การวิจัยพัฒนาออกแบบและวิศวกรรม
การดำเนินงานทางด้านการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม เป็นภารกิจหลักที่สำคัญของเนคเทคตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการตั้งองค์กรนี้ ทั้งนี้เนคเทคมีการปรับสาขาเทคโนโลยีเป้าหมายในการทำการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้อง กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการมุ่งเน้นอุตสาหกรรมต่างๆ มาเป็นระยะๆ โดยตลอด ในแผนแม่บทเชิงกลยุทธ์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2543-2552) ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและเนคเทค ได้กำหนดเทคโนโลยีเป้าหมายออกเป็น 4 ด้าน คือ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing) โทรคมนาคม (Telecommunications) และสารสนเทศ (Information) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ECTI เพื่อเป็นกรอบในการทำการวิจัยพัฒนา และวิศวกรรมในช่วงระยะ 10 ปีต่อไป โดยในแต่ละสาขาเทคโนโลยีนั้น ได้มีการกำหนดชุดโครงการที่จะต้องดำเนินการ ตลอดจนเป้าหมายที่จะต้องบรรลุไว้อย่างชัดเจน
การถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการ
งานถ่ายทอดเทคโนโลยี คืองานที่สนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในประเทศ การดำเนินงานทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการเป็นการทำให้ผลงานต่างๆ ที่ได้รับจากการวิจัยและ พัฒนา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ตลอดจนสามารถตอบสนองได้ตรงตาม วัตถุประสงค์ของการทำการวิจัยและพัฒนานั้นๆ เนคเทคได้สร้างและพัฒนากลไกตลอดจน กระบวนการต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันให้มีการนำเอาผลงานที่ได้รับจากการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม ออกไปสู่ผู้ใช้ได้อย่างกว้างขวางมากที่สุด เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เนคเทคได้มีนโยบายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการให้บริการ รวมทั้งดำเนินการศึกษาความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำมาตรการ ในการกำหนดแนวทางการสนับสนุนและดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และผู้ใช้ในประเทศมากที่สุด
การพัฒนาบุคลากร
การก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแห่งปัญญาและการเรียนรู้นั้น ทรัพยากรมนุษย์จัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมาก ยิ่งไปกว่าเทคโนโลยีทั้งหลายที่ใช้กันอยู่ ในการสร้างคนนั้น จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ โดยความร่วมมือในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการสร้างสภาวะห้องเรียนที่เปิดกว้าง ให้กับผู้เรียนในทุกระดับ จะช่วยสนับสนุนให้คนสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในการสรรหาเยาวชน ที่มีความสามารถสูงเพื่อให้การพัฒนาฝึกฝนเป็นพิเศษสำหรับ การผลิตกำลังคนที่มีประสิทธิภาพสูง ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล กรรมวิธีหนึ่งคือ กิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทย ไปสู่สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้
นโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน
นอกเหนือจากงานด้านวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ยังได้รับมอบหมายให้เป็น "สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ" (National Information Technology Committee Secretariat) ซึ่งมีภารกิจในการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ของคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ : กทสช. (National Information Technology Committee : NITC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355