เกวียน
เกียน หรือ เกวียน เป็นยานพาหนะใช้บรรทุกสิ่งของต่าง ๆ หรือเดินทางไกลรอนแรมไปตามเมืองต่างๆ ชาวอีสานรู้จักใช้รู้จักเกวียนกันมาตั้งแต่สมัยใดนั้นกำหนดไม้ได้เกวียนเป็นยานพาหนะล้อเลื่อนที่ใช้วัว หรือควายลากจูง ทำจากไม้ประกอบเป็นเกวียน
เกวียนใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกข้าว สิ่งของไปจำหน่ายที่ตลาด หรือขนย้ายหรือใช้เป็นยานพาหนะโดยสารในสมัยโบราณที่ยังไม่มีรถยนต์ รถไฟ เหมือนในปัจจุบัน ในหัวเมืองภาคอีสานก่อนรัชกาลที่ 5 นั้นจะมีเส้นทางเกวียนติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างเมืองสู่เมืองดังที่สมเด็จมหาวีรวงศ์ ( อ้วน ติสโส ) สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์เจ้าคณะมณฑล อุบลราชธานี ได้เขียนไว้ในกรมศิลปากร, ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ (โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์,พ.ศ. 2515 หน้า 392 ) ว่า ส่วนทาง ( ทางเกวียน ) ที่ใช้กันอยู่เวลานี้ ( สมัยรัชกาลที่ 6 ) เดินได้ถึงกัน เช่น มณฑลร้อยเอ็ดไปนครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี เกวียนนี้เป็นยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้าสำคัญกว่ายานพาหนะชนิดอื่นติดต่อกันในมณฑลภาคอีสาน การบรรทุกถ้าเดินทางไกลตั้งแต่ 10 วันขึ้นไปบรรทุกน้ำหนักราว 3-4 หาบ ( หาบหนึ่งมีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ) ถ้าเดินทางวันเดียวหรือ 2 วัน บรรทุก 5 หาบ ขนาดเกวียนสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ศอกเศษ ตัวเกวียนกว้าง 1 ศอกเศษ ยาวประมาณ 3 ศอกเศษ ราคาซื้อขายกันตามราคา ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปถึง 50 บาท ประทุนที่ใช้ประกอบราคาหลังละ 7-8 บาท ถ้าซื้อทั้งประทุนด้วยราคาก็เพิ่มขึ้นตามส่วน
เกวียนที่ใช้กันอยู่ในภาคอีสานนั้นมี 2 ชนิด คือ
1) เกวียนโกง คือเกวียนที่มีแต่พื้นเกวียนวางแน่นอยู่บนวงล้อ เทียมวัวควายลากเลื่อนไปได้ ครั้นเมื่อจะบรรทุกสิ่งของต้องมีกระบะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่วางบนพื้นเกวียนสำหรับบรรจุสิ่งของ
2) เกวียนประทุน คือเกวียนที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ เหมือนเกวียนภาคกลางและเพิ่มประทุนวางครอบเพื่อกันแดดกับฝน สำหรับให้ผู้นั่งโดยสารเดินทางไกล ๆ ประทุนเกวียนภาษาถิ่นอีสานเรียนกว่า พวง