14:45 - 16:15 - การเสวนา เรื่อง FINTECH: อนาคตของ E-Payment และความมั่นคงปลอดภัย

ในปัจจุบันเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาภาคการเงินของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าเดิม โดยพัฒนาการดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของระบบการชำระเงิน การประกันภัย การฝากถอนกู้ยืมเงิน การซื้อขายหลักทัพย์ ไปจนถึงเรื่องของการระดมทุน อย่างไรก็ตามยังคงมีประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ที่อาจทำให้ผู้ใช้งานบางกลุ่มเกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าเริ่มใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว

การเสวนาครั้งนี้ จะเจาะลึกถึงอนาคตของเทคโนโลยีทางการเงินในประเทศไทย ว่าจะมีการพัฒนาไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และความมั่นคงปลอดภัยของระบบดังกล่าว รวมไปถึงเทคโนโลยี Blockchain ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางทั่วทุกมุมโลกว่าจะสามารถเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการธุรกรรมทางการเงินได้จริงหรือไม่ และพวกเราชาวไทยจะรับมือกับความเสี่ยง และโอกาสที่จะมาถึงนี้ได้อย่างไร

เวลา 14:30-14:45 น. ลงทะเบียน
เวลา 14:45-16:15 น. การเสวนาเรื่อง “FINTECH: อนาคตของ E-Payment และความมั่นคงปลอดภัย”

ผู้ร่วมเสวนา

  • คุณสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์
    Head of IT Security, Maybank Kim Eng Securities (Thailand)
  • ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์
    สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)
  • ดร.ภูมิ ภูมิรัตน
    ที่ปรึกษาอาวุโสบริษัท G-Able
  • ดร. ชาลี วรกุลพิพัฒน์
    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

ดำเนินรายการโดย

  • ดร.ชัยกร ยิ่งเสรี
    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

 

สรุปประเด็นการเสวนา

การเสวนาในครั้งนี้ได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้อุตสาหกรรมการเงิน ทั้งในเรื่องของการนำ Mobile Application มาใช้ในการซื้อขายหุ้น เช่น การซื้อขายหุ้นผ่าน Line   การนำ Technology Blockchain มาใช้กับอุตสาหกรรมการเงิน  อย่างไรก็ตาม Blockchain เองก็สามารถนำมาประยุกต์กับงานอื่นๆที่ไม่ได้จำกัดแค่ทางด้านการเงินอย่าง Bitcoin เท่านั้น เช่น การให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลแบบ peer to peer ที่มี Storj เป็นผู้ให้บริการ เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนบทบาทของภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมารัฐมีบทบาทหลายแบบ เช่น การกำกับดูแลอย่างเข้มข้น การส่งเสริม และการสร้าง Facility รัฐจะต้องพิจารณาว่าควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน บทบาทอะไร จุดสมดุลในการควบคุมอยู่ที่ไหน รัฐเองต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Fintech คืออะไร ความเสี่ยงเดิมที่มีอยู่คืออะไรและควาเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้นคืออะไรจึงจะสามารถกำหนดบทบาทได้ถูกต้อง ในด้านความปลอดภัยขอให้ประชาชนทั่วไปตระหนักแต่อย่าตระหนก ทั้งนี้จากข่าวต่างๆที่มีการขโมยเงินผ่านทางการใช้เทคโนโลยี online เช่น กรณีธนาคารออมสิน หรือ กรณีบริษัททรูออก sim ให้โดยไม่ขอบัตรประชาชนจริง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายตามมาอีกมากนั้น หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าในอดีตนั้นการที่ต้องมีเงินสดเก็บไว้กับตัวนั้นยิ่งมีความปลอดภัยที่เลวร้ายกว่าในปัจจุบันนี้มากกว่ามาก การเลือกใช้บริการทางการเงินที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องผู้ใช้งานก็ควรจะต้องทราบว่าผู้ให้บริการใช้เทคโนโลยีอะไรในการรักษาความปลอดภัยด้วยเช่นกัน