ประเทศไทยมีรูปร่างเหมือนขวานโบราณ กระบวยตักน้ำ ช่อดอกไม้ หรือม้าน้ำ แต่นักการทหารมองว่าเหมือน "หัวช้าง" โดยส่วนหัวช้าง คือ ภาคเหนือ ส่วนงวง คือ ภาคใต้ ส่วนที่เป็นปาก ได้แก่ บริเวณอ่าวไทย ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และชายฝั่ง ตะวันออก ส่วนหูช้าง คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้วยลักษณะรูปร่างดังกล่าว จัดว่ามีข้อด้อยอยู่หลายประการ เช่น รูปร่างที่ยาวเรียวลงไปทางใต้ ทำให้เสียเวลาในการเดิน ทาง และค่าใช้จ่ายในการสร้างเส้นทางคมนาคม รวมถึงการดูแลรักษาประเทศ เช่น การป้องกันชายฝั่งทะเลที่ยาวเหยียด ทั้งสองด้าน นอกจากนี้รูปร่างที่ยื่นออกไปหรือถูกขนาบด้วยประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีปัญหาบริเวณชายแดนอยู่ตลอดเวลา เช่น มีการอพยพโยกย้ายถิ่นเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาก่อการร้ายและยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ต้องระมัด ระวังเป็นพิเศษ
ตามการแบ่งขนาดของประเทศทางภูมิศาสตร์การเมือง ไทยจัดเป็นประเทศขนาดใหญ่ อันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ประกอบด้วย อินโดนีเซีย พม่า ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา บรูไน สิงคโปร์) รองจาก อินโดนีเซียและพม่า ใหญ่กว่าลาวประมาณ 2 เท่า ใหญ่กว่ากัมพูชาประมาณ 3 เท่า และมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศ ฝรั่งเศส หรือมลรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่ 513,115.020 ตารางกิโลเมตร หรือ 320,696,887.500 ไร่ หรือประมาณ 198,953 ตารางไมล์
(*ข้อมูลพื้นที่จากอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 6 ภาคผนวก พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2529)
การที่ประเทศไทยมีขนาดใหญ่ มีข้อดีในเรื่องของประเภทและปริมาณทรัพยากรธรรมชาติ ความลึกของพื้นที่ทำให้ได ้เปรียบในด้านการป้องกันประเทศ การมีประชากรจำนวนมาก มีผลดีในเรื่องของการใช้แรงงานและความคิด ส่วนความ แตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น
ประเทศไทยมีแนวพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ประเทศ ได้แก่ พรมแดนด้านพม่า (เมียนมาร์) ยาว 2,202 กิโลเมตร พรมแดนด้านลาว 1,750 กิโลเมตร พรมแดนด้านกัมพูชายาว 798 กิโลเมตร พรมแดนด้านมาเลเซีย 576 กิโลเมตร โดยที่แนวพรมแดนส่วนใหญ่ยึดเอาแนวสันปันน้ำของภูเขา ทางน้ำหรือลำน้ำบริเวณแนวกลางของร่องน้ำที่ไหล แรงที่สุด เรียกว่า ร่องน้ำลึก ยกเว้นพรมแดนในแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสให้ถือเอาเกาะแก่งเป็นของลาวทั้งหมด แม้ว่าจะอยู่ ใกล้ฝั่งไทย (ยกเว้น 8 เกาะ)
ลักษณะภูมิประเทศโดยรวมของไทยประกอบด้วย เทือกเขา ป่าไม้ เนินเขา ที่ราบสูง ที่ราบหุบเขา ที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำ ใหญ่หลายสาย ทะเล ชายหาด และเกาะแก่งต่าง ๆ
รวมลิงก์เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355