โปรโตซัว เป็นสัตว์ซึ่งมีความสามารถสูงและคุณสมบัติในการดำรงชีพเหมือนสัตว์หลายเซลล์ โดยมีระบบต่างๆ ภายในตัวเองอย่างสมบูรณ์ เช่น การสืบพันธุ์ การย่อยอาหาร การหายใจ และการขับถ่าย โปรโตซัวมีมากกว่า 3 หมื่นชนิด ประมาณเกือบ 1 หมื่นชนิดเป็นปรสิตของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังรวมทั้งมนุษย์ การดำรงชีพแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกที่อาศัยอยู่อย่างอิสระ (free living protozoa) และพวกที่ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นร่วมด้วย (symbyosis) อาจจะเป็นแบบ commensalism หรือ parasitism
ภาพโครงสร้างภายใน ของโปรโตซัว
โครงสร้างและหน้าที่ (form and function)
โปรโตซัวเป็นสัตว์เซลล์เดียว มีขนาดตั้งแต่ 1 ไมโครเมตร จนถึง 150 ไมโครเมตร มีนิวเคลียสอย่างน้อย 1 อัน หรืออาจจะมีมากกว่านั้น ที่สำคัญไซโทพลาสซึมมีเยื่อหุ้ม มีออร์แกเนลล์สำคัญที่ทำงานคล้ายสัตว์ชั้นสูง ได้แก่ ไมโทคอนเดรีย Golgi's body, endoplasmic, reticulem ฯลฯ โปรโตซัวมีหลายกลุ่มซึ่งมีออร์แกเนลล์ไม่แตกต่างกันให้เห็นชัดเจน มีการดำรงชีวิตได้หลายแบบ เช่น แบบอยู่อย่างอิสระ (free living) หรือเป็นปรสิต(parasitism)การสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ (asexual) โดยการแบ่งตัว(binary fission) แตกหน่อ(Budding) การสร้างเกราะหุ้มตัวเองแล้วแบ่งนิวเคลียสและแบ่งไซโตพลาสซึมตาม ส่วนการสืบพันธุ์แบบมีเพศ (sexual) โดยสืบพันธุ์แบบใช้เซลล์เพศ
ภาพโครงสร้างของโปรโตซัวชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วบแฟลกเจลลามากมาย
วงจรชีวิตของโปรโตซัว
การแพร่พันธุ์ของโปรโตซัวเป็นไปอย่างง่าย ส่วนใหญ่เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศซ้ำกันหลายครั้ง โดยมีการแบ่งของนิวเคลียสก่อน ต่อมาไซโทพลาสซึมจึงแบ่งตัว ซึ่งวงจรชีวิตของโปรโตซัวมีหลายแบบ ดังนี้
1. จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยตรง (person to person) เช่น Entamoeba gingivalis ซึ่งอาศัยอยู่ในปาก มีระยะที่เคลื่อนที่ได้เรียกว่า โทรโฟซอยด์ ติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง โดยปนเปื้อนไปกับน้ำลาย หรือ Trichomonous vaginalis ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์
2. การมีโฮสต์กึ่งกลางเป็นตัวนำแพร่กระจาย มักได้แก่ โปรโตซัวที่อาศัยในกระแสเลือดหรือในเนื้อเยื่อ พวกที่มีแมลงเป็นตัวนำพาหะ เช่น ตัวไร (mite) นำโปรโตซัว (Hepatozoon muris) ยุงนำเชื้อมาลาเรีย หรือตัวปลิงนำโปรโตซัว Trypanosoma rotatorium ไปสู่กบ
3. การสืบพันธุ์แบบใช้เซลล์เพศ (sexual stage) จะพบในโปรโตซัวที่อยู่ใน class Sporozoa ซึ่งมีทั้งการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศในวงจรชีวิต
ภาพโปรโตซัวที่เป็นปรสิตในคน
การแพร่กระจาย (transmission)
การแพร่กระจายของโปรโตซัวไปอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสืบพันธุ์และดำรงชีพ เช่น ไปอยู่โฮสต์ใหม่โดยทิ้งโฮสต์เก่าโดยปะปนไปกับอาหารและน้ำดื่ม หรือติดไปกับแมลง หรือต้องอาศัยแมลงนำไปจากโฮสต์หนึ่งไปอีกโฮสต์หนึ่ง
พยาธิวิทยาและอาการ
โปรโตซัวทำอันตรายต่อโฮสต์โดยการแบ่งตัวและบุกรุกเข้าเนื้อเยื่อ (invasion) ทำลายเซลล์ (destruction) หรือปล่อยเอนไซม์หรือสารพิษ
การติดโรคปรสิตอาจมีระยะเฉียบพลัน (asute stage) หรือทำให้เกิดอาการเรื้อรัง (chronic stage) หรือหลบซ่อนไม่ก่อให้เกิดอาการชั่วคราว แต่กลับทำให้มีอาการเกิดขึ้นใหม่
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยทางคลินิก (clinical diagosis) ของโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว มักใช้ลักษณะอาการแสดงของแต่ละโรค ตัวอย่างเช่น โรคมาลาเรีย โรค leishmaniasis ส่วนการวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การวินิจฉัยทางห้องปฎิบัติการ (laboratory diagnosis) โดยพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นโปรโตซัวชนิดใด โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย เช่น เลือด อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ เนื้อเยื่อที่เป็นโรค แล้วนำมาตรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จำเพาะ
ภูมิคุ้มกัน (immunity)
ภูมิคุ้มกันต่อโรคโปรโตซัวเกิดจำเพาะในแต่ละโรค ปกติโดยทั่วไปคนจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติอยู่แล้ว (innate natural resistance) แต่อาจจะมีภูมิคุ้มกันมากน้อยแล้วแต่เชื้อชาติ อายุ และเกี่ยวข้องกับการขาดสารอาหาร (malnutrition)
โปรโตซัวที่บุกรุกเข้าเนื้อเยื่อหรือเข้าไปอาศัยในกระแสเลือดหรือในเนื้อเยื่อจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน (acquired immunity) ได้มากกว่าโปรโตซัวที่อาศัยนอกเนื้อเยื่อ เช่น โปรโตซัวตามทางเดินอาหาร ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นต่อโปรโตซัวมักจะไม่สามารถทำลายโปรโตซัว เพียงแต่จำกัดจำนวนไม่ให้โปรโตซัวมากเกินไปและป้องกันการติดโรคซ้ำอีก ภูมิคุ้มกันแต่ละชนิดป้องกันได้เฉพาะ species หรือสายพันธุ์ (strain)