- บทสัมภาษณ์ | เดือนธันวาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์
- ทำไมเด็กคนหนึ่งจะทำเงินล้านไม่ได้ ถ้าเขาเจ๋งจริง…
‘นิว’ วงศกร เทศยรัตน์ สตาร์ทอัพวัยกระเตาะ ที่ฝีไม้ลายมือไม่กระเตาะ คือหนึ่งในนั้น น่าสนใจที่เขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่วัยยี่สิบต้นๆ โดยที่ตัวเขาเองบอกว่า เขาไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ที่เก่งแต่อย่างใด ชวนติดตามก้าวย่างสู่ความสำเร็จที่ไม่มีสูตรสำเร็จในแบบของเขาผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ แล้วคุณจะพบว่า ถ้ามีของ…เราก็ไม่ต้องรออะไร
เรียนดี…แต่ไม่มีรางวัล
ผมชอบไอทีมาตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าเห็นพ่อนั่งทำงานบัญชีในคอมพิวเตอร์ก็ให้พ่อสอนโปรแกรม Lotus ให้ เป็นครั้งแรกที่สนใจคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าเริ่มประกวดคอมฯ น่าจะช่วง ป.4 ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่ง Power Point แต่ยังไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมาก จนกระทั่ง ม.1 เริ่มค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไรเพราะรู้สึกเบื่อการเรียน ที่ผ่านมาเรียนได้เกรด 4 ตลอดแต่ต้องแข่งกับเพื่อนสลับกันได้ที่ 1 ที่ 2 พอเข้าเรียนที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ห้องโครงการวิทย์-คณิต ก็ต้องเรียนวิทย์ เรียนคณิต สอบ ทำโจทย์ยากๆ ทำการบ้าน ทำโครงงาน เหมือนเด็กสายวิทย์-คณิตทั่วไป แต่ผมรู้สึกว่าเราทำอะไรอยู่? มันวนอยู่แบบนี้ ที่บ้านอยากให้ผมเรียนดี แต่ผมไม่เคยได้รางวัลอะไรจากการเรียนดีเลย
โตขึ้นผมอยากเป็นแฮกเกอร์
วันหนึ่งที่หน้าโรงเรียนมีคนมาแจกโบรชัวร์โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ในภูเก็ต ผมสนใจเลยเข้าไปติดต่อที่นั่น พี่เขาถามว่าอยากเรียนอะไร ผมบอกว่า อยากแฮก Wi-Fi อยากแฮกโน่นนี่นั่นได้ ด้วยความที่เราไม่รู้ เห็นในทีวีมีหนังแฮกเกอร์มันเขียนโปรแกรมได้ Mindset แรกของเราคืออยากทำให้ได้ นั่งคุยกันเกือบชั่วโมงเขาคงเห็นว่าเราอยากเรียนเลยบอกว่าจะเปิดคอร์สสอนให้ แต่พอไปเรียนวันแรกสิ่งที่เจอคือทฤษฎีคอมพิวเตอร์ ใครคือโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก ภาษาแรกของโลก พัฒนาการของภาษา ฯลฯ ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในความสนใจของเรา พอวันที่สองเริ่มเขียนโปรแกรม Hello World เขียนโปรแกรมเครื่องคิดเลข เอาโจทย์คณิตศาสตร์มาเขียนโปรแกรม ซึ่งเรารู้สึกว่าเมื่อไหร่จะได้ทำอย่างอื่น
ผู้เข้าแข่งขันที่เด็กที่สุด!
จนกระทั่งพี่เขาบอกว่ามีโครงการ NSC อยากลองแข่งคอมพิวเตอร์ไหม ตอนนั้นไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แค่ว่ารางวัลที่หนึ่งได้ 60,000 บาท ก็เลยตัดสินใจไปแข่งตอน ม.2 ทำให้เราได้เขียนโปรแกรมจริงจัง โดยเขียนโปรแกรมเป็น Web Application แล้วส่งประกวด NSC ปีแรกเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เราเป็นเด็กสุดที่ได้เข้าโครงการ NSC และเป็นตัวแทนภาคใต้ไปแข่งที่กรุงเทพฯ เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คสำหรับเด็ก ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าทำไมต้องรีบมาลอกการบ้านเพื่อนแต่เช้า เลยอยากทำกลุ่มห้องขึ้นมาและคิดว่าทุกคนควรมีโทรศัพท์ถ่ายส่งการบ้านให้ลอกตั้งแต่อยู่ที่บ้านไม่ต้องรีบมาโรงเรียน ตอนนั้นวางโมเดลไว้ว่าจะดีลกับร้านหนังสือและร้านอื่นๆ แล้วมาขายโฆษณา ซึ่งถ้าย้อนกลับไปมันใหม่มาก ผมใช้ Payment Gateway คนก็งงว่าใครจะยอมมาจ่ายเงินทางโทรศัพท์ แต่กรรมการเห็นแล้วรู้สึกว่าน่าจะมีประโยชน์ ปีแรกได้รางวัลชมเชยมา เราก็ถามกรรมการตรงๆ ว่าทำไมเราได้ชมเชย เขาบอกว่าคอนเซ็ปท์ยังไม่ชัดเจน
เอาความใหม่เข้าสู้!
หลังจากนั้นก็คิดอยู่นานว่าจะทำอย่างไรดี มาคิดว่าเราอยู่ภูเก็ตซึ่งมีการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจหลักที่ควรจะเชื่อมให้เป็นเครือข่าย ตอน ม.3 เลยเกิดโซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อว่าเฟซบิส (FaceBiz) เทคโนโลยีที่ใช้คือ Mobile Web Application ซึ่งมันค่อนข้างใหม่มาก เป็น Business to Collaboration สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ผมมองว่าโรงแรมมีซัพพลายเออร์หลายอย่าง ทำไมไม่มีระบบกลางที่เข้ามาช่วย แล้วมีระบบจ่ายเงินออนไลน์ ทำให้เป็นเครื่องมือที่ดีตัวหนึ่งแล้วมีระบบจัดการภายในด้วย ถ้าฟังตอนนี้มันไม่ใหม่หรอก แต่พอย้อนกลับไปมันใหม่ ปีนั้นเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศของ NSC แต่ได้รางวัลชมเชยเหมือนเดิมครับ
ช่วงพีคของชีวิต!
คราวนี้ตั้งเป้าหมายใหม่ว่าเราจะประกวด NSC เป็นปีสุดท้ายแล้ว วางคอนเซ็ปท์ให้ดี ทำให้เต็มที่ จนเข้ารอบชิงชนะเลิศได้รางวัลที่ 1 ตอนนั้นอยู่ ม.4 เป็นช่วงที่ผมพีคมาก ได้ที่ 1 NSC แล้วเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง APICTA (The Asia Pacific ICT Alliance) ได้รางวัลเยอะมาก ไปไหนต้องมีรางวัลกลับมา ซึ่งเราพัฒนาต่อยอดจากผลงานเดิม เพิ่มฟังก์ชันเข้าไปเป็น Business Model ที่ชัดเจนขึ้น มีโชว์เคสของธุรกิจโรงแรมว่าจะมีการเข้าร่วมอย่างไร มีการยืนยันกับโรงแรมว่าถ้ามีแล้วมันจะดีจริงๆ แล้วทำวิดีโอพรีเซนต์ให้น่าเชื่อถือ ยังไม่ได้ใช้จริง แต่เราต้องสร้างก่อนว่ามีคนทำธุรกิจอยากจะใช้ผลงานนี้
ความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
ช่วงนั้นก็หนักเหมือนกัน เป็นช่วง ม.ต้นต่อ ม.ปลาย ต้องสอบเข้าห้องโครงการด้วย แต่สิ่งที่เราอยากทำก็ต้องเอารางวัลให้ได้ ผมต้องอ่านหนังสือเยอะมาก ลงเรียนพิเศษทุกวันแต่ให้เพื่อนเก็บชีทให้แล้วตัวเองไปนั่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนสอนคอมฯ เป็นแบบนี้ทุกวัน พอสอบติด ม.ปลายก็ไม่สนใจแล้ว ทำผลงานส่งประกวดต่อจนเกรดตก ที่บ้านก็บ่น ตอนนั้นลึกๆ ก็น้อยใจอยู่นะ แต่เรามีสิ่งที่อยากทำและต้องทำ ซึ่งผมตั้งเป้าหมายว่าต้องได้ที่ 1 ถ้าไม่ได้ปีหน้าผมไม่ส่งแล้ว เพราะจะกลายเป็นว่าเราไปกั๊กตัวแทนภาคใต้คนอื่นที่อาจจะได้ไปอยู่ตรงนั้นแทนเราและเขาอาจจะมีโอกาสมากกว่าเรา นี่คือสิ่งที่ผมมองตอนนั้น ซึ่ง NSC คือโครงการแรกที่ผมรู้สึกว่ามันคือการประกวดจริงๆ และเป็นเวทีแรกของเรา จึงมีเป้าหมายเดียวว่าต้องทำให้ได้
มากกว่าความสำเร็จของงาน คือการพัฒนาตนเอง
สำหรับผม NSC คือก้าวแรกของทุกวันนี้ คือเวทีที่ทำให้ผมเขียนโปรแกรมได้ คือเวทีที่ทำให้ผมมีโปรไฟล์ คือเวทีที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามีเป้าหมายในชีวิต และทำให้เราได้ฝึกวิธีคิด NSC ไม่ใช่การแข่งเขียนโปรแกรมแบบไปสอบปรกติที่มีโจทย์ยากๆ แต่คุณต้องรู้เรื่องธุรกิจ คุณต้องขายของให้เป็น คุณต้องทำซอฟต์แวร์ให้ได้ และคุณต้องกล้าพรีเซนต์ขายของ หลังจากนั้นผมได้เข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ด้วย ซึ่งผมมองว่าทุกเวทีที่ไปมันคือการปรับวิธีคิดใหม่ มันคือการต่อยอดตัวเองไม่ใช่การต่อยอดผลงาน บางทีผลงานเราเหมือนเดิมแต่เราต่อยอดตัวเอง เรารู้วิธีการพูด รู้วิธีการพรีเซนต์ รู้วิธีการขาย ของชิ้นเดิมเราเปลี่ยนที่ขายใหม่ ฟังก์ชันเดิมแต่เราเปลี่ยนวิธีพูด นี่คือสิ่งที่ได้จากการที่เราเจอคนหลายๆ คน หลายๆ มุมมอง
แข่งจนเกือบไม่มีที่เรียนต่อ!
ช่วงนั้นผมแข่งเยอะมากจนรู้สึกว่าไม่ต้องสอบก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ซึ่งช่วงพีคที่สุดของผมคือการไปแข่งโครงการจากร้อยสู่ล้านของธนาคารออมสิน ก็ใช้ผลงานเฟซบิสไปประกวด จาก 1,700 ทีมผมได้รางวัลที่ 1 ได้เงิน 1 ล้านบาทและเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดในโครงการที่จัดขึ้นปีแรก ซึ่งเงิน 1 ล้านบาทสำหรับเด็กมันเยอะ โอกาสมี ความรู้แน่น โปรแกรมอะไรมาทำได้หมด อยากทำอะไรก็มีผู้ใหญ่ช่วย และมันเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นช่วงคาบเกี่ยวที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการเข้ามหาวิทยาลัยเลย ตอนนั้นก็ทะเลาะกับที่บ้านบ่อย เพื่อนได้ที่เรียนหมดแล้วแต่เรายังไม่มี
ภารกิจ (สมัคร) เรียนต่อเพื่อพ่อแม่
สุดท้ายตัดสินใจยื่นพอร์ตที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพราะมีคณะไอทีและมีทุนให้ ซึ่งผมไม่ได้อ่านเงื่อนไขโครงการ พ่อผมก็ช่วยทำพอร์ตให้ เอาเกียรติบัตรเอารูปมาทำในไฟล์ Word ทุกหน้ามีรูปมีข้อความ เปิดมารู้เลยว่าพ่อตั้งใจทำให้มาก พอไปถึงปรากฏว่ามันปิดรับสมัครไปนานแล้ว เกรดก็ไม่ถึง แต่ก็ลองฝากพอร์ตไว้ให้อาจารย์แล้วกลับภูเก็ต ผ่านมาสองอาทิตย์ได้รับแจ้งว่าที่คณะเปิดโควต้าใหม่ขึ้นมาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านคอมพิวเตอร์ ผู้มีสิทธิ์ได้เข้าสัมภาษณ์คือผมคนเดียว ตอนนั้นรู้สึกภูมิใจที่เขาเปิดโอกาสให้เราไปสัมภาษณ์ ที่บ้านก็แฮปปี้ เพียงแต่ว่าช่วงนั้นผมอยากจะเปิดบริษัทก็เลยไม่ได้ใส่ใจเรื่องเรียนมาก เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากจะทำ แต่เป็นสิ่งที่ผมต้องทำเพื่อรักษาความรู้สึกของที่บ้าน และเราก็ทำเพื่อให้มันไปถึงจุดที่ได้แล้ว
ตอนสัมภาษณ์ เขาให้นำเสนอผลงานและตอบคำถาม ซึ่งมีหลายคำถามที่ตรงใจมาก อาจารย์ถามว่าที่มาสัมภาษณ์เพราะที่บ้านใช่ไหม เขาคงเห็นพ่อนั่งอยู่ แล้วถามว่าคุณอยากได้อะไรจากคณะนี้ เพราะคุณทำได้ขนาดนี้แล้วคุณต้องมาเริ่มใหม่ 4 ปีนะ คุณเลือกดีแล้วใช่ไหม จนสุดท้ายเขาตกลงรับผมเข้าเรียน แต่ผมไม่ได้รู้สึกดีใจเลยแต่ภูมิใจที่ทำให้ป๊าได้
โอกาสที่มากกว่ามหาวิทยาลัย
พอกลับภูเก็ตผมก็เปิดบริษัทซอฟต์แวร์ รับงานซอฟต์แวร์งานแรกกับซิป้า (ปัจจุบันคือดีป้า – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) เอาเฟซบิสไปต่อยอด ได้เห็นอะไรหลายอย่างทั้งการร่วมงานกับภาคเอกชนและรัฐบาล รวมถึงวิธีคิดต่างๆ ในการทำซอฟต์แวร์ หลังจากนั้นก็ไปทำสตาร์ทอัพ เปิด Co-working Space แล้วทำอื่นๆ อีก 6 – 7 อย่าง คือผมไม่อยากไปเรียน คิดแค่ว่าจะซิ่วอย่างไรดี จะดรอปอย่างไรดี แล้วใช้การดรอปแบบกรณีพิเศษว่าเราได้รางวัลและทำงานอยู่ สุดท้ายดรอปได้นานถึงสองปีครึ่ง ได้รักษาความรู้สึกที่บ้านแล้ว แต่มองว่าโอกาสเรามีมากกว่าในมหาวิทยาลัย ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาเราไปทำงานกับคนอื่นก็เป็นเรื่องง่ายมาก ก็เลยตัดสินใจยุติการเรียน
ซื่อสัตย์ในสิ่งที่รัก
ผมไม่ได้บอกว่าระบบการศึกษาไม่ดี แต่โจทย์ที่เลือกตอนนั้น อันดับแรกคือผมต้องบริหารความรู้สึก ทั้งความรู้สึกตัวเองและความรู้สึกครอบครัว ที่ผมต้องดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองมีมหาวิทยาลัยเรียนให้ได้เพื่อจะให้ที่บ้านแฮปปี้ในระดับหนึ่ง แต่ผมก็ต้องรับผิดชอบความรู้สึกของตัวเองที่อยากทำงานนี้ ซึ่งผมตัดสินใจเลือกสิ่งนี้แล้ว ก็บอกที่บ้านว่าไม่ต้องไปสนใจใคร ในเมื่อเราแฮปปี้ บ้านเราแฮปปี้ก็พอแล้ว ทุกวันนี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว ผมทำธุรกิจไม่เคยใช้เงินที่บ้านเลย ไม่ได้ขอเงินที่บ้านใช้มาตั้งแต่ ม.4 ตอนนั้นผมทำงานคอมพิวเตอร์ ทำกราฟิก งานหนึ่งก็ 2 – 3 พันบาทแล้ว เราก็เก็บสะสมมา ของทุกอย่างที่ซื้อก็เงินตัวเอง ทำธุรกิจก็เงินตัวเอง เราได้พิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นแล้วและเราก็ดูแลเขาได้ด้วย
หวนคืนสู่ความเป็นมิตร
สำหรับ NSC สิ่งที่ผมได้ทุกครั้งที่เข้าร่วมคือความเป็นกันเอง ผมมองว่ามันคือเวทีเด็ก ไม่ใช่เวทีสตาร์ทอัพผู้ใหญ่ แต่หลังๆ ภาพมันกลายเป็นทางการ เกือบจะเทียบเท่าโครงการแข่งสตาร์ทอัพแล้ว แต่ผมอยากเห็น NSC เป็นแบบเมื่อก่อนที่ดูเป็นมิตร เด็กเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องมีหลักการทฤษฎีเยอะ คุยกันง่ายๆ สบายๆ ถ้าจะเปลี่ยนไปให้ดีขึ้นก็ได้แต่อย่าเปลี่ยนความเป็นตัวตน เดี๋ยวนี้ผมเห็นซอฟต์แวร์ที่เข้าประกวดเริ่มคล้ายกับสตาร์ทอัพรุ่นพี่ เริ่มผลักดันอยากให้มี VC (Venture Capital) มาลง แต่เด็กอายุเท่านี้จะมีกี่คนที่รอด มันทำให้เด็กไม่กล้าเข้าร่วมและไม่เกิดการเรียนรู้ แล้วหันไปสายอื่นไม่มาสายนี้ มันก็เลยขาดแคลนคนจนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะไม่มีโอกาสให้เด็กเข้าไปได้ง่าย
อย่างผมมองว่าตัวเองมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในหลายๆ อย่าง อันดับแรกคือผมได้โอกาสจากเวทีการประกวดเยอะมากด้วยความบ้าของตัวเอง ด้วยความอยากทำ ทำให้เด็กต่างจังหวัดอย่างเราได้เจออะไรที่หลากหลายมาก รวมทั้งโอกาสที่ได้จากรุ่นพี่ที่ผมให้เครดิตมากๆ เพราะถ้าไม่มีพวกพี่ๆ ผมคงไม่ได้มาไกลขนาดนี้
โปรแกรมเมอร์ที่ขายของเป็น
ผมไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง แต่ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ที่สามารถขายของได้ สมมติเพื่อนเขียนฟังก์ชันนี้ชั่วโมงหนึ่งผมเขียน 10 นาที ถ้ามองในแง่ผู้พัฒนาโค้ดเพื่อนผมดีกว่าอยู่แล้ว โค้ดผมไม่ดีหรอก แต่ชั่วโมงหนึ่งผมสามารถเขียนได้ 6 ฟังก์ชันนะ นี่คือวิธีคิดของผม ผมจะเน้นทำโปรโตไทป์มาก่อนเพื่อทดสอบตลาด ถ้าผ่านแล้วค่อยไปใส่กับมันหนักๆ เพราะถ้าคุณพยายามคิดหรือมโนทุกอย่างว่าซอฟต์แวร์คุณจะดีแบบนี้แล้วทำทุกอย่าง เหมือนการสร้างบ้านคุณมองว่าบ้านนี้ต้องออกมาเพอร์เฟคมาก สวยมาก แต่พอไปอยู่แล้วไม่สบาย อะไรก็ดูแข็งไปหมด จะแก้ก็ทุบเยอะ คนจะมาซื้อก็ซื้อลำบาก แต่สำหรับผมคือให้มันอยู่ได้ก่อน ต้องขายไอเดียให้ได้ก่อน เพราะการทำอะไรทุกวันนี้มันคือการขายของ ถ้าคุณขายไม่ได้ ไม่มีคนมาซื้อ ก็ไม่มีเงิน ถ้ามองง่ายๆ ซอฟต์แวร์คือโปรดักส์ เหมือนเราทำก๋วยเตี๋ยวทำขนมก็ต้องอร่อย ต้องให้คนมากิน แต่การที่จะอร่อยได้ก็ต้องไปเรียนพัฒนาสูตร พัฒนาตัวเองจนทำซอฟต์แวร์ออกมาได้ดี และมีฟังก์ชันที่ดีจึงจะขายได้
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ผมมองว่าตัวเองเป็นลูกครึ่ง ครึ่ง Developer ครึ่ง Business แนวคิดนี้ผมได้มาจาก NSC โจทย์ตอนนั้นคือขายไอเดีย ไม่ได้ขายฟังก์ชัน กรรมการไม่ได้มานั่งดูโค้ด โค้ดอย่างไรก็ได้แต่ผมพรีเซนต์ได้ ผมขายของได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเราทำซอฟต์แวร์จริงๆ ขายให้ลูกค้ามันเป็นคนละแบบกัน เพราะมันต้องใช้จริงแล้ว เราก็ต้องวางโครงสร้างให้ดี ขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร ตรงนั้นมันสำคัญมาก อย่างผมเปิดร้านกาแฟใหม่เป็นกาแฟไนโตรเจน ผมไม่เคยกินแต่รู้สึกว่ามันใหม่ เป็นนวัตกรรม ขายได้ ทุกวันนี้ผมก็มีหุ้นที่ร้านแต่ชงกาแฟไม่เป็น ผมมองว่าตัวเองไม่ใช่คนชง แต่รู้ว่าเครื่องดื่มที่ต้องขายควรออกมาเป็นอย่างไร รสชาติอย่างไร เหมือนเขียนโปรแกรม ผมไม่เขียนนะ แต่รู้ว่ามันเขียนได้ ถ้าคุณบอกเขียนไม่ได้ ผมหาในอินเทอร์เน็ตให้ก็ได้ ไปอ่านและสรุปให้แล้วเขียนวิธีการด้วย อะไรที่คนบอกว่าทำไม่ได้ผมหาวิธีทำให้เขาได้ อะไรทำไม่ได้ แล้วขาดอะไรอยู่ ถ้าเราจะทำให้เท่าเขาต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แล้วค่อยคิดสิ่งที่ดีกว่า คุณจะคิดนวัตกรรมก็ได้แต่ทำแบบธรรมดาให้ได้ก่อน แต่ถ้าไม่มีแบบธรรมดาเลย แล้วทำสิ่งใหม่ขึ้นมามันก็ไม่รู้จะอย่างไรต่อ
อยากทำก็ทำเลย!
ผมเป็นคนที่มักจะทำไปก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหา ถ้าคิดว่ามีปัญหาก็ไม่ได้ทำสักที เพราะการทำทุกอย่างมันมีปัญหาอยู่แล้ว ปัญหาคือจุดเริ่มต้นของการทำทุกอย่าง แค่เรานั่งคุยกันแล้วไม่ทำนั่นคือปัญหาแล้วนะ เหมือนโปรเจกต์ทุกอย่างที่ผมทำจะคุยกันแค่อาทิตย์สองอาทิตย์หรือเดือนสองเดือนแล้วทำเลย ไม่มีอะไรที่รอนานเป็นปี ต้องเริ่มแล้วทำ ระหว่างทางยังไม่รู้ แต่รู้ว่าจะมีปัญหาประมาณนี้อยู่แล้ว
มีรุ่นพี่ผมสอนมาว่าคนเราแบ่งชีวิตเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกช่วงเรียน หลังจากนั้นแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงอายุ 20 – 30 ปี ธุรกิจที่คิดว่าเสี่ยงทำไปเลย ธุรกิจที่เสี่ยงหมายความว่ารายได้สูง เรามีเวลาล้มลุก ถ้ามันได้ก็ได้เลย ถ้ามันเจ็บเราก็เจ็บไปแล้วลุกขึ้นมาใหม่ มันมีเวลาอยู่ พอหลังอายุ 30 ปีค่อยทำธุรกิจที่มั่นคง ผมก็ใช้วิธีนั้นมาถึงทุกวันนี้ อะไรที่เสี่ยงผมทำหมดเพราะอย่างน้อยมันก็แก้ไขได้ ช่วงนี้ก็จะมีโปรเจกต์ใหม่ๆ แต่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของคนเดียว ทำไปก่อนเก็บประสบการณ์ไปก่อน รอวันหนึ่งที่มีพร้อมทุกอย่างเราค่อยเป็นเจ้าของเองแล้วชวนคนที่เคยให้โอกาสกลับมาเป็นหุ้นส่วนเรา เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจไว้และมันเป็นจุดหนึ่งที่จะพิสูจน์ตัวเองด้วย ดังนั้น สำหรับคนที่คิดจะทำอะไรขอให้ทำไปเลย ไม่ต้องคิดเยอะ แม้จะพลาดแต่เราไม่เคยพลาดที่ศูนย์ คำว่าพลาดคือเราเรียนรู้ไปถึงจุดหนึ่งว่าวิชานี้มันจบหลักสูตรแค่นี้แล้วเราค่อยเรียนใหม่
ทำสิ่งที่โลกชอบ…ก่อนสิ่งที่ตัวเองรัก
เวลาผมไปพูดให้น้องๆ ที่โรงเรียนฟัง ผมมักจะบอกให้น้องเลือกว่าเขาอยากเป็นนักธุรกิจหรืออยากเป็นลูกจ้างมืออาชีพ หากเป็นลูกจ้างมืออาชีพก็คือคุณมีโปรไฟล์ดีมาก อยู่บริษัทใหญ่โตของโลก มีเงินเดือนสูงๆ แต่สิ่งที่คุณไม่มีคือเวลา เขาใช้เงินซื้อเวลาคุณไป แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจคุณใช้เวลาของคุณมาทำเงิน ถ้าคุณคิดเยอะคุณก็ใช้เวลาน้อย และต้องทำของชิ้นนั้นให้ขายราคาแพงถึงจะได้เงินเยอะ แต่ถ้าคุณคิดน้อยคุณก็ใช้เวลาเยอะมันก็จะได้ของกลับมา เพราะฉะนั้นต้องเลือก จะทำคาบเกี่ยวกันไม่ได้ถ้าไม่แข็งแรงพอที่จะทำธุรกิจส่วนตัวด้วยทำงานประจำด้วย มันมีคนที่ทำได้แต่ผมมองว่ามันไม่สุด
มีประโยคหนึ่งที่พ่อของรุ่นพี่เคยพูดว่า ‘ทำในสิ่งที่โลกชอบก่อน แล้วค่อยทำในสิ่งที่ตัวเองรัก’ ผมฟังแล้วมันใช่! ไม่อย่างนั้นเราจะเอาอะไรไปทำในสิ่งที่ตัวเองรักล่ะ ให้มองว่าเราเกิดมาตัวเปล่าบนโลก เราต้องทำให้โลกชอบก่อน เพราะบางทีสิ่งที่เรารักโลกอาจจะไม่ชอบ แต่ถ้าบังเอิญว่าสิ่งที่เรารักและสิ่งที่โลกชอบเป็นสิ่งเดียวกันก็ยิ่งแฮปปี้ …
เพราะนวัตกรรมเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมก็ควรจะต้องทำให้ตัวนวัตกรอยู่รอดได้ด้วย นิวสร้างสมดุลระหว่างความจริง 2 ด้านนี้ด้วยไอเดียและทักษะทางการขาย ที่ได้มาจากการเข้าแข่งขันไอทีมากมายหลายรายการ แต่เหนือกว่าความสามารถข้างต้น ก็คือ ความกล้า! ที่จะซื่อสัตย์ต่อความเป็นตัวเองของเขา และนั่นเองคือสิ่งที่ผลักดันให้เขาก้าวมายืนอยู่ในจุดที่เขาเป็นอย่างในทุกวันนี้
ข้อมูลการศึกษา
- โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2010
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- 2014 – 2018
- Business Development At Phuket City Development Co., Ltd.
- CO-FOUNDER = The Library Phuket
- CEO = THE FACEBIZ LIMITED
- CO-FOUNDER = IAMTRAVELISM
- CO-FOUNDER = HATCH CO-WORKING SPACE
- พัฒนาระบบ Tourism Logistic System ให้กับทาง SIPA
- พัฒนาระบบ Platform for Tourism ให้กับทาง SIPA
- รางวัลสุดยอดแรงบรรดาใจเมืองภูเก็ต ประจำปี 2558 ในหมวด เยาวชน
- 2013
- รางวัลเยาวชนดีเด่นปี 2557
- “MERIT” Asia Pacific ICT Alliance 2013 (APICTA)@ “HONGKONG”
- “รางวัลที่ 1” ออมสิน จากร้อยสู่เงินล้าน ( 1ล้านบาท )
- ตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน International ICT Innovative Services Contes @“TAIWAN”
- “WINNER” Thailand ICT Award 2013 (TICTA)
- ได้รับการสนับสนุนจาก SIPA “บ่มเพาะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ภาคใต้”
- ได้รับเชิญเป็นวิทยากร “การแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Thailand ICT Awards 2013”
- 2012
- รางวัลชนะเลิศ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ( NSC 2012 ) ได้รับถ้วยพระราชฐานจากสมเด็จพระเทพ”
- ผ่านเข้ารอบสุดท้าย “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 8”
- ได้รับการคัดเลือกเป็น “คณะกรรมการบริหารสภานักเรียนโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2555”
- 2011
- “MERIT” Asia Pacific ICT Alliance 2011 (APICTA)@ “THAILAND”
- “WINNER” Thailand ICT Award 2013 (TICTA)
- รางวัลชมเชย “ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่ง ประเทศไทย ครั้งที่ 13 ( NSC 2011 ) ”
- 2010
- รางวัลชมเชย “ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่ง ประเทศไทย ครั้งที่ 12 ( NSC 2010 ) ”
ปัจจุบัน
- Co-Founder, HATCH Co-Working Space
ความเชี่ยวชาญ
- บริหารธุรกิจ
- การตลาด