ประวัติ
ครกกระเดื่อง
เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของชาวอีสาน เพราะสมัยก่อนไม่มีโรงสี ชาวบ้านต้องตำข้าวกิน ปัจจุบันเราใช้โรงสี ซึ่งข้าวที่ได้จากการสีและการตำจะมีคุณค่าทางอาหารต่างกันมาก และคนส่วนใหญ่ได้หันมานิยมบริโภคข้าวซ้อมมือ จะได้วิตามินมาก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวขอนแก่นมาแต่อดีต
การตำข้าวด้วยครกมอง เป็นความฉลาดของคนอีสานมาเป็นเวลานานซึ่งจะเห็นคุณค่าทางปัญญาอยู่ 3 ประการคือ
1. แสดงถึงความขยัน หมายความว่า ลูกสาวใครขยันตำข้าวแต่เช้าและได้ยินเสียงตำข้าวถี่ ๆ ซึ่ง
เขาเรียกว่าเสียง สักกะลัน แสดงว่าลูกสาวบ้านนั้นขยันตำข้าวเก่ง
2. เป็นการปลุกชาวบ้านให้รีบลุกมาทำงานตั้งแต่เช้า ฉะนั้นคนขอนแก่นและคนชนบทอีสาน พอได้
ยินเสียงเขาตำข้าว ทุกบ้านก็จะพากันลุกมาตำข้าวแข่งกัน เช้า ๆ จึงได้ยินเสียง สักกะลัน ดังก้องสนั่นไปทั่วทุกหมู่บ้าน
3. การตำให้ได้เมล็ดข้าวงาม จะต้องตำด้วยสาก 3 ชนิด และใช้ในวาระต่างกัน ดังนี้
สากตำ เป็นสากแรกที่ทำให้ข้าวเปลือกกะเทาะเปลือกออกบางส่วน สากตำ เป็นสากที่มีขนาดเล็กที่
สุด ข้าวที่ได้จากการตำเรียกว่า ข้าวก้อง
สากต่าว เป็นสากที่มีขนาดใหญ่ปานกลาง ใช้ตำหลังจากสากตำเพื่อตำข้าวก้องให้มีเมล็ดข้าวสารมากกว่าข้าวเปลือก
สากซ้อม เป็นสากสุดท้าย เพื่อตำข้าวก้องให้เป็นข้าวสาร สากซ้อมเป็นสากที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักมากจึงตำข้าวก้อง เป็นข้าวสารได้ทั้งหมด
ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคในการตำข้าว ซึ่งพร้อมไปด้วยภูมิปัญญา จิตวิทยา และวัฒนธรรมซึ่งชาวขอนแก่นยังเก็บรักษาไว้ แม้นปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเห็นสาว ๆ ตำข้าวกันมากนัก แต่ภูมิปัญญานี้ก็ต้องถูกบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม