ปัจจุบันปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปีทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น น้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดสารต่าง ๆ ออกมากับไอเสียรถยนต์ด้วย เช่น ไอสารตะกั่ว คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (HC) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สารเหล่านี้พบว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะไอสารตะกั่ว ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง มีการนำเสนอพิษภัยของสารตะกั่วและรณรงค์ให้ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และรัฐบาลได้เห็นความจำเป็นที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจึงได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพ และปริมาณสารตะกั่วในน้ำมัน เบนซินดังนี้
ปี พ.ศ. 2527 กำหนดให้น้ำมันเบนซินมีปริมาณสารตะกั่วลดลงจาก 0.84 กรัมต่อลิตร เป็น 0.45 กรัมต่อลิตร และให้เหลือ 0.40 กรัมต่อลิตร ในปี พ.ศ. 2532
ปี พ.ศ. 2534 เริ่มจำหน่ายน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษไร้สารตะกั่วเป็นครั้งแรก และรัฐบาลยังเพิ่มแรงจูงใจแก่ผู้ใช้รถยนต์ด้วยการกำหนดราคาน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษไร้สารตะกั่ว ให้ต่ำกว่าน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษมีสารตะกั่ว 80 สตางค์ต่อลิตร
ปี พ.ศ. 2535 ให้น้ำมันเบนซินมีปริมาณสารตะกั่วลดลงจาก 0.40 กรัมต่อลิตร เหลือ 0.15 กรัมต่อลิตร และกำหนดให้เลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซินชนิดมีสารตะกั่วภายในปี พ.ศ. 2539
ปี พ.ศ. 2536 กำหนดให้มีปริมาณสารออกซิจิเนเทค (oxygenated compounds) ต่ำสุดร้อยละ 1 และสูงสุด ร้อยละ 2 โดยน้ำหนัก ในน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษเพื่อลดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และให้ลดปริมาณสารเบนซิน (benzene) สูงสุดจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3.5 โดยปริมาตร เพื่อลดสารเบนซินในอากาศ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดให้รถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ต้องใช้เครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยาที่เรียกว่า "แคทาลิติก คอนเวอร์เตอร์" (catalytic converter) เพื่อขจัดสารต่าง ๆ (CO, HC, NOx) จากไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นผลให้รถยนต์รุ่นใหม่ต้องใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว สารประกอบของตะกั่วคลอไรด์ และตะกั่วโปรไมด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมัน จะทำให้อายุการใช้งานของเครื่องกรองอากาศดังกล่าวสั้นลง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
จากประกาศต่าง ๆ ของรัฐบาลเป็นผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นมาได้ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินชนิดที่มีสารตะกั่วทั้งหมด บางท่านอาจจะเคยตั้งคำถามว่า ทำไมเมื่อก่อนน้ำมันเบนซินจึงต้องมีสารตะกั่วและปัจจุบันเมื่อน้ำมันเบนซินไม่มีสารตะกั่วแล้วจะใช้สารอะไรแทนตะกั่ว และน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วยังมีคุณภาพเหมือนเดิมหรือไม่ ดังนั้นเราควรทำความรู้จักกับน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วและน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วกัน
ปัจจุบันถึงแม้ประเทศไทยจะใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแล้ว ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะในน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังมีสารอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดมลพิษในอากาศได้อีก ดังนั้นทุกคนควรจะช่วยกันหาวิธีลดมลพิษต่าง ๆ ในอากาศ และวิธีหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้คือ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุด เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ที่มา : นางสาวจิตต์เลข ทองมณี กองการวิจัย กรมวิทยาศาสตร์บริการ