- บทสัมภาษณ์ | เดือนกรกฎาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ธวัชชัย เหล่าชัยพฤกษ์
- องค์ประกอบที่ดี ย่อมนำพาเราไปถึงระดับโลกได้…
นั่นคือสิ่งที่เราได้จากบทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ชาญวิทย์ แก้วกสิ อาจารย์และ Software Architect แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้ที่ได้พิสูจน์ตัวเองในช่วงชีวิตที่ผ่านมาว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก ใครอยากรู้ว่าการจะไปสู่ระดับโลกได้ต้องมีอะไรบ้าง โปรดฟังอาจารย์เลคเชอร์โดยพลัน!
จากความรู้พื้นฐาน…สู่มือปราบไวรัสตัวร้าย
เริ่มต้นจำไม่ได้ว่าปีไหน เราไปเที่ยวงานวันเด็กแถวบ้านตามปกติแล้วเจอเครื่องคอมพิวเตอร์จอเขียวที่มีการ์ตูนเป็นวงกลมข้างใน ด้วยความที่ผมวาดรูปไม่เก่ง เลยสนใจว่ามันแค่ป้อนคำสั่งแล้วออกมาเป็นกราฟิกได้เลย หลังจากนั้นได้เรียนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เริ่มรู้จักภาษาต่างๆ และเริ่มศึกษา สิ่งที่เราไปคลุกคลีจะเป็นเทคโนโลยีระดับล่าง แล้วเริ่มสนใจมากขึ้น เริ่มมีการหัดเขียนโปรแกรมแปลกๆ
ช่วงนั้นเป็นยุคที่ไวรัสคอมฯ ยังแพร่หลายทำให้เครื่องพังบ้าง ก็เลยศึกษาเทคโนโลยีด้านนี้ สุดท้ายสร้างโปรแกรมแอนตี้ไวรัสขึ้นมาตัวหนึ่ง แล้วเข้าแข่งขันโครงการของเนคเทค แต่ตอนนั้นยังไม่เรียกว่า NSC เป็นโครงการชื่อ Small Software Competition (SW) ส่งผลงานตอนปี 2539 พอผ่านเข้ารอบก็ได้แข่งขันปี 2540 ได้รางวัลที่ 2 กลุ่มเครื่องมือซอฟต์แวร์
คอมพิวเตอร์ในทุกช่วงของชีวิต
หลังจากนั้นผมก็ทำของที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์มาเรื่อยๆ พอขึ้นปี 3 ได้ทุนพัฒนาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยช่วงปี 3 และปี 4 จะมีค่าเล่าเรียนให้ มีเงินเดือนให้ พอจบก็บรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ แล้วต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ ก็จะเรียนด้าน Computer Engineering มาตลอด ทุนที่ได้รับเป็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเรียนจบกลับมาใช้ทุนที่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ตอนเรียนปริญญาเอกจะคล้ายๆ กัน แต่มีเลี้ยวไปทำเรื่องอื่นนิดหนึ่งคือการเขียนคอมไพเลอร์ ไม่ใช่การทำระบบด้านล่างเท่าไหร่ ภาษายังเป็นภาษาเครื่องอยู่ ความรู้พื้นฐานยังเป็นแนวเดิม ก็ได้มาจากการมาแข่งกับเนคเทคที่มีผลเยอะเหมือนกัน
ต้นทุนในวัยเด็ก…ช่วยปราบมัลแวร์ในวัยนี้
ปีที่แล้วมีประเด็นมัลแวร์ที่ติดไปทั่วโลกชื่อ Wannacry ด้วยความบังเอิญที่ผมทำโปรแกรมตัวหนึ่งมาแก้มัลแวร์ตัวนี้ได้ โดยความรู้ที่ใช้หลายส่วนเป็นความรู้เมื่อ 20 ปีก่อน บางอันเป็นความรู้เดียวกับที่ใช้แข่ง SW ส่วนหนึ่งอาจเป็นประสบการณ์และโอกาสที่เราได้รับตั้งแต่เด็กๆ มันเลยซึมซับเข้าไปในตัวและอยู่กับเราตลอด กลายเป็นเทคนิคและวิธีคิดที่เราใช้แก้ปัญหาทางคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาลักษณะไหน พอลงไปลึกสุดก็จะเป็นเรื่องนั้น เป็นเรื่องบังเอิญที่น่าสนใจ
อยากขึ้นสูง…อย่าลืมเทคโนโลยีระดับล่าง
ยุคนี้เด็กจะเก่งและไปเร็วกว่าสมัยก่อน สมัยก่อนการหาซอฟต์แวร์มาทดลองทำยากมาก ทรัพยากรจะน้อยเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีและโอกาสสมัยนี้ โดยธรรมชาติเด็กจะเก่งกว่ารุ่นก่อนๆ แต่มีประเด็นที่อยากเสริมคือ แนวทางการศึกษาปัจจุบันเราโฟกัสเรื่องแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ กราฟิกมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีระดับล่าง (Low level) ที่เป็นระบบจะถูกลืมไป ถ้าน้องยุคใหม่สามารถศึกษาของที่เป็นชิ้นด้านบนและด้านล่างที่เป็นเทคโนโลยีเชิงลึกมาผสมกันได้ และสร้างนวัตกรรมที่รวมสองส่วนได้ น่าจะทำให้สร้างนวัตกรรมที่น่าสนใจแปลกๆ ใหม่ๆ มากขึ้น
เข้าถึงต้นทางเทคโนโลยี คือวิถีสู่ความเก่ง
ส่วนทักษะที่เด็กยุคนี้ควรเพิ่มเติม โดยทั่วไปคงเป็นเรื่องการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง เด็กอาจจะมีอยู่แล้วแต่คงไม่ใช่แค่การอ่านเอกสาร มันจะมีทักษะที่เด็กคอมพิวเตอร์สมัยก่อนใช้กันและมีประโยชน์ชัดเจนคือการอ่าน Source code ของโปรแกรม ซึ่งทักษะการอ่านได้ด้วยตนเองเป็นจุดที่จะสร้างความแตกต่างจากคนอื่นได้ ควบคู่กับภาษาอังกฤษ ซึ่งสำคัญมากทั้งในการติดต่อสื่อสาร การอ่านเอกสาร หลายครั้งที่เราต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับคนสร้างเทคโนโลยี มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีบางเรื่องได้ดีกว่าคนอื่น เพราะเราไปอยู่ใน community เราไปอยู่ในชุมชนนักพัฒนาที่เป็นต้นทาง ทุกคนต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เราจะทำความเข้าใจข้อมูลต้นทางแล้วมาประยุกต์กับนวัตกรรมที่เราอยากสร้างได้เร็วและถูกต้องมากขึ้น
ยุคสมัยที่ปลาเร็วกินปลาช้า!
มีคำพูดว่า ตอนนี้ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า และเทคนิคแบบนี้มันพิสูจน์ได้ระดับหนึ่งว่า ถ้าเราเข้าถึงเทคโนโลยีต้นทางได้ก่อนและทำความเข้าใจกับมันได้เร็วกว่าคนอื่น เราจะไปเร็วกว่าและสร้างนวัตกรรมได้ดีมากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่มักจะรอเอกสารหรือรอแอปฯ บางอย่างให้มีคนใช้มากๆ ยกตัวอย่างเรื่องแชทบอทที่ตอนนี้เริ่มดัง แต่คนที่เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดตอนนี้คือคนที่อยู่กับแชทบอทมานานก่อนที่จะมีคำว่าแชทบอทอีก หรืออย่างเนคเทคที่วิจัยเรื่องนี้มานาน หรืออาจารย์บางท่านที่ทำวิจัยเรื่องนี้มานานและเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี เขาเป็นต้นทางของเทคโนโลยี พอมันบูมขึ้นมาเขาก็มีเทคโนโลยีในมือแล้ว สายอื่นก็เหมือนกัน ตอนนี้สตาร์ทอัพเริ่มจับของที่เป็นแอปพลิเคชัน และจะมีศัพท์คำใหม่ขึ้นมาคือ Deep tech เราต้องรู้ลึก รู้ไปถึงต้นตอของเทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้เวลานาน อยากฝากน้องๆ ว่า ถ้าอยากทำเทคโนโลยีที่มีอิมแพคกับโลกต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ และใช้เวลากับมันให้นานเพียงพอ เราจะได้ของที่ดี ไม่ต้องรีบ
ให้เวลากับเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่ออิมแพคที่สูงขึ้น!
ถ้าเป็นไปได้อยากให้สิ่งที่สร้างออกมาหรือเวทีประกวดเน้นประเด็นเทคโนโลยีที่เป็นเชิงลึกให้มีบางส่วนมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่เป็นตัวผิว ให้มันไปด้วยกัน อย่าทิ้งเทคโนโลยีเชิงลึก เข้าใจว่าการประกวดเป็นปีต่อปี เด็กจะมีเวลาเตรียมตัวแค่หนึ่งปี ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่อาจจะยากสักนิด แต่ถ้าเราได้เทคโนโลยีเชิงลึกสัก 3 ปี 5 ปีจะทำให้ได้นวัตกรรมที่ก้าวกระโดดและชิ้นงานที่ออกมาจะดีกว่าทั่วไป ซึ่งคงต้องทำอย่างต่อเนื่องหลายรุ่นของเด็กในหน่วยงาน องค์กร ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย ถ้ามีการจูงใจแบบนั้นได้ เราจะได้ของอีกแบบหนึ่ง เพราะถ้าจะทำเทคโนโลยีนี้ให้มันลึกซึ้งมีอิมแพคจริงๆ ในหลายมหาวิทยาลัยเด็กที่ประสบความสำเร็จจะเริ่มทำตั้งแต่ปี 1 และทำต่อเนื่องถึงปี 4 จนขัดเกลาสิ่งที่เขาทำให้มีคุณภาพสูงขึ้น แล้วเขาจะประสบความสำเร็จ
สร้างหน่วยงานเพื่อผลักดันสตาร์ทอัพ
ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เรามีกลุ่มที่ผลักดันสตาร์ทอัพ ชื่อว่าเซด้า (SEDA) เป็นหน่วยงานเฉพาะที่ก่อตัวมาได้ 2 – 3 ปี โดยมีอาจารย์สาขาไอทีดูแล จะเป็นลักษณะเดียวกันในการสร้างนวัตกรรมและนำไปประกวด แต่อาจไม่ได้เป็นเวทีเฉพาะ NSC อาจจะเป็นเวทีสตาร์ทอัพอื่นๆ อยากให้มีหน่วยงานลักษณะนี้ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าของที่นี่หรือที่อื่น ถ้าทำให้เทคโนโลยีนี้ลงศึกษาเชิงลึกต่อเนื่องได้ คีย์เวิร์ดสำคัญคือ Deep tech เพราะถ้าเราสร้างความแตกต่างจากกลุ่มใหญ่ไม่ได้ นวัตกรรมก็จะไม่เด่นออกมา
ใจเย็นๆ และเฟ้นสิ่งที่ถนัด
ปัจจุบันเราขาดบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์อย่างมากไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม คนที่ทำงานได้แม้จะจบใหม่ถูกจ้างด้วยค่าตัวที่สูงมาก เทคโนโลยีที่เป็นเชิงลึกบางเทคโนโลยีเขาไม่สนใจประสบการณ์แต่สนใจว่าทำเทคโนโลยีได้หรือเปล่า เราอาจจะยังไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพเอง แต่สามารถเข้าไปอยู่ในบริษัทหรือองค์กรที่สนับสนุนเรื่องพวกนี้ ไปเป็นพนักงานช่วยเขาพัฒนาก่อน จริงๆ โอกาสเปิดกว้างในหลายระดับ อยากให้น้องๆ คิดในมุมที่อย่าไปรีบมากนัก เพราะโดยสถิติเปอร์เซ็นต์ของคนที่ประสบความสำเร็จของการเป็นสตาร์ทอัพเพียง 1% แต่ 90% คือตาย ซึ่งต้องทำซ้ำๆ
ผมได้ทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพในระดับที่เกิน 1,000 ล้านเหรียญที่หนึ่ง คือไปคลุกคลีกับเขา ช่วยเขาทำโปรเจกต์ เรียนรู้วัฒนธรรมและกลไกธุรกิจของเขา แม้แต่บริษัทใหญ่พอถึงจุดที่โตไปมาก ทุกคนอยากเป็น CEO อยากเป็น Co-founder ของบริษัทหมดเลย กลายเป็นว่าเราต้องเปลี่ยนบทบาทจากคนที่ทำซอฟต์แวร์มาเป็นคนบริหารซึ่งมันยากมาก ไม่ใช่ 1 ปี 2 ปี แต่ต้องเป็น 5 ปี ซึ่งคนที่รอดจากสตาร์ทอัพมีน้อย เลยไม่อยากให้น้องๆ รีบเกินไป อยากให้ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้แข็งแกร่ง ค่อยๆ เดินไปทีละสเต็ป อย่างหนึ่งที่สังเกตได้จากคนกลุ่มนี้ที่ประสบความสำเร็จคือ เขาทำของที่เขาถนัดจริงๆ ถ้าอันไหนไม่แม่นหรือไม่ถนัดแล้วไปทำมันจะสร้างความยากลำบากให้มากกว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ
สังเกตตัวเองเพื่อหาเส้นทางชีวิต
สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าชอบเส้นทางนี้จริงไหม ให้ใช้วิธีสังเกตตัวเองดู ส่วนใหญ่คนจะเริ่มชอบจากเกมคอมพิวเตอร์ แต่มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เขาสนใจว่าเกมสร้างขึ้นมาได้อย่างไร หรือทำไมตัวละครขยับตรงนี้ได้ ทำไมสามารถส่งข้อมูลจากตรงนี้ไปตรงนั้นได้ หรือนั่งดูเฟซบุ๊กอยากรู้ว่ากลไกการทำงานเป็นอย่างไร เป็นจุดสังเกตว่าเราจะอยู่กับคอมพิวเตอร์ได้ไหม ไม่ใช่แค่ชอบเล่นเกม ถ้าเริ่มมีวิธีคิดแบบนี้ คุณอาจจะเหมาะกับการใช้ชีวิตเขียนโปรแกรม เพราะเมื่อเป็นวิชาชีพแล้วเราต้องอยู่กับมันตลอด เหมือนคนชอบถ่ายรูปก็จะมีความสุขกับการถ่ายรูป คนที่เป็นนักพัฒนาก็เช่นกัน เขาจะมีความสุขกับการสร้างของ เขียนโค้ด เป็นวิธีการคิดที่ต่างกัน ลองสังเกตตัวเองดู
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ส่วนหนึ่งผมไม่ค่อยเห็นตัวเองเป็นอาจารย์สักเท่าไหร่ (หัวเราะ) ด้วยความที่เราอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็ก ทุกคนที่สอนผมเห็นเขาเป็นรุ่นน้อง จุดสังเกตคือเวลาผมไปสอนที่อื่นจะใจดี แต่ถ้าสอนสาขาตัวเองจะตั้งมาตรฐานและเฮี้ยบมากขึ้น บทบาทความเป็นอาจารย์เลยไม่ค่อยชัดเมื่อเทียบกับไปเป็นวิทยากรหรือไปสอนให้ที่อื่น นี่เป็นฝั่งการศึกษา
อีกฝั่งหนึ่ง บทบาทตอนนี้ในโลกอุตสาหกรรม ผมมองว่าตัวเองเป็น Software Architect เมื่อก่อนเราเริ่มจากการเป็นนักพัฒนา แต่ช่วงนี้ผมเริ่มเขียนโปรแกรมได้น้อยลง เริ่มมองภาพรวมกว้างขึ้น สิ่งที่ทำตอนนี้เป็นการเอาชิ้นส่วนซอฟต์แวร์ของเด็กในบริษัทที่เราไปเป็นที่ปรึกษามาร้อยเรียงกัน ถ้ามองในมุมนี้น่าจะเป็น Software Architect มากกว่าที่จะเป็นนักพัฒนาอย่างที่ตอนเด็กๆ อยากเป็น
จริงๆ แล้วเป้าหมายในชีวิตตั้งแต่เด็กคือการทำซอฟต์แวร์ ผมก็เคยคิดเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้เป็นอาจารย์ก็คงทำซอฟต์แวร์อยู่ที่ไหนสักที่หนึ่ง แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาเป็นอาจารย์ เพราะมีมุมที่ได้ทำซอฟต์แวร์เองด้วย ได้ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วมาเล่าให้เด็กๆ ฟัง ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีมีเยอะมากและไปเร็วมาก ความยากคือพอเราต้องเปลี่ยน มันต้องตัดอะไรออกเติมอะไรเข้า เป็นความท้าทายในการออกแบบหลักสูตรกันต่อไป
สร้างโอกาสให้เป็นลูกโซ่
ตลอดช่วงจังหวะชีวิตที่เกิดขึ้น หลายๆ เรื่องเป็นความบังเอิญมากๆ ไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นจุดผลักดันในชีวิต แม้แต่การตัดสินใจเข้าแข่งขันซอฟต์แวร์ ตอนนั้นยังไม่ได้เรียนคอมพิวเตอร์ ยังเป็นวิศวะฯ ทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินเข้าไปหาอาจารย์ตอนปี 1 และขอให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษาให้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จักอาจารย์มากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้เราได้ลงมือทำบางอย่างและได้แสดงศักยภาพ พอคนอื่นเริ่มเห็นก็เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ช้าๆ
ที่เป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งคือผมเคยได้เข้าไปอยู่ใน community ของการทำ Software Container ของบริษัท เป็นโอกาสที่รู้จักวิศวกรคนหนึ่งที่ทำซอฟต์แวร์ด้วยกัน เขาชวนผมเขียนหนังสือ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เขียนหนังสือร่วมกันครั้งแรก ปีถัดมาเราก็มีโอกาสเขียนหนังสือด้วยตัวเองทั้งเล่ม น่าจะเป็นจังหวะ มีช่องทาง มีเวที มี community หลายองค์ประกอบ ด้วยความสามารถตัวเองเป็นแค่ส่วนเล็กๆ แต่องค์ประกอบรอบๆ ที่ประเทศสร้างโอกาสให้เรา community สร้างโอกาสให้เรา มันส่งผลกระทบกับชีวิต เป็นแรงสนับสนุนได้เยอะมากครับ
ซอฟต์แวร์ไทยไปไกลระดับโลก (ได้!)
ที่ผ่านมาผมได้ทำของที่อยากทำแทบจะหมดทุกอย่างแล้ว เราได้สร้างซอฟต์แวร์ ได้ทำงานวิจัย ปีนี้โชคดีได้เขียนหนังสือให้คนอ่าน ถือว่าเท่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในมุมมองของตัวเองเพียงพอแล้ว ที่อยากทำต่อ คล้ายๆ ว่ามันเป็นความฝันอย่างหนึ่งที่อยากเห็นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยโตและมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้ เป็นความฝันวัยเด็กที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยด้านนี้ พอโตขึ้นมาเราไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเต็มตัว แต่ที่ผ่านมารู้สึกดีใจที่พอจะทำได้บ้าง ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาน่าจะชัดเจนที่สุดที่เกิดของแบบนี้ขึ้น เราสามารถเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ที่ Silicon Valley มาได้เร็วและกระตุ้นให้คนไทยอยากเรียนรู้ของแบบนี้ได้เร็วและก่อนประเทศอื่น เป็นเรื่อง Software Container ที่ผมถนัด เรียกได้ว่าผมแฮปปี้ในระดับหนึ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้น
สเต็ปถัดไปคงเป็นการทำให้เทคโนโลยีพวกนี้มันง่ายขึ้น เด็กสามารถเรียนรู้ สามารถเข้าใจได้มากขึ้น ปีหน้ามีแผนจะเอามาสอนในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย เป็นอีกสเต็ปในการสร้างรากฐาน ตอนนี้ทุกคนรู้ว่าเราอยู่ในยุคที่พยายามสร้าง Digital economy พยายามไปในบริบทนั้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นพื้นฐานในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ได้
ออกจากมหา’ลัย…ไปหา Community
ถ้าเราทำอะไรคนเดียว ไม่มีทางที่คนๆ เดียวจะสร้างอิมแพคระดับโลกได้ แต่พอเป็น community ทุกคนช่วยกันเขียนซอฟต์แวร์ ทุกคนช่วยกันแชร์ความรู้ที่สร้างขึ้นมา การได้แลกเปลี่ยนกันสร้างโอกาสมากๆ อยากเห็นเด็กไทยได้ไปร่วมใน community เหล่านี้ เราจะได้ทำงานกับวิศวกรระดับ Google โดยที่นั่งอยู่ที่บ้าน เราจะเจอเทคนิคการเขียนโปรแกรมที่ไม่ได้มีการสอนในมหาวิทยาลัยแน่นอน เป็นเรื่องที่หาเรียนไม่ได้ เขาจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างจากบ้านเรา ต่างจากมหาวิทยาลัย มันจะเจอได้ในแต่ละที่ และแต่ละที่ก็จะต่างกัน ถ้าเป็นไปได้อยากให้น้องๆ พยายามเข้าไปร่วมใน community ระดับพวกนี้ เราจะได้เรียนรู้มากๆ เลย
อยากสำเร็จ…ธุรกิจต้องมีเอี่ยว
มี community ที่ทั้งล้มเหลวและสำเร็จ community ที่สำเร็จทุกคนจะมีเป้าหมายร่วมกัน ทุกคนมีของที่มาแชร์และมีของที่จะได้กลับไป มันยากมากเวลาที่เราคิดจะสร้าง community ในประเทศไทย ด้วยความที่เราจะมีคาแรกเตอร์ที่ว่าทุกคนต้องมีน้ำใจ พอทุกคนคาดหวังว่าคนอื่นจะมีน้ำใจมันจะไม่เกิดบางอย่างขึ้น เพราะจริงๆ community ที่จะเกิดและแข็งแกร่งมักจะต้องมีธุรกิจมาเกี่ยวข้อง และเป็นฐานที่ทำให้มีความยั่งยืน ถ้าเป็นลักษณะไม่หวังผลกำไรร้อยเปอร์เซ็นต์มันยากมากที่จะเกิด ดังนั้น หากจะให้ยั่งยืนต้องมีธุรกิจเป็นแบ็ค มีคนทำงานฟูลไทม์ใน community โดยบริษัทใหญ่จ่ายเงิน ถ้าทุกคนใส่พลังเข้าไปอย่างเดียวแล้วไม่ได้อะไรกลับไปเลย สุดท้ายมันจะไม่สำเร็จ จึงต้องมีแบ็คโบนใหญ่ๆ ที่สามารถได้ผลประโยชน์บางอย่างและสนับสนุนคนทำงานให้สามารถทำงานได้ด้วย…
พรสวรรค์อาจเป็นสิ่งสำคัญ แต่พรแสวงนั้นสำคัญกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีคนคอยชี้แนะให้เราแสวงอย่างถูกจุด พร้อมๆ ไปกับมีแรงคอยหนุนส่งอย่างเข้มแข็ง โอกาสไปสู่ความสำเร็จของเด็กไอทีไทยก็ย่อมเปิดกว้างมากขึ้น และนั่นเองคือบทบาทในวันนี้ของอาจารย์ชาญวิทย์ ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นความสุขในชีวิตของเขา…
ข้อมูลการศึกษา
- 2553 Ph.D. (Computer Science), The University of Manchester, Manchester, UK
- 2546 วศ.ม. (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2543 วศ.บ. (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 1998
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- พ.ศ. 2560 รางวัล Thailand Cybersecurity Excellence Awards ประเภทบุคคลผลงานการพัฒนาโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ WannaCry จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- พ.ศ. 2559 หัวหน้าโครงการ Swarm2K และ Swarm3K สร้าง Docker Swarm คลัสเตอร์ขนาด 2,300 โหนดและ 4,700 โหนด
- พ.ศ. 2558 ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต ให้ถวายงานสร้างเครื่อง มทส ไอยราคลัสเตอร์ รุ่นที่ 4 (บรรจุ Docker Swarm และ Ceph) แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- พ.ศ. 2543 เหรียญรางวัลการศึกษาดีเด่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2543 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ปัจจุบัน
- อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ความเชี่ยวชาญ
- Big Data
- ARM Cluster
- Grails
- Java, Java Enterprise Edition
- Software Development & Software Engineering
- Open Source Software
- Scrum & Agile Methodologies
- Web Services