ข้าวจี่ มูลเหตุที่ทำ วันมาฆบูชา

ฮีตที่ ๓ บุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม
       บุญข้าวจี่ นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสามคือภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา ข้าวจี่คือ ข้าวเหนียวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนโตประมาณเท่าไข่เป็ดขนาดใหญ่ หรือผลมะตูมขนาดกลาง ทาเกลือเคล้าให้ทั่ว และนวดให้เหนียว แล้วเสียบไม้ย่างไฟ ถ้าไม่เสียบไม้จะย่างบนเหล็กหรือบนไม้ไผ่ผ่าซีกสานขดเป็นตะแกรงห่าง ๆ ก็ได้ โดยย่างบนกองไฟที่เป็นถ่านที่พลิกไปพลิกมาจนเกรียมโดยรอบ จึงเอาออกมาทาด้วยไข่ ซึ่งตีให้ไข่ขาว - แดงเข้ากันดีแล้วทาจนทั่วปั้นข้าว จึงเอาไปย่างไฟให้สุกอีกครั้งหนึ่ง บางแห่งเมื่อเอาข้าวย่างไฟเสร็จแล้ว ถอดเอาไม้ออกแล้วอาจเอาน้ำอ้อยปึกใส่เป็นไส้ข้างใน หรือยัดใส่ก่อนย่างไฟก็ได้
       "ฮีตหนึ่งนั้นเถิงเมื่อเดือนสามได้
จงพากันจี่ข้าวจี่ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ
กุศลยัง สินำค้ำตามเฮามื้อละคาบ
หากธรรมเนียมจั่งซี้มันแท้แต่นาน
ให้ทำบุญไปทุกบ้านทุกที่เอาบุญพ่อ เอย
คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น
อย่าพากันไลถิ่มประเพณีตั้งแต่เก่า
บ้านเมืองเฮาสิเศร้า ภัยฮ้ายสิแล่นตาม"
 

      ในมื้อเพ็ง (วันเพ็ญเดือนสาม) จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไป ถวายพระ ดังความว่า

".... พอเถิงเดือนสามคล้อย เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ปั้นข้าวจี่บ่ใส่น้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา..."


        วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวยมาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ 9 เดือน

ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ

  • ประการแรก เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน 1,250 รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย
  • ประการที่สอง พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
  • ประการที่สาม พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
  • ประการที่สี่ วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์


  •          ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
    โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสองผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน คือ

  • ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันตี คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
  • นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
  • น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
  • สมโณ โหติ ปรํ วิเหธยนฺโต ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
  • สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
  • กุสลสฺสุปสมฺปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
  • สจิตฺต ปริโยทปนํ การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์
  • เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา
  • อนูปวาโท อนูปฆาโต การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
  • ปาติโมกฺเข จ สํวโร การสำรวมในปาติโมกข์
  • มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
  • ปนฺตญฺจ สยนาสนํ การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
  • อธิ จิตฺเต จ อาโยโค ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
  • เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
  •        มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
    ในวันนี้พุทธศาสนิกชนก็จะไปประกอบศาสนกิจ เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เช่นเดียวกับที่ประพฤติปฏิบัติในวันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา คือ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญ อันได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาเป็นต้น และฟังพระธรรมเทศนาการแสดงธรรมในวันนี้ จะแสดงธรรมในเรื่องพระโอวาทปาฏิโมกข์