เบื้องหลังความเฉิดฉายแบบ “SOLO” ที่เวทีบ่มเพาะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

Facebook
Twitter
เนคเทค มจธ.

บทสัมภาษณ์ | เดือนพฤษภาคม 2562
เรื่อง | ศศิวิภา หาสุข
ภาพ | กรรวี แก้วมูล

 

“ต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน งานจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”

เป็นนิยามสำคัญในการทำงานของทีม SOLO ที่จับมือกันคว้ารางวัล “โดนใจให้เลย” จากโครงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย เพื่อสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ (ปี 2562) โดย เนคเทค ร่วมกับ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

วันนี้เรามาคุยกันสบายๆ กับทีม SOLO ซึ่งมีสมาชิก 6 คน ได้แก่ กนิษฐา ยังเจริญ (เจน), ณัฐชยา คงตาม (ออย), ธันยธรณ์ ชวยบุญชุม (แก้ม), ศิรภัสสร ธูปหอม (โฟม), สรชย นาเม็ง (ทิเกอร์) และ จิตสุภา ศรีสงคราม (ขนุน) ถึงเบื้องหลังของการทำงานเป็นทีมของ SOLO ในรูปแบบที่ไม่ได้กำหนดให้คนใดคนหนึ่งเป็นหัวหน้า เพราะว่า “ทุกคนคือหัวหน้าทีม”

สำหรับใครที่ต้องการแรงบันดาลใจจากการทำงานเป็นทีม บทสัมภาษณ์นี้ของน้องๆ จะมาเติมพลังให้คุณ…

เพราะทุกคนคือผู้นำ

Q: ทีม SOLO มารวมตัวกันอย่างไรคะ แล้วใครเป็นหัวหน้าทีม

จิตสุภา (ขนุน) : ด้วยความที่ว่าพวกเราเคยทำงานด้วยกันมาอยู่แล้ว พอมีโปรเจคนี้ขึ้นเราเลยตัดสินใจที่จะอยู่ด้วยกัน เพราะทุกคนรู้จักนิสัยกันแล้ว รวมไปถึงความถนัดเฉพาะตัวของแต่ละคน ซึ่งมันทำให้การทำงานของเราง่ายขึ้น และมันก็ทำให้งานของเรามันเสร็จสมบูรณ์เร็วขึ้นมากๆ ค่ะ

พวกเราไม่ได้กำหนดหัวหน้าทีมไว้ เรียกว่าทุกคนก็เป็นหัวหน้าทีมดีกว่าค่ะเพราะทุกคนสามารถออกเสียงและนำเสนอความคิดของตัวเองได้ พวกเราสามารถนำทีมกันได้ทุกคนและยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกันค่ะ

เนคเทค มจธ.

โจทย์ยากคือความท้าทาย

Q: ความท้าทายของหัวข้อ Traffy Fondue คืออะไร

ณัฐชยา (ออย) : ในตอนแรกก่อนที่พวกเราจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ Traffy Fondue ยอมรับเลยว่าเป็นหัวข้อที่พวกเราไม่ได้อยากได้ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะเรามองว่ามันค่อนข้างกว้าง จะทำยังไงให้สามารถสื่อสารกับทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งมันค่อนข้างยากมากๆ ค่ะ แต่พอเรามาศึกษาบวกกับฟังคำแนะนำจากพี่ๆ และอาจารย์แล้ว มันก็ทำให้เราสนุกที่จะคิดไอเดียต่างๆ ในการนำเสนอให้มันสามารถสื่อสารตามที่เราคาดหวังไว้ให้ได้ค่ะ

ตอนเห็นหัวข้อครั้งแรกเลยพวกเราอยากได้เรื่อง Traffy Waste หรือไม่ก็ Traffy Transit ค่ะเพราะมันน่าจะเป็นเรื่องที่สามารถนำเสนอให้ทุกคนเข้าใจได้ง่าย และสามารถนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบกว่า แต่สุดท้ายพอได้มาศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดของ Fondue แล้ว จริงๆ มันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะคะ


Q: แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเป็นไอเดียและคอนเซปต์นี้คืออะไร

ณัฐชยา (ออย) : ในส่วนของ Album Content เราอยากทำเป็น 2 สไตล์ค่ะ เพราะเราคิดว่า ความชอบของกลุ่มเป้าหมายอาจจะมีมากกว่า 1 สไลด์ก็ได้ แบบที่หนึ่งเน้นความเรียบแต่โก้ออกแนวมินิมอลค่ะ ใช้โทนสี 3 สี เน้นสื่อสารแบบคนดูเห็นภาพแล้วรู้ความหมายเลยค่ะ ส่วนแบบที่สองจะออกแนวการ์ตูนๆค่ะ มีสีสัน ภาพสะดุดตา ทำให้น่าอ่านน่าติดตาม

สำหรับสื่อวิดีโอ พวกเราเน้นการแบ่งกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มไปเลยค่ะ เพราะการสื่อสารที่เฉพาะตัวหรือเจาะจงนั้น จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย ด้วยระยะเวลาที่ต้องสั้น กระชับ คนดูเข้าใจได้ภายใน 1 นาที

เนคเทค มจธ.

 

Album Content โดย SOLO
เนคเทค มจธ.

 

ผลงาน Poster โดย SOLO

กนิษฐา (เจน) : เราต้องการให้คนดูได้รับทราบข้อมูล และรู้จักกับแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ว่าแอปฯ นี้คืออะไร มีวิธีใช้งานอย่างไร และถ้าใช้แอปฯ Traffy Fondue แล้วจะดีอย่างไร เกิดประโยชน์อย่างไรกับกลุ่มเป้าหมายบ้าง ซึ่งทางกลุ่มของเราได้คำนึงประโยชน์ของแอปฯ ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย ก็คือผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารค่ะ ตอนทำสื่อเสร็จเราก็ลองเอาสื่อของเราไปทดลองกับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนวิชานี้ เพราะเราอยากลองดูว่า ถ้าเขาไม่รู้จักแอปฯ นี้มาก่อน เขาดูสื่อเราแล้วจะสามารถรับรู้ หรือเข้าใจเกี่ยวกับแอปฯ มากขึ้นหรือเปล่า ซึ่งเพื่อนๆก็สามารถอธิบายให้เราฟังได้ว่าแอปฯ นี้น่าจะเกี่ยวข้องกับอะไร ใช้งานอย่างไร ซึ่งมันก็เป็นเหมือนกำลังใจที่บอกพวกเราว่า “ อืมมม… สื่อของเราก็ทำให้คนอื่นเข้าใจตามที่เราต้องการได้นะ ”

Q: ระหว่างทำงานมีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นบ้าง แล้วมีการทำงานแบบข้ามวันข้ามคืนไหมคะ

สรชย (ทิเกอร์) : เรื่องสนุกฮาๆ ตอนทำงาน เริ่มตั้งแต่ตอนที่ได้หัวข้อเลยครับ หัวข้อ Traffy Fondue เป็นหัวข้อที่พวกเราทุกคนส่ายหัวและค่อนข้างเฟลเพราะตอนนั้นผมออกไปจับฉลากแล้วได้หัวข้อนี้… เหมือนแบบยิ่งไม่อยากได้มันก็เลยได้ แต่สุดท้ายโชคชะตาก็พาให้เรามาเจอกัน (ฮา) อีกเรื่องก็คือชื่อกลุ่มของเราครับ “Solo” มาจากเพลงของ เจนนี่ วง BLACK PINK มันมีความหมายครับที่ตั้งชื่อนี้ คือ ทีมเราจะต้องเฉิดฉายแน่นอน เชื่อว่าทุกวันนี้บางคนยังติดเรียกว่า “โซโล” ไปแล้วครับ เพราะตั้งแต่วันแรกที่เราเสนอชื่อกลุ่มจนวันพรีเซ้นท์งาน อีกทั้งพี่ๆ หรืออาจารย์เองก็สลับเรียก “โซโล”กับ “โซโล่” จนสร้างความสับสนให้กับทุกคนไปหมดแล้ว พวกผมขอโทษนะครับที่ตั้งชื่อทีมยาก แต่ชื่อ “โซโล่” จริงๆ นะครับ (ทุกคนหัวเราะ)

ศิรภัสสร (โฟม) : อีกเรื่องก็การปั่นงานข้ามวันข้ามคืนนี่มีมาตลอดเลยค่ะ รื้อคลิปบ้าง รื้อเสียงบ้าง เพราะเราอยากส่งงานให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้นำข้อแนะนำมาแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยก่อนกำหนดส่งงาน

พลังใจจาก “ทีม”

Q: SOLO ผลิตชิ้นงานปริมาณเยอะกว่าใครเพื่อน พวกเราได้แรงฮึดมาจากไหน

กนิษฐา (เจน) : พอได้รับหัวข้อมาพวกเราก็มาปรึกษากันเลยค่ะ ว่าผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มพบปัญหาในปัจจุบันอะไรบ้าง แล้วตัวแอปพลิเคชัน Traffy Fondue สามารถตอบโจทย์ให้พวกเขาในเรื่องที่เขาต้องการได้หรือไม่ ไอเดียมันค่อยๆเริ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาที่พวกเราเริ่มถกเถียง ผลัดกันถามไปมา เปรียบเราเป็นเจ้าของแอปฯบ้าง เป็นผู้ใช้งานบ้าง พอมานั่งคุยกันจริงๆ ก็เลยอยากแบ่งเป็นวิดีโอ 3 ตอนไปเลย เพราะมันตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายง่ายกว่าค่ะ ที่มาของแรงฮึดก็คงจะเป็นเพราะเราลองเอาตัวเองเป็นตัวละครในแต่ละคาแรคเตอร์ แล้วเรามั่นใจว่าถ้าเราทำมากกว่า คนดูจะได้อะไรมากขึ้น จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น บวกกับพลังทีมที่ช่วยกันสุดๆ ทุกคนกระจายงานตามความสามารถ เรื่องบริหารจัดการเวลา เลยไม่ใช่เรื่องที่น่าเครียดค่ะ

จิตสุภา (ขนุน) : แรงฮึดหลักๆ มาจากเพื่อนๆ ในทีมด้วยกัน พวกเราคิดชิ้นงานและคอนเซ็ปเอาไว้แล้วพวกเราก็อยากทำชิ้นงานออกมาให้สำเร็จและทำออกมาให้ดีที่สุด อยากเห็นชิ้นงานของพวกเราได้ถูกนำไปใช้จริงๆ และมีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการ มันคงจะมีความสุขมากถ้าชิ้นงานของพวกเราได้นำไปใช้จริง ได้เห็นคนที่ดูสื่อของเราและเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอ ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จค่ะ

Q: วันประกาศผล คิดไหมว่าทีมเราจะได้รางวัลโดนใจ

กนิษฐา (เจน) : หนูคิดว่าไม่ติด 1 ใน 3 ด้วยซ้ำค่ะ เพราะงานเพื่อนๆ โหดทั้งนั้น ทุกกลุ่มมีจุดขายของชิ้นงานที่ชัดเจนเลยค่ะ ตอนนั้นได้แต่คุยกับเพื่อนๆ ว่าถ้าได้รางวัลจะร้องไห้ให้ดู (ฮา)

ศิรภัสสร (โฟม) : สำหรับหนูนะคะ เอาจริงๆ แล้วคือแอบคิดเข้าข้างตัวเองว่าจะได้นะคะ (ฮ่าๆ) แต่คิดว่าเราคงไม่ได้รางวัลโดนใจ หรือ ที่1 อาจจะเป็นที่ 2-3 รองลงมา เพราะเพื่อนๆแต่ละกลุ่มก็ทำดีกันและมีความสามารถกันมากๆ พอประกาศผลมาก็ตกใจเกินกว่าที่คาดไว้มากเลยค่ะ

เนคเทค มจธ.

 

 

อีกก้าวหนึ่งของการเติบโต

Q: พวกเราได้เรียนรู้อะไรจากโครงการนี้บ้างคะ

ศิรภัสสร (โฟม) : พวกเราได้เรียนรู้ในเรื่องของการวางแผนการทำงานค่ะ เนื่องจากเราได้ทำงานกับองค์กรใหญ่ และผลงานของเรานั้นจะเป็นงานที่จะนำไปใช้งานจริง เลยทำให้ต้องมีการติดต่อสื่อสารและวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องของการระมัดระวังคำพูด ภาษาที่ใช้ ภาพที่ใช้ รวมไปถึงเสียงที่ใช้ในชิ้นงาน เพื่อไม่ให้งานของเรามีข้อผิดพลาด หรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดค่ะ ซึ่งเราโชคดีที่งานของกลุ่มเราเป็นการทำโมชั่นกราฟิก เวลาแก้ไขชิ้นงาน จะสะดวกกว่ากลุ่มเพื่อนๆ ที่ถ่ายทำจริง พวกเราจะมีเวลาในการแก้ไขและตรวจทานงานมากกว่ากลุ่มเพื่อนๆ นิดหน่อยค่ะ แต่ความสะดวกนั้นมันก็ทำให้พวกเราพยายามหาลูกเล่น หรือไอเดียใหม่ๆ มาใส่ในชิ้นงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้มันดูน่าสนใจและตอบโจทย์ที่สุดค่ะ

Q: หากโครงการนี้จะร่วมกับ วิชา ETM 345 อีกในปีหน้า พวกเราอยากจะบอกอะไรกับรุ่นน้องบ้าง

กนิษฐา (เจน) : ทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการการทำงานมันจะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ ความคาดหวังมันจะทำให้เรามีพลังบวกเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงทีมงานที่อยู่เคียงข้างกัน ดังนั้นคิดไว้เสมอว่า ลงเรือลำเดียวกันแล้วอย่าทิ้งกันนะคะ พองานเราเสร็จเราจะภูมิใจกับผลงานชิ้นนั้นมากๆ ค่ะ

จิตสุภา (ขนุน) : ขอบคุณทาง NECTEC ที่ได้จัดโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมานะคะ พวกเราได้รับประสบการณ์มากมายจากโครงการนี้จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการคิด การรับงานมาตามบรีฟ การวางแผน การทำงาน การจัดการเวลาให้ชิ้นงานของเราเสร็จทันกำหนดการ จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้รับคือเปรียบเสมือนการเตรียมตัวอย่างหนึ่งก่อนที่เราจะจบไปและได้ทำงานในชีวิตจริง การได้เจอบรีฟงานจริงๆ คอมเมนต์ต่างๆ ที่เราควรนำมาปรับปรุงแก้ไขในงานของพวกเรา พวกเรารู้สึกเหมือนได้โตขึ้นไปอีกขั้นนึง เตรียมพร้อมก่อนที่จะไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง 55555 อยากให้จัดโครงการดีๆ แบบนี้ทุกๆ ปีเลยค่ะ อยากให้รุ่นน้องได้ลองเข้าร่วมดู เพราะเราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากโครงการนี้จริงๆ

ธันยธรณ์ (แก้ม) : ขอบคุณพี่ๆ จาก NECTEC ที่ได้จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ และพวกเราที่ลงเรียนวิชา ETM 345 Creative Thinking ก็ได้มีโอกาสนำความรู้ที่เราได้เรียนมาตลอดระยะเวลา 4 ปีจากมหาวิทยาลัย มาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ให้ออกมาดีที่สุด กระบวนการทำงานต่างๆ นั้นสอนให้เราโตขึ้น ทำให้เราได้รู้จักการวางแผนงาน การทำงานร่วมกับผู้อื่น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารค่ะ เพราะเราต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน งานจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีค่ะ สุดท้ายนี้ก็อยากให้จัดโครงการดีๆ แบบนี้ทุกปีเลยค่ะ เพราะโครงการนี้สอนให้เราคิดสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้เราได้รับประสบการณ์ในการทำงานจริงๆ และคิดว่าน้องๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้จะเกิดความประทับใจแบบที่พวกหนูประทับใจแน่นอนค่ะ

เนคเทค มจธ.