- บทสัมภาษณ์ | เดือนเมษายน 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์
“คนที่มีความสามารถหลายด้านคือคนเก่ง แต่คนที่จะประสบความสำเร็จคือคนเก่งที่ลงมือทำ” นั่นคือสิ่งที่ ‘บอย’ อัจฉริยะ ดาโรจน์ ผู้ก่อตั้ง AIYA แชทบอท (chatbot) สายเลือดไทยเพื่อร้านค้าออนไลน์ สกัดออกมาได้จาก 37 ปีในชีวิตของเขา จากเด็กหนุ่มที่หลงใหลในการเล่นดนตรี ข้ามฟากมาสู่เส้นทางสายไอที และใช้การแข่งขันยกระดับตัวเองไปสู่การทำตามความฝัน นั่นคือการเป็น startup ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างผลงานที่ตอบโจทย์สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขา? หาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
เริ่มต้นจากตัวโน้ต
ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่เริ่มสนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 12 ปี สมัยนั้นยังเรียนเขียนโปรแกรมด้วยเวิร์ดราชวิถี (RW-Rajavithi Word PC) และเวิร์ดจุฬา (CW-CU Writer) อยู่เลย ตอนมัธยมฯ เลือกเข้าชมรมคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังเขียนโปรแกรมไม่เป็น แค่พิมพ์ตามหนังสือแล้วรันได้ก็สนุกแล้ว ขณะเดียวกันผมก็เล่นคีย์บอร์ดวงโรงเรียนด้วย เราคลุกคลีกับดนตรีเยอะและชอบดนตรีมาก เริ่มเล่นมาตั้งแต่ประถมฯ จนถึงมัธยมฯ ได้รางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดและได้ที่ 3 ระดับประเทศรายการโค้กมิวสิคอวอร์ด ชีวิตผมเลยอยู่กับดนตรีและคอมพิวเตอร์ไปด้วยกัน ซึ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวโน้ตต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างขึ้นมา ด้วยความที่มีพื้นฐานนักดนตรี ทำให้เราคิดไม่เหมือน logic และมีจินตนาการสร้างสรรค์สูงกว่าโปรแกรมเมอร์ทั่วไป แต่พอถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าเส้นทางดนตรีน่าจะพอแล้วสำหรับเรา
เขียนโปรแกรมคาราโอเกะคือความฝัน
สมัยนั้นเวลาไปงานจะเห็นเครื่องคอมฯ คาราโอเกะ ความฝันของผมคืออยากเขียนโปรแกรมคาราโอเกะ เลยตัดสินใจเปลี่ยนจากสายดนตรีมาเป็นคอมพิวเตอร์ ผมเลือกเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สิ่งที่เราสนใจคือทำอย่างไรจะหาเงินจากความรู้ที่มีได้ ซึ่งสมัยมัธยมฯ ผมเคยประกอบคอมพิวเตอร์ขาย เราทำคอมพิวเตอร์เบื้องต้นเป็น แต่ไม่ง่ายเลยที่จะสร้างรายได้จากความรู้ที่มี
พอเรียนปีหนึ่งเทอมสอง ผมได้เริ่มฝึกเขียนโปรแกรมภาษาซี อย่างหนึ่งที่พยายามทำมากๆ คือก็อปปี้ไฟล์คาราโอเกะจากฮาร์ดไดร์ฟลงฟลอปปีดิสก์ ก่อนหน้านี้พยายามทำอยู่ 4 – 5 ปี พอเราทำได้ด้วยโค้ดไม่กี่บรรทัด ดีใจมาก อย่างน้อยเราก็ก้าวข้ามความฝันโปรแกรมคาราโอเกะแล้ว (ยิ้ม)
กระตุ้นตัวเองด้วยการแข่งขัน
ตอนที่เป็นนักดนตรีก็แข่งขันมาเรื่อยๆ ผมชอบ performance ตัวเองเวลาเราประสบความสำเร็จอะไรขึ้นมา พอเป็นคอมพิวเตอร์เราก็อยากแข่ง แต่จะเอาอะไรไปแข่งกับเขา พอดีช่วงซัมเมอร์ปีสอง อาจารย์ธนชาติ นุ่มนนท์ ท่านเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้ร่วมมือกับโนเกียเปิดคอร์สหลักสูตร Java To Micro Edition (JTME) ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เขียนโปรแกรมลงในโทรศัพท์มือถือโนเกีย 7650 สมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลก ผมเป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรกที่ทำแอปฯ บนเครื่องนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นส่งผลงานคอมพิวเตอร์เข้าแข่งขัน ได้รางวัลชนะเลิศเขียนเกมบนมือถือระดับภาคอีสาน พอปีสามเราก็เริ่มเขียนโปรแกรมเป็น
ไม่กลัวที่จะล้ม สักวันต้องทำได้!
ช่วงนั้นเห็นประกาศแข่งขัน NSC จากโปสเตอร์ เลยชวนเพื่อนที่เรียนเทคนิคการแพทย์มาร่วมกัน เพราะเพื่อนเจอปัญหาเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง เขาอยากให้คนไข้เอาไปใช้ที่บ้านได้ ผมเลยประดิษฐ์เป็นเครื่องเสียง สร้างโปรแกรมในรูปคลื่นที่กระตุ้นกล้ามเนื้อแต่ละแบบ เป็นจุดเริ่มต้นที่ส่ง NSC ครั้งแรก (NSC ครั้งที่ 5) ตอนนั้นเข้ารอบชิงชนะเลิศหมวดโปรแกรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการ แม้ไม่ได้รับรางวัลแต่เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ตอนแข่งพยายามแก้ไขเครื่องจนเครื่องเสียงที่ทำมาพัง (หัวเราะ) ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเราทำเท่าที่ทำได้ก็พอ
แต่ผมไม่ยอมแพ้นะ ปีต่อมาคิดว่าต้องเอาโปรเจกต์จบส่ง NSC ให้ได้ จังหวะนั้นสนใจเกี่ยวกับดิกชันนารีสำหรับคนพิการทางสายตา เลยทำเป็นผลงานพจนากรมอิเล็กทรอนิกส์อ่านออกเสียงและสั่งงานด้วยเสียง โปรเจกต์นี้ได้ใช้ฐานข้อมูลของ NECTEC ที่ชื่อ Lexitron ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปิดและหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต ผลจากความตั้งใจทำให้ได้รางวัลที่ 2 ในหมวดนี้มา ตอนนั้นภูมิใจมาก ผมมองว่าเด็กที่ผ่านโครงการ NSC จะมีจุดแข็งตรงที่เรามีความพยายามมากกว่าคนอื่น เราทดลอง ล้มแล้วล้มอีก ผิดแล้วผิดอีก ท้ายสุดเราก็ทำมันได้
เรียนรู้ทุกย่างก้าว สืบเท้าตามความฝัน
ตอนปี 4 ผมได้ฝึกงานกับบริษัทที่เป็นซับคอนแทรคของโนเกีย พอเรียนจบเขาก็รับเข้าทำงานเลย ได้ทำโปรแกรมภาษาไทยชื่อว่า Easy Thai ที่ใช้กับเครื่องโนเกียทุกเครื่อง ตอนนั้นคนดาวน์โหลดเยอะมาก เป็นยุคเฟื่องฟูเลย นั่นคือยุค 2G ที่ทุกอย่างยังไม่ได้ดีอย่างเดี๋ยวนี้ แต่เราก็เรียกว่าสมาร์ทโฟนแล้วแม้จะไม่สมาร์ทมากนัก
วันหนึ่งโครงการ NSC ชวนไปออกบูธ มีพี่คนหนึ่งเห็นดิกชันนารีที่ผมทำ เขาสนใจอยากให้ทำแบบเอาเมาส์ไปชี้บนหน้าจอแล้วแปลได้เลย ทำให้ได้เริ่มโปรเจกต์นี้ด้วยกันและช่วยกันเขียนโครงการขอทุนได้มา 2 ล้านบาท ตอนนั้นยังไม่มี startup เหมือนตอนนี้ ซึ่งความฝันตั้งแต่ก่อนเรียนจบคืออยากเปิดบริษัทของตัวเองก่อนอายุ 25 ปี ถ้าดูทุกอย่างที่ผมทำ ผมทำด้วยตัวเองเสมอ ถ้าวันหนึ่งเราทำผลงานของเราเอง บริษัทเราเอง ทุกคนใช้ผลงานเรา เราคงจะภูมิใจ แต่ตอนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำว่าให้ลองไปเรียนรู้ระบบจากที่อื่นก่อนแล้วค่อยออกมาทำของตัวเอง และผมก็เชื่ออาจารย์
‘ทำ’ เพื่อความฝัน ‘แข่ง’ เพื่อฝึกฝน
ประมาณปี 2007 ผมเริ่มทำบริษัทตัวเอง ชื่อ MegaSofts (เดิมชื่อ Genius MegaSofts) สมัยเด็กๆ เราก็อยากเหมือน Microsoft และเราก็ทำผลงานชื่อว่า MegaDict เป็นดิกชันนารีที่ชี้แล้วแปลได้ ซึ่งได้ยอดขายเยอะมาก แต่วงจรสินค้าอยู่ได้แค่ 2 – 3 ปี แม้เราทำของเก่ง แต่เราขายไม่เป็น และไม่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ ผลงาน MegaDict ชนะเลิศโครงการ Thailand ICT Awards 2013 ที่ได้รางวัลเยอะเพราะเป็นนวัตกรรมจริงๆ ผมมี passion เรื่องการศึกษามากๆ อยากทำซอฟท์แวร์ด้านการศึกษา อยากช่วยประเทศ อาจเป็นเพราะพ่อแม่อยู่ในวงการข้าราชการครูด้วย ผมเลยทำโซลูชั่น (solution) เกี่ยวกับโรงเรียนเยอะมากครับ หลังจากนั้น NECTEC จัดการแข่งขัน BEST 2009 ผมส่งโปรแกรมตัดคำภาษาไทยชื่อว่า คำไทย เข้าแข่งขัน ผลงานนี้ได้ที่สองร่วมมา สนุกดีครับ มันเหมือนเป็นการฝึก performance เราได้ไปเจอคนอื่นๆ ที่มีไอเดีย มีความเก่ง เราคิดว่าเราเก่งแล้ว แต่ก็มีคนที่เก่งกว่า ไอเดียเขาก็เจ๋งกว่า
‘เข้าใจความต้องการของผู้ใช้’ คือหัวใจสำคัญ
สมัยเรียนแข่งขันแล้วอาจได้รางวัลหรือคะแนน แต่การแข่งขันช่วงทำงานเป็นผลงานที่ลูกค้าจะต้องได้ใช้จริง มันไม่ใช่แค่ conceptual ไม่ใช่แค่ prototype แต่คืองานวิจัยที่เราเอามาแข่งขันเพื่อได้คำแนะนำต่างๆ และเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อได้ด้วยการผ่านเวที นี่คือข้อดีของการแข่งขันตอนทำงาน วิธีคิดมันต่างกัน ซึ่งการแข่งขันทุกครั้งเราต้องมีการเตรียมตัวที่ดี พอเราแข่งขันบ่อยๆ เราจะรู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร สิ่งสำคัญต้องทำให้กรรมการเข้าใจ และเราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของกรรมการหรือคนที่มาฟังด้วย เหมือนเราขายของต้องชวนเขาคุยเรื่องประสบการณ์ พอเข้าใจบริบทค่อยเสนอโซลูชั่นแต่คนส่วนใหญ่มักคิดกลับข้างว่าของเราดีอยากนำเสนอ
สร้างความแตกต่าง แล้ววิ่งหาฐานลูกค้า
บริษัทที่ทำปัจจุบันเป็น startup ที่ชื่อว่า ไอยา (AIYA – AI Your Assistance) ตอนนั้นผมเห็นความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี AI และแชทบอท คิดว่าถ้าจะทำ CRM (Customer Relationship Management) ที่ว่าด้วยการทำ Marketing , Sales , Support คือ 3 ส่วนในการสร้างรายได้และดูแลลูกค้า จะทำให้แตกต่างจากในอดีตอย่างไร เลยเอาเทคโนโลยีมาใส่ เอานวัตกรรมมาใส่ เอาแชทบอทมาเป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้าและดูแลลูกค้า
จริงๆ AIYAเกิดจาก co-working space ชื่อ Jump Space ที่ จ.ขอนแก่น เราอยากสร้าง Startup Ecosystem เป็น Community ที่รวมวิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ข้อดีของ Startup ภูมิภาคคือ เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เร่งรีบมาก อะไรที่มีทรัพยากรทดสอบตลาดได้เหมาะที่จะทำ แต่ AIYA เป็น Startup ที่เป็นเครื่องมือทางการตลาด และตลาดที่ทำธุรกิจเยอะที่สุดอยู่กรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องย้ายจากขอนแก่นมากรุงเทพฯ เพราะฐานลูกค้ากว้างกว่าครับ
คบคนเก่ง ‘คนเก่ง’ พาไปหาความสำเร็จ
หลายคนไม่รู้ว่า คนเก่งๆ ที่ทำผลงานให้เราใช้ทุกวันนี้เป็นเด็ก NSC แทบทั้งนั้น เด็ก NSC เป็นเด็กที่พิเศษ เรา born to be ที่จะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา ซึ่งความรู้ส่วนใหญ่อยู่นอกห้องเรียน NSC เปิดโอกาสให้เราแสดงศักยภาพ ได้เจอคนที่เก่งกว่า ทำให้เรามีประสบการณ์ ท้ายที่สุดคนที่สามารถเปลี่ยนตัวเองจากโปรแกรมเมอร์มาด้านธุรกิจได้ เขาจะเป็นคนที่พิเศษกว่าคนอื่น ธุรกิจเขาจะพิเศษกว่าคนอื่น เพราะเขาจะขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีที่สูงมาก และสามารถสร้างเทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเวที NSC ทำให้เราได้มาเจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกัน บางคนได้ร่วมทีมทำธุรกิจกัน โตมาด้วยกัน
สร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานปัญหาของผู้ใช้
สิ่งสำคัญในการทำอะไรต่างๆ อย่าทำจากความชอบหรือความต้องการของตัวเอง แต่ทำอยู่บนพื้นฐานปัญหาของลูกค้าหรือผู้ใช้ เรียนรู้วิธีที่จะทดสอบผลงาน ยอมรับผลที่ออกมาแล้วปรับปรุง อย่าไปหลอกตัวเองว่าเจ๋งแล้วหรือคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด ผมผ่านจุดที่คิดว่าตัวเองเก่งที่สุดและไม่มีใครสามารถทำเหมือนผมได้ มันทำให้ผมพ่ายแพ้ ผมไม่สามารถทำงานขนาดใหญ่ได้ เพราะผมไม่กล้าไว้ใจใคร ดังนั้น เราต้องสร้างทีม ต้องเชื่อว่าทุกคนสามารถทำงานเพื่อให้บรรลุประสงค์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ต้องดูความสามารถและจุดแข็งของตัวเอง เพราะโอกาสมีหลายทาง แต่ชีวิตต้องเลือกสักทาง เมื่อเราเลือกทางเดินนั้นแล้วไปให้สุด เมื่อแพ้ก็ยอมรับแล้วหาทางใหม่ ผมเชื่อว่าคนที่พยายามและมีความฝันที่จะประสบความสำเร็จ สักวันหนึ่งเขาจะประสบความสำเร็จถ้าลงมือทำ
รู้ ‘เรา’ แล้ว ‘เล่า’ ให้ได้
ถ้าถามถึงข้อจำกัดของเด็กไอที อันดับแรกคือพูดไม่รู้เรื่องครับ (หัวเราะ) เราเป็นเด็กเนิร์ด พูดกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะวันๆ อยู่กับคอมฯ ดังนั้น เด็กไอทีต้องพัฒนา soft skills ในเรื่องการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม ซึ่งการนำเสนอสำคัญ การออกแบบเป็นเรื่องราวว่า ทำไมต้องมีผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา ทำไมต้องมี AIYA คือต้อง start with WHY? กับสิ่งที่ตัวเองทำ ทำไมต้องมีสิ่งนี้ขึ้นมาในโลกนี้ มันแก้ปัญหาให้คนอื่นอย่างไร และทำไมต้องเป็นเราที่ทำได้ เราจึงต้องทำตัวตนเราให้ชัด สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักตัวเอง การหาตัวตนคือต้องลอง รู้ได้ยังไงว่ามันใช่ก็ต้องลอง
สำเร็จได้ด้วย DNA 3H
ผมทำธุรกิจมาหลายปี แต่ยังไม่เคยทำอะไรจริงจังเท่า startup ตัวนี้ พอมาเป็น startup ทุกอย่างมันเร็วไปหมด เราแข่งกับเวลา แข่งกับคู่แข่ง แข่งกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยน แข่งกับตลาดที่ไม่มีความแน่นอน สิ่งที่ทำให้ผมมาอยู่จุดนี้คือการเลือกพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง ทำให้เราเข้าตลาดนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่ง startup ที่ประสบความสำเร็จต้องมี 3H คือ Hustler นักธุรกิจที่เจรจาธุรกิจเป็น เจรจากับนักลงทุนเป็น ออกแบบธุรกิจเป็น เชื่อมต่อพาร์ทเนอร์ต่างๆ เข้ามา เป็นคนฉายภาพเก่ง และจะมาคุมคนที่เป็นไอที ที่เป็น Hacker คนเหล่านี้ทำของเก่ง เหมือนเด็ก NSC ที่ทำของได้เก่งและฟังก์ชั่นล้ำมาก แต่ยังทำไม่สวย ต้องมีคนที่เป็น Hipster มาทำให้มันสวย นี่คือ co-founder team ของ startup ถ้ามี 3 DNA นี้ในตัวคุณคนเดียวก็ลองดูได้ แต่ผมลองแล้วไม่เวิร์ค ต้องหาคนมาช่วย หรือถ้าอยากได้ประสบการณ์อีกมุมหนึ่งให้ลองทำงานกับ startup ดูว่าเราชอบจริงหรือเปล่า
NSC คือเวทีแห่งโอกาส
ที่ผ่านมา NSC มีการปรับปรุงหมวดการแข่งขันให้เป็นไปตามยุคสมัย มีการกำหนดหัวข้อพิเศษเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มีเวทีเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่อยากเห็นเพิ่มเติมคือการสื่อสารประชาสัมพันธ์ว่าทำไมเด็กต้องมาเข้าร่วมโครงการ NSC มาแล้วได้อะไร เพราะเราไม่ค่อยรู้ว่าคนที่เคยผ่านเวที NSC ทุกคนทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ เราไม่รู้ว่าเป็นผลงานของ NSC ที่ผลิตบุคลากรเหล่านี้ขึ้นมา
อีกอย่างคือ การทำ Knowledge Transfer ให้เด็กรุ่นใหม่ NECTEC มีนักวิจัยเยอะ มีผลงานเยอะ แต่งานวิจัยบางอย่างแทนที่เด็กจะได้ต่อยอดกลับไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำอย่างไรผลงานดีๆ เจ๋งๆ ของนักวิจัยจะให้เด็กในโครงการมาร่วมวิจัย ให้บริษัทข้างนอกร่วมเป็นสปอนเซอร์แล้วนำผลงานไปทำต่อ ซึ่งเราต้องสร้าง Ecosystem ให้เด็กเห็นว่าการเข้าร่วมโครงการ NSC จะทำให้เขาได้โอกาสเหมือนที่ผมได้
ทุกคนทำได้ ถ้าพยายาม!
โครงการ NSC ทำให้ได้ฝึกฝนก้าวข้ามขีดความสามารถของตัวเอง เราสู้กับตัวเอง สู้กับความฝันของเรา เราอยากทำให้ประสบความสำเร็จ แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะพัฒนาผลงาน เราได้รู้จักเพื่อน ได้เห็นไอเดียใหม่ๆ ได้เปิดโลก จากที่เคยคิดว่าเราเก่งที่สุดในรุ่น แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า มีไอเดียเจ๋งๆ อีกมากมาย ลองออกมาดูว่าเขาทำอะไรกัน เป็นแรงบันดาลใจว่าทุกคนก็ทำได้ถ้าพยายาม ซึ่งเขียนโปรแกรมก็เหมือนเล่นดนตรี คนที่เล่นดนตรีได้คือซ้อม ฝึกฝน ทำซ้ำ คอมพิวเตอร์ก็เหมือนกันต้องคลิ๊กกี่ครั้งกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ นั่นคือความพยายาม มากกว่านั้น NSC ทำให้ผมรู้จักน้องๆ รุ่นใหม่และร่วมงานกัน เพราะผมเชื่อว่าเด็ก NSC เป็นเด็กที่เก่งและมีความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ทุกวันนี้ผมยังเป็นเด็กอยู่นะ เป็นเด็กคนหนึ่งที่ยังไล่ตามความฝันตัวเองอยู่ เรายังทำงานอย่างหนักตลอดเวลา เพราะเรามีเป้าหมายที่ใหญ่ และสิ่งสำคัญที่ทำให้มาถึงจุดนี้ได้คือการให้ เมื่อให้คนอื่นสักวันสิ่งเหล่านั้นจะกลับมา คุณจะเป็นผู้ได้รับอย่างมีความสุข สิ่งที่ผมทำคือให้ความรู้น้องๆ เพราะไม่อยากให้ความรู้ตายไปกับผม แม้อาจไม่ใช่ความรู้ที่ดีที่สุด แต่ผมรู้ว่าทำแบบนี้แล้วเจ๊ง อย่าทำแบบผม ซึ่งมันไม่มีสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยทำอย่างมีสติ ไม่เอาเปรียบใคร และอยู่บนพื้นฐานของความดี ผมว่าสำคัญที่สุด
เพราะลงมือทำ จึงสำเร็จ!
ทุกคนล้วนมีเป้าหมายชีวิต มีความฝัน แต่มีฝันแล้วต้องรู้จักกำหนดเป้าหมาย หาวิธีการที่ดีไปสู่เป้าหมายนั้น แล้วลงมือทำให้ถึงที่สุด หากย้อนไปตรงทางแยกจากเส้นทางดนตรี จังหวะนั้นผมกำหนดเป้าหมายคือ อยากทำโปรแกรมคาราโอเกะ ซึ่งมันไม่ใช่ดนตรีอย่างเดียวแต่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย ถ้าเป้าหมายชัด ชีวิตก็จะไปตามนั้น คุณต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าอยากได้อะไร และจะให้อะไรเพื่อได้สิ่งนั้นกลับมา แน่นอนผมอยากได้โปรแกรมคาราโอเกะ ผมก็ต้องให้เวลากับการเรียนคอมพิวเตอร์ วันหนึ่งผมก็จะได้สิ่งที่ผมอยากได้ แต่ถ้าเส้นทางนั้นไม่เวิร์คก็ต้องรีบเปลี่ยน อย่ากลัวว่าจะผิด อย่ากลัวว่าจะล้มเหลว เพราะสิ่งที่ล้มเหลวกว่าคือคุณไม่ได้ทำสิ่งนั้นเลยมากกว่า…
เพราะคนที่ไม่ลงมือทำก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว ประสบการณ์ชีวิตของบอยบอกกับเราว่า การลงมือทำตามความฝันต้องอาศัยความกล้าเพื่อเผชิญหน้ากับความกลัวนานัปการ และมากกว่าความกล้าที่จะลงมือทำ ก็คือความกล้าที่จะฝันต่อไปเรื่อยๆ กล้าที่จะไม่ยอมมีเป้าหมายชีวิตเพียงหมุดเดียว นั่นคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้ชายคนนี้ถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าตลอดเวลา
และทำให้โลกของคนรอบข้างหมุนไปสู่ด้านที่ดีขึ้น…
ข้อมูลการศึกษา
- Khon Kaen University, Computer Science, 2nd class honours Bachelor Degree
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2004
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- Application สำหรับ iPhone/iPad : เก่งไทย, ท่องจำ กขค อ่านอัตโนมัติ, MegaDict, Gotcha Dictionary
- 2009 รองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการการแข่งขันสุดยอดซอฟต์แวร์แบ่งคำภาษาไทย (BEST 2009)
- 2008 ชนะเลิศอันดับ 1 โครงการ Thailand ICT Awards 2008 หมวด Education & Training
- 2008 ชนะเลิศอันดับ 1 โครงการ COMMART INNOVATION 2008 ประเภท Software
- 2007 รองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการ Thailand ICT Awards 2007 หมวด Education & Training
- 2004 รองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6 (NSC 2004)
- 2003 ชนะเลิศอันดับ 1 โครงการ Sun-Nokia Wireless Java Competition 2003
ปัจจุบัน
- CEO & Founder, AIYA Co., Ltd.
- CEO, Mega Genius Co., Ltd.
- CEO & Co-founder, Jump Space, Khon Kaen Representative, Thailand Tech Startup Local Champions
ความเชี่ยวชาญ
- Lean Startup/Lean Canvas/Team Development/Agile/UX/Metrics
- Python/NodeJS/VueJS/AngularJS/C#/Delphi/RFID