- บทสัมภาษณ์ | เดือนตุลาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ปิ่นพงศ์ เนียมมะณี
- เราอาจไม่เห็นคุณค่าของชีวิต หากเราไม่เคยประสบวิกฤตแห่งชีวิต…
นั่นคือจุดเปลี่ยนของ ‘เบนซ์’ วีรศิลป์ อชิรพัฒน์กวี CEO หนุ่มแห่งอินทิเกรซ โซลูชั่น บริษัทสีขาวที่มุ่งทำธุรกิจเพื่อสังคมผ่านนวัตกรรมทางการแพทย์ ความน่าสนใจของเขาอาจไม่ใช่ทักษะหรือความรู้ระดับกูรู หากแต่คือมุมมองและวิธีคิดในการสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ เพื่อยับยั้งวิกฤตแห่งชีวิตของผู้อื่น และเพื่อสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกชีวิต
เหตุเกิดจากชำแหละคอมฯ (แล้วซ่อมไม่เป็น)
ผมรู้ว่าตัวเองชอบคอมพิวเตอร์ตอนอยู่ ม.5 ก่อนหน้านั้นผมไม่รู้เลยว่าวิศวกรรมมีอะไรบ้าง แต่พอได้มาเข้าค่ายของบางมด (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ทำให้รู้ว่าวิศวกรรมมีหลายแขนงมาก หนึ่งในนั้นคือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสมัยก่อนยังอยู่ภายใต้วิศวกรรมไฟฟ้า เราก็จะเห็นแต่ภาพวิศวกรรมไฟฟ้า แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ผมรู้จักเครื่องคอมพิวเตอร์มานานมากๆ แล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่าเขาเรียกคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งประมาณ ม.2 ผมลองแกะเครื่องนี้และแยกทุกอย่างออกเป็นชิ้น แต่ผมประกอบมันไม่ได้ ต้องไปซื้อหนังสือคู่มือการประกอบคอมพิวเตอร์มาแล้วเริ่มประกอบเครื่องนั้นตอน ม.3 แต่เริ่มลงลึกตอน ม.5 ทำให้เรายิ่งสนใจมากยิ่งขึ้น แต่ยังรู้แค่การใช้ Microsoft Office เบื้องต้น ไม่เคยรู้ว่าวิธีเขียนโปรแกรมเป็นอย่างไร ทุกอย่างได้มาเจอตอนเรียนที่บางมดครับ
จากเด็ก (โรงเรียน) วัด…สู่วิศวะอินเตอร์
ตอนผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังเป็นระบบเอ็นทรานซ์ มีคนบอกว่าให้เลือกคณะที่ชอบอยู่อันดับสอง และเลือกคณะที่คิดว่าจะไม่ติดอยู่อันดับหนึ่ง แต่มันกลายเป็นจุดหักเหของชีวิตคือผมเลือกวิศวกรรมคอมพิวเตอร์หลักสูตรนานาชาติไว้ทั้งที่จบโรงเรียนวัด ซึ่งมันขัดแย้งมาก เพื่อนผมที่เข้าไปเรียนก่อนบอกว่าไม่ต้องกังวลว่าจะฟังภาษาอังกฤษไม่ออกเดี๋ยวจะมีคนแปลให้ แต่สุดท้ายก็ไม่มี เลยต้องพยายามกระเสือกกระสน ช่วง 2 ปีแรกจะลุ่มๆ ดอนๆ หน่อย มา 2 ปีหลังค่อยจับทิศทางลมถูก จากที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาก่อนเลย ภาษาอังกฤษเรียกว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก พอเรียนจบสี่ปีก็ได้ทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นบ้าง แต่แค่ในมุมของวิศวกรรมกับคอมพิวเตอร์ เราฟังได้แต่ยังพูดหรือสื่อสารไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เวลาเรียนก็จะเลกเชอร์อย่างเดียว
ย่นเวลาเร็นเดอร์…ยืดชีวิตคนไข้
หลังจากเรียนจบผมทำงานที่ IBM อย่างที่ตั้งใจไว้ประมาณหนึ่งปีแล้วกลับมาเรียนปริญญาโทที่คณะเดิมครับ ตอนนั้นอยากทำงานวิจัยเกี่ยวกับภาพถ่ายทางการแพทย์ มาปะติดปะต่อได้ว่าการเร็นเดอร์ (Rendering) หรือการขึ้นภาพสามมิติเกี่ยวกับภาพถ่ายทางการแพทย์มันใช้เวลาเยอะ เราอยู่ในแล็บ High Performance Computing หรือการประมวลผลขั้นสูงด้วยก็เลยเอาเรื่องนี้มาทำงานวิจัยว่าเราจะเร็นเดอร์อย่างไร สมัยก่อนในการเร็นเดอร์ภาพหนึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่งานวิจัยของผมสามารถทำเหลือประมาณ 15 วินาทีได้ คือเร็วมาก
ที่ผมสนใจเกี่ยวกับภาพถ่ายทางการแพทย์เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากพ่อของผม พ่อเป็นมะเร็งที่สมองตั้งแต่ผมอายุได้ขวบเดียว แม่บอกว่าพ่อเข้าไปในอุโมงค์แล้วออกมามันก็เป็นรูป เหมือนเป็นคำพูดสั้นๆ ที่ทำให้เราสนใจว่าภาพอะไรที่ได้มาจากอุโมงค์นี้ ตอนปี 4 มารู้ว่ามีรุ่นพี่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเร็นเดอร์ เขาก็ใช้ภาพถ่ายทางการแพทย์ ผมก็เพิ่งรู้จักว่ามันเรียก MRI (Magnetic Resonance Imaging) ตอนนั้นผมมีความเชื่อว่าถ้าเราลดระยะเวลาลงได้แปลว่าผมสามารถช่วยคนได้ 1 คน ดังนั้น ถ้าผมลดระยะเวลาได้ 5 วินาทีต่อคนแปลว่าวันหนึ่งผมสามารถช่วยคนได้หลายคน นี่คือความคิด ณ ตอนนั้นนะครับ
ส่งประกวดเพื่อภาควิชา
ก่อนที่ผมจะเรียนจบได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาว่า ผมอยากลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อภาควิชาบ้าง เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้รับจากภาควิชาจนเกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เลยคุยกันว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับการประกวด ซึ่งช่วงนั้นที่บูมๆ จะมี Imagine Cup ของ Microsoft และ NSC ของเนคเทค ผมก็เลยส่งผลงานนั้นเข้าประกวดทั้งสองเวที สำหรับ NSC ผมได้ที่ 1 หมวดวิทยาศาสตร์ประยุกต์ครับ โดยมีน้องที่เรียนปริญญาตรีอีก 2 คนในทีมช่วยกันผลักดันและทำให้มันสำเร็จขึ้นมา
รู้ซึ้งถึงสิ่งที่ทำ…จากคุณแม่
พอเรียนปริญญาโทผมเจอวิกฤตกับตัวเองคือตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้มีความอินกับภาพถ่ายทางการแพทย์มากขึ้น และเริ่มรู้สึกว่าผลงานนี้มีประโยชน์ตอนที่พบว่าแม่เป็นเส้นเลือดฝอยในสมองตีบ แล้วผมเห็นหมอเอาภาพที่ MRI ทั้งหมดมากางแล้วชี้ให้แม่ดู ผมถามแม่แบบติดตลกว่า ม๊าเข้าใจเหรอ? ผมก็เลยบอกว่าเดี๋ยวจะทำอะไรให้ดู ตอนนั้นผมเอาภาพถ่ายของแม่ทั้งหมดมาเร็นเดอร์เป็นภาพสามมิติ ชี้จากในรูปแล้วชี้ที่สมองของเขาจริงๆ ว่ามันอยู่ตำแหน่งนี้ ส่วนที่เป็นมันแค่นี้ เขาก็เข้าใจ พอเข้าใจการรักษาทุกอย่างมันราบรื่นมาก เพราะตอนแรกหมอต้องการดูว่าต้องผ่าตัดไหม แต่แม่ผมไม่ยอมเพราะเขามีความเชื่อจากกรณีของพ่อว่าหลังจากเปิดสมองไปสักพักพ่อก็เสียชีวิต เขาก็จะกลัวและไม่เข้าใจ ยิ่งไม่เข้าใจก็ยิ่งรักษายาก แต่พอเข้าใจทุกอย่างมันก็ราบรื่น ทำให้เห็นประโยชน์ของมันขึ้นมา ณ วันนั้น
หันหลังให้รางวัล…คิดใหม่เพื่อการแพทย์
จากโจทย์แรกคือทำอย่างไรให้ภาควิชาได้รางวัล ทำให้ผมส่งประกวดทุกเวทีทั้ง Imagine Cup NSC และเจ้าฟ้าไอที และได้รางวัลทั้งหมด แต่มาถึงจุดหักเหของชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือตอนนั้นผมเป็นเหมือนพวกล่ารางวัลมาก ไปเวทีไหนก็ชนะ พอเราพูดเกี่ยวกับภาพถ่ายทางการแพทย์ คนชรา และคนพิการ อย่างไรก็ได้รางวัล กลายเป็นว่าจุดยืนของเรามันเริ่มเปลี่ยน จากตอนแรกพยายามแก้ไขปัญหาสังคม ต้องการช่วยหมอจริงๆ มันเริ่มเปลี่ยน
พอรู้ตัวเองผมก็ถอยหลังกลับมา หลังจากนั้นผมไม่เคยส่งประกวดอีกเลย เพราะรู้สึกว่าผมแค่อยากได้รางวัลแต่ไม่ได้อยากพัฒนามันจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมันผิดจากเส้นทางที่เราร่างไว้ตอนแรก เลยตัดสินใจทำบริษัทของตัวเอง มุ่งเน้นเกี่ยวกับโรงพยาบาลโดยเฉพาะ ชื่อว่าบริษัท อินทิเกรซ โซลูชั่น จำกัด ทำงานกับแผนกรังสีวิทยาในโรงพยาบาล โดยนำผลงานที่ต่อยอดจาก NSC มาปรับให้มันใช้ได้จริง เพื่อช่วยให้หมอทำงานง่ายขึ้น
จัดการเวลา…เพื่อการรักษาที่ดีขึ้น
ตอนนี้ที่บริษัทกำลังทำเรื่องการจัดการระบบคิวในโรงพยาบาล ตอนที่ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง ผมก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของโรงพยาบาลรามาธิบดี ทำให้เห็น Pain Point แบบสุดๆ คือบ้านผมอยู่ลาดพร้าว ต้องตื่นประมาณตี 5 เพื่อจะเอาบัตรมาวางไว้ในตะกร้าตอนเจ็ดโมงครึ่ง แล้วก็ต้องลุ้นว่าเราจะได้เข้าตรวจเมื่อไหร่ บางทีผมมาวางบัตรตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง คิวผมเก้าโมงครึ่ง แต่ได้ตรวจตอนสิบโมงครึ่ง ทำให้เห็นว่าจุดอ่อนคืออะไร และช่วงนั้นผมไปโรงพยาบาลบ่อยมากเพราะเป็นช่วงติดตามผลนาน 2 – 3 ปี ทำให้เห็นพฤติกรรมของคนทุกคน เห็นวิธีจัดการของพยาบาล เห็นวิธีการจัดการของหมอ วิธีการเรียกคิวของหมอ รู้สึกว่าถ้าเราช่วยลดเวลาสักช่วงหนึ่งลง ลดแรงกดดันของคนไข้ลงได้ มันก็น่าจะดีครับ
ผู้ใช้เปลี่ยนได้…ถ้าของดีจริง!
ล่าสุดผมไปทำระบบคิวให้แผนกรังสีวิทยาของโรงพยาบาลที่เพชรบูรณ์ วันแรกที่เข้าไปติดตั้งพนักงานต่อต้านเลย เขารู้สึกว่าเป็นการเพิ่มภาระมากขึ้นเพราะจะต้องมีขั้นตอนในการใช้งานเพิ่ม ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาทั้งที่ผมไม่อยากเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ (User) มากที่สุด อยากให้ทำแบบเดิมแต่เพิ่มอีกแบบง่ายๆ แค่นั้น ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าแผนกเขารู้สึกว่าพวกผมมีใจที่จะช่วยจริงๆ ผมไม่ได้เข้ามาแล้วบอกว่าพี่จะต้องซื้อกับผม ผมไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของเขา แทบจะนั่งเรียนรู้กับเขาก่อนด้วยซ้ำว่าตั้งแต่คนไข้เดินเข้ามา คนไข้จะต้องมีขั้นตอนนั่งรอตรงไหน คนไข้จะดูอะไร คนไข้ต้องเข้าใจอะไร ฯลฯ ผมต้องทำการบ้านทั้งหมด พอเราติดตั้งวันแรกวันนั้นคนไข้เยอะมากแค่ภาคเช้า 200 กว่าคน ผมเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้คือเป็นเหมือนทีมงานคนหนึ่งที่อยู่กับเขา ช่วยเขา สอนเขา และเรียนรู้ไปกับเขา
สิ่งที่เขาให้ความเห็นคือระบบมันโอเค ทุกคนเข้าใจระบบ แต่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมให้กับคนไข้ เราก็พยายามตอบสนองเร็วมาก วันต่อมาเจ้าหน้าที่และคนไข้เริ่มรู้สึกว่าถ้ามีระบบนี้ก็ดี ทำให้รู้ว่าถึงลำดับที่เท่าไหร่แล้ว อีกกี่คิวจะได้พบหมอ พอวันที่สามเริ่มสนุก สามารถเรียกเคสโดยที่ไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกแปลกแยก เช่น ผู้ป่วยที่เป็นพาหะ ติดเชื้อ นักโทษ ฯลฯ เขามีบาดแผลในใจ ทำอย่างไรให้ระบบเป็นตัวสื่อสารและไม่ทำให้คนอื่นมีคำถามกับคนกลุ่มนี้ ผมเก็บ feedback เก็บอารมณ์ เก็บสีหน้าทุกคนว่าเขารู้สึกอย่างไร แล้วนำกลับมาคุยกับทีมงาน น้องๆ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้สูญเปล่า และมีกำลังใจในการพัฒนาต่อไป
ปิดทองหลังพระ…บริษัทสีขาว
ถ้าถามว่าทำไมผมถึงอยู่กับวงการแพทย์ มีพี่คนหนึ่งชื่อพี่อดิสรณ์ (คุณอดิสรณ์ ท่าพริก) เขาทำงานเพื่อสังคมและโรงพยาบาลมาตลอด สิ่งที่เขาปลูกฝังกับผมคือ หนึ่ง เราต้องทำบริษัทสีขาว สอง เขาพูดกับผมว่าการที่น้องช่วยลดระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งนาทีในการช่วยชีวิตคนหนึ่งคนแปลว่าน้องได้ทำบุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรอีก ผมรู้สึกว่ามันซื้อใจ แล้วเราก็อยากทำแบบนั้น ซึ่งพี่เขาทำทุกอย่างโดยไม่เคยคิดอยากจะ โปรโมทว่าเขาทำสิ่งนี้เพื่อโรงพยาบาล เหมือนพยายามปิดทองหลังพระเดี๋ยววันหนึ่งมันก็ล้นมาหน้าองค์พระเอง แล้วมันก็จะขับเคลื่อนตัวเราไปได้ มันก็เลยทำให้ผมยังปิดทองหลังพระอยู่ ณ ตอนนี้ครับ
แรงบันดาลใจจากคนข้างหลัง
สิ่งที่เป็นแรงผลักดันสำหรับผมคนแรกคือแม่ ถ้าผมไม่มีแม่คอยปลูกฝังว่าเราจะต้องช่วยประเทศชาติ เราก็คงไม่มีแรงผลักดันเหมือนในตอนนี้ คนที่สองคืออาจารย์ สมัยก่อนผมเรียนไม่เก่งมากๆ จนกระทั่งมีอาจารย์คนหนึ่งเดินมาคุยกับผมแล้วบอกว่าเขาเชื่อมั่นในตัวผมมาก ถ้าตั้งใจเรียนสักนิดเราจะไปได้ไกล ตอนนั้นอยู่ ม.3 มันอยู่ตรงเส้นบางๆ ว่าเราจะไปสายพาณิชย์หรือจะเรียนสายวิทย์ต่อ เขาทำให้เราสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น อีกจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาว่าเราต้องตั้งใจจริงๆ คืออาจารย์ท่านนั้นเป็นมะเร็งแล้วเสียชีวิต ตอนนั้นผมอยู่ปี 2 เทอม 2 ผมนั่งอ่านหนังสืออยู่แล้วนึกถึงว่าถ้าเราช่วยเขาได้ก็คงดี พอปี 3 – ปี 4 ก็เลยตั้งใจมาก ทุกอย่างมันก็เปลี่ยน ปริญญาโทก็เปลี่ยน ตอนจบปริญญาตรีแรกๆ ยังคิดว่าเราต้องไปผจญโลกกว้าง แต่พอกลับมาเรียนปริญญาโทรู้เลยว่าเราอยากจะทำเพื่อคนข้างหลัง ไม่ใช่เพื่อเราแล้ว
เงินไม่สำคัญเท่าชีวิตคน
ยุคสมัยนี้ทุกคนพูดถึงแต่สตาร์ทอัพ สำหรับผมไม่ได้กำหนดว่าอยากจะได้เงินเท่าไหร่ แต่กำหนดจากโจทย์ว่าผมอยากจะช่วยคนมากเท่าไหร่ ผมอยากจะทำอะไรเพื่อคนอื่น ไม่ได้คิดเลยว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จขนาดไหน มันจะเจ๋งขนาดไหน มันจะเจ๊งไหม แต่สิ่งที่คิดคือเราสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไรบ้าง บางครั้งเด็กสมัยใหม่อาจถูกวัตถุนิยมบีบมากเกินไป ทำให้เราเอาเงินเป็นที่ตั้งโดยไม่ได้มองแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร ไม่ได้มองว่าสิ่งที่ลูกค้าอยากจะได้จริงๆ คืออะไร คิดแค่ว่าทำมาแล้วได้กำไรหรือเปล่า ได้กำไรเท่าไหร่ เราพูดถึงแต่กำไร พูดถึงผลประโยชน์อย่างเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งพวกนี้ผมพูดเป็นอันดับสองมากกว่า อันดับหนึ่งของผมคือมันได้ใช้ประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า แล้วพยายามจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กลับไปยังจุดยืน ณ วันแรก
ถ้าฝากในมุมของรุ่นพี่ NSC ก็คือสิ่งที่คุณคิดหรือทำในการประกวดวันแรก คุณมีความรู้สึกจริงๆ อย่างไร วันนี้อยากให้มีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ ผมเข้าใจว่าบางคนอาจถูกอาจารย์ชักจูงมาหรืออยากจะมาเอง ไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัล แต่ถ้าความรู้สึกตอนแรกที่คุณอยากจะทำมาถึงวันนี้ยังไม่หายไป ผมเชื่อว่ามันจะไปต่อได้ ซึ่งโมเมนต์ที่ผมอยากจะทำวันแรกกับวันนี้ยังเป็นเหมือนเดิม หลายคนที่ถามผมว่าหลังแข่ง NSC ผ่านไปหกปีความรู้สึกของผมเป็นอย่างไร ผมก็ยังพูดคำเดิม ผมอาจจะเป๋ไปทางอื่นบ้าง แต่สุดท้ายพอรู้ว่ามันไม่ใช่ผมก็กลับมายืนทางเดิม นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะจุดยืนของผมคือทำอย่างไรก็ได้เพื่อช่วยคนอื่น แต่ระหว่างทางก็ต้องอดทนรอ เส้นทางมันไม่ได้สวยหรู
บ้านแห่งความภาคภูมิใจ
เป็นธรรมดาที่ในการทำงานต้องเจอปัญหาอุปสรรค สิ่งที่ทำให้ผมผ่านมาได้คือทีมงาน น้องๆ ที่อยู่ในออฟฟิศ รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในบ้าน ในชีวิตของผม เหมือนเขาเป็นน้องของผมจริงๆ คนหนึ่ง ผมมีความรู้สึกว่าการที่จะต้องเดินออกไปข้างนอกเพื่อขายงาน ต้องฟันฝ่ากับคู่ต่อสู้ เราก็มีท้อบ้างเหนื่อยบ้าง แต่พอเดินกลับเข้ามาในออฟฟิศ ผมรู้สึกเหมือนเดินเข้าบ้าน ได้เจอพี่น้องของผมจริงๆ ผมมีปณิธานว่าวันหนึ่งที่ผมจากไป ผมก็ยังอยากให้บริษัทมันเดินไปด้วยแนวคิดนี้ ผมพยายามปลูกฝังให้น้องๆ ทำงานเพื่อคนอื่นจริงๆ เราไม่ได้อยากทำงานเพื่อตัวเราเอง และพอเราไปถึง ณ จุดนั้น มันจะเป็นความภูมิใจกลับเข้ามาหาเรา
อย่าสิ้นสุดแค่ถ้วยรางวัล
สำหรับ NSC ผมมีคำถามว่าพอแข่งจบแล้วเราไปไหนต่อ มีอะไรต่อยอดได้บ้าง เข้าใจว่าบางที Passion ของเด็กไม่ได้เกิดจากตัวเด็กจริงๆ แต่ถ้ามีเด็กกลุ่มหนึ่งเกิด Passion ของเขาจริงๆ เนคเทคสามารถสนับสนุนอะไรกับคนกลุ่มนี้ได้บ้าง ซึ่งโปรดักส์ที่เกิดขึ้นจากการประกวดมันไม่สามารถเอาไปใช้งานได้จริงทั้งหมด เราต้องเชื่อในเรื่องนี้ก่อน ไม่ใช่ว่าจบ NSC แล้วสามารถขายได้เป็นหลักหลายล้านเลย ในธุรกิจจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น
ตอนนี้ผมได้รับเกียรติจากทางเนคเทคให้เป็นกรรมการของโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ โครงการนี้ค่อนข้างดีที่อย่างน้อยก็ได้ไปถึงจุดสุดท้ายของโปรดักส์จริงๆ อย่างน้อยความคิดของน้องที่ทำออกมาก็ดูเหมือนจะใช้งานได้จริง หลายทีมก็ออกมาเป็นโปรดักส์จริงเลย ถ้ามีโครงการแบบนี้อีกในเนคเทค หรือเนคเทคสามารถสนับสนุนทางด้านนี้ หรือมีค่ายวิทยาศาสตร์ระดมคนที่ชนะ NSC มาเข้าค่ายต่อ มันน่าจะเวิร์คขึ้น ซึ่งผมพยายามบอกน้องๆ ว่า สิ่งที่น้องทำมันไม่ใช่แค่ล่ารางวัล แต่ต้องทำเพื่อให้เกิดขึ้นมาได้จริงๆ
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ผมเป็นคนที่อินกับประเทศไทยมาก ผมเริ่มเห็นคนหลายคนตั้งแต่คนที่อยู่ล่างเราจนถึงคนที่อยู่สูงกว่าเรา เห็นตั้งแต่คนป่วย คนที่หาทางออกของชีวิตไม่ได้ จนถึงตอนนี้ผมก็เริ่มเห็นแล้วว่าถ้าจะให้นิยามตัวเองจริงๆ ผมอยากจะทำอะไรก็ได้ที่สามารถช่วยคนกลุ่มนี้ได้ เหมือนเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมจริงๆ สมัยก่อนเวลาเห็นคนที่ทำงานเพื่อสังคมส่วนใหญ่ไม่รวย แต่ผมจะช่วยสังคมและผมต้องรวย ผมคิดอย่างนี้ในหัวเสมอ ผมทำเพื่อคนอื่นแต่สุดท้ายผมต้องมีตังค์เหมือนกัน เราช่วยคนอื่นแล้วเราก็ต้องช่วยคนในครอบครัวของเราด้วย คนในครอบครัวของผมหมายถึงพนักงานในออฟฟิศทุกคนต้องยกระดับ ต้องไปด้วยกัน
(อยาก) เป็นตำนานของวงการแพทย์
สำหรับอนาคตถ้าเป็นเป้าหมายเรื่องสังคม หลังจากที่ตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะสร้างอะไรต่อจากนี้ เราจะสร้างชื่อเสียงหรือจะสร้างตำนาน ซึ่งผมอยากสร้างตำนานมากกว่า มันคือจุดหักเหของชีวิต ผมต้องเลือกว่าจะไปเรียนต่อปริญญาเอกหรือจะทำงานเพื่อสังคม สุดท้ายผมเลือกสังคมดีกว่า พอเลือกสังคมปุ๊บมันก็เลยประจวบกับทางการแพทย์พอดี เราก็เลยมุ่งไปทางการแพทย์เลย
สร้างค่านิยมเพื่อสังคมที่ดีขึ้น
ตอนนี้ผมกำลังจะมีลูก ผมก็เริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ว่า ทำอย่างไรให้สิ่งที่กำลังจะเกิดมาในสังคมดีกว่าที่เราอยู่ ซึ่งมันเริ่มต้นที่สังคมของเราก็คือในออฟฟิศของเรา ผมคุยกับน้องๆ เสมอเรื่องความเห็นแก่ตัวว่า สิ่งที่เราทำ ที่เราเหนื่อย เราท้อ ความเห็นแก่ตัวของเรามันกำลังจะก่อเกิดขึ้น ความชั่วร้ายของเรามันก็จะค่อยๆ ทยอยและก่อเกิดความอยากเอาเปรียบคนอื่น ขนาดพูดหลายครั้งว่าเราช่วยสังคม บางทีเรายังเห็นแก่ตัวเลย แปลว่าที่เราทำมันยังไม่พอหรือเปล่า ผมเชื่อว่าวันหนึ่งถ้าเราทำมากๆ ความเห็นแก่ตัวในสังคมมันจะลดลงไปจริงๆ ซึ่งอาชีพที่ผมนับถืออันดับหนึ่งคือพยาบาล เพราะพยาบาลเป็นคนกลางที่น่าสงสารมาก หมอก็กดดัน คนไข้ก็กดดัน ผมอยากจะช่วยเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลที่เขาอยู่ตรงกลาง ทำอย่างไรให้เขาสบายขึ้น ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเผชิญหน้ากับคนไข้ ไม่ต้องเถียงกับหมอ ผมคิดว่าถ้าชีวิตพยาบาลเริ่มดี สังคมก็จะดีเหมือนกัน ผมเลยพยายามปลูกฝังให้คนในออฟฟิศมองแบบนี้ จะได้พัฒนาสังคมไปด้วยกันครับ …
วิกฤตในชีวิตไม่ใช่เรื่องน่าสนุก หากแต่ในแง่หนึ่งก็ได้มอบมุมมองที่ลึกซึ้งให้กับเจ้าของชีวิตนั้น ในวันที่ชีวิตผ่านพ้นวิกฤตมาหลายขนาน เบนซ์เลือกที่จะใช้กำลังที่มีอยู่เพื่อผู้อื่นมากกว่าความร่ำรวยของตัวเอง และพยายามอยู่ตลอดเวลาในการถ่ายทอดค่านิยมที่เขาเชื่อไปสู่เพื่อนพ้องน้องพี่ แน่นอนว่าชีวิตของเขาอาจไม่ได้มี ‘มูลค่า’ สูงระดับอภิมหาเศรษฐี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่แหละคือชีวิตที่มี ‘คุณค่า’ อย่างที่สุด
ข้อมูลการศึกษา
- 2010 – 2012 : Master of Engineering (Computer Engineering) King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT), Bangkok, Thailand
- 2004 – 2008 : Bachelor of Engineering (Computer Engineering) King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT), Bangkok, Thailand
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2012
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- 2012
- First Price, National Software Contest 14th [System for 3D display of medical image]
- First Price, Imagine Cup Thailand 2012 [Novitat : The Smart House]
- First Runner up Price, Thailand ICT Contest Festival 2012 [The Smart House]
- Runner up Price, IT Princess Award [Virtual Reality Room]
- 2011
- First Runner up, Imagine Cup Thailand 2011 [3Diz : Mr.i]
- 2017 – ปัจจุบัน
- Project Co-ordinator, Demuq Co., Ltd.
- 2014 – ปัจจุบัน
- Managing Director, Integrace Solution Co., Ltd.
ความเชี่ยวชาญ
- Programming : C#
- Mobile : Xamarin
- Web Programming : HTML5, PHP, ASP .Net, Javascript
- Database : Microsoft SQL, My SQL
- Operating System : Windows, Linux