Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest

IT Digest ปีที่ 3 ฉบับที่ 22 (16 พฤศจิกายน 2549)

ไอบีเอ็ม (IBM) ฟ้องร้อง แอมาซอน (Amazon) ฐานละเมิดสิทธิบัตร
โดย เพียงเพ็ญ บุตรกตัญญู

     Amazon ได้ใช้เทคโนโลยีที่ประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย IBM เป็นพื้นฐานในการประกอบธุรกิจขายปลีกบนเว็บไซต์ Amazon.com ดังนั้น IBM จึงได้ยื่นฟ้อง Amazon ฐานละเมิดสิทธิบัตรถึงสองคดีเมื่อวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา Amazon ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตรของ IBM ถึง 5 ฉบับ ซึ่งสิทธิบัตรเหล่านั้นรวมไปถึงเทคโนโลยีที่

     Amazonใช้ในกระบวนการแนะนำสินค้า การรองรับการโฆษณาและการเก็บรักษาข้อมูล เป็นต้น สิทธิบัตรเหล่านั้นบางฉบับได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งหนึ่งในสิทธิบัตรเหล่านั้น คือ "วิธีการสั่งซื้อสินค้าโดยใช้การเรียงลำดับทางอิเล็กทรอนิกส์" (Ordering Items Using an Electronic Catalog)

     นาย จอห์น เคลลี่ รองประธานอาวุโสของบริษัท IBM ซึ่งดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทกล่าวว่า "ในช่วงเวลาขณะนั้น สิทธิบัตรของ IBM เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต" "ธุรกิจของ Amazon.com ส่วนมาก หรืออาจเกือบทั้งหมด ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยต่อยอดจากเทคโนโลยีของ IBM"

     บริษัทอื่นๆ อีกนับร้อยได้เข้าทำสัญญาขออนุญาตใช้สิทธิ (license) ในสิทธิบัตรเดียวกันนี้กับ IBM นอกจากนี้นาย เคลลี่ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา IBM ได้พยามเข้าเจรจาเพื่อทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรกับ Amazon "มากกว่า 12 ครั้ง" แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ และ Amazon ถูกกล่าวอ้างว่าปฏิเสธการเจรจาทุกครั้ง ในขณะเดียวกัน Amazon.com ยังซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จากบริษัท ฮิวเล็ตท์ แพคการ์ด เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ซื้อสินค้าของ IBM

     อาร์มอร์ค (Armock) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ IBM มีที่ทำการตั้งอยู่ในมลรัฐนิวยอร์ค ได้ยื่นฟ้อง Amazon ถึงสองคดี ณ ศาลชั้นต้นในมลรัฐเท็กซัสตะวันออก (Federal court in the Eastern District of Texas) ซึ่งคดีหนึ่งฟ้องที่เมืองไทเลอร์ (Tyler) และอีกคดีหนึ่งฟ้องที่เมืองลัฟคิน (Lufkin) มลรัฐเท็กซัสได้กลายเป็นรัฐที่มีการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรบ่อยที่สุดรัฐหนึ่งในสหรัฐฯ เนื่องจากศาลชั้นต้น ในบางเมืองของมลรัฐเท็กซัส ได้รับการยอมรับว่ามีคำพิพากษาที่ตอบสนองข้อกล่าวหาประเภทดังกล่าวได้ ดีกว่าศาลชั้นต้นในมลรัฐอื่น

     IBM นับเป็นบริษัทผู้ถือครองสิทธิบัตรชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก IBM ได้ทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาถึงปีละ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้จากการเก็บ ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิในสิทธิบัตรประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

     ขณะเดียวกันสิทธิบัตรต่างๆที่ Amazon เป็นเจ้าของ ได้ถูกโต้แย้งอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น ในปี ค.ศ. 1999 สิทธิบัตรชื่อ "กระบวนการสั่งซื้อสินค้าด้วย one-click" ก็ได้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นสิทธิบัตร ที่มีขอบเขตของสิทธิกว้างเกินไป และการประดิษฐ์เป็นที่ประจักษ์แก่กลุ่มอุตสาหกรรม จึงขาดคุณสมบัติที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ ซึ่งขณะนี้สำนักสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ (US Patent and Trademark Office USPTO) ได้รื้อฟื้นสิทธิบัตรดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้งหนึ่ง

     ในการนี้ IBM มิได้ระบุจำนวนค่าเสียหายที่บริษัทจะเรียกร้องจาก Amazon ขณะเดียวกัน นายเคลลี่ ก็ไม่เปิดเผย ตัวเลขที่บริษัทอื่น ได้เคยจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิ (license fees) ในสิทธิบัตรตัวเดียวกันนี้แก่ IBM อย่างไรก็ตาม นายเคลลี่กล่าวว่า "เราไม่ใช่พวกคนไร้ความยุติธรรม"

ที่มา : https://edition.cnn.com/2006TECH/biztech/10/23/ibm.amazon.ap/index.html สืบค้นข้อมูลเมื่อ 25/10/2006

อุปกรณ์ช่วยนำทางระบบไฮเทค
โดย พรรณี พนิตประชา


อุปกรณ์ช่วยนำทางระบบไฮเทค
ที่มา: www.cnn.com/2006/TECH/10/10/piloting. people.ap/index.html

     อุปกรณ์นำทางที่ทำงานผ่านดาวเทียม จะช่วยให้ คนขับรถสามารถหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด และบอกเส้นทางไปยังสถานีบริการน้ำมันได้ แต่สำหรับในการนำทางผู้คนในสถานที่เล็กกว่านั้น เช่น ภายในออฟฟิศ เป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

     อุปกรณ์ระบุตำแหน่งที่ทำงานโดยใช้ระบบ GPS ผ่านดาวเทียม สามารถทำงานได้เที่ยงตรง โดยมี ความคลาดเคลื่อนประมาณ 10 ฟุต ซึ่งยอมรับได้สำหรับคนขับรถที่กำลังจะเลี้ยวขวาที่สี่แยก แต่ยังเป็นตัวเลขที่มากเกินไปสำหรับคนเดินถนนที่กำลังหาบ้านเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การครอบคลุมของระบบ GPS ยังมีข้อจำกัดเมื่อนำมาใช้ภายในอาคาร เนื่องจากระบบ GPS ยังไม่สามารถแยกระหว่างทางเดินและกำแพงได้ด้วยตัวเอง

     นักวิจัยจาก Georgia Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนาระบบนำทางที่มนุษย์สามารถสวมใส่ได้ (System for Wearable Audio Navigation: SWAN) ซึ่งประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ที่รัดไว้กับข้อมือ และเซ็นเซอร์ ที่จะช่วยในการบอกทางสำหรับ คนพิการทางสายตา

     นอกจากเซ็นเซอร์ GPS ขนาดเล็กเท่ากับจี้ห้อยคอแล้ว ยังมีเซ็นเซอร์สำหรับแสง และอุณหภูมิที่สามารถบ่งบอกความแตกต่างระหว่างภายในและภายนอกอาคารได้ ประมาณระยะห่างระหว่างวัตถุและสิ่งกีดขวางต่างๆ เข็มทิศช่วยบอกทิศทาง และตัวตรวจจับแรงเฉื่อย ซึ่งจะช่วยตรวจทิศทางการหันหน้าของผู้ใช้งานว่าหันหน้าไปทางทิศใด โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้อยู่ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกระเป๋าสะพายหลัง โดยการส่งคลื่นความถี่สูงมีลักษณะคล้ายโซนาร์ ("sonar" ระบบค้นหาวัตถุใต้น้ำด้วยคลื่นเสียง) ช่วยนำทางผู้ใช้งานไปยังจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้ยังสามารถทำงานได้กับฐานข้อมูลแผนที่ เพื่อระบุตำแหน่งที่แน่นอนบนทางเดิน ห้องโถง หรือประตูได้ด้วย โดยระบบ SWAN จะส่งเสียงที่ได้ยินออกไปถี่ขึ้นเมื่อผู้ใช้งานเคลื่อนที่เข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะช้าลงเมื่อผู้ใช้เคลื่อนที่ห่างออกไป และยังมีเสียงของบานพับประตูเมื่อเดินผ่านประตูหรือสัญญาณอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านขายของชำ และอื่นๆ โดยเสียงจะถูกส่งผ่านหูฟังขนาดเล็กซึ่งเป็นวัสดุพิเศษที่สวมใส่อยู่หลังใบหู เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานรู้สึกรำคาญจากการที่มีหูฟังปิดหูอยู่ตลอดเวลา

     นาย Bruce Walker ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา จาก Georgia Institute of Technologyประเทศสหรัฐ อเมริกา ผู้ช่วยในการพัฒนาระบบนี้กล่าวว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระบบนี้จะสามารถช่วยในการนำทางผู้พิการทางสายตา ซึ่งการนำแผนผังของแต่ละตึกมาใช้นั้นมีความเป็น ไปได้ โดยคนพิการทางสายตาสามารถจะสามารถเดินทางไปยังที่ที่ต้องการได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังช่วยนำทางให้หน่วยกู้ภัย หรือช่วยนำทางให้กับทหารในภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย ทั้งนี้คงจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการพัฒนาระบบดังกล่าว

     นอกเหนือจากการวิจัยในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่พยายามจะออกแบบระบบนำทางในพื้นที่คับแคบๆ เช่น บริษัท HumanWare ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ใน Montreal และ New Zealand ได้วางจำหน่ายอุปกรณ์ GPS ที่สามารถต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์-ออกาไนเซอร์ ขนาดพกพา เพื่อช่วยบอกทิศทางให้กับผู้พิการทางสายตา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะทาง การใช้งานภายในอาคารและความเที่ยงตรงเช่นเดียวกับอุปกรณ์ GPS อื่นๆ

ที่มา : https://www.cnn.com/2006/TECH/10/10/piloting.people.ap/index.html
สืบค้นข้อมูลเมื่อ 15/10/2006


ชอปปิ้งออนไลน์โดยใช้รูปภาพค้นหา
โดย อลิสา คงทน

ลูกค้าเลือกดูกระเป๋าที่ต้องการซื้อ
ภาพแสดง : ลูกค้าเลือกดูกระเป๋าที่ต้องการซื้อ
ที่มา: www.like.com

     ลองคิดถึงเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ คุณเดินผ่านผู้หญิง คนหนึ่งที่สวมรองเท้าหุ้มส้นหนังสีน้ำตาลอ่อน หัวมน ซึ่งคุณชอบมากและอยากที่จะหาซื้อรองเท้าที่มีลักษณะคล้ายกับรองเท้าที่คุณเห็น ทางอินเทอร์เน็ต คุณจะค้นหารองเท้าที่ คุณต้องการอย่างไร การที่จะใส่คำว่า "รองเท้า หุ้มส้น สีน้ำตาลอ่อน หัวมน" เพื่อค้นหาสินค้าในร้านค้าออนไลน์ คงจะไม่ช่วยทำให้คุณพบรองเท้าแบบที่คุณต้องการมากนัก

     ดังนั้น ร้านค้าออนไลน์ที่มีชื่อว่า Like.com ได้จัดให้มีบริการค้นหาสินค้าโดยวิธีใหม่ คือการค้นหาโดยใช้รูปภาพแทนการใช้ข้อความ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยทำให้นักชอปปิ้งทั้งหลายสามารถหาสินค้าที่ต้องการได้ง่ายขึ้น วิธีการค้นหาโดยใช้รูปภาพนี้จะเริ่มจากการใช้รูปภาพของสินค้ารูปหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นระบบค้นหา (search engine) ก็จะเข้าไปค้นหารูปภาพของสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกับที่ลูกค้าต้องการ ในขณะนี้ระบบค้นหาของ Like.com สามารถเข้าไปค้นหาสินค้ากว่า สองล้านชิ้น ซึ่งแบ่งออกเป็นสี่ประเภทคือ รองเท้า กระเป๋าถือ นาฬิกา และเครื่องประดับ ในอีกไม่นานบริษัทคาดว่าจะเพิ่มประเภทของสินค้าเช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เข้าไปด้วย นอกเหนือจากนี้ลูกค้ายังสามารถระบุว่าลักษณะพิเศษใด เช่น สี รูปร่าง หรือ แบบ เป็นลักษณะเด่นที่ลูกค้าอยากจะใช้ในการค้นหา และลูกค้ายังสามารถค้นหาสินค้าตามยี่ห้อ รูปแบบ และราคา เหมือนกับร้านค้าออนไลน์อื่นๆ

ลูกค้าเลือกดูกระเป๋าที่ต้องการซื้อ
ภาพแสดง : ลูกค้าเลือกดูกระเป๋าที่ต้องการซื้อ
ที่มา: www.like.com

     ซอฟต์แวร์ลักษณะพิเศษที่ Like.com พัฒนาขึ้นมาจะค้นหารูปภาพที่มีลักษณะเหมือนกันโดยการแยกรูปภาพนั้นๆออกมาเป็นตัวเลขประมาณ 10,000 ตัวเลข ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะบ่งบอกถึงลักษณะกว่า 30 ลักษณะของสิ่งของต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ลักษณะของสี ส่วนนูนและส่วนโค้ง ความมันวาวของผิวด้านนอกของกระเป๋าถือ เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ลูกค้ายังสามารถเน้นการค้นหาไปที่ลักษณะบางอย่างที่เขาต้องการเช่น เน้นเฉพาะตรงสายของนาฬิกา หรือรูปร่างของหน้าจอนาฬิกา ตัวเลขกว่า 10,000 ตัวที่บ่งบอกถึงลักษณะของรูปสินค้าที่ใช้ค้นหานี้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขที่บ่งบอกถึงลักษณะของรูปสินค้าบนเว็บไซต์ของร้านค้าออนไลน์ต่างๆ รูปของสินค้าที่มีตัวเลขใกล้เคียงกันจะถูกแสดงออกมาบนหน้าเว็บไซต์ Like.com

     ปัจจัยสำคัญของระบบค้นหาโดยใช้รูปภาพนี้คือ ระบบจะต้องมีความสามารถในการเข้าถึงรูปที่มีมิติที่สูง (high resolution) ได้ และถ้าเว็บไซต์ของร้านค้าออนไลน์ต่างๆ แสดงรูปในหลายๆ มุมและหลายๆ สี ระบบก็จะต้องมีความสามารถในการเข้าถึงรูปนั้นๆ เช่นกัน ขณะนี้ระบบจะทำงานได้ดีในการค้นหานาฬิกาและกระเป๋าถือเนื่องจากรูปของสินค้าประเภทนี้จะถูกถ่ายในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อีกทั้งรูปของสินค้าประเภทนี้จะไม่มีประกายเท่าไหร่ ซึ่งจะแตกต่างจากรูปของเครื่องประดับเช่น การเปล่งประกายที่แตกต่างกันของแหวนทองหรือแหวนเพชร ซึ่งจะทำให้ระบบค้นหาหารูปที่ใกล้เคียงกันได้ยากขึ้น ในขณะนี้ Like.com กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยใน การค้นหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทางบริษัทกล่าวว่าบริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นเมื่อเพิ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเข้าไป เนื่องจากรูปที่แสดงสินค้าประเภทเสื้อผ้า โดยปกติแล้วจะแสดงได้สองรูปแบบ คือ แสดงบนตัวหุ่นหรือตัวคนกับแสดงโดยการวางในแนวราบ ซึ่งจะเป็นการยากที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะสามารถระบุว่าเสื้อที่แสดงไว้ในสองรูปแบบเป็นเสื้อตัวเดียวกัน ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเริ่มพัฒนาอัลกอริทึมที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวในอีกไม่ช้า

ที่มา : https://www.technologyreview.com/BizTech/17767/
สืบค้นเมื่อ 13/11/2006


ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology