แนะนำรุ่นพี่ NSC : นายนพกร ถนอมเสียง (NSC 2015)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนกรกฎาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ธวัชชัย เหล่าชัยพฤกษ์
ความฝันอาจเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ชีวิตเราเดินไปข้างหน้า…

…แต่สำหรับ ‘แมค’ นพกร ถนอมเสียง ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์หนุ่มผู้มุ่งมั่น เขาบอกกับเราว่า สิ่งที่สำคัญกว่าความฝัน ก็คือ ความเชื่อว่าเราจะสามารถทำตามความฝันได้ต่างหาก จริงอยู่ว่าเขาอาจไม่ได้พูดแบบนี้เป๊ะๆ หรอก แต่หากลองฟังประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของเขาแล้ว เราจะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

ความฝันของนัก (อยาก) แฮก!

ผมเริ่มสนใจไอทีตั้งแต่ ม.ปลาย ผนวกกับคุณพ่อทำงานสายสถิติและมีความรู้เรื่องไอที เลยสนใจจากคุณพ่อด้วยครับ ช่วงนั้นผมเล่นคอมพิวเตอร์แล้วมีโปรแกรมเล่นเกม คิดว่าทำอย่างไรจะแฮกเกมได้ (หัวเราะ) และเอาโปรแกรมมารันแล้วใช้ได้ แต่ยังไม่ได้เขียนโปรแกรม หลังจากนั้นเริ่มสนใจมากขึ้นแล้วศึกษามาเรื่อยๆ จนมาสนใจการเขียนโปรแกรมจริงจังตอน ม.5 ตอนนั้นธุรกิจเว็บไซต์กำลังมา เราอยากเปิดเว็บฯ ให้คนเข้ามาดู เป็นจุดเริ่มต้นให้เขียนโปรแกรมจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยครับ

แรงผลักจากทางบ้าน

ผมเรียนสายไอทีคือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ความตั้งใจจริงๆ อยากเรียนวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ แต่ด้วยความที่ตอน ม.ปลายเราเรียนไม่เก่ง สุดท้ายมาสอบติดไอที ตอนนั้นทางบ้านบอกว่าทำไมสอบไม่ติดวิศวะฯ มาเรียนไอทีจะได้อะไรไหม เราเลยตั้งใจกับตัวเองว่าอย่างน้อยเรียนไอทีก็ไม่อยากให้ทางบ้านดูถูกได้ คิดว่าเราเรียนสาขาอะไรก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

สร้างสรรค์ผลงานจากความขี้เกียจ!

ที่ได้เข้าแข่งขัน NSC เกิดจากช่วงปี 2 ผมเป็นผู้ช่วยสอน (TA) จนถึงปี 3 ต้องมีการสอนน้อง พาน้องทำแล็บ แต่ผมขี้เกียจเช็คแล็บเลยทำโปรแกรมตัวหนึ่งขึ้นมาช่วย ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะมีบัตรนักศึกษาอยู่แล้ว ผมก็เลยทำเป็นแอปพลิเคชันเช็คชื่อผ่านบัตรนักศึกษาบนสมาร์ทโฟน เวลาน้องทำแล็บเสร็จเราก็เอามือถือไปสแกนบนบัตรน้องว่าส่งงานแล้วและให้คะแนน ผนวกกับตอนนั้นมีอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า ทำไมไม่ลองส่งแข่งขัน NSC ดู ผมเลยเขียนข้อเสนอโครงการขึ้นมาจากปัญหาที่เกิดจากความขี้เกียจของตัวเอง ถ้าจำไม่ผิดได้รางวัลที่ 3 หรือรองชนะเลิศอันดับ 2 แต่ปีนั้นไม่มีอันดับ 1 และ 2 เพราะผลงานไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ออกจากห้องเรียนไปหาผู้ใช้จริง

สิ่งที่เรียนรู้ในครั้งนั้นเป็นประสบการณ์การทำงานที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ในมหาวิทยาลัยอาจสอนเป็นกรอบให้เราคิด พอเราได้ออกมาทำงานในความเป็นจริง มันมีทั้งที่ใช่และไม่ใช่ที่มหาวิทยาลัยสอน ซึ่งเราได้ลงมือทำ เห็นปัญหาจริงจากการที่เราพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาสักตัวหนึ่ง พอพัฒนาเสร็จทำอย่างไรโปรแกรมจะใช้ได้จริงและตอบโจทย์ผู้ใช้ เป็นเรื่องวิธีการทำซอฟต์แวร์หรือของสักอย่างขึ้นมา กระบวนการคิดแทนที่จะคิดว่าเราทำเพื่อให้ตัวเองใช้หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง กลายเป็นว่าเวลาจะคิดทำอะไร ควรจะมองถึงคนที่จะมาใช้งานว่าสิ่งที่เราทำจะไปแก้ปัญหาให้เขาได้หรือเปล่า ถ้าทำขึ้นมาแล้วไม่ได้แก้ปัญหาก็ไม่มีใครอยากใช้ มันทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น มีวิธีคิดและมองในมุมที่กว้างขึ้น

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

เติมเต็มศักยภาพ ด้วยการมีเพื่อน!

อีกเรื่องที่ได้คือพาร์ทเนอร์ การแข่งขัน NSC ทำให้มีเพื่อนวงการเดียวกันมากขึ้น เพราะในช่วง ปี 1 – 3 ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยอยากเจอใคร ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่บ้าง แต่เหมือนเราได้เห็นข้อดีของการเจอคนอื่นมากขึ้น เราได้ไปช่วยเขาก่อน สุดท้ายทุกคนก็มาช่วยกัน มันก็ได้ทั้งมิตรภาพ ได้งาน และผลประโยชน์ร่วมกัน ถ้าเราทำคนเดียวเราก็มองแค่คนเดียวว่าของเราโคตรเจ๋งเลย ทั้งที่เพื่อนอาจไม่ได้มองว่าเราเจ๋งก็ได้ แต่เราก็ช่วยกันขัดเกลา อย่างทีมผมขาดการตลาด พี่ที่ทำด้วยกันเขามีศักยภาพในการทำการตลาดออนไลน์ ก็ช่วยเกื้อกูลกัน ทำให้ทักษะในการทำการตลาดออนไลน์และออฟไลน์เราเก่งขึ้น

ใช้ประโยชน์จากคำวิจารณ์

ก่อนหน้าที่จะแข่งขัน NSC ผมเคยประกวดทำแอปพลิเคชันด้านสารสนเทศเกี่ยวกับงานแผนที่ ปีแรก (ตอนปี 2) ยังเขียนแอปฯ ไม่เป็น ส่งผลงานไปแต่ไม่ได้รางวัล ปีที่สองลองส่งไปใหม่ ด้วยความที่เราเก็บประสบการณ์และคำติจากกรรมการในปีแรกว่า การที่จะทำอะไรขึ้นมาควรจะคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง รวมทั้งเอาประสบการณ์จาก NSC มาปรับใช้ด้วย ทำให้ได้รางวัลที่ 1 ระดับประเทศ เป็นแอปฯ ช่วยในการสำรวจที่ดินของกรมที่ดินครับ

เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับรุ่นพี่

หลังจาก NSC โชคดีได้เจอคุณบอย (อัจฉริยะ ดาโรจน์) ที่ตอนนี้เป็น CEO ของไอยา เขาชวนผมไปฝึกงานหลังจากทำโปรดักส์นั้น ทำให้ได้รู้จักและได้ยินคำว่า Startup ครั้งแรก ได้ไปประกวดเวที Startup Thailand Pitching น่าจะปี 2017 ได้ที่ 1 ของภูมิภาคครับ จริงๆ ตั้งแต่ช่วง ม.3 ผมฝันอยากทำบริษัทตัวเองตั้งแต่แรกแล้ว แต่ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ ช่วงปี 3 ที่ต้องฝึกงาน คุณบอยบอกว่าให้ลองอยู่ทำงานต่อกับเขาเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อน หลังจบฝึกงานก็เลยตัดสินใจทำงานต่อที่นั่น ตอนนั้นทำซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการบริหารงานในโรงเรียน สิ่งที่เราได้มาตอนนั้นคือ ส่วนใหญ่ได้ทักษะการเขียนโปรแกรม รวมทั้งทักษะการบริหารงานบริษัท แต่พอทำไปเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำยังไม่ใช่ เลยคุยกับเพื่อนอีกคนแล้วตัดสินใจแยกย้ายกันไปครับ

สร้างอาณาจักรของตัวเอง

ด้วยความที่เราอยากทำบริษัทของตัวเอง เพราะมันคือการที่เรามีอะไรเป็นของตัวเอง เรามีความสุขกว่าไปเป็นลูกจ้าง ถึงแม้ว่าจะลำบากบ้าง งั้นก็สู้ต่อ เลยมาเปิดอีกโปรเจกต์หนึ่ง เป็นโปรเจกต์ต่อยอดจากตอนปี 3 ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับโดรน โดยใช้โดรนในการรังวัดที่ดิน แต่พอทำมาสักพักแม้มันจะใช่ แต่ทรัพยากรเราไม่มี เนื่องจากต้องใช้ทุนค่อนข้างเยอะ เลยพักไว้ก่อน (หัวเราะ) ก็รู้สึกเฟลกับตัวเองที่ทำมาสักพักก็ยังไม่สำเร็จสักที

จนกระทั่งปัจจุบันผมทำเป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับ Blockchain ทางด้านการเงินเป็นส่วนใหญ่ มีทีมพี่อีกคนทำแพลตฟอร์มการจัดการทางด้านอีคอมเมิร์ซเพื่อช่วยเรื่องการบริหารจัดการเกี่ยวกับตัวแทน ผมยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท แต่ตอนนี้โปรดักส์ของเราปล่อยไปให้ผู้ใช้จริงแล้ว กำลังอยู่ในโหมดการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ให้มากขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่า ณ วันนี้แม้ยังไม่ใหญ่แต่ทุกคนต้องอยู่ได้ อาจต้องทำงานอีกส่วนหนึ่งด้วยเพื่อให้โปรเจกต์ที่เราฝันโตขึ้นไปด้วย โดยมองอนาคตไปที่ต่างประเทศครับ

ทำเป็นทีม และพูดให้โดน

ทักษะที่สำคัญสำหรับเด็กไอทียุคนี้ อย่างแรกผมคิดว่าทักษะการทำงานเป็นทีมครับ เพราะตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัยงานกลุ่มส่วนใหญ่ตามที่เราเห็นคือพออาจารย์ให้งานจะมีคนเดียวที่ทำ สุดท้ายพอออกมาทำงานจริงบางทีต้องมาเรียนรู้ตรงนั้นกันอีก ดังนั้น ผมจึงมองว่าทักษะด้านไอทีเป็นเรื่องที่ทุกคนศึกษาได้ แต่ทักษะการทำงานเป็นทีมและการบริหารจัดการ ถ้าเราสามารถพัฒนาได้ตั้งแต่มัธยมฯ หรือมหาวิทยาลัยได้น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

อีกอย่างที่สำคัญคือทักษะการสื่อสาร ทุกวันนี้ผมก็ยังกังวลนะ บางทียังรู้สึกว่าตัวเองพูดไม่เก่ง จะคุยกับคนอื่นรู้เรื่องไหม วิธีการที่ผมทำคือผมจะดูยูทูปคนที่เขาประสบความสำเร็จหรือมีกระบวนการคิด ณ วันนี้เราอาจไม่ได้มั่นใจตัวเองในการพูด แต่เราจะเอาวิธีของคนอื่นมาปรับใช้อย่างไร ผมไปดูหลายคนมาก คนนี้ใช่วิธีนั้น คนนั้นใช้วิธีนี้ แล้วลองมาปรับใช้กับตัวเองดูว่าอะไรที่เราทำแล้วสบายใจและได้ผลดี ณ วันนี้มันอาจไม่ได้ดีที่สุด แต่พยายามทำไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าแม้วันนี้เราพูดไม่รู้เรื่อง แต่วันหน้าต้องดีขึ้น

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

ต่อยอดผลงานสู่การใช้จริง

ในส่วนของ NSC เท่าที่ผมทราบคือโปรเจกต์หลายอย่างที่เด็กทำใน NSC มีประโยชน์ แต่ผมอยากให้โปรเจกต์ที่ทำสามารถต่อยอดหรือกลายเป็นธุรกิจจริงๆ ได้ ถึงไม่ใช่ธุรกิจก็ไม่ควรอยู่แค่ในห้องเรียน อย่างตอนนั้นที่ผมทำ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอย่างน้อยแค่มี 1 คนใช้เราก็มีความสุขแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้นอกจาก 1 คนมันขยับไปเป็น 10 คน 20 คน น่าจะเป็นเรื่องที่ดีครับ หรืออาจไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจก็ได้ บางคนอาจจะไม่ได้ชอบธุรกิจ บางคนอาจจะอยากเป็นผู้ทำ แต่อย่างน้อยสุดท้ายเขาสามารถเป็นผู้ประกอบการซอฟต์แวร์แล้วต่อยอดให้มันเติบโตขึ้นไป เพราะโปรเจกต์ที่ทุกคนทำมามันมีประโยชน์ อยากให้เขาสามารถต่อยอดไม่ว่าจะด้วยกระบวนการอะไรก็ตาม

บ่มเพาะบนความหลากหลาย

ผมเคยไปคุยกับอาจารย์เสมอว่า เด็กมหาวิทยาลัยที่มาเรียนไอทีหลายๆ คนก็ไม่ได้ชอบไอที แต่ละคนมีศักยภาพที่ต่างกัน แม้กระทั่งทีมน้องที่ไปแข่งแต่ละคนก็มีศักยภาพต่างกัน บางทีในทีมอาจจะมีคนเขียนโปรแกรมคนเดียว อีกคนทำเอกสาร ซึ่งแต่ละองค์ประกอบมันมีประโยชน์ ถ้า NSC สามารถยกระดับน้องๆ ที่มีศักยภาพต่างกัน และบ่มเพาะให้เขามีศักยภาพอย่างที่เขาต้องการ ณ วันหนึ่งเขาอาจจะกลายเป็นผู้ประกอบการได้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ก้าวออกมา แล้วทำเลย!

ถ้าให้คำแนะนำน้องๆ เริ่มต้นผมมองว่าต้องลองออกมาทำครับ ไม่ใช่แค่เรียนมา 4 ปีแล้วสุดท้ายไปเป็นพนักงานประจำ อยากให้น้องๆ หรือคนที่อยากเริ่มต้นแค่ลองออกมาทำ อย่างน้อยเราออกมาเริ่มประกวดก็เป็นก้าวแรกที่ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกับผู้อื่นมากขึ้นในเรื่องการเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แค่ลงมือทำ ก้าวออกมาจากจุดที่เราเคยอยู่ อย่างผมก็ชอบบอกตัวเองเรื่องเดียวคือการลงมือทำ ขอยกคำพูดของ Elon Musk ที่เป็นไอดอลของผม คือ ณ วันนี้อายุเรายังน้อยและมันมีอะไรที่สามารถทำได้อยู่ อย่างน้อยถ้าเราล้มยังมีคนคอยสนับสนุน เรายังไม่ได้มีอะไรที่ต้องรับผิดชอบมากนัก ผมว่าแค่ลงมือทำ สู้ แล้วพยายามทำไป แม้วันนี้จะล้ม อย่างผมล้มมาสองครั้ง แต่ยังเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันต้องสำเร็จในสักวัน

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ผมไม่เคยนิยามตัวเองนะ (หัวเราะ) แต่ ณ วันนี้ผมยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กอยู่ น่าจะเป็นเด็กที่ตั้งใจทำในสิ่งที่เราอยากให้เป็น คือเราพยายามทำในสิ่งที่เรามีข้อจำกัดเยอะ เหมือนที่ผมบอกว่าผมเป็นคนพูดไม่เก่ง ไม่ชอบพูด ไม่ชอบเจอใครเลย แต่เราพยายามผลักดันตัวเองและพัฒนาตัวเองเรื่อยมา มันเกิดจากความพยายามและความตั้งใจที่อยากจะทำครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

เชื่อมั่นว่ามันต้องสำเร็จ!

สิ่งที่ผลักดันให้ผมมาถึงวันนี้ได้คือความเชื่อครับ (ยิ้ม) สิ่งที่ผมเชื่อคือความตั้งใจ หมายความว่าเรามีความเชื่อว่าเราอยากเป็นเจ้าของบริษัท เราจะต้องประสบความสำเร็จก็มุ่งมั่นทำมาตลอด ถึงแม้จะล้มเหลวบ้าง ไม่มีเงินบ้าง แต่เรายังเชื่อว่า ณ วันหนึ่งสิ่งที่เราทำ ถ้ามันมีประโยชน์และเราตั้งใจทำจริงๆ สักวันมันต้องมีคนเห็น มันจะประสบความสำเร็จด้วยประสบการณ์ของมันเอง พอเราโตขึ้นก็จะคิดรอบคอบมากขึ้น ดังนั้น เก็บประสบการณ์และทำต่อเนื่อง สักวันจะประสบความสำเร็จได้ และมันทำให้ผมก้าวข้ามความยากลำบากมาได้ ด้วยความที่เรามี passion ที่อยากมีอะไรของตัวเอง ผนวกกับช่วงเรียนปี 3 เราได้ลองทำอะไรเป็นของตัวเอง ได้ทำอะไรที่อยากจะทำ รู้สึกมีความสุขกับการทำอะไรที่เป็นของตัวเอง ไม่ต้องเดินตามใคร มันมีความสุขมาตลอด ก็ทำมาเรื่อยๆ ไม่ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่เราเชื่อว่ามันจะสำเร็จครับ …

ความฝันคือสิ่งที่ดีเสมอ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือความเชื่อมั่นในความฝัน และความพยายามมุมานะไปสู่ความฝันนั้นให้จงได้ นั่นคือสิ่งที่แมคเชื่อมั่นและทำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และวันนี้เขาทำมันสำเร็จแล้ว

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 
ข้อมูลการศึกษา
  • ปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2015
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • รองชนะเลิศอันดับ 2 หมวดโมบายแอปพลิเคชันปี NSC 2016 ด้วยผลงานชื่อ Smart Check : ระบบบันทึกเวลาเข้าชั้นเรียนสำหรับผู้ช่วยสอนที่ทำให้สามารถ บันทึกเวลาการเข้าเรียน คะแนนการทำแลป ด้วยระบบ RFID ในบัตรนักศึกษา ซึ่งช่วยลดเวลาการบันทึกข้อมูลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • ชนะเลิศอันดับที่ 1 การแข่งขันประกวดแอปพลิเคชันทางด้านภูมิสาสตร์สารสนเทศ Gcon-2016 ด้วยผลงาน Plotpocket : แอปพลิเคชันที่ทำให้การเก็บข้อมูลภาคสนาม (ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน) ทำได้ง่ายและเป็นระเบียบมากขึ้น และยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ lot เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
  • วิจัยหัวข้อ “ระบบวิเคราะห์พื้นที่ลงจอดสำหรับอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)” และได้ตีพิมพ์และนำเสนอในระดับนานาชาติ
  • วิจัยหัวข้อ “ระบบสั่งการและควบคุมอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) ด้วยระบบ LTE”
ปัจจุบัน
  • CEO/Co-Founder Doolasoft Co., Ltd
  • Co-CEO/Co-Founder Justmine
ความเชี่ยวชาญ
  • Blockchain Consensus Protocol for Mining
  • Automatic Unmanned Vehicle Control System
  • Parallel Programming
  • Nodejs/Python/C#/C/C++/PHP/Angularjs
  • IT Project Management
  • Digital Marketing