ถุงมืออิเล็กทรอนิกส์ "Raytheon" ช่วยจัดการข้อมูลขนาดใหญ่
ภาพ : ภาพจากภาพยนตร์ Minority Report ที่มา : (ภาพซ้าย) จาก https://lukew.com/ff/entry.asp?104 (ภาพขวา) จาก https://hollywood2020.blogs.com/hollywood2020/2006/03/gesture_search_.html
แรงบันดาลใจในการพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์มาจากภาพยนตร์ "Minority Report หน่วยสกัดอาชญากรรมล่าอนาคต" ซึ่งแสดงโดย Tom Cruise คาดว่า อีกไม่นานน่าจะได้รับการพัฒนาเข้ามาใช้ในวงการทหารเพื่อจัดการกับข้อมูลจริงๆ ในภาพยนตร์เราจะเห็น Cruise สวมถุงมืออิเล็กทรอนิกส์แล้วเรียกข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภาพเคลื่อนไหว เสียง ตัวอักษร ขึ้นมาแสดงกลางอากาศ Cruise ดำเนินการจัดการข้อมูลเหล่านั้นด้วยการเคลื่อนไหวมือที่สวมถุงมือ ค้นหาเบาะแสหรือเงื่อนงำ ประมวลผลและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์อาชญากรรมที่เกิดในอนาคต เพื่อจับตัวอาชญากรที่กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที ภาพยนตร์นี้สร้างขึ้นจากเรื่องสั้นของ Philip K.Dick ซึ่งเป็นระบบคาดการณ์ของการเกิดอาชญากรรมในอนาคต โดยระบบดังกล่าวจะใช้คอมพิวเตอร์และมนุษย์ที่มีความสามารถพิเศษในการรับรู้เหตุการณ์ในอนาคต/มองเห็นเหตุการณ์ในอนาคต แล้วข้อมูลที่ได้จากคำทำนายของมนุษย์ข้างต้นถูกนำมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์แล้วคาดการณ์/พยากรณ์ถึงการเกิดอาชญากรรมก่อนที่เหตุการณ์นั้นๆ จะเกิดขึ้น
Raytheon ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาและผลิตอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ที่มลรัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยพัฒนามีดอเนกประสงค์ไฮเทค "Swiss Army Knife" ออกมาวางจำหน่ายจนได้รับความนิยมมาแล้วและปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาถุงมือสำหรับเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ในรุ่นที่ใช้งานจริงโดยให้ John Underkoffler ซึ่งเป็นนักวิจัยอยู่ที่ Massachusetts Institute of Technology : MIT และเป็นเจ้าของความคิด รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับถุงมือ/อุปกรณ์เชื่อมต่อดังกล่าวที่ใช้ในภาพยนตร์ Minority Report เป็นผู้พัฒนาถุงมือให้กับบริษัทฯ เมื่อก่อน Underkoffler ได้พัฒนาวิธีการในการแสดงและการควบคุมข้อมูลโดยแสดงข้อมูลลงบนโต๊ะหรือผนังธรรมดาหรือเป็นที่รู้จักในนาม The Luminus Room แนวคิดนี้เพื่อต้องการให้กราฟฟิกออกมาจากมอนิเตอร์เพื่อให้ไปสู่โลกที่แท้จริง Underkoffler กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบใหม่นี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหารสามารถจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แป้นพิมพ์และเมาส์จะไม่สามารถจำกัดการใช้งานของมนุษย์เราได้อีกต่อไป
ภาพ : ภาพของถุงมืออิเล็กทรอนิกส์ "Raytheon"
ที่มา : https://www.newscientist.com/article.ns?id=dn7271&feedId=online-news_rss20
Raytheon ใช้ถุงมือที่ภายในฝังตัวเซ็นเซอร์ไว้ตามจุดสำคัญต่างๆ เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ในการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่และใช้กล้องบันทึกภาพและเก็บข้อมูลภาพลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของมือในรูปแบบต่างๆ ไว้ ดังนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวมือและนิ้วมือ ตัวเซ็นเซอร์ในถุงมือจะส่งข้อมูลลักษณะของมือ/รูปแบบของมือและนิ้วมือไปยังคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์จะดำเนินการวิเคราะห์และสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงานโดยในแต่ละท่าทางการเคลื่อนไหวของมือ คอมพิวเตอร์จะได้รับคำสั่งให้ทำงานที่แตกต่างกันไปตามท่าทางที่แสดงออกมา เช่น การค้นหาแฟ้มข้อมูล เรียกไฟล์ข้อมูลหลายๆ ไฟล์ขึ้นแสดงพร้อมๆ กัน เปิดแฟ้มข้อมูล ดึงข้อมูลภายในแฟ้มออกมาใช้ หมุนไฟล์ภาพให้แสดงในมุมต่างๆ สร้างไฟล์ข้อมูลเพิ่มเติมหรือแม้แต่ลบไฟล์ข้อมูลก็ทำได้สะดวกง่ายดาย และยังสามารถแสดงข้อมูลที่สืบค้นบนจอภาพขนาดใหญ่ได้
Raytheon วางแผนเสนอเทคโนโลยีนี้เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อแยกแยะข้อมูลภาพทางดาวเทียมและข้อมูลลับ (ข้อมูลอัจฉริยะ) ขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่ Stephen Brewster จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว (University of Glasgow) ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้อาจจะมีการประยุกต์ใช้งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางทหารก็ได้ ซึ่งการแสดงท่าทางด้วยมือ (Hand gestures) จะไม่เหมือนกับการใช้เมาส์ (mouse) หรือ ตัวชี้ตำแหน่ง (Pointer) เพราะการแสดงท่าทางด้วยมือจะทำงานได้อย่างดีเมื่อข้อมูลถูกแสดงบนขนาดแสดงผลที่ใหญ่เท่าหน้าต่าง แต่ Brewster ให้รายละเอียดว่าในการพัฒนายูสเซอร์ อินเตอร์เฟสแบบใหม่นี้ จะต้องพัฒนาวิธีแสดงข้อมูลด้วยภาพ (information visualization) วิธีใหม่ๆควบคู่กันไปด้วย
ที่มา: https://www.newscientist.com/article.ns?id=dn7271&feedId=online-news_rss20 https://technovelgy.com/ct/Science-Fiction-News.asp?NewsNum=373 https://technovelgy.com/ct/Science-Fiction-News.asp?NewsNum=236 https://technovelgy.com/ct/Science-Fiction-News.asp?NewsNum=424สืบค้นข้อมูลเมื่อ 25/7/2006
กำเนิดสายพันธุ์ใหม่ของหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบประหยัดพลังงานแบตเตอรี่
บริษัท Qualcomm และบริษัทอื่นๆ ร่วมกันประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีหน้าจอแบบใหม่สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในชื่อ iMod เทคโนโลยีหน้าจอแบบใหม่ที่กล่าวถึงนี้อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์หรือของเหลวทำให้เกิดภาพ โทรศัพท์เคลื่อนที่หน้าจอแบบใหม่ข้างต้นจะสามารถแสดงภาพบนหน้าจอได้ตลอดเวลาโดยไม่ทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่เสื่อมลง ซึ่งจะแตกต่างจากหน้าจอของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันที่หน้าจอจะดับลงระหว่างที่ไม่มีการใช้งานเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานแบตเตอรี่
ความแตกต่างของเทคโนโลยีหน้าจอแบบใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็น backlight เหมือนหน้าจอในปัจจุบัน ส่วนสำคัญของหน้าจอแบบใหม่เกิดจากแสงจากดวงอาทิตย์หรือการเคลื่อนไหวของของเหลวที่อยู่ภายในหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่
บริษัท Qualcomm ผู้ผลักดัน หน้าจอ iMod ลงสู่อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่าวว่าการแสดงผลเป็นส่วนสิ้นเปลืองพลังงานที่สุดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนั้นเทคโนโลยีหน้าจอ iMod ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหน้าจอแสดงผลแบบใช้แสงแดด สามารถช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานของโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ หน้าจอ iMod ทำจากกระจกซับซ้อน ภาพที่อยู่บนหน้าจอโทรศัพท์จะปรากฎขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์หรือแสงเทียม (แสงนีออน) ตกกระทบกับหน้าจอนั้น นอกเหนือจากนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังอยู่ในหน้าจอ iMod จะช่วยทำให้แสงที่ตกกระทบมีความเสมอกัน ในสภาวะที่แสงน้อยการผสมผสานของแสงจะทำให้เกิดแสงสว่างบนหน้าจอ หน้าจอแบบนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าหน้าจอโทรศัพท์แบบ LCDs (Liquid Crystal Displays) ในการประยุกต์ใช้งานต่างๆ หน้าจอ iMod รุ่นแรกจะแสดงข้อมูลด้วยสีดำ สีขาวและสีเทา ขณะนี้บริษัท Qualcomm ได้ดำเนินการพัฒนาหน้าจอที่มีการแสดงผลเป็นจอสีซึ่งสามารถแสดงเป็นวิดีโอได้ นอกจากนี้หน้าจอ iMod ยังสามารถแสดงภาพได้ตลอดเวลาและแสดงภาพได้เต็มกรอบ ซึ่งเทคโนโลยีนี้บริษัทได้ซื้อจาก Iridigm ในปี 2547
ภาพ : เทคโนโลยีหน้าจอ iMod ของ Qualcomm
ที่มา : https://www.qualcomm.com
จากการประชุมของ The Society for Information Display ทาง CEO ของบริษัท Liquavista กล่าวว่า แสงประเภท Backlight เป็นตัวทำลายแบตเตอรี่ ซึ่ง Backlight ใช้พลังงานถึง ร้อยละ90 ของพลังงานที่ใช้ในการแสดงผลทั้งหมด และการแสดงผลใช้พลังงาน ร้อยละ30 หรือมากกว่า ของพลังงานทั้งหมดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบริษัทLiquavistaใช้หลักการที่น้ำกับน้ำมันจะแยกตัวออกจากกันเสมอ มาทำการพัฒนาเป็นเทคนิคที่ใช้ในหน้าจอแสดงผล สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกเรียกว่า Electrowetting ที่จะใช้กระแสไฟฟ้าควบคุมสถานะการแสดงสีของหน้าจอ เทคโนโลยีหน้าจอของ บริษัท Liquavista รุ่นแรกจะนำมาใช้กับนาฬิกาซึ่งสามารถเปลี่ยนสีให้เข้ากับเสื้อผ้า เทคโนโลยีหน้าจอแบบนี้ต่อมาจะนำมาใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งสามารถให้แสงสีที่ครบสมบูรณ์
ภาพ : เทคโนโลยีหน้าจอของ Liquavista
ที่มา : https://www.liquavista.com
ทั้งบริษัท Qualcomm และ บริษัท Liquavista มีความเพียบพร้อมของเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แต่อุปสรรคในขณะนี้คือการโน้มน้าวผู้ผลิต Hardware ให้เล็งเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีหน้าจอแบบใหม่ในการผลิตทำได้ถูกและมีประสิทธิภาพเมื่อมีการผลิตจำนวนมาก
ที่มา : https://news.zdnet.com/2100-9584_22-6081785.html สืบค้นข้อมูลเมื่อ 14/6/2006
อุปกรณ์ป้องกันเครื่องอ่าน RFID
นักวิจัยในอัมสเตอดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า พวกเขาได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ป้องกันการอ่านป้ายระบุด้วยคลื่นวิทยุ (RFID) โดยAndrew Tanenbaum อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Vrije ผู้ดูแลงานวิจัยนี้กล่าวว่า เป้าหมายของงานวิจัย คือ ป้องกันผู้คนจากเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่มีผลอย่างมากต่อการคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างเช่น RFID
ชิป RFID ที่เล็กเท่าเม็ดทราย ถูกนำไปฝังไว้ในคน เงิน พาสปอร์ต และเครื่องแต่งกาย ตั้งแต่เสื้อผ้า จนถึงรองเท้า เพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบปริมาณการจราจร ติดตามสินค้าในคลัง ใช้ตามตัวสัตว์เลี้ยงที่หายไป และช่วยบริษัทยาในการป้องกันยาปลอม เป็นต้น ซึ่งการฝังชิป RFID เล็กๆ เหล่านี้ ทำให้คนส่วนใหญ่กังวลว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกละเมิดไปใช้ในทางที่ผิดๆหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันเครื่องอ่าน RFID ขึ้นมา
อาจารย์ Tanenbaumกล่าวว่า อุปกรณ์ป้องกันนี้มีชื่อว่า RFID Guardian ซึ่งมีขนาดเท่ากับ PDA ที่สามารถส่งเสียงสัญญาณสั้นๆ เตือนผู้ใช้ เมื่อมีเครื่องอ่าน RFID อยู่ในระยะใกล้ๆ และกำลังพยายามอ่านข้อมูลจากชิปที่ฝังตัวในเสื้อผ้าของผู้คนที่สวมใส่อยู่ เขาได้กล่าวต่อไปว่า ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้คนโดยการใช้ RFID ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารของยุโรป มีแผนที่จะนำ RFID ไปฝังไว้ในธนบัตร ซึ่งนั่นก็หมายถึง ขโมยจะสามารถเดินตามถนนพร้อมเครื่องอ่านที่สามารถบอกได้ว่าคุณมีเงินเท่าไหร่ในกระเป๋า และใครจะเป็นเหยื่อที่เหมาะสมที่สุด
อุปกรณ์ RFID Guardian ทำงานบนคลื่นความถี่ 550 เมกกะเฮิร์ต ประมวลผลด้วยระบบ XScale 30 บิต และหน่วยความจำ 64 เมกกะไบต์ ซึ่งมีลักษณะการทำงานคล้ายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบ XScale พบได้ทั่วไปในเครื่อง PDA และ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โปรโตคอลต่างๆจะถูกเขียนด้วยภาษาซี เพื่อให้ทำงานบนระบบปฏิบัติการeCos (embedded Configurable operating system) ซึ่งเป็นระบบปฎิบัติการแบบโอเพนซอร์ส
Tanenbaum และทีมนักเรียนของเขา กำลังหาวิธีที่จะปรับปรุงซอฟต์แวร์ชนิดนี้ โดยการสร้างโปรโตคอลที่หลากหลายให้สามารถทำงานได้บนอุปกรณ์ชนิดนี้ และพวกเขาก็ยังมีแผนการที่จะพัฒนาระบบป้องกันความปลอดภัยของช่องทางการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์และเครื่องอ่านสัญญาณ RFID อาจารย์ Tanenbuam คาดว่าจะแก้ไขข้อบกพร่อง (debugging) ได้เสร็จและอุปกรณ์จะถูกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
บริษัทอื่นๆ ก็มีการพัฒนาและออกแบบสินค้าที่จะปกป้องผู้บริโภคจาก RFID เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท RSA Security ได้จัดทำ RFID Blocker ขึ้นซึ่งเป็นการทำงานคล้ายกับ RFID Guardian โดย RFID Blocker ของ RSA Securityเป็นระบบที่ทำให้ตัวอ่าน RFID สับสน และหยุดการอ่านค่าสัญญาณจากผู้คนหรือป้ายระบุอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล
ที่มา: https://www.techweb.com/wire/190900343 สืบค้นข้อมูลเมื่อ 20/7/2006
สงวนลิขสิทธิ์
โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์
พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355