- “ชีวิตคือการเรียนรู้”
ชีวิตคือการเรียนรู้…อาจเป็นวลีที่คุ้นหูคุ้นตาจนหลายคนรู้สึกธรรมดาๆ กับมันไปแล้ว แต่สำหรับ ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล หรืออาจารย์คู่ รองผู้อำนวยการหนุ่มใฝ่เรียนแห่งอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น กลับบอกว่า วลีธรรมดาๆ นี้นี่แหละที่ทำให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต มายืนอยู่ในจุดที่มีบทบาทความสำคัญต่อภาคไอทีของประเทศได้ ซึ่งสำหรับใครที่เหนื่อยหน่ายกับการเรียน ลองมาฟังบทสัมภาษณ์ของอาจารย์คู่กันหน่อยดีกว่า…
จากเด็กช่าง (ซ่อม) สู่นักศึกษาคอมพิวเตอร์
ตอนแรกสมัยเด็กๆ ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเดินมาเส้นทางไอที แต่ครั้งหนึ่งเครื่องวิทยุของพ่อเกิดพัง ไม่รู้จะเอาไปซ่อมที่ไหน เรามีความถนัดพอที่จะทำได้และซ่อมจนสำเร็จ พอเติบโตมามีคอมพิวเตอร์ของญาติพังอีก ในเมื่อวิทยุเครื่องนั้นเราซ่อมได้แล้วก็เลยเอาวิชาความรู้ไปซ่อมคอมฯ จนใช้ได้ แสดงว่าเรามีความถนัดด้านนี้ สักวันถ้ามีโอกาสก็อยากจะเรียนในสายนี้ พอช่วงมัธยมฯ ได้เริ่มเรียนคอมพิวเตอร์ ทำให้รู้ว่ามันมีอะไรมากกว่าการซ่อมคอมฯ เป็นการใช้ซอฟต์แวร์โปรแกรมต่างๆ รวมถึงได้เล่นเกมด้วย รู้สึกชอบ คิดว่าเราน่าจะมีทักษะความสามารถด้านนี้ จึงเลือกเรียนต่อที่คณะวิทยาศาตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ
ลองชิมลางกับการแข่งขัน
สมัยนั้นเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่รู้ว่าอะไรคือ NSC จนกระทั่งได้เจออาจารย์ที่ปรึกษาตอนปริญญาตรี อาจารย์พยายามชักชวนลูกศิษย์ให้เอาโปรเจกต์จบส่งแข่งขัน ก็เลยเขียนใบสมัครและส่งข้อเสนอโครงการเข้าแข่งขัน NSC โปรเจกต์ที่ทำเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ถ้าพูดกับเด็กสมัยนี้คงเป็นโปรเจกต์ที่เด็กน้อยมาก (หัวเราะ) คือ ยุคนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งมีอีเมลใช้ใหม่ๆ และบูมมาก แต่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เลยสนใจเรื่องการรักษาความปลอดภัยบนอีเมล พยายามทำลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์ทำการเข้ารหัสอีเมลเพื่อพิสูจน์ว่าคนที่ส่งมาเป็นตัวจริงหรือเปล่า เป็นหัวข้อที่ส่งประกวด NSC ตอนนั้น แม้ไม่ได้เข้ารอบเพราะทำไม่เสร็จตามกำหนดเวลา แต่ก็ทำต่อเนื่องจนเรียนจบครับ
ได้เรียนรู้ แม้ไม่สำเร็จ!
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันครั้งนั้น เรื่องแรกคือเวลาในการทำงานหรือโครงการ แม้เราจะเก่งหรือมีทักษะคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าไม่ใส่ใจกำหนดเวลาหรือกฏกติกาที่กำหนดไว้ งานที่คิดว่าดีแล้วมันไม่สามารถขยับได้เลย สอง เรื่องความรับผิดชอบในทีม ทีมผมมี 2 คน เรียกว่าเป็นคู่โปรเจกต์ เราแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบว่าใครทำส่วนไหน ถ้าทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ จนสุดท้ายออกมาเป็นโปรเจกต์ที่สมบูรณ์ สาม สำคัญที่สุดคือการได้รับการขัดเกลาจากอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเก่งด้านเทคนิคและภาพรวม นอกจากอาจารย์จะช่วยเชื่อมโยงและวิเคราะห์ให้แล้ว ยังมีการใช้จิตวิทยากระตุ้นที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้
เมื่อประสบการณ์มีค่ากว่าเกรดเฉลี่ย
คุณค่าที่ผมได้รับเกิดขึ้นหลังผ่านเวที NSC แล้วคือครั้งแรกที่เข้าทำงานหลังเรียนจบ ผมไปสอบสัมภาษณ์ในกรุงเทพฯ หลายที่ มีที่หนึ่งที่ผมได้งาน คนสอบสัมภาษณ์ถามว่าเรียนจบอะไร มีความเชี่ยวชาญด้านไหน ด้วยความที่เราเกรดต่ำกว่าคนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยดังๆ ในกรุงเทพฯ แต่อย่างหนึ่งที่เป็นคุณค่าคือ เขาถามว่าเคยผ่าน NSC ด้วยหรือ ผมบอกว่าเคยเข้าร่วมแข่งขันแต่ตกรอบแรก เขาให้เล่าว่าทำอะไรบ้างในโครงการ NSC หลังจากได้งานเขาบอกว่า ที่ให้มาทำงานเพราะเราเคยผ่านโครงการ NSC มาก่อนแม้จะตกรอบก็ตาม นี่คือคุณค่าในวัยทำงานเริ่มต้น
อยากเติบโต ต้องไม่หยุดยั้ง!
ที่ตัดสินใจไปทำงานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพอเรียนจบวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ขอนแก่นแทบไม่มีตำแหน่งงานโปรแกรมเมอร์เลย เลยต้องทุบหม้อข้าวหม้อแกงผลักดันตัวเองไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยตั้งใจให้เวลาตัวเอง 2 ปี เพื่อหาประสบการณ์ว่าเขาทำงานกันอย่างไร ซึ่งการทำงานในบริษัทซอฟต์แวร์ ทำให้เราได้เริ่มเห็นภาพการทำงานโปรแกรมเมอร์และหลายๆ อย่าง คิดว่าการที่จะยกระดับความสามารถตัวเองต้องไม่หยุดยั้งแค่ปริญญาตรีและพยายามเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจะได้ก้าวมาเป็นหัวหน้า ตอนนั้นผมทำงานได้ปีหนึ่งได้ขยับมาเป็นหัวหน้าทีม เริ่มรู้สึกฮึกเหิมเลยคิดว่าน่าจะหาปริญญาอีกใบ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี เลยไปดูโปรไฟล์ของหัวหน้าว่าเขาเรียนจบอะไรถึงได้เป็นหัวหน้า (หัวเราะ) งั้นเรียนแบบที่หัวหน้าเรียนแล้วกัน ผมก็เลยเรียน IT (Information Technology) แล้วขยับมาทำงานในเชิงบริหารจัดการมากขึ้น
ทำงานบนความหลากหลาย ด้วยองค์ความรู้ที่มี
ตอนนั้นผมอยู่กรุงเทพฯ แต่มาเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วงเสาร์อาทิตย์ ใช้เวลาประมาณปีหนึ่ง รู้สึกเหนื่อยมาก พอทำงานครบสองปีตามที่ตั้งใจไว้ก็เลยกลับมาเรียนปริญญาโทพร้อมหางานทำที่ขอนแก่น ได้ทำงานในศูนย์คอมพิวเตอร์ของคณะต่างๆ ใน ม.ขอนแก่น จุดเปลี่ยนอยู่ตอนที่กำลังจบปริญญาโท อยากทำงานหาเงินโดยใช้องค์ความรู้ที่เรียนมา เลยรับทำเว็บไซต์ขายหน่วยงานต่างๆ ได้เงินบ้างไม่ได้บ้าง แต่ทำให้เริ่มรู้จักคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้รู้ว่าในศาสตร์ของตัวเองยังมีอีกหลากหลายประเภทที่เราไม่รู้ และพบว่าเราน่าจะทำงานในส่วนการบริหารจัดการ หลังจากเรียนจบไม่นาน สวทช.ขอนแก่นต้องการคนด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยโรงงานอุตสาหกรรม เลยได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยีด้านไอทีของภาคอุตสาหกรรมประมาณ 9 ปี
ไปให้สุดทางของความรู้!
หลังจากนั้นผมได้รู้จักและเรียนรู้จากคนที่ทำงานกับภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบริษัทซึ่งมีอำนาจตัดสินใจบางอย่าง ทำให้รู้ว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เวลาทำธุรกิจเขาไม่ได้พูดภาษาอย่างเรา และเขาขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี ทำให้ SMEs ไม่เข้มแข็ง อีกฟากหนึ่งเราทำงานในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ที่จบปริญญาเอก ซึ่งเป็นคนเรียนเก่ง มีทักษะวิชาการค่อนข้างเยอะ ผมเลยมีส่วนผสมสองอย่างคือฝั่งธุรกิจและวิชาการ พอมาฝั่งวิชาการมากๆ รู้สึกว่าปริญญาโทของเรากับวิชาการของอาจารย์ห่างไกลกันมาก เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่ ม.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการประยุกต์และเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมากขึ้น
เป็นโซ่ข้อกลางอยู่กลางเหว
หลังจากจบปริญญาเอกเราเริ่มมีประสบการณ์สองส่วนคือฝั่งวิชาการและเอกชน เราได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือภาคเอกชนโดยนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปให้ภาคเอกชนใช้ เป็นตัวกลางประสานเชื่อมฝั่งวิจัยคือมหาวิทยาลัยกับคนที่พัฒนาคือเอกชน โดยพยายามเติมเต็มสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน เหมือนภูเขา Valley of Death ที่ต้องมีใครบางคนหรือกลไกบางอย่างมาเติมเต็มให้ได้ ผมก็ไปยืนตรงกลางเหวเหล่านั้นเพื่อคอยเชื่อมโยงสองฝ่ายเข้าด้วยกัน เป็นจุดเริ่มของการทำงาน ปัจจุบันผมดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดิมผมเป็นรองผู้อำนวยการอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค ปัจจุบันหน่วยงานถูกควบรวมเข้ามาอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ผมทำหน้าที่ดูแลตรงนี้
อยากเป็นผู้วิเศษ ต้องอัพเกรดศาสตร์อื่น (ด้วย)
ในยุคของผม ความท้าทายอยู่ที่ความสามารถของเราเอง คือเราต้องก้าวพ้นความสามารถของมนุษย์คอมพิวเตอร์หรือไอที ท้าทายวัฒนธรรมของโปรแกรมเมอร์ โดยพัฒนาความสามารถด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งสมัยก่อนถ้าพูดภาษาอังกฤษได้ อ่านตำราภาษาอังกฤษได้ถือว่าเป็นโปรแกรมเมอร์ที่สุดยอดแล้ว แล้วถ้าโปรแกรมเมอร์ก้าวพ้นมาเรียนรู้ศาสตร์อื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ พลังงาน ชุมชน การเงิน ฯลฯ จะทำให้สามารถก้าวพ้นความท้าทายได้และกลายเป็นคนไอทีที่วิเศษมากกว่าเดิม เพราะไอทีคือความรู้พื้นฐานมันเป็นข้อได้เปรียบของคนไอที ซึ่งยากมากที่คนเรียนสาขาอื่นจะกลับมาเรียนไอทีหรือเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ แต่เราสามารถไปเรียนสาขาอื่นและพัฒนาต่อยอดได้ง่ายกว่า
บันได 2 ขั้นของคนไอทีศตวรรษที่ 21
ผมมองว่า ทักษะที่สำคัญของคนไอที เรื่องแรกคือการตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ ถ้ารับงานอะไรมาแล้วต้องรู้จักบริหารจัดการเรื่องเวลาได้ คุณจะเป็นคนที่มีศักยภาพสูงสุด ซึ่งมันบวกมากับความรับผิดชอบสิ่งที่จะส่งมอบตามคำสัญญากับเจ้าของงาน เจ้านาย คนที่จ้างเรา เรื่องที่สอง การทำถูกต้องตามกฏกติกาและการมีความคิดสร้างสรรค์ สองอย่างนี้มักจะสวนทางกัน แต่ในโลกความเป็นจริงเราอยากได้ความคิดสร้างสรรค์แม้มีกรอบกติกาที่บังคับเราอยู่ ซึ่งคนไอทีรุ่นใหม่ต้องพยายามบาลานซ์สองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน พยายามศึกษากฏกติกาหรือระเบียบวิธีการให้เข้าใจและชัดเจนว่าไม่เบียดเบียนคนอื่น และมีความคิดสร้างสรรค์ทำให้คนอื่นลดขั้นตอนกระบวนการและมีความแปลกใหม่ในการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ามีสองสิ่งนี้อย่างสมดุลน่าจะเป็นมิติองค์ความรู้สมัยใหม่ของคนไอทีในศตวรรษที่ 21
แข่งเพื่อโอกาส ยกระดับสู่ความรู้ใหม่
สำหรับ NSC ผมมีข้อเสนอแนะหลักๆ เรื่องแรก อยากให้นักเรียนนักศึกษาและครูอาจารย์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฏกติกา หัวข้อ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการแข่งขันว่าเป็นการแข่งขันเชิงวิชาการ เป็นเวทีที่เปิดโอกาส ไม่ใช่เอาแพ้เอาชนะกัน เพราะถ้ารู้สึกแบบนั้นจะทำให้เกิดความท้อแท้กดดัน แต่ถ้าทำความเข้าใจว่านี่คือโอกาสในเชิงวิชาการหรือมีคุณค่าที่จะได้รับ หลายคนก็อยากเข้าร่วม
เรื่องที่สอง หัวข้อในการแข่งขันที่เราพยายามยกระดับให้ทันสมัยอยู่แล้วในทุกปี แต่วิธีการคือเราต้องพยายามหากลไกบางอย่างเพื่อเตรียมพร้อมครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาให้รู้ว่าแนวโน้มจะไปด้านนั้นๆ เพื่อให้เวลาเขาเตรียมหัวข้อใหม่ๆ จึงต้องมีการวางแผนไปทั้งองคาพยพในการยกระดับ ซึ่งหัวข้อใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ คนรุ่นใหม่ จะเป็นความรู้ต่อยอดไปเรื่อยๆ
อย่าปิดจ็อบแค่แข่งจบ!
อีกเรื่องที่อยากเสนอคือ ผมมักมีคำถามในการทำงานทุกครั้งว่าเมื่อเสร็จแล้วจะทำอย่างไรต่อ เพราะเราทำงานร่วมกับนักวิชาการและเอกชน สิ่งที่จะถามคือ Next step จาก NSC จะไปที่ไหนต่อ มันเหมือนกับมีเวทีที่ดีแล้วแต่ยังไม่เห็นเวทีที่ดีข้างหน้า ซึ่งไม่รู้จะเอากระบวนการหรือกลไกอะไรมาเชื่อมโยง NSC ต่อ ถึงแม้ในการทำงานเราได้เอาทักษะหรือองค์ความรู้ที่ผ่าน NSC มาใช้ แต่ไม่ได้เอาความเชี่ยวชาญของตัวเองที่ทำผลงานทั้งปีมาใช้ในการทำงานเลย ปัจจุบันผมทำงานกับเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจใหม่หรือสตาร์ทอัพ พยายาม mapping ว่าใครจบจาก NSC แล้วอยากเป็นเจ้าของกิจการก็มารวมกัน เอาหัวข้อที่ผ่าน NSC มาเข้ากระบวนการสตาร์ทอัพและต่อยอดมาเรื่อยๆ ซึ่งผมเองก็รู้สึกเสียดายหัวข้อโปรเจกต์ที่เคยทำและใช้เวลาเกือบ 4 ปี แต่พอเรียนจบเราทิ้งงานนั้น ลองคิดดูว่านี่ผมคนเดียวที่เป็นลักษณะนี้ ถ้าคูณจำนวณคนในค่าย NSC 20 ปี จะมีสักกี่คนที่เอาหัวข้อตัวเองไปทำต่อหรือไปต่อยอด ถ้าทำได้ NSC น่าจะเป็นโครงการที่ Big Impact ของประเทศนี้เลย
ค้นหาสิ่งที่ใช่ มหา’ลัยมีตัวช่วย!
สำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ที่สนใจ ถ้าจะเตรียมตัว มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหลายค่ายก่อนเข้า NSC เชื่อว่าหลายมหาวิทยาลัยก็มีเหมือนกัน สำหรับคนที่ลังเลต้องค้นหาตัวเอง ยังไม่รู้ว่าจะทำหัวข้ออะไร ลองเข้าไปอบรมหัวข้อต่างๆ ว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไปค่ายอื่น จนกระทั่งรู้ว่านั่นคือความต้องการของตัวเอง หรือถ้าใครจะ shortcut รู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้ว เช่น ถ้าชอบเล่นเกม อยากทำเกมขายก็ลุยเรื่องเกมเลย
จังหวะที่สองควรจับกลุ่มกัน แล้วเข้าไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญด้านที่เราสนใจ หรืออยากได้องค์ความรู้เสริม เช่น ไอทีบวกการเงิน ก็สามารถไปคุยกับอาจารย์คณะอื่นได้ ตอนนี้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดแล้ว สามารถมีที่ปรึกษาร่วมในคณะอื่นๆ ได้ เราสามารถไปขอความรู้มาผนวกกัน รวมศาสตร์เข้าด้วยกัน จะทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น
จากนั้นสิ่งสำคัญคือลงมือทำ ต้องลองผิดลองถูก ถ้าถูกก็ดีไป แต่ถ้าผิดเราจะจดจำเอง จากนั้นรอบของการพัฒนาหรือความคิดสร้างสรรค์จะถูกแต่งเติมเข้ามาจากการเรียนรู้ความผิดนั้น และต้องให้ความสำคัญเรื่องเวลา ทุกคนแข่งกันทั่วประเทศ นักเรียนนักศึกษาต้องเตรียมตัวเรื่องระยะเวลา ต้องวางแผนการสอบ การเรียน การทำกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยด้วย
สร้างเครือข่ายที่มีเป้าหมายเดียวกัน
ในส่วนการรวมกลุ่มคนที่ผ่านค่าย NSC และประสบความสำเร็จมาด้วยกัน เนื่องจากมีหลากหลายประเภทมาก เช่น บริษัทเอกชน นักวิชาการ หน่วยงานราชการ แต่ละคนมีไอเดียและประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน ดังนั้น ต้องมี moderator ที่เข้มแข็งพอ เพราะถ้าทิศทางไม่ชัดจะคุยไปคนละทิศละทาง ข้อดีคือการได้ community ซึ่งความหมายน่าจะมากกว่าทำงานกลุ่มย่อย ถ้าทำเป็น community ลักษณะพี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ ใครมีปัญหาอะไรสามารถช่วยเหลือเชื่อมโยงเครือข่ายได้ เป็น community มากกว่าเป็น working group ที่ทำงานเสร็จแล้วแยกย้ายกันไป ทั้งนี้ community ก็ต้องมี working group เป็นฐานด้วย
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ที่ผมทำอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นลักษณะที่เรียกว่า “โซ่ข้อกลาง” ที่คอยเชื่อมหลายภาษาเข้าด้วยกัน เปรียบเป็นตัวเชื่อมหรือตัวกลางของคนกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มนักธุรกิจหรือภาคเอกชน อีกกลุ่มเป็นนักวิชาการ ทั้งสองฝั่งคุยคนละภาษา แต่ทุกคนมุ่งหวังที่จะพัฒนาประเทศเหมือนกัน ฝั่งอาจารย์ก็อยากพัฒนาองค์ความรู้ ฝั่งเอกชนก็อยากพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ทั้งสองกลุ่มมีวัตถุประสงค์ของตัวเองแต่คุยกันไม่ได้ จะทำอย่างไรให้มาเจอกันให้ได้ จึงต้องอาศัยคนที่มีความสามารถในการเข้าใจและคุยสองภาษานี้ นั่นคือผมเป็นโซ่ข้อกลาง เป็นคนๆ นั้น คอยพูดคุยประสาน ไกล่เกลี่ยเจรจา ทั้งหมดนี้จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน อีกภาษาคือหน่วยงานราชการที่มีกฏระเบียบเยอะ มีลำดับชั้น ซึ่งการพัฒนาประเทศไม่ได้อาศัยเฉพาะเอกชนกับนักวิจัยเท่านั้น ต้องมีหน่วยงานราชการด้วย สองคนคุยกันไม่รู้เรื่องแล้วยิ่งมาคุยกับคนที่สามจะคุยกันต่อเนื่องได้อย่างไร ผมก็จะเป็นตัวศูนย์กลางในการคุยประสานสามฝ่ายเข้าด้วยกัน ถ้ามองดูแล้วบทบาทของผมคงเป็นผู้ประสานสิบทิศครับ
ตอบแทนประเทศชาติด้วยสิ่งที่เราทำได้!
สิ่งที่ทำให้ผมมาถึงจุดนี้ได้ หลักๆ คือผมมีความอยากตอบแทนประเทศชาติในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เราสามารถทำได้ ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงพอจะเป็นทหารตำรวจ แต่เรามีคาแรคเตอร์ที่จะเป็นนักวิชาการ เป็นผู้ประสานงานได้ สำคัญที่สุดคือรู้จักตัวเองว่าเราจะตอบแทนประเทศชาติแผ่นดินเกิดได้อย่างไร
ผมเป็นคนนครพนม พอกลับไปที่บ้านจะเห็นว่าบ้านเรายังไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน เรามาทำงานที่นี่ ตำแหน่งนี้ เลยอยากพัฒนาและวางรากฐานให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เคยเป็นแบบเราก้าวขึ้นมา ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีมากที่ทำให้คนพื้นถิ่นได้พลิกฟื้นมีความเจริญเทียบเท่านานาประเทศได้ เหมือนที่ผมไปทำงานกรุงเทพฯ แต่ไม่ยอมกลับไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพราะผมไม่อยากไปพัฒนากรุงเทพฯ กรุงเทพฯ พัฒนาไปไกลกว่าผมแล้ว ผมกลับมาพัฒนาภาคอีสานดีกว่า
ไปให้สุด! อย่าหยุดเรียนรู้
เมื่อปักหมุดแล้วก็ใช้แรงจูงใจในอดีตให้เป็นแรงผลักดันว่า ผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง ผมเรียนอ่อนที่สุดในครอบครัวและโรงเรียน แต่สิ่งสำคัญคือการไม่หยุดเรียน จนปัจจุบันก็ไม่เคยคิดว่าจะหยุดเรียน เพราะเมื่อเลิกเรียนคือการหยุดการเรียนรู้ หยุดการพัฒนาตัวเอง แต่ผมยังเรียนไปเรื่อยๆ คิดว่านี่คือแรงผลักดันให้มาถึงจุดนี้ได้ครับ …
เพราะโลกหมุนอยู่ทุกขณะจิต เวลาก็เดินไปข้างหน้าอยู่ทุกวินาที ความรู้เดิมๆ หรือทักษะเดิมๆ ของวันก่อนอาจล้าสมัยไปแล้วสำหรับวันนี้ การพัฒนาตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ให้รอดท่ามกลางยุคสมัย และยิ่งต้องพัฒนาตัวเองอีกเป็นเท่าตัว หากปรารถนาความสำเร็จ นั่นคือสิ่งที่อาจารย์คู่ ฝากบอกเด็กรุ่นใหม่ทุกคน
ข้อมูลการศึกษา
- 2554-2559 ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Department of Industrial Engineering, Faculty of Engineering, KKU)
- 2547-2549 ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีสารสนเทศ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Master of Science (Information Technology)
- 2541-2545 ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาการคอมพิวเตอร์) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Bachelor of Science (Computer Science)
- 2535-2541 โรงเรียนธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2001
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- จัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์ของนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง “ระบบรับ-ส่งจดหมายอิเล้กทรนิกส์แบบมีลายเซ็น Digital Signature E-mail” พัฒนาโดยใช้ภาษาจาวารวมกับ JSP
- ผ่านรอบแรกการประกวดโปรแกรมรายการ Software Contest NECTEC:NSC 2001 ครั้งที่ 3 เรื่อง “ระบบรับ-ส่งจดหมายอิเล้กทรนิกส์แบบมีลายเซ็น”
- ได้รับรางวัลชนะเลิศ การเสนอผลงานเรื่อง “ระบบรับ-ส่งจดหมายอิเล้กทรนิกส์แบบมีลายเซ็น” ในการประชุมทางวิชาการสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ครั้งที่ 1
- ตีพิมพ์และนำเสนอบทความการประชุมทางวิชาระดับชาติด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 2 เรื่อง “แบบจำลองการให้บริการสารสนเทศในรูปแบบเบ็ดเสร็จโดยใช้เว็บเซอร์วิส” เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2549 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ กรุงเทพมหานคร
- ตีพิมพ์วารสาร ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2551 เรื่อง “4 เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย”
- ตีพิมพ์และนำเสนอบทความการประชุมทางวิชาระดับชาติ การประชุม วิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งปฐมฤกษ์ เรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ไปสู่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวในประเทศไทย”เมื่อวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ตีพิมพ์และนำเสนอบทความการประชุมทางวิชาการ The 1st TNI Academic Conference – TNIAC เรื่อง “แบบพิมพ์เขียวเพื่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทย” วันที่ 27 พฤษภาคม 2554 สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
- ตีพิมพ์และนำเสนอบทความการประชุมทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Image analysis for pig detection and recognition based on size and weight” งาน IEEE International Conference on Industrial Engineering and Engineering Management, December, 10-13, 2012, Hong Kong
- บทความวิชาการนานาชาติ เรื่อง “An approach based on digital image analysis to estimate the live weights of pigs in farm environments” Computers and Electronics in Agriculture, May, 8, 2015, Vol.115, p.226-33
- ตีพิมพ์และนำเสนอบทความการประชุมทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง “An Artificial Neural Network Model for Chilling Environment Control in Meat Production” งาน International Electrical Engineering Congress (iEECON2015) , December, 16, 2014, Phuket, Thailand
ปัจจุบัน
- ตำแหน่งรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ (Deputy Director) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ความเชี่ยวชาญ
- Application/Knowledge
- Web Technology, Java, JSP and Servlet, JavaScript and other, Java Technologies, Visual Basic, PHP
- Web Service Technologies, XML, RDF, Ontology, OWL, Semantic Web Technologies
- Internet/Web Tool
- Macromedia Dreamweaver, Adobe Photoshop, Macromedia, Flash, Swish
- Web Server
- Jakarta-Tomcat, Apache, IIS
- Database Management
- Oracle Database, MySQL, Microsoft Access, SQL Language
- Engineering Software
- CMMI, Software Improvement