หลุมดำวิทยา
ตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีรายงานการ "เห็น" หลุมดำประมาณ 40 ครั้ง และร้อยละ 75 ของรายงานเหล่านี้กล่าวว่า หลุมดำที่เห็นมีมวลมากกว่า ดวงอาทิตย์ตั้งแต่ 1 ล้านถึงล้านล้านเท่าทีเดียว
หลักฐานแรกที่นักวิทยาศาสตร์ เห็นมาจากดาวชื่อ Cygnus X-1 ซึ่งเปล่งรัศมีเอกซ์ออกมาอย่างไม่สม่ำเสมอ เพราะหลุมดำนี้มีดาวฤกษ์ ที่กำลังโคจรไปรอบๆ และขณะที่ก๊าซจาดาวฤกษ์ไหลลงสู่หลุมดำ ก๊าซจะมีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 ล้านองศาเคลวิน อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ได้พบมวลของหลุมดำนี้มากประมาณเจ็ดเท่าของดวงอาทิตย์ ดังนั้นดาว Cygnus X-1 จึงเป็นหลุมดำแรกที่ถูก "พบ"
ในการประชุมด้าน Astrophysics ที่กรุงกัลกัตตาประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่เกี่ยวกับหลุมดำ โดยเฉพาะ L' Ho แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่า ที่ใจกลางของกาแล็กซี่ NGC 4238 ซึ่งเป็นกาแล็กซีเกลียวมีหลุมดำขนาดมโหฬาร อยู่ตรงกลาง และที่ใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ของเรา A.M. Cherepashchuk แห่งรัสเซียก็รายงานว่าได้พบหลุมดำขนาดมโหฬารมากเช่นกัน

และในการประชุมของ American Astronomical Society ที่เมืองออสตินในมลรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2541 ได้มีการบรรยายเรื่องวิธีการที่หลุมดำใช้ในการหา "อาหาร" ว่า กลุ่มกาแล็กซีชื่อ Seyfert ซึ่งมีความสว่างในตัวไม่สม่ำเสมอนั้น ในยามที่มันสุกใสสว่างมาก ที่บริเวณเล็กๆ รอบจุดศูนย์กลางของมันมีความสว่างเกือบเท่ากับความสว่างที่ได้จากอิทธิพลของดาวฤกษ์จำนวนล้านล้านดวงรวมกัน A. Alonso-Herrero แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนาในสหรัฐอเมริกาและคณะเป็นผู้เห็นเหตุการณ์นี้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล (Hubble) เขาได้อธิบายว่า สาเหตุที่ใจกลางของกลุ่มกาแล็กซีสุกสว่างมาก ก็เพราะที่ใจกลาง ของกลุ่มกาแล็กซีนี้มีแท่งก๊าซ ที่มีความยาวมหาศาลถึง 100 ปีแสงอยู่ และแท่งก๊าซนี้ทำตัวเป็นอาหารส่งให้หลุมดำ "กิน" เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีนักดาราศาสตร์คนใดเคยเห็นเหตุการณ์หลุมดำ กำลังกลืนดาวมาก่อนเลย จึงนับว่าการเห็นนี้เป็นหลักฐานการมีหลุมดำที่ค่อนข้างชัดเจน
เครื่องดูดฝุ่นและเหตุการณ์คนกินคน ได้ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจ และตกใจอย่างไร เหตุการณ์หลุมดำกินดาว ก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่ากลัวและน่าอัศจรรย์ เช่นกัน

ที่มา : ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)