจายอยู่ในคลินิก โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นโซนภาคเหนือครับ

แรงบันดาลใจจากพระมหากรุณาธิคุณ

โอกาสที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โครงการ i-CREATe เสนอให้ไปแข่งขันงานวิชาการที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการแข่งขันระดับอุดมศึกษาทั่วโลกด้วย เราเห็นว่าผลงานนี้เป็นประโยชน์กับกลุ่มสาธารณสุขจริงๆ และเป็นครั้งแรกที่ได้ไปแข่งขันต่างประเทศในนามตัวแทนของเยาวชนไทย ในงานนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นองค์ประธานและเปิด banquet ตอนกลางคืน ซึ่งถ้าใครได้รางวัลที่ 1 – 3 จะได้เข้าร่วม banquet ด้วย พอประกาศว่าเราได้รางวัลที่หนึ่งดีใจมาก เพราะนอกจากได้เงินรางวัลแล้วยังได้โล่รางวัลที่รับจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่านด้วย วันถัดมาพระองค์ฯ ได้มาเยี่ยมชมบูธในงาน ทางทีมอาจารย์อยากให้พระองค์ฯ ได้ทดลองบนอุปกรณ์ของเรา ซึ่งพระองค์ฯได้ขึ้นประทับด้วยเท้าเปล่าโดยมีแผ่นยางรองไว้ มีภาพถ่ายใต้ฝ่าเท้าของพระองค์ฯที่ปัจจุบันยังเก็บไว้เป็นที่ระลึก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งครับ ประทับใจและปลื้มปีติจนถึงทุกวันนี้ (ยิ้มอย่างมีความสุข) ถือเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำประโยชน์เหมือนที่พระองค์ฯ ทำให้ประเทศมากมาย

งอกงามจากประสบการณ์และการบ่มเพาะ

ตอนนี้ผมเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสาขาที่เรียนปริญญาโท ตอนนั้นอาจารย์ที่เป็นประธานหลักสูตรฯ เห็นว่ามีผลงานเลยเชิญมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ส่วนใหญ่จะมีบทบาทหน้าที่ดูแลงานในสาขาและปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ อีกด้านหนึ่งคืองานบริการวิชาการที่ทำตั้งแต่เป็นนักวิจัยมาเรื่อยๆ โดยเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาระบบสารสนเทศของภาครัฐและฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอีกหลายหน่วยงาน ทำให้ได้ประสบการณ์ในการนำมาต่อยอดเรื่องการคิดและนำเสนออย่างเป็นระบบ ซึ่งจริงๆ เราได้บ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยทำงานกับคุณหมอและอาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งตอนเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ แล้วครับ ถ้าเราไม่ได้บ่มเพาะมาตั้งแต่ตอนนั้น เราอาจไม่ได้ก้าวมาถึงปัจจุบันนี้

หัวโขนเปลี่ยน เจตนารมณ์ไม่เปลี่ยน

ไม่ว่าทำงานอะไรก็ตาม mindset เรายังเป็นเหมือนเดิม คืออยากให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้และเกิดประโยชน์จริงๆ อย่างเช่นโครงการหนึ่งที่ไปสร้างหลักสูตรการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประชากรกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่เด็ก ผู้สูงอายุ วัยทำงาน พระภิกษุสงฆ์ ทำอย่างไรให้เกิดขอบเขตในการใช้ดิจิทัลให้เหมาะสม ทำให้เราเจอกลุ่มคนมากมายหลากหลาย กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเอง แต่เราก็ยังยึดมั่นตาม mindset เดิมว่าต้องให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเดี๋ยวนี้สังคมมีการแข่งขันกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซนวิชาการหรืออุตสาหกรรม ดังนั้น ในทุกๆ โซนคนที่มีศักยภาพหรือมีการพัฒนาตัวเองที่ดีจะสามารถอยู่รอด เหมือนปลาที่อยู่ทนน้ำ ทนเย็น ทนร้อนได้มากยิ่งขึ้น การพัฒนาตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

โอกาสของเด็กยุคใหม่

สิ่งที่เป็นโอกาสของเด็กยุคนี้มีมากกว่ายุคก่อนหรือสมัยผมเริ่มแข่งค่อนข้างมาก ทั้งการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ที่มีหลากหลาย ยิ่งมีออนไลน์เพิ่มมากขึ้น มี web community เข้ามาด้วย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมที่มีประโยชน์จากผู้ปกครอง คุณครู โรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงเป็นโอกาสของเด็กรุ่นใหม่ที่จะรังสรรค์นวัตกรรมออกมาให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือมวลมนุษยชาติได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ

สร้างเยาวชนที่ตอบโจทย์พลเมืองดิจิทัล

แต่เราจะพัฒนาเด็กด้านไอทีอย่างไร? ถ้าเราจะพัฒนาประเทศให้มีนวัตกรรม นวัตกรรมส่วนหนึ่งต้องขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี และเทคโนโลยีก็ต้องมีกระบวนการใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ เราจึงต้องสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์พลเมืองด้านดิจิทัล ซึ่งเด็กรุ่นใหม่มีศักยภาพมากกว่าสมัยก่อน สิ่งสำคัญคือการทำให้เด็กมีความตั้งใจ มุมานะกับสิ่งที่อยากจะทำ โดยผู้ใหญ่ต้องแนะนำว่าเขาควรโฟกัสกับอะไร ควรเดินไปทางไหน ซึ่งเด็กที่มีศักยภาพอยู่แล้วเขาจะสามารถทำได้ ดังนั้น โครงการต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนเยาวชนจึงเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างดีที่จะทำให้เขาสามารถรังสรรค์นวัตกรรมออกมาและแข่งขันกับสากลได้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เพราะสงสัย…จึงเกิดนวัตกรรม

ถ้าน้องๆ อยากเป็นนวัตกรคนหนึ่ง ให้เริ่มจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเองก่อน เพราะนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างไอน์สไตน์ โทมัส เอดิสัน หรือคนอื่นๆ เขาฉุกคิดจากสิ่งที่เป็นปัญหารอบตัว และมีทักษะสำคัญอย่างหนึ่งคือความสงสัย ลองคิดว่าถ้ามันเป็นแบบนี้เราจะทำอะไรได้ เช่น ทำไมวันนี้รถเมล์ต้องจอดที่ป้ายรถเมล์อย่างเดียว เราคิดแบบอื่นเพื่อให้มันไวขึ้นได้ไหม ถ้าไม่เกิดคำถามพวกนี้จะไม่เกิดสิ่งที่เป็นนวัตกรรมออกมา ดังนั้น น้องๆ ต้องค้นหาตัวเองและพยายามฝึกคิดในลักษณะนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ในสถาบันการศึกษามีการเรียนรู้แบบ logical thinking หรือ problem based learning มากขึ้น ปัญหานี้จะแก้อย่างไร มีกระบวนการแก้ปัญหาเป็นขั้นตอนให้เด็กค่อยๆ คิด เป็นการสร้างกระบวนการคิดในสมอง ทำให้สร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาได้

ล้มแล้วลุก จึงสำเร็จ

ปัจจุบันมี startup ที่ประสบความสำเร็จเยอะ ไม่ประสบความสำเร็จก็เยอะ ทุกคนล้มมาหมดแต่มันเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ที่ทำให้รู้ว่าเราจะไม่ทำแบบนั้นอีก ดังนั้น ถ้าเราล้มสิบครั้งเราก็มีประสบการณ์สิบครั้ง เป็นจุดหนึ่งที่คนล้มต้องไม่ท้อที่จะทำต่อไปถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์จริงๆ

สร้างเด็กไอที ต้องมีองค์ประกอบ!

แล้ว NSC จะสนับสนุนการพัฒนาเด็กไอทีอย่างไร? ส่วนที่หนึ่งคือต้องมี funding หรือคนที่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น incubation center ต่างๆ กลุ่ม startup ในประเทศไทย ธนาคาร ฯลฯ ที่เข้าร่วมตั้งแต่พิจารณา proposal จนถึงการตัดสินรางวัล ทำให้นวัตกรรมที่ออกมาสามารถตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจและถูกหยิบไปใช้ประโยชน์ได้ อาจกำหนดเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะพัฒนาคนที่ได้รางวัลอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมให้ได้

สอง สิ่งสำคัญที่เด็กขาดกันคือ เทคนิคการนำเสนอ หลักการ story telling ต้องทำอย่างไร พอผ่านระดับภูมิภาคแล้วควรพัฒนา soft skills ด้านนี้ให้กับเขา บ่มเพาะจนเขาสามารถ pitching แล้วมีคนซื้อ ถ้าเป็นไปได้อยากให้มี session ภาษาอังกฤษด้วย อาจเชิญผู้ประกอบการหรือนักลงทุนต่างชาติมาสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ อยากให้ประชาสัมพันธ์ผ่านสถาบันการศึกษาที่หลากหลาย อาจมี incentive ให้คุณครูหรืออาจารย์ด้วย จะทำให้เกิดความหลากหลายของสถาบันการศึกษาที่เข้ามาแข่งขัน รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการทดสอบความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมด้วย

คุณค่าของผลงานคือสุดยอดแรงผลักดัน

ผมมองว่า ที่ตัวเองประสบความสำเร็จได้เพราะมีแรงขับเคลื่อนและผลักดันจากหลายด้าน สิ่งที่ผลักดันผมส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง อย่างงานที่เกิดขึ้นคุณหมอบอกว่าอยากได้อะไรที่ใช้กับคนไข้ได้ ทำให้เราอยากจะทำ เราสนุกกับมันจึงทำออกมาได้ นอกจากนี้มีโรงพยาบาลที่ติดต่อเข้ามาและมีโจทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ทุกอย่างขับเคลื่อนให้เกิดประสบการณ์ เกิดรายได้ พอจบ NSC ขายเครื่องแรกตั้งแต่ราคาหมื่นกว่าบาท จนมาถึงปัจจุบันทำโซลูชั่นให้กับบริษัทรองเท้าหลักครึ่งล้าน ถ้ารวมทั้งหมดก็สร้างรายได้ให้กับเราเกือบล้านหรือสองล้านแล้ว เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราไปข้างหน้าได้ ซึ่งตอนแรกไม่ได้หวังผลว่ามันจะเป็นอย่างนี้ เราแค่วาง position ให้เป็นสินค้าที่ขายได้และมันรันไปเองตามอัตโนมัติจนประสบความสำเร็จ ไม่ได้บอกว่าเราทำสิบแล้วต้องได้สิบเลย แต่เราอาจค่อยๆ เก็บหนึ่ง สอง สาม ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเกิดเป็นสิบได้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ปณิธานที่ยังไม่สิ้นสุด

ถ้าให้นิยามตัวเอง ผมมองว่าตัวเองเป็นนวัตกรคนหนึ่ง เป็นคนสร้างนวัตกรรมที่มีความมุ่งมั่น ผมอาจจะไม่ได้เก่งมาก แต่ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจ สุดท้ายไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้เวลานานขนาดไหนก็สามารถทำได้ครับ ซึ่งปณิธานที่ตั้งไว้กับคุณหมอและอาจารย์ที่ปรึกษาตั้งแต่ตอนเริ่มทำโปรเจกต์ คือ อยากสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานทั้งประเทศ ปัจจุบันเริ่มใกล้จะเป็นแบบนั้นแล้ว หรือต่อไปถ้ามีโอกาสเพิ่มเติม เช่น ได้ยื่นข้อเสนอไปในกระทรวงสาธารณสุขหรือคุณหมอที่ดูแลด้านนี้ อาจจะทำให้เป็นไปตามปณิธานหรือฝันที่ตั้งไว้ก็ได้ครับ…

เพราะงานที่เกิดจากปัญหาจริงของคนในสังคม ย่อมมีโอกาสที่จะสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองและผู้อื่นได้ ยิ่งผลงานนั้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนาตามความต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการเก็บรายละเอียดอย่างมุมานะตั้งใจ ก็จะทำให้ผลงานสามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงได้อย่างหลากหลาย สร้างประโยชน์ให้สังคม รวมถึงขยายผลไปสู่แขนงธุรกิจอื่นๆ ได้อย่างไม่คิดฝัน

นั่นคือคุณค่าที่นวัตกรอย่างอู๋บอกว่ามีค่าที่สุดสำหรับเขา…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ข้อมูลการศึกษา
  • ปริญญาตรี 2554 วศ.บ. (คอมพิวเตอร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • ปริญญาโท 2556 วท.ม เทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขา เทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ
ใบประกาศนียบัตร/ หลักสูตรการศึกษา:
  • Microsoft Certified Solutions Associate (MSCA)
  • Microsoft Certified Professional (MCP)
  • Microsoft Certified Trainer (MCT)
  • CompTIA CTT+
  • CompTIA Security+
  • CompTIA Project+
  • CompTIA A+
  • CompTIA Healthcare IT Technician+
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2012
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • Champion of Technology Category, Student Design Challenge 2014, iCREATE2014
  • Champion prize 2014, National Science and Technology Development Agency
  • 1st Runner-Up National software contest 2012, Thailand ICT Contest Festival, NECTEC
  • Innovation prize 2011, Kasetsart University Sriracha Campus
  • Best project, New Seed 2013, NECTEC and SCB Fund.
ปัจจุบัน
  • อาจารย์ผู้ช่วยสอนสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผู้จัดการโครงการจ้างที่ปรึกษาโครงการสำรวจข้อมูลการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ ของประเทศไทย (Media and Information Literacy Survey)
  • ผู้จัดการโครงการจ้างที่ปรึกษาโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กิจกรรม : Village E-Commerce (ศึกษาและพัฒนา Village E-Commerce)
ความเชี่ยวชาญ
  • Business Processes Improvement
  • Government Business Enterprises (GBEs)
  • Database Administration and Programming
  • Infographic
  • Product Innovation
  • IT Project Management
  • Digital Image Processing
  • Medical devices
  • Biomedical Engineer
  • Software Engineer