Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest

IT Digest ปีที่ 3 ฉบับที่ 18 (16 กันยายน 2549)

เซ็นเซอร์อัจฉริยะเตือนภัยน้ำท่วม

      ในประเทศอังกฤษ น้ำในแม่น้ำมักมีการไหลบ่าเสมอๆ ทุกปีหลังคริสต์มาส เป็นเหตุให้ Danny Hughes นักคอมพิวเตอร์ศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ (Lancaster University) และคณะ พัฒนาเซ็นเซอร์อัจฉริยะเตือนภัยน้ำท่วมขึ้น โดยได้มีการติดตั้งเซ็นเซอร์อัจฉริยะเพื่อวัดระดับน้ำ และกระแสการไหลของน้ำโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถทำนายการเกิดภาวะน้ำท่วมอย่างฉับพลันได้ เครือข่ายเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำอัจฉริยะจะทำการแจ้งเตือนโดยการส่งผลการพยากรณ์ที่แม่นยำก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและท้องถิ่นเพื่อทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบโดยเร็ว

เซ็นเซอร์ที่บรรจุในคอมพิวเตอร์ฝังตัวขนาดเล็ก
ภาพ : เซ็นเซอร์ที่บรรจุในคอมพิวเตอร์ฝังตัวขนาดเล็ก
ที่มา : https://www.newscientisttech.com

      ขณะนี้ได้มีการทดลองติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์ 2 จุด ไปตามความยาวของแม่น้ำริบเบิล และภายในสิ้นปีนี้เครือข่ายที่เหลืออีก 11 จุด จะถูกติดตั้งในหุบเขายอร์กเชอร์ (Yorkshire Dales) เครือข่ายเซ็นเซอร์อัจฉริะประกอบด้วยชุดเซ็นเซอร์ 3 ชนิด คือ ชุดเซ็นเซอร์วัดความดันน้ำ 11 ตัว เพื่อวัดระดับความลึกของน้ำ และชุดเซ็นเซอร์ตรวจวัดความเร็วของกระแสน้ำ 2 ตัว โดยเซ็นเซอร์ตัวหนึ่งใช้วัดคลื่นอัลตร้าซาวนด์ใต้น้ำ และเซนเซอร์อีกตัวหนึ่งใช้กล้องวีดีโอ (webcam) ซึ่งถูกติดตั้งริมฝั่งของแม่น้ำเพื่อติดตามวัตถุและระลอกคลื่นบนผิวน้ำ

      เครือข่ายเซ็นเซอร์แต่ละจุดมีขนาดเล็กกว่ากำปั้นมนุษย์ และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ร่วมกับแผงพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้เซ็นเซอร์แต่ละตัวยังถูกเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กเท่ากับแผงหมากฝรั่ง ซึ่งประกอบด้วยระบบประมวลผลสมรรถนะสูงที่พบได้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคใหม่ เซ็นเซอร์ทั้งหมดถูกติดตั้งโดยมีระยะห่างกันประมาณ 10 เมตร และทำงานเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายไร้สายวายฟาย (Wi-Fi) และบลูทูธ ทำให้มีการเก็บข้อมูลและกระบวนการประมวลผลร่วมกัน เกิดเป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะเหมือนกับการประมวลผลแบบกริด (Grid computing) คือ ระบบการประมวลผลคอมพิวเตอร์ด้วยการเชื่อมโยงหน่วยประมวลผลจำนวนมาก ที่อาจอยู่ห่างกันหลายพันไมล์เข้าด้วยกัน โดยใช้เร้าเตอร์ (Router) เป็นอุปกรณ์สำคัญในการเชื่อมต่อระบบ เพื่อรองรับการรับ-ส่งข้อมูล และมีประสิทธิภาพในการประมวลผลสูง ถ้าพฤติกรรมของแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลง เครือข่ายจะใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในการสร้างแบบจำลองและพยากรณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ถ้าปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และไหลอย่างรวดเร็ว เครือข่ายเซ็นเซอร์ก็จะส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายไร้สายไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมระบบ

      ปัจจุบันเครือข่ายเซ็นเซอร์อัจฉริยะเตือนภัยน้ำท่วมรายงานผลไปยังห้องปฏิบัติการวิจัยของมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ผ่านระบบไร้สาย GPRS (General Packet Radio Service) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมันมีความเป็นไปได้ว่าระบบจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันที ระบบป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำมาใช้เป็นสื่อในการแจ้งเตือนได้ ส่วนข้อมูลที่เป็นรายละเอียดสามารถส่งเป็นข้อความสั้น (SMS Messages) ให้กับสมาชิกที่ลงทะเบียนไว้ได้ โดยเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเพื่อให้ได้ระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่ง่าย และทนทานพอที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจะสามารถติดตั้งและดูแลระบบได้ด้วยตนเอง

      นอกจากนี้ยังมีเซ็นเซอร์ชนิดอื่นอีก อย่างเช่น เซ็นเซอร์ที่ใช้ในการเฝ้าระวังระดับน้ำในเขื่อน หรือระดับมลภาวะในเมืองชั้นในได้ ในขณะที่ Craig Hutton ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเซ็นเซอร์แม่น้ำที่มหาวิทยาลัยเซาท์แทมตัน (Southampton University) กล่าวว่า บางเครือข่ายสามารถที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเครือข่ายพวกนี้มีศักยภาพในการประมวลข้อมูลเบื้องต้น และจะส่งเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเท่านั้น เพราะหากใครก็ตามกำลังจัดการเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมหรือมลพิษทางอากาศ และมีเวลาในการตัดสินใจเพียงสองชั่วโมง เขาต้องการเพียงข้อมูลสำคัญเท่านั้น ไม่ต้องการข้อมูลจำนวนมาก และในอนาคตเครือข่ายเซ็นเซอร์อัจฉริยะอาจจะเสนอแนวทางป้องกันที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติควบคู่ไปกับการแจ้งเตือน

ที่มา:
https://www.newscientisttech.com/article/dn10360-intelligent-sensors-watch-for-impending-floods.html สืบค้นข้อมูลเมื่อ 24/10/2006

 

บาร์โค้ดล่องหน

      จากที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องอ่านบาร์โค้ดสองมิติและสามมิติอย่างกว้างขวางมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น การบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านการอ่านข้อมูลจากบาร์โค้ดสองมิติและบาร์โค้ดทั่วไปก็มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บาร์โค้ดทั้งสองชนิดดังกล่าวมีเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น รวมทั้งยังถูกพิมพ์ในลักษณะของจุด (Dot) ซึ่งจะต้องใช้เครื่องอ่านเฉพาะในการอ่านอีกด้วย ดังนั้น นอกจากจะทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้กับผู้อ่านโดยตรงแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการออกแบบ layout ของสิ่งพิมพ์ต่างๆอีกด้วย ส่งผลให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถฝังข้อมูลได้เหมือนกับบาร์โค้ด แต่ไม่บดบังรูปภาพที่ปรากฏอยู่ในแผ่นโฆษณา

      บริษัท ฟูจิตซึ แลบอราทอรี่ จำกัด ได้นำบาร์โค้ดล่องหนชนิดใหม่ ที่บริษัทพัฒนาขึ้นออกมาแสดงให้แก่ผู้สนใจทั่วไปได้ชม ซึ่งนับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโลก บาร์โค้ดชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "FP Code" (Fine Picture Code) รหัสรูปภาพละเอียด หรือ FP code นี้ สามารถที่จะเก็บข้อมูลตัวเลข 12 หลัก โดยฝังตัวอยู่ในสีของรูปภาพนั้นๆ ในลักษณะของเส้นสีเหลืองจางๆ ซึ่งจะถูกใส่ลงไปในภาพระหว่างกระบวนการพิมพ์ และเมื่อบรรจุรหัสลงไปแล้ว ภาพดังกล่าวยังคงคุณภาพเหมือนเดิมขณะที่ทำหน้าที่เป็นไฮเปอร์ลิงค์ไปยังเว็ปไซต์ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปยังเว็ปไซต์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ รหัสดังกล่าวนี้ มนุษย์จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ps3
ภาพ : การอ่านข้อมูลจากบาร์โค้ดล่องหนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
ที่มา : https://pr.fujitsu.com/jp/news/2006/09/13-1.html


      การใช้รหัสล่องหน FP นี้ ผู้ใช้จะต้องทำการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์พิเศษลงไปยังโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องถ่ายรูปก่อน หลังจากนั้นใช้กล้องในโทรศัพท์ถ่ายรูปภาพที่มีรหัสฝังอยู่ข้างใน เมื่อกล้องบันทึกภาพไว้แล้ว รหัสดังกล่าวจะถูกส่งไปยังเครื่องแม่ข่าย (Server) เพื่อแปลงรหัสให้เป็นชื่อเรียกที่อยู่ของเว็บไซต์ (URLหรือ Uniform Research Locator) เพื่อเชื่อมโยงผู้ใช้โทรศัพท์มือถือไปยังเว็ปไซต์ที่กำหนด หลังจากนั้นข้อมูลตัวอักษร ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ก็จะถูกส่งมายังโทรศัพท์มือถือในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

การทำงานของระบบบาร์โค้ดล่องหน
ภาพ : การทำงานของระบบบาร์โค้ดล่องหน
ที่มา : https://pr.fujitsu.com/jp/news/2006/09/13-1.html

      บริษัท ฟูจิตซึ แลบอราทอรี่ จำกัด จะนำรหัส FP มาใช้จริงครั้งแรกกับแคตาล็อคและนิตยสารของประเทศญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2549 นี้ ซึ่งคาดว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น ผู้ใช้สามารถเข้าสู่ข้อมูลของร้านอาหารและร้านค้าได้ง่ายขึ้นผ่านทางนิตยสารที่อ่านอยู่ ช่วยให้สามารถฟังตัวอย่างเพลงได้จากกล่องของซีดี รวมทั้ง ช่วยให้ผู้ใช้สามารถต่อโทรศัพท์ไปยังบุคคลอื่นได้สะดวกขึ้นโดยจากนามบัตรที่มีโค้ดล่องหนนี้ฝังตัวอยู่ โดยไม่ต้องกดเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

ที่มา:
https://pr.fujitsu.com/jp/news/2006/09/13-1.html
https://www.japancorp.net/Article.Asp?Art_ID=7691
https://namhuy.org/2006/09/21/fujitsu-develops-%e2%80%9cinvisible%e2%80%9d-barcode/#more-17 สืบค้นข้อมูลเมื่อ 15/10/2006


SpotScout: บริการหาที่จอดรถออนไลน์

      บริษัท SpotScout ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ได้วางแผนที่จะสร้างตลาดแบบทันต่อเวลา สำหรับหาที่จอดรถและจัดส่งข้อมูลถึงลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเครือข่าย GPS

      บริษัทนี้ต้องการที่จะแก้ไขเกี่ยวกับการหาสถานที่ จอดรถในเมืองที่มีผู้คนมากมาย ซึ่งการหาสถานที่จอดรถต้องอาศัยอาศัยความอดทนและอาศัยโชคไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น Andrew Rollert และทีมงานผู้พัฒนาโปรแกรม ได้จัดทำการพัฒนาโปรแกรมผ่านทางเวปในการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งได้เริ่มต้นพัฒนามาเมื่อปี 2548ที่ผ่านมา และได้ทำการทดลองให้บริการในรุ่นเบต้า ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมาโดยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการทางเวปโดยผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น โมโตโรล่าQ, Research In Motion (RIM) Blackberry และ Palm Treo

      Rollert กล่าวว่าการได้รับข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต และสิ่งที่ผู้คนต้องการรู้เป็นอันดับต้นไม่ใช่คะแนนการแข่งขันกีฬา หรือรายงานหุ้น แต่พวกเขาต้องการที่จะรู้ว่ามีที่จอดรถใดว่างบ้าง

      ผู้คนที่ขับรถยนต์ รวมถึงเจ้าของสถานที่จอดรถหลายแห่งในเมืองบอสตัน แมนฮัตตัน และซานฟรานซิสโก แสดงความสนใจที่จะใช้บริการดังกล่าว Rollert กล่าวว่า มีผู้ใช้กว่า 800,000 คน ได้ลงทะเบียนใช้บริการนี้แล้ว ผู้ลงทะเบียนจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และราคาของจุดจอดรถที่พวกเขามีแผนที่จะย้ายรถออกในช่วงเวลาไหน ของวันไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ใช้รายอื่นที่ต้องการที่จอดรถ สามารถทำการค้นหาว่าจะมีที่จอดรถไหนว่างบ้าง

การทำงานของโปรแกรม SpotScout
ภาพ : การทำงานของโปรแกรม SpotScout
ที่มา : https://www.spotscout.com/

      ถ้าที่ว่างยังคงมีอยู่และได้ราคาตามที่ตกลงกันไว้ เงินก็จะถูกถอนออกจากบัญชีอิเล็กทรอนิกส์และรอจนกระทั่งคนที่ต้องการจะใช้ที่จอดรถมาถึงและยืนยันการใช้จุดจอดรถนั้น และขั้นตอนก็จะเสร็จสิ้นลง

      Rollert กล่าวว่า บริการหาที่จอดรถนี้จะฟรีสำหรับลูกค้า แต่ Spotscout จะได้รับเงินจำนวน 3 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับ ทุกๆ 20 เหรียญดอลล่าสหรัฐที่สถานที่จอดรถเก็บค่าใช้บริการกับลูกค้า

      ท้ายที่สุด Rollert คาดหวังว่าจะเอาเทคโนโลยีของ SpotScout มารวมเข้ากับระบบนำทางผ่านดาวเทียมและระบบ GPS ซึ่งจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้มากกว่าการหาที่จอดรถผ่านทางโทรศัพท์มือถือ นอกเหนือจากนี้ Rollert ยังมีความต้องการที่จะขายข้อมูลทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการหาที่ว่าง โดยที่บริษัท SpotScout ได้เน้นการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนที่ว่างระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย และข้อมูลจะถูกส่งผ่านเครือข่ายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ การหาข้อมูลที่จอดรถเป็นเพียงขึ้นตอนแรกที่จะทำให้ผู้ใช้เข้าใจถึงหลักการทำงานของเทคโนโลยีนี้

ที่มา:
https://www.techweb.com/wire/190301188 สืบค้นข้อมูลเมื่อ 04/09/2006


ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology