เข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21นี้ น่าจะกล่าวได้ว่าสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศได้แพร่กระจายไปเกือบ ทั่วทุกมุมโลกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจะพิจารณาประเทศที่ให้ผลิตผลสู่สังคมโลกโดยส่วนใหญ่แล้ว ประเทศใดที่มีความพร้อม และความสามารถในการนำ เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ก็จะมีสถานะความได้เปรียบต่อประเทศคู่แข่งขัน จนมีผู้ขนานนามธุรกิจที่ใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นยุทธศาสตร์ ว่าเป็น "เศรษฐกิจแบบใหม่" (New Economy) และหากสามารถเพิ่มพูนปัจจัยความสามารถทางด้าน อื่นๆ ร่วมด้วยก็ย่อมจะสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศชาติได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภท "Sunset" หรือ "Sunrise" ต่างก็ได้ให้ความสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เข้าไปเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ทั้งที่เป็นกระบวนการผลิตหลัก และที่เป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อแก้ปัญหาความแปรปรวนของปัจจัย การผลิตอื่น เช่น แรงงาน และทรัพยากรอื่นๆ การพัฒนาทางเทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากจะทำให้การผลิตนั้น ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้แล้ว ยังให้มูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นแก่ผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ประเทศไทยก็อยู่ในสถานะที่ไม่แตกต่างจากประเทศที่กำลังพัฒนาระดับแนวหน้าอื่นๆ ที่ต้องอาศัยพึ่งพิงปัจจัยการผลิตแบบเดิม เช่น แรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เริ่มไม่มีความเหมาะสมที่จะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดโลก ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญแทนปัจจัยการผลิตอื่นแบบเดิมอย่างเร่งรีบ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า เทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และสารสนเทศ (Electronic, Computer, Telecommunication and Information : ECTI) เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชากรทุกสังคมในโลกและเป็นกลไกสำคัญ ของการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของโลก ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันให้เท่าเทียมกับนานาประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ ความสำคัญ และความจริงจังต่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ตลอดจนเร่งรัดให้มีการนำเทคโนโลยีทางด้าน อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และสารสนเทศ ไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ทั้งในภาคการผลิต ภาคการศึกษา และภาคการบริหาร การจัดการ อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติไทยที่กำลังประสบสภาวะวิกฤติสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนถาวรต่อไป
เนคเทคได้จัดทำ "กรอบกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมและสารสนเทศ" ขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อใช้เป็น แผนแม่บทของการนำเอาเทคโนโลยีทั้งสี่สาขามาเป็นหลักในการกำหนดกรอบของการวิจัยและพัฒนาไปสู่ กระบวนการทางวิศวกรรมซึ่งจะนำไปสู่การผลิต และการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีทั้งสี่สาขาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยการกำหนดกลไกและแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถ มุ่งไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ภายใต้วิสัยทัศน์ดังนี้ :
"องค์กรวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และสารสนเทศ เพื่อเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และสังคมแห่งภูมิปัญญา"
สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355