- บทสัมภาษณ์ | เดือนมิถุนายน 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ปิ่นพงศ์ เนียมมะณี
- “ความหลงใหลในสิ่งที่ทำ จะนำทางคุณไปยังขั้นบันไดสู่ความสำเร็จ ส่วนสิ่งที่จะนำคุณก้าวไปถึงความสำเร็จจริงๆ นั้น คือความพยายาม…”
เพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต นักสร้างสรรค์มือทองเจ้าของบริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด ยืนยันถึงความจริงข้อนี้ด้วยชีวิตคนไอทีของเขา ที่เริ่มต้นทุกสิ่งโดยใช้ความหลงใหลส่วนตัวเป็นที่ตั้ง และขับเคลื่อนความหลงใหลนั้นด้วยความพยายาม จนทำให้เขาเคยได้ชื่อว่า เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์อันดับ 1 ของโลกมาแล้ว และในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการ บอกได้เลยว่าคนไอทีรุ่นใหม่ไม่ควรพลาดบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง…
ความฝันผลิบานในร้านเกม
ผมเป็นคนที่ชอบเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือคอมพิวเตอร์ แต่ได้สัมผัสความเป็นไอทีครั้งแรกจากเครื่องเล่นวิดีโอเกม รู้สึกมีความสุขในการอดค่าขนมแล้วเอาเงินไปเล่นตามร้านเกมต่างๆ และคิดว่าถ้าสักวันสามารถสร้างเกมได้เองน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสุข เริ่มมี passion อยากสร้างซอฟต์แวร์เกมด้วยตัวเองขึ้นมา แต่ยังไม่รู้ว่าจะสร้างด้วยวิธีอะไร เป็นเพียงแค่ความฝัน หลังจากนั้นได้สัมผัสคอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนมัธยมปลาย สมัยนั้นคอมพิวเตอร์ยังเป็น Intel 286 และราคาแพงมาก ตามโรงเรียนก็ยังไม่มีแลปคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นคอมพิวเตอร์จึงดูเกินเลยสำหรับเด็กมัธยมฯ
ให้ความหลงใหลนำทางชีวิต
จนกระทั่งได้สัมผัสจริงๆ ตอนเรียนภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนที่ผมเข้าไปคอมพิวเตอร์ยังใหม่มาก เป็นภาควิชาที่ไม่ค่อยมีใครอยากเลือก เพราะคนไม่เข้าใจและจินตนาการไม่ออกว่าจบมาแล้วจะทำอะไร มันไกลตัวมาก ส่วนเราพอจะเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์สามารถทำอะไรได้บ้างและมี passion เรื่องนี้ จึงเลือกเรียนวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ เพื่อสืบสานสิ่งที่อยากทำตั้งแต่เด็กคือพัฒนาเกมด้วยตัวเอง
ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนเราจะทำสิ่งที่ดีได้ต้องเริ่มจาก passion ก่อน โดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะหลังจากเรียนจบเราต้องใช้เวลาที่เหลือทั้งชีวิตกับสิ่งที่เรียนมา ฉะนั้น การเลือกเรียนตรงสายวิชาที่เราอยากเป็นสิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรเลือก ณ เวลานั้น ซึ่งต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่ให้การสนับสนุนด้านการเล่าเรียน ให้ลูกได้เป็นอย่างที่อยากจะเป็น
เกียรติยศสูงสุดจากการแข่งครั้งแรก
ผมได้รับข้อมูลการจัดแข่งขัน NSC ครั้งที่ 1 ตั้งแต่เรียนปี 3 แต่สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต การรับรู้ข่าวสารเกิดจากอาจารย์บอกหรือภาควิชาติดโปสเตอร์ เราไปอ่านเจอโปสเตอร์การแข่งขันแต่ช้าไปส่งไม่ทัน เนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใหม่มาก การแข่งขันซอฟต์แวร์ไม่ได้มีเยอะ และ NSC เป็นเวทีใหญ่ที่สุดแล้ว พอปี 4 เลยอยากส่งผลงานเข้าแข่งขัน สมัยผมจะไม่มีแนวทางจากรุ่นพี่ในการเอาซอฟต์แวร์ตัวเก่ามาประยุกต์ใช้ จึงเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการแข่งขัน NSC โดยเฉพาะ
ช่วงนั้นผมชอบทำเกี่ยวกับไมโครคอนโทรลเลอร์ คืออุปกรณ์ที่ควบคุมฮาร์ดแวร์ เลยคิดว่าจะเอาความรู้ตรงนี้มาประยุกต์ใช้กับการแข่งขัน NSC อย่างไรได้บ้าง เป็นที่มาของการสร้างซอฟต์แวร์เพื่อคนพิการ คืออุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งสมัยก่อนค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลค่อนข้างสูง ผู้ป่วยต้องกลับไปทำต่อเองที่บ้าน ผมใช้เวลาพัฒนาผลงานประมาณ 3 เดือนก่อนแข่งขัน จำได้ว่าคืนสุดท้ายก่อนส่งยังต้องนั่งบัดกรีแผงเมนบอร์ด (หัวเราะ) แก้งานจนวินาทีสุดท้าย แต่ได้ผ่านรอบภูมิภาคไปออกบูธรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยเอางานมาแข่งขันลักษณะนี้ ตอนนั้นได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทโปรแกรมเพื่อคนพิการ สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการแข่งขันครั้งนั้นก็คือ ได้รับรางวัลโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ที่นับเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตผมเลยครับ
ก้าวสู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์อันดับ 1 ของโลก
หลังจากนั้นทำให้ได้แรงบันดาลใจและกำลังใจ ทำให้เห็นว่าผลงานที่เราสร้างมีคุณค่า มีหลายคนเห็นคุณค่าในการพัฒนาซอฟต์แวร์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมส่งซอฟต์แวร์เข้าแข่งขันเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีรางวัลจากการแข่งขันประมาณ 20 รางวัล รางวัลใหญ่ที่สุดคือการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมส่งแข่งขันในงาน JAVA Master ซึ่งจัดที่ประเภทเยอรมัน มีผู้เข้าแข่งขัน 1,100 โครงการ จาก 100 ประเทศทั่วโลก ตอนนั้นคิดว่าแค่ได้ท็อป 10 ของโลกก็คงภูมิใจแล้ว แต่ปรากฏว่าเราได้รางวัลที่ 1 เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจอย่างหนึ่งว่าเราเคยพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชนะเลิศอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว
NSC คือใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ
คุณค่าอีกอย่างหนึ่งคือทำให้เห็นว่าซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาด้วยความยากลำบากสามารถใช้ประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ ผมเชื่อว่าซอฟต์แวร์ทุกตัวที่สร้างมาเกิดจากความตั้งใจของผู้สร้างและมีจุดประสงค์ว่าสร้างมาเพื่ออะไร อีกประการหนึ่ง NSC ถือเป็นเวทีสำคัญที่ให้เด็กได้มีโอกาสนำเสนอความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าความสามารถนั้นไม่ได้ถูกแสดงออกมาให้เห็น ไม่นานจะถูกลบเลือนออกไปเพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม NSC จึงเป็นก้าวแรกที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ได้รับรางวัลมีสเต็ปในการก้าวต่อไปเรื่อยๆ เหมือนตัวผมเองพอประสบความสำเร็จจากการแข่งขันเวทีแรก ทำให้เรามีกำลังใจที่จะเดินไปยังเวทีอื่นๆ หรือในการแข่งขันระดับนานาชาติได้
ถ้าไม่ได้ทำตาม passion ฉันจะไปบวช!
ช่วงที่เรียนจบแรกๆ ผมมี passion ว่าอยากทำงานในอุตสาหกรรมเกมมาก แต่สมัยนั้นบริษัทเกมในบ้านเราค่อนข้างหายาก ก็เลยเลือกสายงานที่คิดว่าจะมีอนาคตก้าวหน้าก่อน ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น หลังจากที่ผมไม่สามารถหาบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เกมได้เลยเบนเข็มไปทำงานด้าน network engineer แทน เป็นบริษัทเกี่ยวกับระบบเน็ตเวิร์คอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่ยังมีคนทำด้านนี้น้อย ใครได้ทำจะดูเท่ห์มาก ทำงานได้ปีกว่าถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เป็น passion ของเราตั้งแต่ต้น แม้จะมีโอกาสทำโปรเจกต์ขนาดใหญ่หลายสิบล้านบาท แต่ด้วยความที่อยากพัฒนาซอฟต์แวร์เกมและเราไม่ได้ทำสิ่งนั้น อีกทั้งคิดว่าสายงาน network engineer อาจไม่ใช่สายงานที่เราต้องการแล้ว ก็เลยลาออกแล้วไปบวช (หัวเราะ)
วางพระธรรม…ไปเขียนแผนธุรกิจ
พอสึกออกมาก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นว่า เราควรจะเริ่มทำอะไรกับชีวิตดี เราควรใช้ชีวิตไปตาม passion ที่มีคือพัฒนาเกม หรือควรเดินไปตามกระแสสังคมที่ควรจะเป็นคือกลับไปทำงาน network engineer และมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพเหมือนเดิม จนกระทั่งมีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรผู้ประกอบการด้านไอที (NEC – New Entrepreneur Creation) ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็คือ startup ตอนนั้นผมเขียนแผนธุรกิจสร้างบริษัทเกมโดยที่ไม่มีความรู้ด้านธุรกิจมาก่อน นั่นคือโอกาสหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยน
พอได้เรียนรู้เกี่ยวกับแผนธุรกิจ ได้เห็นมุมมองการสร้างธุรกิจที่ไม่ใช่การพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างเดียว ซึ่งต้องมั่นใจว่าซอฟต์แวร์ที่พัฒนาออกมาจะได้รับการตอบรับจากผู้ใช้งานจริง รวมถึงสามารถสร้างรายได้และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเห็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือน้องๆ หน้าใหม่หลายคนพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีออกมาแต่ไม่มีโอกาสเอาซอฟต์แวร์นั้นออกสู่ตลาด หรือออกสู่ตลาดไม่กี่ปีก็ปิดบริการไปเพราะไม่สามารถสร้างเม็ดเงินให้องค์กรได้ เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
ถึงเวลาสตาร์ทอัพความฝัน
เมื่อมีความรู้ด้านการสร้างธุรกิจแล้วก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นว่าเรามี passion ที่จะทำบริษัทเกม ในเมื่อประเทศไทยยังไม่มีบริษัทเกมให้ทำงาน เราก็สร้างบริษัทเกมขึ้นมาเลยแล้วกัน จึงเปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมาเมื่อปี 2546 ทำธุรกิจสร้างซอฟต์แวร์เกมโดยตรง โดยได้รับการสนับสนุนจากซอฟต์แวร์ปาร์คในการตั้งบริษัทเล็กๆ เอาเพื่อนๆ ที่จบมาด้วยกันมาช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ ผลงานแรกชื่อว่า King of Mobile เป็นซอฟต์แวร์เกมที่ทำงานบนโทรศัพท์มือถือ สมัยนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟน เป็นยุคโนเกียรุ่งเรือง ผมเขียนเกมครั้งแรกบนหน้าจอขาวดำที่เล็กมาก ซึ่งนอกจากส่งแข่งขันโครงการ JAVA Master แล้วยังส่งแข่งขันโครงการ Samart Innovation ด้วย ได้รางวัลชนะเลิศเหมือนกัน ทำให้บริษัทเริ่มเป็นที่รู้จัก มี VC (Venture Capital) สนใจเข้ามาทาบทามเพื่อลงทุนในบริษัทและมีการร่วมทุนจากบริษัทมหาชนสำเร็จ ได้รับเงินทุนมาพัฒนาบริษัทต่อ
เมื่อความฝันอิ่มตัว ชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลง
เราทำซอฟต์แวร์เกมที่ขายบนโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี อุตสาหกรรมเกมในไทยเริ่มบูม รูปแบบเกมเปลี่ยนไป คนเริ่มเล่นเกมบน PC มากขึ้น เราขยับมาพัฒนาเกมออนไลน์ด้วยตัวเราเอง พลับลิชกับบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ทำเกมออนไลน์ ส่งซอฟต์แวร์ไปขายมากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก แต่การตลาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง คนมีโทรศัพท์มือถือมากขึ้น สามารถดาวน์โหลดเกมบน app store ได้ การแข่งขันในตลาดจึงค่อนข้างสูง ประกอบกับผมรู้สึกอิ่มตัวกับจุดที่ทำสำเร็จแล้ว คือได้ตั้งสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทยหรือ TGA ร่วมกับภาครัฐ และเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ซอฟต์แวร์เกมบ้านเราเทียบเท่าต่างประเทศ พอเริ่มอิ่มตัวก็เลยเบนเข็มไปที่โฟกัสต่อไป
มองเห็นโอกาส ย่อมไปได้เร็ว
ถ้าอยู่ในโลกไอทีจะเห็นการมาของคำว่า startup ที่เริ่มจากคนไม่กี่คนแล้วสามารถปฏิวัติวงการไอทีได้ จึงมองว่าขุมทรัพย์ที่น่าสนใจที่สุดคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ไอทีให้เป็น startup และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงปรับโครงสร้างบริษัทจากการทำงานแบบ SMEs ให้เป็นการทำงานแบบ startup แทน เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ผลงานแรกที่ทำเป็นซอฟต์แวร์ด้านการเงินหรือ FinTech (Financial Technology) ตอนนั้นเราเห็นโอกาสอะไร? ส่วนหนึ่งมาจากการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด เราเห็นการเปลี่ยนแปลง อย่างแรกคือการมาของพร้อมเพย์ (prompt pay) เป็นสิ่งที่ภาครัฐพยายามให้ประชาชนใช้การโอนเงินแบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อลดการใช้เงินกระดาษหรือเหรียญ ต่อมาเริ่มมีคิวอาร์โค้ด เริ่มเห็นการซื้อขายของออนไลน์ การใช้ e-wallet ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเติมเต็มให้ผู้บริโภค นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่มองเห็นและอยากจะทำ
ใหญ่มาจากไหนก็ตายได้ ถ้าไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง
แต่มันมีความท้าทายค่อนข้างสูงมาก เพราะว่าอุตสาหกรรมด้านการเงินกับอุตสาหกรรมด้านพัฒนาเกมหรือบันเทิงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย วิธีการคิดหรือมุมมองทางธุรกิจค่อนข้างต่างกัน ต้องอาศัยความท้าทายของคน เราต้องเปลี่ยนทีมงาน เปลี่ยนมุมมองความคิดของพนักงานให้ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมันเป็นกฏเหล็กของโลกไอที เนื่องจากโลกไอทีเปลี่ยนแปลงเร็ว มีคำพูดหนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมและเป็นคำพูดที่ถูกต้องเสมอว่า ‘ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม คุณจะตายเสมอถ้าไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลง ให้คุณเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้คนอื่นบังคับให้คุณเปลี่ยนแปลง’ เพราะมีบทเรียนในอดีตที่บริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ ระดับโลกที่เคยสำเร็จแต่ปัจจุบันล้มหายตายจากเพราะไม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย บางซอฟต์แวร์เคยขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมแต่หายไปเพราะไม่รู้เทคนิคในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ใครบอกว่า ของดีไม่จำเป็นต้องสวย?
สมัยก่อนในฐานะคนเข้าแข่งขัน NSC เราจะมองเรื่องเดียวคือความสามารถของซอฟต์แวร์ที่ทำงานได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แต่จากที่ได้เป็นกรรมการ NSC มาเกือบ 10 ปี ทำให้เห็นว่านักศึกษาที่มาแข่งขันจะมาจากสายไอทีโดยตรงและบางทีขาดทักษะการนำเสนอที่ดี ในขณะที่กรรมการอาจไม่มีเวลาทดลองฟังก์ชันซอฟต์แวร์ทุกส่วนได้ เช่นเดียวกับการทำอาหาร แม้อาหารนั้นอาจจะรสชาติดี แต่ถ้าตกแต่งไม่สวยงามบางทีก็ทำให้คุณค่าของอาหารด้อยลง ทำอย่างไรให้ซอฟต์แวร์เข้าถึงได้ง่าย ทำอย่างไรให้นำเสนอแล้วกรรมการเข้าใจว่าซอฟต์แวร์มีความสามารถอย่างไร ซึ่งผมมักชี้แนะน้องๆ ทั้งเรื่องการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้มีความสามารถมากขึ้นและรูปแบบการนำเสนอที่ควรปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการแข่งขันมีการพัฒนาพอสมควร นักศึกษาได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ต้นๆ ว่าควรนำเสนอกรรมการอย่างไร ทำให้มีปัญหานี้น้อยลง
ประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ คือโจทย์ใหญ่ในการทำงาน
นอกจากนี้สิ่งที่เด็กไอทีมักขาดคือเรื่อง UI (User Interface) UX (User Experience) ซอฟต์แวร์ของเราเป็นมิตรกับผู้ใช้งานไหม ใช้งานยากง่ายแค่ไหน สมัยก่อนซอฟต์แวร์ถูกดีไซน์ให้คนไอทีใช้ แต่ปัจจุบันซอฟต์แวร์ใกล้ชิดผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ทำให้ต้องใช้งานง่าย สะดวก สมัยผมไม่มีคำว่า UX เราวางปุ่มอย่างที่อยากจะวาง พอเป็น UX ทำอย่างไรให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีในการใช้ซอฟต์แวร์ เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ได้ด้อยกว่าการทำงานของซอฟต์แวร์เลย ต่อให้ซอฟต์แวร์คุณดีขนาดไหน แต่ถ้าใช้งานยาก เข้าถึงยาก ผู้ใช้ก็ไม่อยากดาวน์โหลดไปใช้แน่นอน
อย่าให้ผลงานจบอยู่แค่การแข่งขัน!
สิ่งที่ควรพัฒนาต่อเนื่องคือ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เราพบว่านักศึกษาที่ส่งผลงานเข้าแข่งขันมีหลายโครงการที่ดีมาก สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์หรือเข้าสู่ระดับสากลได้ แต่หลายครั้งที่ซอฟต์แวร์จบแค่การแข่งขัน หลังจากนั้นไม่ถูกนำไปต่อยอด ซึ่งน่าเสียดายมาก ปัจจุบัน NSC พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ทำโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่ให้จบแค่การแข่งขัน แต่สามารถเอาไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งนักศึกษาต้องมองว่าซอฟต์แวร์นี้สร้างผลประโยชน์อะไรให้กับสังคมหรือผู้ใช้งาน และเราสามารถต่อยอดในเชิงการค้าได้มากแค่ไหน ถ้ามีองค์ประกอบพวกนี้ผลงานจะไม่จบแค่การแข่งขันเท่านั้น
เชื่อมคนให้ถึงงาน เชื่อมผลงานให้ถึงทุน
NSC เป็นงานแข่งขันซอฟต์แวร์ที่ให้นักเรียนนักศึกษาแสดงผลงานทางไอทีต่อได้ ซึ่งซอฟต์แวร์หลายตัวมีความคิดสร้างสรรค์หรือมีคุณประโยชน์มาก รวมทั้งนักศึกษาบางคนมีทักษะความสามารถที่เหมาะสมไปอยู่กับองค์กรที่เขาอยากทำงานได้ จึงต้องการจุดเชื่อมต่อ เช่น อาจมี NSC ภาคต่อที่ทำตัวเป็น startup ให้ทุนแก่นักศึกษาที่มีความตั้งใจและอยากพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาให้ใช้งานได้จริง ซึ่งเขาอาจขาดคนชี้แนะที่จะช่วยปรับรูปในเชิงธุรกิจ รวมถึงการสร้าง Job fair ต่างๆ เช่น เอาบริษัทเอกชนมาดูงานของนักศึกษาที่พัฒนาแล้วว่าซอฟต์แวร์มีคุณค่าควรต่อยอดเชิงการค้าไหม หรือเอานักศึกษามาอยู่ในองค์กรและพัฒนาศักยภาพให้เติบโตมากขึ้น เป็นการพัฒนาระยะยาวที่ไม่ได้จบแค่การแข่งขัน แต่ผลักดันเขาให้เติบโตในสายวิชาชีพมากขึ้นกว่าเดิม
ความสำเร็จต้องแลกมาด้วยความทุ่มเท
สำหรับคนที่อยากเข้ามาในเส้นทางนี้ให้เริ่มต้นจากความตั้งใจและทัศนคติก่อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อว่าไม่มีความพยายามไหนไร้ค่า และซอฟต์แวร์ที่ดีก่อนที่จะออกมาได้ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยและความพยายามที่ทุ่มเท เริ่มจากการที่เรามี passion อยากทำงานในโลกไอที ที่เหลือเป็นเรื่องความพยายามที่จะขวนขวายหาความรู้ หาทักษะที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะปัจจุบันสายงานไอทีค่อนข้างแตกแขนงไปหลายสายมาก ลองเลือกว่าอะไรที่ชอบมากที่สุดแล้วทุ่มเทความสามารถลงไป
พร้อมไหมที่จะปิดทองหลังพระ?
ไอทีเป็นโลกที่แปลกอย่างหนึ่ง เป็นโลกที่เราอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคนหมู่มาก ซอฟต์แวร์บางตัวที่เราใช้งานกันเบื้องหลัง ใช้ engineer หลายพันหลายหมื่นคน เพื่อทำให้ซอฟต์แวร์นั้นเกิดขึ้นและใช้งานอย่างราบรื่น ฉะนั้น งานพัฒนาซอฟต์แวร์บางส่วนเหมือนงานปิดทองหลังพระ คนอาจไม่เห็นว่าเราอยู่ส่วนไหนบ้าง คนที่อยากอยู่ในสายงานนี้จึงต้องเป็นคนที่กระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและสามารถทำงานเบื้องหลังได้อย่างไม่ติดปัญหา
มีวันนี้เพราะไม่ยอมแพ้!
แรงผลักดันของผมน่าจะเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ความเก่งของคนเรา 1 เปอร์เซ็นต์มาจากพรสวรรค์ แต่ 99 เปอร์เซ็นต์มาจากความพยายาม ตอนที่โทมัส เอดิสัน ผลิตหลอดไฟสำเร็จ เกิดจากการทดลองมากกว่า 3,000 ครั้ง ซึ่งเขาไม่คิดว่าคือความล้มเหลว แต่คือก้าวหนึ่งของความพยายาม ถ้าเขายอมแพ้ตั้งแต่ครั้งแรกๆ เราจะไม่มีหลอดไฟใช้ทุกวันนี้
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมใช้เป็นคติในการทำงานคือ passion ผมมีความเชื่อว่า ทำไปแล้วไม่สำเร็จยังดีกว่าไม่ได้ทำ หลายคนเวลาเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างมักมีข้ออ้างให้กับตัวเอง ในความเป็นจริงไม่มีใครเริ่มต้นจากความสมบูรณ์แบบ สิ่งที่คุณใช้กล่าวอ้างว่าทำไม่ได้เป็นเพียงข้ออ้างที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น ดังนั้น การจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ต้องเริ่มจากการไม่มีข้ออ้างในตัวเอง และเริ่มต้นทำมันอย่างเต็มที่และตั้งใจ ผมจะมีแรงผลักดันภายในจากการใช้ทัศนคติด้านบวก ส่วนที่เหลือเป็นปัจจัยภายนอก คุณพ่อคุณแม่ที่ให้เวลาและการสนับสนุน ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ให้การส่งเสริม ให้วิชาชีพ ให้ความรู้ต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น NSC เป็นเวทีสำคัญที่ทำให้สามารถส่งผลงานแข่งขันและสร้างความภาคภูมิใจให้กับชีวิตได้
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ผ่านมาผมทำหลายเรื่องมากในชีวิต เป็นครูสอนในมหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรให้หลายที่ เป็นคนเขียนหนังสือ เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นนักธุรกิจ เป็นเจ้าขององค์กร เป็นนายกสมาคมฯ ถ้าจะนิยาม ณ วันนี้ ที่ผมชอบมากที่สุดคือ นักสร้างสรรค์ หรือ Creator ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนเก่ง ฉลาด หรือร่ำรวย แต่นักสร้างสรรค์คือคนที่มี passion ที่อยากสร้างสิ่งดีให้โลก ผมเชื่อว่าโลกนี้จะน่าอยู่ถ้าทุกคนอยากสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและคนรอบข้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งผู้สร้างสรรค์เป็นคนที่พยายามสร้างอะไรใหม่ๆ ขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ หรือสร้างของเดิมที่ไม่ดีให้กลับมาดีมากขึ้น
ส่งต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น
หลังการแข่งขัน NSC จบ ทุกคนเดินไปตามสาขาวิชาชีพของตน ปัจจุบันรุ่นแรกๆ เติบโตมามีศักยภาพในองค์กรและสังคมมาก เมื่อก่อนเรามีความฝันหลายเรื่อง มี passion จะทำหลายอย่าง แต่ด้วยความเป็นนักศึกษาทำให้มีข้อจำกัดมากมาย พอเราข้ามพ้นจุดนั้น 20 ปีที่ผ่านมาทำให้เรามีพลังเยอะมากในการผลักดันสิ่งดีๆ สู่สังคม ผมเชื่อว่าสังคมที่ดีต้องรู้จักการส่งต่อ คนที่ประสบความสำเร็จจาก NSC ควรส่งต่อหรือสร้างความสำเร็จให้รุ่นน้องไปเรื่อยๆ ส่วนตัวผมเองเป็นกรรมการมา 10 ปีแล้วและจะเป็นต่อไป เพราะผมอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและตอบแทน NSC ที่ให้โอกาสดีๆ กับผม ถ้าเราช่วยกันคนละไม้ละมือจะเป็นขบวนการที่ทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีงานแข่งขันดีๆ หรือมีซอฟต์แวร์ดีๆ ใช้อย่างต่อเนื่องครับ ..
จากบทเรียนชีวิตของนักสร้างสรรค์มือทองคนนี้ จะพบว่าการจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายไอทีแบบยาวๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากความหลงใหลส่วนตัว บวกรวมกับความพยายามแล้ว ฐานคิดของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราคือผู้อยู่รอด
และเมื่ออยู่รอด เราย่อมมีพื้นที่และชีวิตที่จะสร้างสรรค์อะไรให้โลกใบนี้ได้อีกมากมาย…เหมือนชายผู้นี้
ข้อมูลการศึกษา
- 2000: ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- 2014: ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ใบประกาศนียบัตร/ หลักสูตรการศึกษา:
- 2003: “Techno-business Start-up Program 2003” (TSP) จาก AIT School of Management
- 2014: Tycoon Chic#3 Executive Management Program จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2000
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 กิจกรรมสานสัมพันธ์ เครือข่ายนวัตกร 2550 จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
- ได้รับเกียรติให้เป็น “ปูชนียบุคคลด้าน IT ของไทย” จากรายการ “IT Genius” ของสถานีโทรทัศน์ช่อง โมเดอร์นไนต์ทีวี
- รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 จากการแข่งขันประกวดโครงการของนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ในงาน 36 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ได้รับคัดเลือกให้เป็น “100 Best Executive manager” ของไทยประจำปี 2548 จากเครือ Nation Group
- รางวัลนักศึกษาดีเด่นอันเนื่องจากการทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รางวัลพระราชทาน ถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันการพัฒนาซอฟต์แวร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 (NSC2000) ประเภทเพื่อคนพิการ จากสมเด็จพระเทพราชสุดาสยามบรมมงกุฎราชกุมารี
- รางวัลศิษย์เก่าแห่งความภาคภูมิใจ จากงาน 25ปี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2559
- ผลงานได้รับการสัมภาษณ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์มากมาย อาทิ หนังสือพิมพ์ The Nation,ผู้จัดการ, เดลินิวส์, หนังสือ Com World, E-Commerce, Game Mag, อื่นๆ
- ผลงานซอฟต์แวร์เกมออนไลน์ ได้รับเกียรติให้คัดเลือกจาก SIPA ให้ไปแสดงที่งาน Tokyo Game Show 2007 ที่ญี่ปุ่นและ G-Star ที่เกาหลี อีกทั้งยังมีบทสัมภาษณ์ลงสื่อต่างๆของต่างประเทศมากมาย อาทิ Yahoo! Japan, 4Gamer.net, ITMedia
ปัจจุบัน
- Founder & Business Director, Prain Fintech Co.,Ltd
ความเชี่ยวชาญ
- การพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบสารสนเทศ (Software Development & Information and communication technology)
- การพัฒนาดิจิตอลคอนเทนส์และเกม (Digital Content & Game)
- การตลาดแบบดิจิตอล (Digital Marketing)
- การบริหารจัดการธุรกิจและธุรกิจสตาร์อัพ (Business Management & Start Up firm)
- เศรษฐกิจดิจิทัล (Creative Digital Economy)
- นวัตกรรมและการทำลายที่สร้างสรรค์ (Innovation and Creative Disruption)