เปิดใจ Startup รุ่นพี่ กับการก้าวสู่เส้นทาง Startup Innovation ยุค Thailand 4.0

Facebook
Twitter
AIYA, QueQ, Abstract wings

 

หลายท่านคงได้ยินกันบ่อยๆ กับคำว่า Startup โดยเฉพาะในยุค Thailand 4.0 ที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งก็ว่าได้ ทำให้เกิดช่องทางการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปในด้านไอที และกว่าพวกเขาเหล่านี้จะก้าวมาสู่ Startup ตัวจริง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เราจะพามาทำความรู้จักกับ Startup รุ่นพี่ทั้งสามท่าน ซึ่งเป็นแขกรับเชิญในเวที “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ปี 2561” (Thailand IT Contest Festival 2018) มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานจริงๆ ให้เราได้สัมผัสกัน

คุณสิบแสน สุขสุขะโน : ผู้ก่อตั้งบริษัท แอบแทรค วิงซ์ (Abstract Wings)

แอบแทรค วิงซ์ (Abstract Wings)

 

รุ่นพี่ท่านแรกเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แอบแทรค วิงซ์ (Abstract Wings) “คุณสิบแสน สุขสุขะโน” ดีกรีศิษย์เก่าจากเวทีมหกรรมประกวด IT ที่ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจว่าเราต้องนึกถึงผู้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก

“แต่ก่อนเคยคิดแต่จะยัดเยียดอะไรให้ผู้ใช้ แต่ลืมคิดไปว่าเค้าต้องการอะไร เดิมทีผมได้มาประกวดเวทีนี้ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 กับเพื่อนอีก 2 คน เมื่อได้เงินรางวัลจึงนำไปเปิดบริษัทเล็ก ๆ กับเพื่อนที่มาประกวดด้วยกัน เวลาขายงานแต่ละครั้งต้องออกไปขายตามบริษัทนายทุนต่าง ๆ จนได้ลูกค้ามารายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของตู้เกมในห้างจึงทดลองนำเกมที่ทำไปลงตู้ดู” ซึ่งปกติใน 1 ปีเราจะทำเกมออกมาประมาณ 4 เกมอยู่แล้ว แรก ๆ เกมที่ขายดีที่สุดคือเกมยิงลูกแก้ว หลัง ๆ จึงอยากทำอะไรที่พิเศษขึ้นมาหน่อยเป็นเกมที่มีลูกเล่นเยอะขึ้น แต่คนกลับเล่นน้อยเพราะเล่นไม่เป็น เพราะลูกค้าเก่า ๆ ก็คือคนที่มานั่งเล่นเกมจับคู่ เลยลองทำเกมง่าย ๆ ออกมาปรากฏว่าคนชอบ เลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเราเพราะหัวใจของการทำเกมก็คือทำยังไงให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกกับมัน”

ปัจจุบันเกมที่คุณสิบแสนพัฒนาติด 5 อันดับเกมขายดีใน App store และ Play store

คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ : เจ้าของแอปพลิเคชันจองคิว ‘QueQ’

QueQ

 

รุ่นพี่ท่านที่สอง ‘คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์’ เล่าให้ฟังว่าแอปพลิเคชัน QueQ นี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว

“ตอนแรกคิดว่าอยากทำอะไรที่ทุกคนต้องใช้เลยลองไปเดินห้างแล้วเห็นคนต่อคิวยาว เลยคิดว่าทำไมคนต้องมานั่งรอคิวนาน ๆ จึงอยากทำยังไงก็ได้ให้คนไม่ต้องนั่งรอ” คุณรังสรรค์กล่าว “จุดที่ยากที่สุดคือตอนเริ่มต้น เหมือนตอนเราเข็นรถที่เสียเราจะออกแรงมากที่สุดก็แค่ช่วงแรก” โดยเริ่มจากทำระบบจัดการคิวให้ร้านอาหารในห้างก่อน ซึ่งตัวแอปพลิเคชันสามารถจองคิวล่วงหน้าได้ ในระหว่างรอสามารถไปทำอย่างอื่นก่อนได้ เมื่อใกล้ถึงคิวเราระบบจะแจ้งเตือนให้เรารู้ โดยเริ่มทดลองใช้ครั้งแรกที่ ‘ร้านชาบูชิ เซนทรัลลาดพร้าว’ และใช้เวลา 6 เดือนในการพัฒนาต่อ

“ปีนั้นไม่มีรายได้เลย ต้องแก้ระบบทุกวันบางวันต้องไปช่วยเค้าเสิร์ฟ ต่อมาเมื่อระบบเริ่มคงที่จึงได้ลูกค้าเพิ่ม” คุณรังสรรค์เล่าถึงอุปสรรค และแล้วความพยายามก็สำเร็จผลเมื่อแบรนด์ได้ไปติดตั้งที่หน้าร้านอาหารดังอย่าง ‘บาบีคิว พลาซ่า’ ปัจจุบันคุณรังสรรค์ได้ร่วมงานกับ AIS กรุงศรีไลฟ์และบริษัท Google

คุณอัจฉริยะ ดาโรจน์ : ผู้ก่อตั้งบริษัท AIYA Startup

AIYA Startup

 

“คุณอัจฉริยะ ดาโรจน์” ผู้ก่อตั้งบริษัท AIYA Startup ก็เป็นศิษย์เก่าจากเวทีมหกรรมการประกวด IT เช่นกัน โดยคุณอัจฉริยะกล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจคือ ‘เวลา’ ของดีต้องมาให้ถูกเวลา ถ้ามาไม่ถูกเวลาก็ขายไม่ออก เพราะไม่ได้สร้างสิ่งที่คนต้องการ”

เมื่อก่อนตนมีความฝันว่าอยากเป็นเจ้าของบริษัทก่อนอายุ 25 โดยเริ่มจากเป็นลูกจ้างก่อนต่อมาจึงทำบริษัท MEGA Genius ซึ่งผลิต ‘MEGA Dict พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์’ เมื่อนำปากกาไปจิ้มคำศัพท์ ระบบจะแปลให้อัตโนมัติต่อมาเมื่อมี Google translate เลยไปต่อไม่ได้ ทำให้รู้ว่าเทคโนโลยีนั้นไม่อยู่นิ่งเราจะต้องตามให้ทัน จึงคิดทำอะไรใหม่ ๆ สุดท้ายอยากสอนให้คนเก่งภาษาจึงทำแอปพลิเคชัน “Keng Thai” ขึ้นมา ซึ่งแอปฯ นี้ได้รับรางวัล App store Best of 2013 ด้วย

ปัจจุบันคุณอัจฉริยะทำ Chatbot ให้กับร้านค้าในโซเชียลเนตเวิร์คซึ่งเป็นระบบตอบกลับอัตโนมัติเมื่อมีลูกค้าส่งข้อความมาที่กล่องข้อความของร้าน โดยพยายามทำระบบให้คล้ายคนตอบจริง ๆ และคิดว่าในอนาคต AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ต่อไปเทคโนโลยีอาจคิดเองได้ นอกจากนี้คุณอัจฉริยะยังเป็นผู้ก่อตั้ง Jump space ที่จังหวัดขอนแก่นอีกด้วย โดยเปิดเวทีให้คนมาแชร์ไอเดียร่วมกันและต่อยอดเป็นธุรกิจ Startup ในอนาคต

“วิทย์สร้างคน” บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านไอที

นี่เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งของรุ่นพี่ทั้งสามท่านที่อยากจะถ่ายทอดสู่ผู้เข้าแข่งขันเวทีมหกรรมการประกวด IT ทุกคน ซึ่งจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะเติบโตต่อไปในอนาคต โดยเนคเทค-สวทช. เล็งเห็นความสำคัญและพร้อมที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้าน IT เพื่อสนองต่อนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ดั่งเช่นเมล็ดพันธุ์สามท่านนี้ที่เติบโตมา กล้าที่จะลอง เรียนรู้ และเปิดโลกทรรศน์จากเวทีการประกวดต่างๆ และต่อยอดสิ่งที่ตนสนใจมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นธุรกิจน้องใหม่มาแรงในที่สุด

อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลงมือทำตามฝันแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค รู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและมีความมุมานะ ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเหมือนกับนักธุรกิจทั้งสามท่านที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวกว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จให้ได้ฟังกัน

บทความโดย เหมสุดา เห็มทิพย์