บทสรุปการสัมมนา
การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการบริหารจัดการด้านการขนส่งสินค้า ที่มีการใช้งานจริงจากภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น บริษัทปูนซีเมนต์เอเชีย และ PTT ICT Solution สิ่งสำคัญที่ช่วยให้การนำไปใช้งานเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพ คือ ตีโจทย์จากการเก็บรวบรวมความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีการศึกษาข้อมูลเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน รวมทั้งให้การสนับสนุนทีมวิจัยในการทำงาน/การปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยที่รูปแบบการทำงานของทีมวิจัยเนคเทคสามารถ ปรับให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมให้การทำงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง รวมถึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทีมวิจัยมีแนวทางขยายผลการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้สำหรับการ Track และ Monitoring เช่น ระบบลอจิกติกส์ในโรงพยาบาล (คนไข้ วัสดุการแพทย์-ยา เป็นต้น) การขนส่งผักโครงการหลวง โรงเรียนอนุบาล สถานีตำรวจ จ.สระบุรี เป็นต้น
บทสรุปการสัมมนา
ปัญหาของเกษตรกรสามารถจัดแบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ พันธุ์ การปลูก ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว การแก้ไขปัญหาต้องมองภาพทั้งระบบไม่แยกส่วนกันแก้ปัญหา เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ โจทย์ใหญ่ของเกษตรกรคือ ทำอย่างไรให้เข้าถึงองค์ความรู้ที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและราคาประหยัด ในการเสวนานี้ได้กล่าวถึงการนำ mobile application “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปใช้งานที่คลินิกดิน การให้ปุ๋ยสูตรอะไรนั้น ต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพดินและพืชที่ปลูก คลินิกดินมีบริการตรวจวัดสภาพดิน และนำค่าที่ได้กรอกใน application นี้ทางมือถือ ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นปริมาณแม่ปุ๋ยที่จะนำไปผสมให้พืช เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยซึ่งตรงกับสภาพดินและพืชที่เพาะปลูก ซึ่งใช้ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรในการอ้างอิงได้จากคลินิกดิน นอกจากนี้ เนคเทคได้พัฒนาเซนเซอร์วัดความชื้นดินเพื่อช่วยในเรื่องการให้น้ำในแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้เริ่มทดลองในแปลงปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งในระยะแรกนี้ ต้องศึกษาว่าการวางเซนเซอร์ให้เหมาะสมของพืชแต่ละชนิดเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องนั้น ต้องอยู่ในระดับความลึกเท่าไหร่ ระยะการวางห่างกันมากน้อยแค่ไหน และปัจจัยอื่นๆ โดยในอนาคตจะได้ขยายผลในส่วนนี้ต่อไป
บทสรุปการสัมมนา
การใช้โซล่าร์เซลล์ปั๊มน้ำเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นกับการเลือกใช้อุปกรณ์ร่วมกัน คือ 1) แผงเซลล์แสงอาทิตย์ 2) ปั๊มน้ำ และ 3) Inverter ซึ่งการนำมาใช้งานจะช่วยลดต้นทุน หรือประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใดนั้น ผู้ใช้ต้องพิจารณาเลือกอุปกรณ์ให้ตรงความต้องการใช้งานและงบประมาณที่กำหนด เช่น ขนาดและจำนวนของแผงเซลล์ที่ต้องใช้ ขึ้นกับปั๊มน้ำ (มอเตอร์ใหญ่หรือเล็ก) หรือ หากต้องการเก็บพลังงานจากแผงเซลล์ไว้ใช้การนำแบตเตอรี่มาต่อก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และควรเลือกใช้แบตเตอรี่แบบ Deep Cycle ซึ่งมีราคาสูงและต้องมีการดูแลบำรุงรักษา ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ใช้ต้องดูแลรักษาแผงเซลล์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีผลให้ประสิทธิภาพการรับแสงของแผงเซลล์ลดลงได้ถึง 40% หากขาดการบำรุงรักษาหรือทำความสะอาด (ควรทำความสะอาดแผงเซลล์ด้วยน้ำสะอาด) นอกจากนี้ ควรพิจารณาเรื่องการซ่อมแซมบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน ทั้งในเรื่องการหาช่างซ่อม และค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
บทสรุปการสัมมนา
Application Programming Interface: API คือช่องทางเชื่อมต่อให้ระบบต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยนักพัฒนาระบบ (Developers) สามารถต่อยอดใช้งาน API ที่หลากหลาย เพื่อสร้างระบบที่ทำงานตามความต้องการ ทำให้เกิดระบบใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองจุดประสงค์และเพิ่มมูลค่าของธุรกิจได้ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน มีผู้ขับเคลื่อนหลักทางภาครัฐ คือ สำนักงาน รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) โดยนำเสนอ Government API สำหรับเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของประชาชน และบริการต่างๆ ของ สรอ. รวมถึงได้มีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการบูรณาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง และห้องปฏิบัติการวิศวกรรมซอฟต์แวร์และนวัตกรรมบริการ ภายใต้เนคเทค ได้นำเสนอบริการ APIDD และ CloudDD เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มีความต้องการให้บริการ API ในประเทศไทย
บทสรุปการสัมมนา
จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากความตั้งใจของบุคคลและชุมชนที่มีความต้องการในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมถึงข้อมูลทางด้านศิลปวัฒนธรรมไทย สร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายหน่วยงานที่ต้องการเริ่มจากไม่มีอะไรสู่คลังข้อมูลวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ด้วยองค์ความรู้ของเจ้าของวัฒนธรรมร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และชุมชน ก่อให้เกิดการขยายตัวและร่วมสร้างสำนึกในการอนุรักษ์มรดกไทย ไม่เพียงแต่เป็นการจัดเก็บ รวบรวม แต่ได้มีการจำลองโครง สร้าง และพร้อมที่จะเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในรูปแบบ 2d, 3d รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านต่างๆ เช่น hologram, QR, AR เข้ามาช่วยในการนำเสนอบนพื้นที่จริง