ความเชื่อเกี่ยวกับการตีกลอง ไม่ว่าจะเป็นการทดลองตี (เดาะกลอง) ห้ามนำหนังร้อย(หนังชัก หรือหนังริว) ไปตีหน้ากลองโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้หนามปักหน้ากลอง ซึ่งสรุปได้ว่าเนื่องจากการทำหนังประเภทนี้ จะใช้วิธีการบิดเป็นเกลียวดังนั้นเมื่อหนังแห้งหนังจะไม่เรียบ บางส่วนจะมีความคมทำให้หน้ากลองแตกหรือฉีกขาดได้ง่าย และยังเชื่ออีกว่าห้ามใช้มือตีหน้ากลอง เพราะเชื่อว่ามือของเรามีความเค็ม เกิดจากเหงื่อไคล อาจเป็นสาเหตุทำให้หน้ากลองมีโอกาสฉีกขาดได้ง่าย
            เกี่ยวกับการเดินข้ามกลองและอุปกรณ์ทุกอย่างที่ทำกลอง ในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะถือว่าสิ่งเหล่านั้นมีครูบาอาจารย์ถ้าเดินข้ามถือว่าไม่เคารพ เมื่อถึงเวลาแข่งจะทำให้พ่ายแพ้
            เกี่ยวกับคาถาอาคม ในบางหมู่บ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องคาถาอาคมซึ่งเชื่อว่าเมื่อทำกลองเข้าแข่งขันจะต้องใช้ผ้าปิดหน้ากลองไม่ให้คู่แข่งขันเห็นโดยเด็ดขาดเพราะกลัวว่า เมื่อฝ่ายตรงข้ามเห็นแล้ว อาจใช้มนต์สะกดให้เกิดความพ่ายแพ้ได้
            ในเรื่องสตรีเพศ เพศหญิงจะเกี่ยวข้องเรื่องกลองเส็งประการหนึ่ง คือเรื่องการใช้คำพูด เชื่อว่าหมู่บ้านใดก่อนจะนำกลองไปแข่งขัน จะต้องให้ผู้หญิงที่ปากจัดพูดเกี่ยวกับเรื่องลามก จากการวิจัยได้หมายความว่า พูดลามกจะทำให้ฝ่ายชายที่ไปแข่งขันได้เกิดความรู้สึกฮึกเหิม มีเรี่ยวแรง หรือมีอารมณ์ขบขัน ไม่มีแรงกดดัน
            เกี่ยวกับการไหว้ครู ก่อนที่จะทำการแข่งขันจะต้องมีการไหว้ครู เพราะถือเป็นการให้พรและให้กำลังใจแก่ผู้เข้าแข่งขัน หัวหน้าคณะ จะนำดอกไม้ได้ ๑ คู่ เสียบที่หนังร้อยกลองลูกละ ๑ ดอก พร้อมกับยกมือไหว้และคำอธิษฐานระลึกแต่ในสิ่งที่ดีงามขอให้คณะของตนได้รับชัยชนะ หบังจากนั้นใช้มือลูกศีรษะและขั้นสุดท้ายยจะทำการทดลองตีกลองโดยใช้ไม้ตีเบาๆ เพื่อเป็นการไหว้ครูนำทางก่อน จากนั้นผู้แข่งขันในทีมตีทีละคนจนครบ ๕ ไม้ ตีเพื่อทดสอบเสียง และรอเวลาแข่งขัน

แหล่งข้อมูล : นายสุรวิทย์ ศรีพล , นายสุทธิ เหล่าฤทธิ์ , นายวิศิษฐ์ ตั้งใจ




-------------------------------------------------------------------------
หน้าหลัก
| กลองเส็งสัญญาณรวมพลัง | ภูมิหลัง | การเส็งกลอง |
ขั้นตอนการทำกลองเส็ง | กลองเส็งกับการปรับเปลี่ยนทางสังคม |
กลองเส็งกับภูมิปัญญาชาวบ้าน | ความเชื่อเกี่ยวกับกลอง |
การเก็บรักษากลองเส็ง
| ประเพณีการเส็งกลอง | นิทานที่เกี่ยวข้อง |
โฉลกกลอง
| การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม | นิยามศัพท์เฉพาะ | แหล่งข้อมูล |
-------------------------------------------------------------------------