ภาษาไทยใช้ง่ายแค่ปลายนิ้ว ด้วย "ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์" พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้ววันนี้ ทั้งในระบบ iOS Android และ Windows Mobile
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” คือ แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ช่วยให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว พร้อมให้ดาวน์โหลดวันนี้ในระบบ iOS Version 7, iOS Version 8, Android และ Windows Mobile
นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงความสำคัญของ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และ อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีความสำคัญ เพราะได้ประมวลคำที่มีใช้ในภาษาไทยกว่า ๔๓,๐๐๐ คำ พร้อมให้คำอ่าน ความหมาย ตลอดจนที่มาของคำ และเป็นพจนานุกรมที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบตัวสะกด กำหนดให้หนังสือราชการ และการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนใช้ตัวสะกดตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกันไม่ลักลั่น ส่วน อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นหนังสือที่รวบรวมคำภาษาไทยที่ มักมีผู้อ่านผิดและเขียนผิดโดยให้คำอ่านอย่างถูกต้องและคำที่เขียนอย่างถูกต้อง และได้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียนที่ควรรู้ ได้แก่ การอ่านคำวิสามานยนาม เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์บางตระกูล การอ่านตัวเลข การอ่านเครื่องหมายต่าง ๆ การอ่านพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การอ่านชื่อจังหวัด เขต อำเภอ แขวง ตำบล (เฉพาะบางจังหวัด) ที่พบว่ามักอ่านไม่ถูกต้อง ส่วนการเขียนได้เพิ่มเติมคำวิสามานยนามที่เป็นชื่อแขวง ถนน ตรอก ซอย ทางแยก ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักเขียนผิด เพื่อให้เขียนกันได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังได้เพิ่มชื่อธาตุพร้อมสัญลักษณ์เรียงตามลำดับของเลขเชิงอะตอมไว้ด้วย
สำนักงานราชบัณฑิตยสถาเห็นว่าหนังสือทั้ง ๒ เล่ม มีความสำคัญและมีประโยชน์แก่ประชาชน และมีผู้ใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงจากหนังสือ ๒ เล่มดังกล่าวเป็นจำนวนมากมาโดยตลอด ประกอบกับผลจากการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่องานของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา พบว่าปัจจุบันประชาชนมีความต้องการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาในรูปแบบโปรแกรมประยุกต์ (application) สำนักงาน ราชบัณฑิตยสภาจึงได้นำข้อมูลจากหนังสือทั้ง ๒ เล่ม มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟน (smart phone) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาคาดหวังว่า “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนไทยใช้เป็นแหล่งอ้างอิงความรู้ทางด้านภาษาไทย อันนำไปสู่การใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องต่อไป
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงความร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในการพัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” ว่า นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของเนคเทคที่ได้นำผลงานการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายมาพัฒนาแอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ได้ประมวลคำที่มีใช้ในภาษาไทยกว่า ๔๓,๐๐๐ คำ การแสดงผลการใช้งานมี ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบหมวดอักษร และ รูปแบบการค้นคำ ผู้ใช้สามารถค้นคำได้ทั้งจากตัวอักษรตั้งต้นและจากส่วนหนึ่งของคำ ทั้งยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้ด้วย ส่วนแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้ ๒ หมวด คือ (๑) “หมวดอ่านอย่างไร” เพื่อทราบคำอ่านที่ถูกต้องและ (๒) “หมวดเขียนอย่างไร” โดยพิมพ์คำที่ต้องการทราบคำอ่านหรือการสะกดคำลงไป แม้ว่าผู้ใช้สะกดคำผิด แอปพลิเคชันนี้ก็แนะนำการสะกดคำที่ถูกต้องให้ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้เช่นเดียวกัน แอปพลิเคชันทั้ง ๒ โปรแกรมนี้ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS Version 7, iOS Version 8, Android และ Windows Mobile
เนคเทคได้มุ่งพัฒนางานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายมาอย่างต่อเนื่อง และใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้พัฒนาพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์เล็กซิตรอน (Lexitron) สำเร็จ โดยนำเทคโนโลยีคลังข้อมูลภาษามาพัฒนาเป็นเวอร์ชันต่าง ๆ ซึ่งมีรูปแบบหลัก ๕ รูปแบบ ได้แก่
- รูปแบบฐานข้อมูลพจนานุกรม (LEXiTRON Database)
- รูปแบบออนไลน์ที่ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต (LEXiTRON Online)
- รูปแบบโปรแกรมประยุกต์ที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ (LEXiTRON Application)
- รูปแบบโปรแกรมประยุกต์ที่ติดตั้งบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน (LEXiTRON Mobile Application)
- รูปแบบแพลตฟอร์มพจนานุกรม (LEXiTRON Platform)
พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์เล็กซิตรอนได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ย ๘๐,๐๐๐ คนต่อวัน (นับตามจำนวน Unique Internet Protocol) พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์เล็กซิตรอนนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางภาษาได้ง่าย ช่วยสร้างสังคมการเรียนรู้ด้วยระบบแนะนำคำศัพท์ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานซึ่งเป็นสมาชิกมีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมรายการคำที่น่าสนใจ รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการวิจัยด้านวิศวกรรมภาษา ภาษาศาสตร์เชิงคำนวณ และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ อีกด้วย
การร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาในการพัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการประยุกต์ใช้งานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายให้เกิดประโยชน์ต่อการให้บริการความรู้สู่ประชาชน ซึ่งตรงกับเป้าหมายหนึ่งในการนำเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยมุ่งการสร้างสมดุลของการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมที่นำไปสู่การเติบโตแบบแบ่งปันทั่วถึง (inclusive growth) และเป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายความรู้ให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกตามยุคสมัย
ชมวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานได้ที่
พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้ววันนี้
Royal Society Mobile: Thai Dictionary
Royal Society Mobile : Read and Write
วิจัยและพัฒนาโดย