หลักการและเหตุผล
วิสัยทัศน์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ถูกถ่ายทอดลงมาเป็นแผนงานหลักแผนหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการมุ่งเน้นการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีตลอดจนบุคลากรวิจัยผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐอัน ได้แก่ เนคเทคและห้องปฏิบัติการวิจัยภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือผ่านโครงการวิจัยและพัฒนา การขยายเครือข่ายบุคลากรและการสร้าง ศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน หรือ Center of Excellence (CoE)
แผนงานดังกล่าว มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการสร้างและการบริหารศูนย์ความรู้เฉพาะด้านในหน่วยงานระดับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายประสานความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาร่วมกับเนคเทค โดยมีการประเมินความต้องการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ตลอดจนความพร้อม ในการเป็นศูนย์ความรู้เฉพาะด้านของหน่วยงานเครือข่ายนั้นๆ
คำจำกัดความ
ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านตามแนวนโยบายนี้ โดยทั่วไปจะหมายถึงความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง เนคเทคและหน่วยงานระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในการลงทุนระยะยาว (5-10 ปี) ร่วมกันเพื่อสร้างความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมท้องถิ่น หรืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยรูปแบบการลงทุนร่วมกันนี้จะแปรตาม ความเหมาะสมของความพร้อมของหน่วยงาน และศักยภาพของอุตสาหกรรมในบริบทนั้นๆ
ความรู้เฉพาะด้านที่หน่วยงานต้องมี เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับแผนที่นำทางเทคโนโลยี (Technology Roadmap) ซึ่งมาจากการสั่งสมองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา ในสาขาที่เป็นความเชี่ยวชาญร่วมระหว่างเนคเทคและหน่วยงาน หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยของเนคเทค
คุณสมบัติของหน่วยงานที่จะเป็น CoE
ผู้นำเก่ง |
มีนักวิจัยหลักที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะด้าน โดยมีผลงานวิจัยต่อเนื่อง - เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ และมีผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง - มีความเชี่ยวชาญสอดคล้องกับสาขาความเชี่ยวชาญของ lab ใน ศอ. - มีการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับนักวิจัยใน ศอ. |
มีทีมแกร่ง |
มีทีมงานวิจัย และ/หรือเครือข่ายบุคลากรวิจัยในสาขาเดียวกัน ทั้งในและต่างประเทศ - มีเครือข่ายความร่วมมือ (บุคลากร/หน่วยงาน/มหาวิทยาลัย) - มีนักศึกษา หรือมีศักยภาพที่จะดึงดูดนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เข้าร่วมทีมวิจัยและมีความน่าเชื่อถือในการส่งมอบผลงานเป็นที่ยอมรับได้ - มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยกับหน่วยงานนานาชาติ |
แหล่งทุนชัด | มีความสามารถในการดึงดูดทุนวิจัยเพิ่มเติมจากแหล่งทุนอื่นๆ |
ประวัติดี | มีประสบการณ์การส่งมอบผลงานวิจัยและพัฒนาให้กับผู้รับประโยชน์ในภาคเศรษฐกิจ และ/หรือภาคสังคม |
มี Backup | ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ในรูปแบบของบุคลากร อุปกรณ์วิจัย สถานที่ และ/หรืองบประมาณในการดำเนินการ (รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือ หลายรูปแบบ) ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านที่จะเกิด ขึ้น และการบูรณาการกิจกรรมของศูนย์ฯ เข้ากับภารกิจอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย |
เป็น Hub ได้ | มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเครือข่ายสารสนเทศที่เหมาะจะเป็นศูนย์กลาง หรือเป็น ส่วนหนึ่งของเครือข่ายความรู้เฉพาะด้าน |
การสนับสนุนจากเนคเทค
หน่วยงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น และผ่านการพิจารณาความพร้อมที่จะพัฒนาไปเป็นศูนย์ความรู้ เฉพาะด้านของเนคเทค จะได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานดังต่อไปนี้
- งบประมาณสนับสนุนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการศูนย์ฯ ปีละ 1 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี
- การแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัย การสนับสนุนด้านการบริหารจัดการ ระเบียบวิธีการบริหารโครงการวิจัย การเข้าร่วมกิจกรรมกำหนดแผนที่นำทางเทคโนโลยีของเนคเทค ตลอดจนการดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามความเหมาะสม
- การสนับสนุนอื่นๆ เพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถส่งมอบผลงานระยะสั้น หรือระยะกลาง หรือระยะยาวได้
- การประเมินผลการดำเนินงานรายหกเดือน เพื่อปรับทิศทางการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนที่นำทางเทคโนโลยีที่ (อาจจะ) มีการปรับเปลี่ยน
ข้อเสนอโครงการเพื่อขอจัดตั้งเป็นศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
งานบริหารกระบวนการ
ฝ่ายบริหารและสนับสนุนเทคโนโลยีฐาน
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน
ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 02-564-6900 ต่อ 2407, 2498, 2499
โทรศัพท์ 02-564-6887