- “เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน ความรู้จึงไม่ควรหยุดนิ่ง”
…คือแนวคิดที่ ‘ต้น’ ธนานพ กอบชัยสวัสดิ์ ว่าที่นักวิจัยหนุ่มอนาคตไกล เปรยกับเราผ่านบทสัมภาษณ์ ที่ว่าด้วยชีวิตที่ผ่านมาและเส้นทางที่อยากจะมุ่งหน้าไปของเขา จากอดีตมือแข่งขันระดับรางวัล สู่บทบาทของว่าที่อาจารย์และนักวิจัย ต้นบอกว่าสิ่งสำคัญของคนไอทีคือการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง และปัจจัยสำคัญของกระบวนการนั้น ก็คือ ความรู้ นั่นเอง
เข้าวงการเพราะจอเขียว
ผมเล่นคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กๆ ครับ มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้านตั้งแต่เป็นจอเขียว คุณอาจะเอาคอมพิวเตอร์เก่าๆ มาให้ใช้ตั้งแต่ป.1 ตั้งแต่นั้นมาก็ชอบคอมพิวเตอร์และสนใจมาเรื่อยๆ ครับ มาเริ่มแข่งขันครั้งแรกกับเนคเทคตอน ป.6 น่าจะเป็นปีแรกที่มีการจัดแข่งขันประกอบคอมพิวเตอร์ ครั้งต่อๆ มาเป็นช่วงมัธยมฯ ตอนนั้นเนคเทคกำลังโปรโมท LinuxTLE และมีแข่งขันติดตั้ง Server Linux ก็ได้เข้าไปแข่งขัน หลังจากนั้นเป็นช่วง ม.ปลายที่โรงเรียนจะให้นักเรียนที่เรียนวิชาเขียนโปรแกรมส่งโครงการเข้าแข่งขัน NSC เลยได้ส่ง NSC ครั้งแรกเป็นผลงานเกมปลูกผักที่ส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ไม่ได้รางวัลครับ
ปันใจให้ไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่ทิ้งคอมฯ
จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่จุฬาฯ ตอนนั้นมีเหตุเล็กน้อยก็เลยเปลี่ยนความสนใจไปเรียนด้านไฟฟ้าแทน แต่ได้ทำโปรเจกต์กับเพื่อนโรงเรียนเก่าที่อยู่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วง ม.ปลายก็เคยทำโปรเจกต์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วยกันอยู่แล้ว ตอนนั้นมีโอกาสได้ไปเข้าค่ายคอมพิวเตอร์โอลิมปิกด้วยก็เลยเกาะกลุ่มกันมาจนมาถึงมหาวิทยาลัยครับ และได้ทำโปรเจกต์ร่วมกันตอนปีสอง เป็นโปรแกรมช่วยเหลือคนพิการ โดยให้ผู้ใช้พูดเป็นเสียงพูดเข้าไป หลังจากนั้นจะสร้างเป็นโมเดลภาษามือออกมา แปลงจากเสียงเป็นโมเดลสามมิติ ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ แต่ไม่ได้รางวัลครับ
อัพพลังสร้างสรรค์จากการแข่งขันรัวๆ
หลังจากนั้นผมทำโปรเจกต์จบเกี่ยวกับการนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาวิเคราะห์ ช่วงนั้น AI Machine Learning กำลังมาแรง ผมเลยสนใจทำโปรเจกต์เรื่องนี้ แล้วไปต่อปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และได้ทำโปรเจกต์หัวข้อ Text Detection คือพอถ่ายรูปมาปุ๊บ เราจะหาว่ามันมีข้อความอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งโจทย์นี้มันเอาไปใช้ประโยชน์ได้เยอะมาก อย่างเช่น Google Translate เวลาเราถ่ายรูปมามันก็จะแปลจากข้อความภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง และมันต้องใช้เรื่องพวกนี้ไว้ทำงาน ช่วงนั้นเป็นปีแรกที่เรียนปริญญาโท ทาง NSC ก็เปิดหัวข้อการแข่งขัน BEST (การวัดเปรียบเทียบสมรรถนะเพื่อพัฒนามาตรฐานการประมวลผลภาษาไทย – Benchmark for Enhancing the Standard for Thai language processing) เป็นเรื่องเดียวกับที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่พอดี ก็เลยส่งผลงานเข้าแข่งขันและได้รางวัลที่หนึ่งครับ
ปีต่อมาเปลี่ยนหัวข้อใหม่เป็นหัวข้อที่ทำต่อยอดจากของเดิม เป็นการอ่านป้ายนักวิ่งจากภาพนักวิ่ง ช่วงนั้นกระแสงานวิ่งกำลังมาแรง แต่ละงานวิ่งจะมีช่างภาพเยอะมาก เขาไปถ่ายรูปงานวิ่งงานหนึ่งได้รูปเป็น 1,000 รูป แล้วต้องมานั่งคลิกหาคนทีละรูป ปีนั้น BEST มีโจทย์ว่าให้อ่านหมายเลขจากนักวิ่งแบบอัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้คีย์เลขเข้ามาก็จะหาภาพที่มีเลขเหล่านั้นออกมาได้เลย ผลงานนี้ก็ได้ที่หนึ่งครับ
ปีถัดมาคือปีล่าสุดเป็นโจทย์ Human Detection คือจากภาพกล้องวงจรปิดที่มีคนอยู่เยอะมาก เราอยากนับว่าในภาพกล้องวงจรปิดช่วงนี้มีคนเดินผ่านไปผ่านมากี่คน ซึ่งสามารถเอาไปทำพวก Security Monitoring ได้ ผลงานนี้ก็ได้ที่หนึ่งเช่นกันครับ
อัพเกรดตัวเองให้ทันโลกไอที
การแข่งขันแต่ละครั้งทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาตัวเอง เนื่องจากสายคอมพิวเตอร์มันพัฒนารวดเร็วมาก แต่ละปีเทคโนโลยีอาจเปลี่ยนไปเยอะมาก อย่างสายที่ผมทำอยู่จะเป็นพวก AI Machine Learning หรือด้าน Computer Vision เกี่ยวกับการนำภาพมาประมวลผลในคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีต่างๆ ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีมันพัฒนาไปเร็วมาก ปีหนึ่งมันก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งแล้ว ทำให้เราต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะบางอย่างมันใหม่เกินกว่าจะหาคนมาสอนได้ เราต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อหาจะเป็นภาษาอังกฤษ
แชร์ความรู้ในสนามแข่ง
ถ้ามองในแง่คุณค่าที่ได้รับจากการแข่งขัน จะเป็นเรื่องการได้รู้จักคนอื่นๆ ค่อนข้างเยอะครับ อย่างตอนที่ผมส่งหัวข้อ BEST ตอนนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่เข้ามาเรียนปริญญาโท ซึ่งค่อนข้างเน้นเรื่องงานวิจัย พอมาแข่งขันหัวข้อ BEST ก็ได้รู้จักคนที่ทำหัวข้อวิจัยคล้ายๆ กันค่อนข้างเยอะเลยครับ ทั้งจากเนคเทคและอาจารย์มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทำให้ได้รู้จักคนที่ทำงานในแวดวงเดียวกัน มีการพูดคุยกันต่อมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ เราก็มีการแชร์ความรู้ให้กัน
อนาคตอาจารย์ (หรือนักวิจัย)
ด้วยความที่หัวข้อที่ผมทำโปรเจกต์ตอนปริญญาโทมันมี Impact ค่อนข้างเยอะ ก็เลยมี passion อยากทำต่อ เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่คณะเดิม จริงๆ มีสองทางที่ผมอยากเป็น เนื่องจากช่วงที่เรียนเป็นนักเรียนบัณฑิตศึกษา ผมมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยสอนของอาจารย์หลายท่าน และได้สอนวิชา Computer Vision ด้วย หลังจากช่วยสอนมาหลายปีรู้สึกชอบเรื่องการสอน เราได้ช่วยน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ให้มีความรู้ที่กว้างขึ้น ใช้ประสบการณ์จากที่เราศึกษามาด้วยตัวเอง แทนที่จะให้น้องไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ศูนย์ แต่เราเรียนรู้บางส่วนมาบ้างแล้ว เราก็ช่วยให้น้องไปได้เร็วขึ้น ซึ่งจากตรงนี้ก็คล้ายๆ เราส่งเด็กรุ่นใหม่เข้าไปสู่ NSC ด้วยครับ นี่เป็นทางเลือกที่อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
สำหรับอีกทางหนึ่งก็คือเนื่องจากเราทำวิจัยมาและรู้สึกชอบมาก ก็อยากเป็นนักวิจัยต่อ มีความคาดหวังว่าถ้าได้ทำงานเป็นนักวิจัยต่อก็ดีทั้งในไทยหรือไปทำ workshop ที่ต่างประเทศ
สร้าง Challenge ให้รุ่นน้อง
ตอนนี้ผมเป็น TA วิชา Computer Vision ในวิชาจะเรียนแบบเลคเชอร์ครึ่งหนึ่งทำแล็บครึ่งหนึ่ง ผมจะดูแลตอนน้องๆ ทำแล็บ และจะมีให้ทำโปรเจกต์ใหญ่หนึ่งตัว เราให้น้องส่งโปรเจกต์เข้าแข่งขัน NSC ซึ่งผมจะคอยช่วยดูว่าน้องติดปัญหาตรงไหน เหตุผลที่อยากให้น้องส่ง NSC เพราะคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับน้องที่เรียนอยู่ปี 4 และใกล้จบแล้ว น่าจะส่งผลงานอะไรสักอย่างเป็นการท้าทายตัวเองก่อนจบมหาวิทยาลัย และได้รางวัลให้ตัวเองเป็นโปรเจกต์ใหญ่ ซึ่งตอนที่เราทำ เราต้องทำเองทุกอย่าง แต่พอให้คำปรึกษาน้อง เราจะให้คำปรึกษาบ้าง บางส่วนก็ให้น้องไปหาเอง เพราะต้องให้น้องเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย จะไม่ได้บอกทั้งหมด 1 2 3 แต่บอกเป็นแนวทางให้เขาไปทำต่อ
หมุนเคลื่อนไปตามกระแสโลก
ช่วงนี้เทคโนโลยีประเภท AI Machine Learning มาแรง ผมเห็นว่า NSC ก็มีการพัฒนา คือมีการเปิดหัวข้อใหม่ที่เป็น AI และไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ถึงเรียนปริญญาโทก็ยังส่งได้ เท่าที่เห็นมาในช่วงสองปีที่ผ่านมามีงานที่น่าสนใจส่งเข้ามาเยอะ จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทยหรือหน่วยงานการศึกษามีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับที่โลกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีส่วนหนึ่ง แต่ผมคิดว่าน่าจะให้มีการแข่งขันเพิ่มเติม เพื่อให้คนที่สนใจทางด้านนี้สามารถมาเข้าร่วมและมีการแข่งขันกันมากขึ้น
แชร์ประสบการณ์สตาร์ทอัพ
หากจะรวมกลุ่มคนที่เคยผ่านเวที NSC ในมุมของคนส่วนใหญ่ก็อาจจะคิดเรื่องสตาร์ทอัพเพราะตอนนี้กำลังฮิตอยู่ อาจมีการแชร์ประสบการณ์ว่ามีความล้มเหลวอะไรบ้าง หรือผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง เท่าที่ผมเคยได้ยินสตาร์ทอัพรุ่นพี่คนอื่นๆ เขาล้มเหลวมาแล้วเป็นสิบๆ ครั้ง แต่ดีครั้งเดียวได้เลย น่าจะเป็นแนวที่คนทั่วไปสนใจ ส่วนในแนวของนักวิจัยก็อาจจะเป็นวงจำกัด ซึ่งปัจจุบันก็มีการรวมกลุ่มค่อนข้างเยอะ คนไม่ต้องมาเจอหน้าก็สามารถพูดคุยกันทางอินเตอร์เน็ตได้ครับ
เรียนรู้เองไปได้ดี บวกภาษาดีไปได้ไกล
สำหรับคนที่อยู่สายคอมพิวเตอร์น่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าเทคโนโลยีค่อนข้างไปเร็วมาก ทั้งสายที่เป็นการทำวิจัยหรือสายการพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป ทั้งสองสายนี้บางทีช่วง 2 – 3เดือนก็เปลี่ยนเทคโนโลยีไปรอบหนึ่งแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเองค่อนข้างสูงมาก เราต้องพัฒนาตัวเอง ต้องรู้จักฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ถ้าเราล้าหลังไปก็จะไม่ทันคนอื่น
ทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องภาษา เนื่องจากในแวดวงคอมพิวเตอร์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร ทั้งการวิจัยหรือซอฟต์แวร์เฮ้าส์ต่างๆ ที่เป็นนานาชาติจะใช้ภาษาอังกฤษทั้งนั้น จริงๆ ในไทยผมว่าแรงงานสายคอมพิวเตอร์ก็มีคุณภาพ เพราะจากที่ได้มีประสบการณ์สัมผัสกับแวดวงที่เป็นธุรกิจมาส่วนหนึ่งก็มีคนเก่งค่อนข้างเยอะ ถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาคนที่เรียนรู้ได้เร็วและมีทักษะทางภาษาค่อนข้างดีได้ ก็น่าจะไปได้ไกลครับ
พัฒนาตัวเองจากการแข่งขัน
สิ่งที่ผลักดันให้ผมประสบความสำเร็จที่ผ่านมาก็มาจากการแข่งขันส่วนหนึ่ง เมื่อเราได้มีการพัฒนาตัวเอง เราเห็นคนอื่นเขาทำมันแล้ว เราก็อยากทำให้มันดีกว่านั้น คิดว่าเราน่าจะพัฒนาอะไรเพิ่มเติมจากของที่เขาทำได้ และเนื่องจากเราอยู่ในแวดวงนี้มาค่อนข้างเยอะ เราต้องมีความรู้ที่จะเอามาช่วยเสริมให้ผลงานมันดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือเรามีความทุ่มเทกับมัน เรามีความอยากทำ สนุกไปกับมัน ทำแล้วอยากทำอีกไปเรื่อยๆ ครับ
มากกว่ารางวัล คือความรู้
ช่วงแรกๆ ที่แข่งขันผมไม่ค่อยได้คิดเท่าไหร่ว่าถ้าไม่ได้รางวัลจะเป็นอย่างไร แค่อยากทำงานร่วมกับเพื่อนมากกว่า ทำแล้วรู้สึกสนุกที่ได้ทำ ได้เห็นว่าเขาทำกันอย่างไร ไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร อย่างเช่น ตอนที่ทำหัวข้อที่แปลงจากเสียงเป็นโมเดลสามมิติ ตอนนั้นก็ได้ทำเกี่ยวกับเรื่อง Speed Recognition คือแปลงจากเสียงให้เป็นตัวหนังสือ แล้วค่อยแปลงจากตัวหนังสือให้เป็นโมเดลสามมิติอีกทีหนึ่ง ช่วงนั้นเทคโนโลยี speed recognition กำลังมาแรง ทำให้เราเห็นภาพรวมว่าเขาทำกันอย่างไร เราก็ได้ความรู้จากตรงนั้นมาด้วย ไม่ได้มองว่าส่งไปแล้วจะได้รางวัลหรือไม่ได้ เพราะอย่างไรเราก็ได้ความรู้มาเพิ่มอยู่ดี
ทางเลือกสำหรับสายวิจัย
ในสายงานวิจัย นอกจากอาจารย์หรือนักวิจัย เดี๋ยวนี้พวก Text Company ก็ต้องการคนที่ทำ Machine Learning เก่งๆ เยอะมาก จริงๆ ในไทยก็มีหลายบริษัท ทั้งที่เป็น NLP (การประมวลผลภาษาธรรมชาติ – Natural Language Processing) เป็นการประมวลผลทางภาษาหรือที่เป็นตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตต่างๆ เช่น เราคาดการณ์ว่าลูกค้าคนนี้มีแนวโน้มที่จะทำประกันไหม หรือถ้าเป็นสาย Computer Vision ทำเกี่ยวกับรูปภาพ การวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า ลูกค้าเข้ามาในร้านใช้เวลากับแคชเชียร์นานเท่าไหร่ หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจเอาไปวิเคราะห์เพื่อช่วยส่งเสริมการขาย ก็จะมีงานสายพวกนี้อยู่ในไทยที่ค่อนข้างมาแรงครับ
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ผมมองว่าตัวเองเป็นแนวๆ นักวิจัย เรามีความอยากที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ที่ยังไม่เคยมีคนทำมาก่อน หรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มันดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครคิดที่จะสร้างระบบที่สั่งให้จับคนได้ หรืออ่านตัวหนังสือจากป้ายที่ทำงานได้รวดเร็วขนาดนี้ หรือยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันก็คือสมาร์ทโฟน เมื่อ 10 ปีที่แล้วยังไม่คิดว่าจะมีสมาร์ทโฟนขนาดเล็กเท่านี้อยู่ในกระเป๋า แถมยังเร็วกว่าคอมพิวเตอร์เมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็น 10 เท่า ทั้งที่ขนาดเล็กลงตั้งเยอะ สิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตจากนักวิจัยทำมา เราก็อยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่สังคมโลก ความฝันของผมก็คืออยากสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นสิ่งที่คนใช้กันทั่วไปหรือเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จัก อยากให้สิ่งที่ทำมาจากเรามันขยายไปในวงกว้าง
ภารกิจขยายวง (กลม) ความรู้
ในมุมของนักวิจัย เราจินตนาการว่าความรู้เป็นวงกลม นักวิจัยพยายามดันวงกลมนั้นออกไปอีก เราขยายขอบเขตของความรู้ออกไป เพราะบางทีการศึกษาด้วยตัวเองก็อาจจะศึกษาแค่ในวงกลม แต่เราจะทำให้วงกลมขยายออกไปอีก 1 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มความรู้ของมนุษยชาติออกไป นั่นคือส่วนหนึ่งที่นักวิจัยอยากทำกัน มันคือการขยายขอบเขตความรู้ของมนุษย์ออกไปครับ …
เพราะเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา ต้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนาตนเองมาอย่างโชกโชน เขาจึงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของความรู้ ว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับมนุษยชาติ ยิ่งในโลกของไอทีที่ทุกสิ่งเคลื่อนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การพยายามทำความเข้าใจเพื่อตามให้ทันโลกจึงต้องอาศัยความรู้ที่ไวและชัดเจน ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่อาจต้องมีผู้ช่วยที่คอยบุกเบิกและจัดการความรู้เหล่านั้นให้ และนั่นเองคือสิ่งที่ต้นกำลังมุ่งไป…
ข้อมูลการศึกษา
- Chulalongkorn University
- PhD Student – Computer Engineering (2016 – Present)
- Thesis Tile : Thai Scene Text Recognition
- Advisor : Asst. Prof. Thanarat Chalidabhongse
- Master of Engineering – Computer Engineering (2013-2016)
- Thesis Title : Thai Text Localization in Natural Scene Images
- Advisor : Asst. Prof. Thanarat Chalidabhongse
- Bachelor of Engineering – Electrical Engineering (2008 – 2012)
- Senior Project : Multiple CCTV Management Framework for Android based Mobile Phone
- Advisor : Asst. Prof. Supavadee Aramvith
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2010
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- First place in BEST 2018 : Human Detection Contest in National Software Contest 2018 (NSC:2018) organized by NECTEC.
- First place in IT Princess Award 2017 (organized by Foundation for Research in Information Technology : FRIT) in student research innovation category.
- First place in BEST 2017 : Text Localization and Recognition Contest in National Software Contest 2017 (NSC:2017) organized by NECTEC.
- First runner up in TICTA Award 2016 (Thailand ICT Award 2016) in research and innovation category.
- First place in BEST 2016 : Text Localization and Recognition Contest in National Software Contest 2016 (NSC:2016) organized by NECTEC.
- Final round candidate in IT Princess Award 2016 (organized by Foundation for Research in Information Technology : FRIT)
- First place in BEST 2015 : Text Location Detection Contest in National Software Contest 2015 (NSC:2015) organized by NECTEC.
- Final round candidate in IT Princess Award 2015 (organized by Foundation for Research in Information Technology : FRIT)
- Honorable mention “Value to Society” in 2nd ITU IPTV Application Challenge in the topic “Thai Sign Language Finger spelling System for Bridging Communication between Thai People and Thai Deaf” (December 2012)
- Final round candidate in Nation Software Contest 2010 (NSC:2010) in the topic “Speech to 3D Sign Language Animation” , assistive technology category.
ปัจจุบัน
- PhD Student – Computer Engineering Chulalongkorn University
ความเชี่ยวชาญ
- Preferred Programming Language : Python, C++, C, MATLAB, C#, JAVA, PHP.
- Computer Vision Tools :
- OpenCV (Open Source Computer Vision Library)
- EmguCV (.Net Wrapper to OpenCV)
- Aforge.Net.
- Machine Learning Tools :
- Caffe (Deep Learning Framework developed by Berkeley Vision and Learning Center),
- MatConvnet
- Tensorflow
- MxNet
- PyTorch
- GPU Programming : CUDA in C++
- Mobile Application Development :
- React-Native
- Android Development (JAVA)