Index

  สรุปผลการสำรวจปี 2546
  สรุปผลการสำรวจปี 2545

 

สรุปผลการสำรวจปี 2544
  สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
 

Links

  ECTI Policy (กลับหน้าแรก)
  NSTDA
  NECTEC
  ฝ่ายพัฒนานโยบายและกฎหมาย (PLD)
 

Internet User Profile 2001

การสำราจประจำปี 2544 มีการปรับปรุงแบบสอบถามจากปีที่ก่อนเพียงเล็กน้อย  ผลสำรวจที่ได้มีแสดงไว้ในหนังสือ "รายงานการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2544" ทั้งในรูปแบบของข้อมูลในตารางและแผนภูมิ (กราฟ) นอกจากนี้ ผู้ดำเนินการสำรวจ ยังได้แสดงผลข้อมูลเฉพาะบางหัวข้อที่น่าสนใจ โดยเปรียบเทียบความแตกต่างจำแนกตามตัวแปรสำคัญ คือ เพศ และกลุ่มอายุ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดมีแสดงไว้ในส่วนของการรายงานผลการสำรวจ อย่างไรก็ตาม มีผลการสำรวจบางประการที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งจะขอกล่าวถึงในส่วนนี้ ดังต่อไปนี้
 

1. เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของทั้ง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างกลุ่มหญิงและชาย โดยในปีแรกที่มีการสำรวจ คือ 2542 พบสัดส่วนจำนวนผู้ใช้เปรียบเทียบหญิงต่อชายคือ 35 ต่อ 65 ในปีถัดมาคือ 2543 สัดส่วนดังกล่าวสูงขึ้นเป็น 49 ต่อ 51 และในปีนี้คือ 2544 สัดส่วนนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงอีกเล็กน้อยเป็น 51 ต่อ 49 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ (gender gap) ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบในหลายๆ ประเทศ และแทบทั้งหมดคือชายมากกว่าหญิง
 

  เพศ 
  Gender

หญิง
Female

ชาย
Male

รวม
Total

  จำนวน
  
Frequency

10,074

9,617

19,691

  ร้อยละ                      
  Percent

51.2

48.8

100


2. ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเปรียบเทียบระหว่างคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยังปรากฏอย่างชัดเจน ไม่ต่างจากปี 2542 และ 2543 แม้ว่าสัดส่วนผู้ใช้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และสัดส่วนผู้ใช้รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว คือจากร้อยละ 55.2 และร้อยละ 69.6 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 52.2 และร้อยละ 66 ในปี 2544 ตามลำดับ แต่สัดส่วนดังกล่าวก็ยังนับว่าสูงอยู่มาก
 
3. ผลการสำรวจปี 2544 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากปิ 2543ในเรื่องของอายุของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยหากแบ่งกลุ่มอายุเป็น 3 ช่วงคือ (1) ต่ำกว่า 20 ปี (2) 20-29 ปี (ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่) และ (3) 30 ปีขึ้นไป จะพบสัดส่วนผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มใหญ่แต่เดิม คืออายุ 20-29 ปี ลดลงเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 50.3 ในปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 49.1 ในปีนี้ โดยกลุ่มอายุน้อยคือ ต่ำกว่า 20 ปี มีสัดส่วนสูงขึ้น จากร้อยละ 16.3 เป็นร้อยละ 18.4 และกลุ่ม 30 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อย จากเดิมร้อยละ 33.3 เป็นร้อยละ 32.4 ในปีนี้

4. ในแง่ของระดับการศึกษาของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจใน 3 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเด่นชัดระหว่างปี 2542 และ 2543 คือสัดส่วนของกลุ่มผู้ใช้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดลงค่อนข้างมาก คือจากร้อยละ 88.9 เป็นร้อยละ 72.2 แต่มาในปี 2544 นี้ สัดส่วนดังกล่าวคือร้อยละ 74 นับว่าเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เรียกได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
 

การศึกษา
 

ต่ำกว่ามัธยมปลาย
 

มัธยมปลาย  

 ปวช.

ปวส./อนุปริญญา  

ป.ตรี 

  ป.โท
 

ป.เอก

รวม

จำนวน    Frequency

1,130

1,696

635

1,660

11,885

2,552

156

19,714

ร้อยละ        Percent

5.7

8.6

3.2

8.4

60.3

12.9

0.8

100


5. ในแง่ของสาขาการศึกษา 3 อันดับแรก ยังเป็น 3 สาขาเดิมเหมือนปี 2543 แต่มีการสลับตำแหน่งระหว่างที่ 1 และที่ 2 โดยปีนี้ สาขาการศึกษาอันดับแรกคือพาณิชยศาสตร์หรือบริหาร ร้อยละ 19.1 อันดับ 2 คือ วิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ร้อยละ 18.3 และอันดับที่ 3 ยังเป็น คอมพิวเตอร์ธุรกิจหรือบริหารระบบสารสนเทศ ร้อยละ 8.5 ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ สัดส่วนผู้ใช้ที่มีการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไอที ลดลงอย่างมากระหว่างปี 2542 และ 2543 คือจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 21.4 และลดลงอีกเล็กน้อยในปีนี้คือเป็นร้อยละ 19.1 กล่าวได้ว่า ความนิยมในอินเทอร์เน็ตได้แพร่ขยายออกจากกลุ่มผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยตรง ออกไปสู่กลุ่มอื่นๆ มากขึ้น
6. สำหรับเรื่องสถานที่ใช้อินเทอร์เน็ตนั้น ข้อมูลที่รวบรวมได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเทียบปริมาณการใช้(ไม่ใช่จำนวนผู้ใช้) ทั้งหมดโดยเฉลี่ย จะพบการใช้จากบ้าน ร้อยละ 49.3 จากที่ทำงานร้อยละ 29 จากสถานศึกษาร้อยละ 11.4 จากร้านบริการอินเทอร์เน็ตร้อยละ 9.7 และจากที่อื่นๆ ร้อยละ 0.6

7. ในเรื่องของการใช้งาน อีเมล์ยังคงดำรงตำแหน่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยร้อยละ 35.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าใช้อีเมล์มากที่สุด ตามมาด้วยการค้นหาข้อมูล ร้อยละ 32.2 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลหญิง-ชายพบว่า ความนิยมในอีเมล์ในกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นหญิงสูงกว่ามาก คือร้อยละ 40.8 ของผู้ใช้ที่เป็นหญิงระบุว่าใช้อีเมล์มากที่สุด เทียบกับเพียงร้อยละ 30.3 ของผู้ใช้ที่เป็นชาย

ในขณะที่สำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นชายนั้น กิจกรรมอันดับหนึ่งคือการค้นหาข้อมูล ด้วยคะแนนร้อยละ 32.9 ในขณะที่คะแนนของกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นหญิงสำหรับกิจกรรมนี้คือ 31.5 กิจกรรมที่พบความแตกต่างชัดเจนระหว่างหญิง-ชายคือการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ โดยร้อยละ 6.9 ของผู้ใช้ที่เป็นชายระบุว่าใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับกิจกรรมนี้มากที่สุด สูงกว่าสัดส่วนเดียวกันของกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นหญิงคือร้อยละ 1.4 เกือบ 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างกลุ่มอายุ โดยจำแนกเป็น 3 กลุ่มคือ ต่ำกว่า 20 ปี 20-29 ปี และ 30 ปีขึ้นไป เห็นความแตกต่างชัดเจนอย่างมาก ในเรื่องการสนทนาออนไลน์ (Chat) และเล่นเกม โดยกลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี นิยมกิจกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้มากกว่าอีกทั้ง 2 กลุ่มอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ากลุ่มนี้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลน้อยกว่าอีกทั้ง 2 กลุ่มอายุค่อนข้างมากเช่นกัน

8. ในส่วนของปัญหาสำคัญของอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเลือกได้ 3 ข้อนั้นพบว่าปัญหา 3 อันดับแรกที่มีผู้ระบุบ่อยครั้งที่สุดคือ ความล่าช้าของการสื่อสาร ร้อยละ 51.2 การมีแหล่งยั่วยุทางเพศ ร้อยละ 32.3 และความเชื่อถือได้ของบริการเครือข่าย ร้อยละ 30 เป็นที่น่าสนใจว่า ปัญหาการมีแหล่งยั่วยุทางเพศ ซึ่งเคยอยู่ในอันดับ 4 สำหรับทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา (2542 และ 2543)  ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2544  ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมา สื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ มีการลงข่าวปัญหาในทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง ส่วนปัญหาภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งเคยเป็นอันดับ 2 ในทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ตกลงเป็นอันดับ 4 ในปี2544 ในขณะที่อันดับ 1 และ 3 ยังเป็นปัญหาเดิม ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาอันดับ 1 ความล่าช้าของการสื่อสาร ซึ่งแม้ว่าจะยังคงเป็นปัญหาอันดับ 1 มาทั้ง 3 ปี แต่มีสัดส่วนจำนวนผู้ระบุน้อยลงระหว่างปี 2542 กับ 2543 คือจากร้อยละ 70.72 เป็นร้อยละ 40.1 กลับมีสัดส่วนสูงขึ้นในปีนี้คือร้อยละ 51.2

ปัญหา
 
Perceived Problems

จำนวน
 
Frequency

ร้อยละ  Percent

1.ความล่าช้าของการสื่อสาร
 
 Speed

10,121

51.2

2. การมีแหล่งยั่วยุทางเพศ
  
Pornography

6,399

32.3

3. ความเชื่อถือได้ของบริการเครือข่าย
  
Network  Reliability

5,929

30.0

4. อีเมล์ขยะ
   Junk Mail

5,105

25.8

9. ในแง่ของการซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต นับว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักใน 3 ปีที่ผ่านมา คือสัดส่วนผู้ที่เคยซื้อยังต่ำอยู่เพียงร้อยละ 19.6 แม้ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นบ้างเล็กน้อย เปรียบเทียบกับร้อยละ 19.1 ในปี 2543 และร้อยละ 18.4 ในปี 2542 และเมื่อเปรียบเทียบหญิง-ชายพบว่า ชายมีการซื้อมากกว่าหญิง คือ ชายเคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 25.8 และหญิงร้อยละ13.6

10. สินค้ายอดนิยมที่มีการซื้อทางอินเทอร์เน็ตของปีนี้ยังคงเป็นหนังสือถึงร้อยละ 56.6 ในขณะที่อันดับ 2 คือซอฟต์แวร์ร้อยละ 31.3 (ส่งพัสดุร้อยละ 22.6 และส่งออนไลน์ร้อยละ 8.7) ตามด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ร้อยละ 22.2 ซึ่งเป็น 3 อันดับแรกของปีที่แล้วเช่นกัน

11. สำหรับเหตุผลที่ไม่เคยซื้อสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ตอบสามารถเลือกได้ 1-3 คำตอบนั้น เหตุผลที่ได้รับเลือกมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ไม่สามารถเห็นหรือจับต้องสินค้าได้ร้อยละ 41.7 ไม่ไว้ใจผู้ขายร้อยละ 32.7 และไม่อยากให้หมายเลขบัตรเครดิตร้อยละ 27.2 ซึ่งเป็น 3 อันดับเดิมของปีที่แล้ว แต่อันดับ 2 และ 3 สลับที่กัน

 

เหตุผลที่ไม่ซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต
Reasons against Internet Purchase

จำนวน  Frequency

ร้อยละ Percent

ไม่สามารถเห็นหรือจับต้องสินค้าได้
Can't see/feel products

8,241

41.7

ไม่ไว้ใจผู้ขาย
Don't trust merchandisers

6,473

32.7

ไม่อยากให้หมายเลขบัตรเครดิตทางอินเทอร์เน็ต
Don't want to reveal credit card number

5,374

27.2

ไม่สนใจ
Not Interested

4,979

25.2


ข้อจำกัดของการสำรวจ

ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดคือ การสำรวจครั้งนี้มิได้ใช้การ “สุ่มตัวอย่าง” (random sampling) แต่เป็นการ “เลือกตอบโดยสมัครใจ” (self selection) ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สนใจจะตอบแบบสอบถาม ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่าข้อมูลที่รวบรวมได้จะมีความลำเอียง (bias) อยู่มากพอสมควร ตัวอย่างเช่น อาจเป็นไปได้ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะยินดีเสียเวลาการออนไลน์ให้กับการตอบแบบสอบถามมากกว่าผู้ใช้ในต่างจังหวัด เพราะจากระดับรายได้ที่ต่างกันระหว่างกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด ทำให้ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ค่าบริการอินเทอร์เน็ตนั้นถูกกว่าสำหรับคนกรุงเทพ ฯ

ในทางเดียวกัน มีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า ผู้หญิงอาจยินดีตอบแบบสอบถามมากกว่าผู้ชายก็เป็นได้ ผู้ดำเนินการสำรวจพยายามอย่างที่สุด ที่จะลดความลำเอียงเท่าที่จะทำได้ ซึ่งคือการกระจายแบบสอบถามไปยังผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึงมากที่สุด ให้ได้ผู้ตอบจำนวนมาก และไม่เจาะจงไปยังกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ วิธีการนั้นคือพยายามที่จะติดป้ายประกาศเชิญชวนตอบแบบสอบถามไว้ในเว็บไซต์หลายๆ แห่ง ที่เป็นที่นิยมและเปิดกว้างสำหรับทุกคน เพื่อให้ได้ผู้ตอบจำนวนมากที่สุด และมีความหลากหลาย

แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวอาจมีความลำเอียง(bias) คือ เว็บไซต์ไทยที่ได้รับความนิยม มีผู้เข้าชมจำนวนมากในแต่ละวันนั้น มักมีรูปแบบที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่รวบรวมได้โน้มเอียงไปที่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน ในสัดส่วนที่สูงกว่าปกติก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามในปีนี้สูงถึงเกือบ 20,000 คน (เทียบกับประมาณ 2,500 คนในปี2543) นับว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นมากพอสมควร

เว็บไซต์ที่ให้ความอนุเคราะห์ติด banner
www.pantip.com , www.thairath.co.th, เว็บไซต์ในเครือ M-Web, https://www.th2.net, https://www.hunsa.com, https://www.thaiadclick.com , https://www.police.go.th , https://www.siam2you.com
 

 
 
 
 

Comments & suggestions regarding ECTI policy Research please contact: panida.saipradit@nectec.or.th
..........................................................................................
Copyright ฉ 2005 NECTEC / NSTDA All Rights Reserved.

National Electronics and Computer Technology Center, National Science and Technology Development Agency.