จอสัมผัสที่ทำงานพร้อมกันได้หลายจุด
หน่วยวิจัยของภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค เปิดเผยถึงต้นแบบ "จอสัมผัสแบบทำงานพร้อมกันได้หลายจุด" ซึ่งเป็นจอแบบสัมผัสที่มีมีลักษณะพิเศษกว่าจอสัมผัสทั่วๆ ไป คือ ผู้ใช้สามารถใช้งานได้บนจอแสดงผลด้วยการสัมผัสบนจอภาพได้มากกว่าหนึ่งจุดหรือใช้เพียงนิ้วหนึ่งนิ้ว แต่สามารถใช้ทั้งมือและยังสามารถใช้งานหน้าจอพร้อมกันหลายคนได้
ภาพ Multi-Touch Interaction Experiments
ที่มา: https://mrl.nyu.edu/~jhan/ftirtouch/
จอสัมผัสหลายจุดนี้พัฒนาโดย Jefferson Han, Philip Davidson, Casey Muller และ Iiya Rosenberg มีโครงสร้างการแสดงผลแบบตาราง มีขนาด 36*27 นิ้ว และได้รับการออกแบบให้สามารถแสดงผลด้วยตัวรับความรู้สึก มีความไว 50 เฮิรตซ์ จอแบบสัมผัสทั่วไปจะเป็นการสัมผัสหรือแตะที่ตัวรับความรู้สึกเพียงตัวเดียวหรือเพียงจุดๆ เดียวเท่านั้นเนื่องจากมีการฝังตัวรับความรู้สึกไว้เพียงจุดเดียว แต่จอสัมผัสแบบใหม่นี้ได้รับการฝังตัวรับความรู้สึกไว้หลายตัวกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของจอภาพ ทำให้ผู้ใช้สามารถสัมผัสได้มากกว่าหนึ่งจุด สามารถใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสไปบนจอภาพให้แสดงผลได้พร้อมกันในส่วนต่างๆ ของจอภาพได้และยังสามารถใช้งานจอสัมผัสได้พร้อมกันหลายคน ณ ช่วงเวลาหนึ่งด้วย
ภาพ Multi-Touch Interaction Experiments
ที่มา: https://mrl.nyu.edu/~jhan/ftirtouch/
จอสัมผัสแบบหลายจุดนี้จึงเหมาะกับการใช้งานที่มีพื้นที่การแสดงผลขนาดใหญ่ (เช่นบนกำแพงหรือจอภาพขนาดใหญ่ๆ เป็นต้น) ที่ต้องการให้สามารถแสดงผลได้หลายจุดพร้อมๆ กัน ได้แก่ การแสดงภาพจักรวาล ดวงดาวต่างๆ ในท้องฟ้า อวกาศนอกโลก โลก แผนที่ แผนภูมิ ภูมิประเทศ เป็นต้น โดยที่จอสัมผัสแบบหลายจุดนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนได้ง่ายขึ้นโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายจำเจกับเทคนิคจอสัมผัสแบบเดิมๆ ที่แสดงผลได้เพียงจุดเดียวอีกต่อไป และในอนาคตคาดว่าจะสามารถพัฒนาจอสัมผัสหลายจุดให้ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การใช้งานได้หลากหลายรูปแบบและมีพื้นที่ที่รองรับการทำงานได้หลากหลายขนาดมากขึ้น
ที่มา:
https://technology.com/ct/Science-Fiction-News.asp?NewsNum=550 สืบค้นข้อมูลเมื่อ 23/2/2006
https://mrl.nyu.edu/~jhan/ftirtouch/ สืบค้นข้อมูลเมื่อ 23/2/2006
เซนเซอร์ช่วยในการตรวจสอบนิวเคลียร์
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Standards and Technology: NIST) ของสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาและนำเสนอเครื่องมือตรวจสอบรังสีแกมม่าที่มีความเที่ยงตรงสูง โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบสินค้าหรือสิ่งของที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และตรวจสอบการปนเปื้อนรังสีในสิ่งแวดล้อม
อุปกรณ์ต้นแบบขนาดเล็กนี้ สามารถค้นหาตำแหน่งบริเวณที่มีการปล่อยรังสีแกมม่าตามชนิดของอะตอมที่ระบุไว้ โดยมีความเที่ยงตรงมากกว่าเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจสอบวัตถุนิวเคลียร์ทีใช้ในปัจจุบันมากถึง 10 เท่า นอกจากนี้ NIST ยังได้มีการทดสอบกับธาตุพลูโตเนียม (plutonium) ชนิดอื่นๆ พบว่า อุปกรณ์ต้นแบบดังกล่าวสามารถจำแนกประเภทของรังสีได้เป็นอย่างดี (รังสีเอกซ์เรย์ และรังสีแกมม่า)
ภาพซิลิคอนชิป ออกแบบโดยนักวิจัยจาก NIST ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับรังสีขนาดเล็ก ขนาด 1 ตารางมิลลิเมตร 16 ตัว
ที่มา : https://www.sciencedaily.com/releases/2006/03/060319185304.htm
การแพร่กระจายรังสีของกัมมันตภาพรังสีทั้งจากธาตุยูเรเนียมและพลูโตเนียมจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าการวัดเป็นไปอย่างเที่ยงตรงก็จะสามารถระบุถึงอายุ สารประกอบต่างๆ ได้ถูกต้อง และระบุแหล่งกำเนิดได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ภายใน 1 ตารางมิลลิเมตรของอุปกรณ์ต้นแบบนี้จะสามารถรับการแผ่รังสีได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่นักวิจัยของสถาบันฯ ได้ทำการออกแบบเซนเซอร์ให้อยู่ในรูปของ "อะเรย" (array) เพื่อให้สามารถยึดติดไว้กับรถเข็นหรือยานพาหนะได้ (อะเรย์เป็นการนำเอาอุปกรณ์ตรวจจับรังสีหลายๆ ชิ้นมาเรียงกันเป็นแถวเพื่อให้สามารถรับรังสีได้จำนวนมากขึ้น)
อุปกรณ์ชนิดนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับเป็นอุปกรณ์หลักในการตรวจค้น แต่มันเหมาะกับการใช้เป็นเครื่องมือประกอบการวิเคราะห์รายละเอียดของสิ่งของที่ค้นพบโดยเครื่องมืออื่นๆ ซึ่งมีความสามารถในการตรวจสอบในบริเวณกว้างแต่มีความเที่ยงตรงน้อยกว่า ตัวอย่างเช่นสามารถใช้กับการตรวจสอบชนิดของพลูโตเนียมเพื่อตรวจสอบว่าเชื้อเพลิงนั้นถูกออกแบบมาสำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หรือสำหรับผลิตอาวุธหรือตรวจสอบดูว่าวัตถุที่เหมือนจะเป็นยูเรเนียมตามธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วเป็นยูเรเนียมที่สามารถระเบิดได้
เซนเซอร์แบบอะเรย์นี้ จะช่วยให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น สามารถตรวจสอบปริมาณพลังงานที่พลูโตเนียมปล่อยออกมาได้โดยที่ไม่ต้องจับหรือสัมผัส หรือสามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งส่วนประกอบของพลูโตเนียมนั้นสามารถบ่งบอกได้ว่าเชื้อเพลิงนั้นถูกผลิตมาสำหรับผลิตอาวุธหรือผลิตพลังงานไฟฟ้า
จากการพัฒนาต้นแบบดังกล่าวข้างต้น นักวิจัยคาดหวังที่จะผลิตอะเรย์เซนเซอร์ 100 ตัว ในพื้นที่ขนาด 1 ตารางเซนติเมตร โดยทีมนักวิจัยจาก NIST จะทำการพัฒนาระบบการอ่านผลที่ซับซ้อนจากอะเรย์เซนเซอร์ที่มีขนาดใหญ่
ที่มา :
https://www.sciencedaily.com/releases/2006/03/060319185304.htm สืบค้นข้อมูลเมื่อ 27/3/2006
ในปี ค.ศ. 2005 นับเป็นปีแรกที่จำนวนประชากรของญี่ปุ่นเริ่มลดลง และมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 128 ล้านคน จะลดลงเหลือเพียง 100 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 ในอนาคตอันใกล้ประชากรญี่ปุ่นไม่เพียงจะลดลงเท่านั้น จำนวนประชากรสูงอายุก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็นปัญหาทางสังคมที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น
ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ประธานบริษัททาการา (Takara) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตของเล่นเด็กรายใหญ่ในญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของเล่นเด็กในญี่ปุ่นอีกด้วย ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทจากการทำเพียงของเล่นเด็กเป็นการพัฒนาและผลิตของเล่นสำหรับผู้สูงอายุขึ้นจำหน่ายในญี่ปุ่น และยังเห็นว่าจำเป็นต้องยืดช่วงอายุของของเล่นเด็กที่ผลิตขึ้นเพื่อให้คลอบคลุมกลุ่มคนในช่วงอายุ 20 ปี และช่วงอายุ 30 ปีอีกด้วย
ไม่เพียงบริษัททาการาเท่านั้นที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด บริษัทโทมี่ (Tomy) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตของเล่นเด็กยักษ์ใหญ่อีกรายของญี่ปุ่นก็มีการปรับตัว โดยการผลิต "ตุ๊กตาหุ่นยนต์" (robotic doll) ออกจำหน่าย ตุ๊กตาที่น่ารักนี้ไม่ได้ผลิตมาสำหรับเด็ก แต่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตุ๊กตานี้คือกลุ่มผู้หญิงสูงอายุโดยเฉพาะที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ตุ๊กตาดังกล่าวสามารถบอกรักคุณป้าหรือคุณย่า คุณยายเมื่อพวกเธอกลับมาที่บ้านด้วยเสียงที่อัดเอาไว้ นอกจากนี้ตุ๊กตารุ่นนี้ยังถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักใกล้เคียงกับทารก จึงทำให้ผู้สูงอายุขี้เหงาทั้งหลายรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้อุ้มเพราะจะมีความรู้สึกเหมือนอุ้มทารกจริงๆ และอาจทำให้คิดว่าตุ๊กตานี้เป็นเหมือนหลานจริงๆ ของพวกเธอ
(ซ้าย) ภาพตุ๊กตาหุ่นยนต์ของบริํษัทโทมี่ (ขวา) ภาพผู้สูงอายุอุ้มตุ๊กตาหุ่นยนต์
บริษัทญี่ปุ่นอีกแห่งที่ออกผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าสูงอายุในญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัทนินเทนโด (Nintendo) โดยบริษัทฯ ได้ออกเกมสำหรับคอมพิวเตอร์พกพาเรียกว่า "เกมฝึกประสาทสมอง" (Brain Training Game) เกมฝึกสมองนี้จะมีลักษณะเป็นคำถามทางคณิตศาสตร์และการสะกดคำในภาษาญี่ปุ่น ผู้พัฒนาสร้างเกมนี้ขึ้นเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะในวัยมากกว่า 60 ปีที่ต้องการรักษาสภาพการคิดไม่ให้เสื่อมถอยไปตามวัย
สำหรับในเมืองไทย หากอุตสาหกรรมของเล่นเด็กในประเทศได้ลองนำไอเดียเหล่านี้มาประยุกต์กับการผลิตของเล่นเด็กในบ้านเราก็อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเล่นเด็กหรือสร้างตลาดของเล่นแนวใหม่สำหรับผู้สูงอายุได้.
ที่มา:
https://news.bbc.co.uk/go/pr/fr/-/2/hi/business/4919606.stm สืบค้นข้อมูลเมื่อ 4/5/2006
สงวนลิขสิทธิ์
โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์
พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355