เนื่องจากบูดูเป็นอาหารหมักที่นิยมรับประทานกันมากในภาคใต้ตอนล่างของไทย
และมาเลเซีย อีกทั้งยังเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ทำรายได้สูงแก่ประชาชนในท้องถิ่น
แต่ผู้ผลิตประสบปัญหาการแตกของภาชนะทำให้เกิดกลิ่นรบกวนขณะขนส่ง
และไม่สะดวกในการขนส่งไปจำหน่าย โดยเฉพาะนำไปเป็นของฝาก เพราะบ่อยครั้งที่ชาวมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
ณ เมืองเมกกะจะพกพาไปลำบากมาก จึงได้มีการศึกษาวิธีการแปรรูปบูดูเหลวให้เป็นบูดูแท่ง
เพื่อความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็พบปัญหาว่าเมื่อได้บูดูแท่งมาแล้ว
รสชาติของบูดูแท่งแตกต่างจากบูดูเหลวมาก
ซึ่งสันนิษฐานว่า สารอินทรีย์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับรสชาติของบูดูอาจจะมีจุดเดือดต่ำ
และระเหยไปในขั้นตอนการเคี่ยว และอบ จึงได้มีการนำเครื่องเทศต่างๆ
ใส่เข้าไปด้วย เพื่อให้บูดูแท่งมีรสชาติที่ดี
การผลิตบูดูแท่ง
1.เตรียมเครื่องปรุง โดยการนำพริกขี้หนู, หัวหอมแดง, ใบมะกรูด, มะนาว
และน้ำส้มสายชูมาปั่นรวมกันจนเข้ากัน
2.นำบูดู, เครื่องปรุง, น้ำตาลทราย และเนื้อปลาต้มสุกลงกระทะเพื่อเคี่ยวประมาณ
8 ชั่วโมง พอหนืด
3.รอจนเย็นแล้วนำไปเข้าเครื่องอัดให้ได้ขนาด 2.5x3.0x1.2 เซนติเมตร
4.นำไปเข้าตู้อบที่อุณหภูมิประมาณ 80-100 องศาเซลเซียส ประมาณ 20 นาที
5.นำบูดูแท่งมาตัดแต่งให้สวยงาม
6.นำบูดูแท่งไปห่อด้วยพลาสติก 1 ชั้น และกระดาษฟรอยด์อีก 1 ชั้น
7.นำไปบรรจุถุง ถุงละ 3 ก้อน
8.ปิดปากถุง พร้อมจำหน่ายถุงละ 12 บาท