การพัฒนาเมืองธรรมดาให้กลายเป็น Smart City สามารถทำได้อย่างไร อะไรคือองค์ประกอบ? มาร่วมฟังประสบการณ์ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ได้มีส่วนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาร่วมแก้ปัญหา ตลอดจนการร่วมสร้าง Business Model เพื่อประโยชน์ของเมืองต่างๆ
ในปัจจุบัน Smart City หรือเมืองอัจฉริยะเป็นกระแสที่กำลังมีพัฒนากันทั่วโลก เพราะเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับเมืองเพื่อให้มีความน่าอยู่มากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของเมืองได้อย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันเพื่อช่วยพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับพื้นที่ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความปลอดภัยได้มากขึ้น แนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะนั้น จะต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ รัฐบาล รวมถึงประชาชนในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาเมือง ซึ่งในหลายประเทศก็ได้มีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน เป็นต้น โดยมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลในการนำเอาเทคโนโลยี ICT เข้ามาช่วยบริหารจัดการเมืองและชุมชนให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นจนประสบความสำเร็จในการเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ
สำหรับประเทศไทย การประกาศนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ที่จะเน้นการผลักดัน Smart City ให้เป็นกลไกที่จะสร้างโอกาสในการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ให้ดีขึ้น แต่มีคำถามต่างๆ ที่ตามมาว่า การที่จะผลักดันให้มีความสำเร็จ และเกิดความยั่งยืนได้เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะมาแล้ว อะไรคือ องค์ประกอบ วิธีการจะเป็นอย่างไร และควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีความเป็นไทย ดังนั้น การสัมมนาในหัวข้อนี้จะเป็นการนำเสนอประสบการณ์ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ เทคโนโลยี ICT เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ตลอดจนการร่วมสร้าง Business Model เพื่อประโยชน์ของเมืองต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักเทคโนโลยีของไทยในกรณีตัวอย่างของนักเทคโนโลยีไทยที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมสร้างความปลอดภัยให้เทศบาลเมืองพัทยา แนวทางพัฒนาระบบนิเวศสำหรับธุรกิจดิจิทัลภายใต้แผนพัฒนา Smart City Phuket 2020 และการบูรณาการเทคโนโลยีที่สำคัญของ Smart City คือ Internet of Things (IoT) และการบูรณาการข้อมูล Big Data จาก CCTV, Sensors, ITS เพื่อเปลี่ยนแปลงให้จังหวัดภูเก็ต มีความปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้น
เวลา 10:30-10:30 น. ลงทะเบียน
เวลา 10:30-12:30 น. การสัมมนา “Smart City เปลี่ยนเมืองอย่างไรให้สมาร์ท (Smart city: Global Solutions for Local Challenges)”
ผู้ร่วมสัมมนา
- Mr. Tom Harrison
CTO, Public Sector, APJ, based in Australia
บริษัท Hewlett Packard Enterprise จำกัด - คุณวีรวุฒิ วุฒิเลิศอนันต์
Solution Manager, Enterprise Business
บริษัท Huawei Technology จำกัด - คุณเสรี สิริสายัณห์
Autodesk Business Consultant
บริษัท Autodesk Asia Pte.จำกัด - คุณประกอบ จ้องจรัสแสง
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท Point IT Consulting จำกัด - คุณประชา อัศวธีระ ผู้จัดการ
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) สาขา ภูเก็ต - ดร.ศุภกร สิทธิไชย
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ดำเนินรายการโดย
- ดร. ภาสกร ประถมบุตร
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
สรุปประเด็นการเสวนา
การเสวนาในครั้งนี้ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาเมือง เช่น เมืองพัทยา(คุณประกอบ) จ. ภูเก็ต(คุณประชา) และ สิงคโปร์(Mr. Tom) เป็นต้น ทั้งนี้จากตัวอย่างของจังหวัดภูเก็ต สิ่งที่ตั้งใจจะพัฒนาให้ Smart มีเรื่อง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความปลอดภัย รัฐบาล สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ทั้งนี้พบว่าในเรื่องการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่พัฒนาได้เร็วที่สุดเพราะในแต่ละจุดเชื่อมต่อสามารถสร้างให้เกิดรายได้ที่จะทำให้มีผู้เข้ามารับทำในแต่ละห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม สำหรับปัญหาด้านอื่นๆคือการจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน โดยภูเก็ตตั้งเป้าจะให้มี Hi-Speed WiFi ที่ประชาชนจะต้องเข้าถึงได้ง่ายในอนาคตข้างหน้า สำหรับพัทยาก่อนหน้านี้พัฒนามาจากปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การรักษาความปลอดภัยตามจุดเสี่ยงต่างๆในเมืองพัทยาโดยได้ติดตั้งกล้องตามจุดต่างๆแต่ปัญหาก็มีเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ แต่คือเมื่อเวลาผ่านไปจะมีกล้องหลากหลายแบบหลากหลายยี่ห้อทำให้การรวมข้อมูลเข้าด้วยกันเป็นเรื่องยากมาก และนอกจากนี้ยังมีปัญหาที่อุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆก็ต้องการบำรุงรักษาซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากอีกปัญหาหนึ่งเช่นกัน จะเห็นว่าทั้งภูเก็ตและพัทยา จากตัวอย่างของทั้งภูเก็ตและพัทยาสิ่งที่เป็นปัญหาร่วมกันคือจะออกแบบอย่างไรให้เป็น Smart City ได้อย่างยั่งยืน สำหรับตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์นั้นวิทยากรได้สรุปว่าสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกคือต้องมีความร่วมมือจากภาครัฐในการพัฒนาเมือง ต้องมี Business Model และสิ่งที่สำคัญที่สุดของสิงคโปร์คือการพัฒนาคน ทั้งหมดนี้จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน สำหรับสิ่งที่ ศอ. ได้เข้ามามีส่วนช่วยคือด้านการทำ CCTV Analytic, การป้องกันภัยดินถล่ม เป็นต้น
โดยสรุปปัญหาที่สำคัญคือจะพัฒนาเมืองให้ Smart อย่างไรให้ยั่งยืน ทั้งนี้ปัญหาไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีแต่น่าจะเป็นนโยบายจากรัฐบาลที่ควรมีความชัดเจนเรื่อง PPP (Public Private Partnership) เพื่อทำให้เกิด Business Model ใหม่ๆและต้องมีการพัฒนาคุณภาพคนควบคู่กันด้วย
ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ (.pdf)
- Smart Cities Overview โดย Mr. Tom Harrison