Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest

IT Digest ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 (16 กุมภาพันธ์ 2549)

เครื่องปรับอากาศป้องกันไข้หวัดนก

          เมื่อปีที่ผ่านไข้หวัดนก (Avian Influenza) ไม่เพียง แต่เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็น โรคที่ระบาดไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และคร่าชีวิตผู้คนและสัตว์เลี้ยงไปเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ในอีกด้านหนึ่งโรคไข้หวัดนกก็สร้างโอกาสทางการค้าให้กับพ่อค้าหัวใสที่เห็นโอกาสทางการตลาดอีกหลายราย รวมไปถึงผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างบริษัท แอล จี อิเล็กทรอนิกส์ (LG Electronics) ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ที่สามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดนกด้วยการพัฒนาแผ่นกรองพิเศษซึ่งเคลือบด้วยสารป้องกันแบคทีเรียที่สกัดได้ จากกิมจิ (ใบผักกาดที่ผ่านกระบวนการหมักของเกาหลี) โดยสารที่เคลือบแผ่นกรองนี้จะฆ่าไวรัสที่ผ่านเครื่องปรับอากาศ เครื่องรุ่นนี้มีชื่อเรียกเล่นๆ ในกลุ่มนักพัฒนาว่า "Anti A.I. Aircon”

          เครื่องปรับอากาศป้องกันเชื้อไข้หวัดนกได้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขอสิทธิบัตร บริษัท แอล จี อิเล็กทรอนิกส์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าเครื่องปรับอากาศป้องกันไข้หวัดนกนี้ได้รับการับรองจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรของจีน (China Agricultural Science Academy) และจากสถาบันวิจัย Estro Screen Virology ในประเทศอังกฤษ (สำหรับผลการทดสอบจาก ทั้ง 2 หน่วยงานว่าแผ่นกรองดังกล่าวสามารถฆ่าเชื้อได้สมบูรณ์เพียงใดนั้นทางบริษัทไม่ได้เปิดเผย) สำหรับเครื่องปรับอากาศรุ่นป้องกันเชื้อไข้หวัดนกนี้ ทางบริษัท แอล จี มุ่งเจาะตลาดประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนกอย่างสูง โดยคาดว่าจะ ออกจำหน่ายภายในปี พ.ศ. 2549 นี้

          นอกจากนี้ บริษัท แอล จี ยังได้กล่าวว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้านมาถึง 6 ปีต่อเนื่องกัน ซี่งสถิติของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจฟูจิ (Fuji Economics Research Institute) ของประเทศญี่ปุ่นได้รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2548 จำนวนการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศทั่วโลกคาดว่ามีประมาณ 60.4 ล้านเครื่อง และมีบริษัท แอล จี เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดกล่าวคือ มียอด จำหน่ายถึง 10.5 ล้านเครื่อง ตามมาด้วยบริษัท ไฮเออร์ (Haier) ของจีนซึ่งมียอดจำหน่ายราว 8 ล้านเครื่อง

          บริษัท แอล จี ยังมีแผนขยายการผลิตเครื่องปรับอากาศ จากการตั้งโรงงานแห่งใหม่ขึ้นในประเทศโปแลนด์ในปลาย ปีนี้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่ผลิตได้ 14.4 ล้านเครื่องต่อปีเป็น 16 ล้านเครื่องต่อปีภายในปี พ.ศ. 2550 สำหรับการผลิตที่ผ่านมาพบว่า มากกว่าครึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท แอล จี เกิดขึ้นนอกประเทศเกาหลี ซึ่งลักษณะการกระจายการผลิตไปในประเทศต่างๆ นี้นับเป็นกลยุทธ์สำคัญของบริษัท แอล จี โดยทางบริษัทเล็งเห็นว่าเป็นข้อได้เปรียบเหนือสินค้าจากประเทศจีน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศจากจีนถึงแม้จะบุกตลาดด้วยกลยุทธ์การตั้งราคาที่ถูกกว่าเครื่องปรับอากาศจากประเทศอื่นๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งราคาขายที่ถูกก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การผลิตสินค้าของจีนทำได้เฉพาะแต่ในประเทศเท่านั้น เนื่องจากต้องรักษาระดับต้นทุน ด้วยข้อจำกัดนี้ ทำให้เครื่องปรับอากาศจากจีนไม่สามารถปรับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ได้ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละท้องถิ่น ขณะที่บริษัทเกาหลีที่ตั้งอยู่ในแต่ละภูมิภาคสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

LG
ภาพนักแสดงนำหญิงของเกาหลี (ลี ยอง-เอ) กับเครื่องปรับอากาศ LG รุ่นใหม่
ที่มา:https://times.hankooki.com/lpage/biz/200601/ kt2006011218045911910.htm

ที่มา:
https://times.hankooki.com/lpage/biz/200601/kt2006011218045911910.htm

หุ่นยนต์สร้างหรือซ่อมแซมตัวเองได้ 

          ตามปกติสิ่งไม่มีชีวิตจะไม่สามารถสร้างหรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เหมือนอย่างสิ่งมีชีวิต เช่น “มนุษย์และสัตว์” แต่ปัจจุบันทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) สหรัฐอเมริกาสามารถประดิษฐ์เครื่องจักร “หุ่นยนต์” ที่สามารถทำสำเนาตัวเองจากชิ้นส่วนของอะไหล่ต่างๆ ที่สำรองไว้ได้สำเร็จ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฮอด ลิปสัน (Assistant Professor Hod Lipson) จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านเครื่องจักรกล วิศวกรรมอากาศยาน วิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ เปิดเผยว่า เนื่องจากหุ่นยนต์ มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไปคือ ไม่สามารถหาอาหารหรือหาชิ้นส่วนอุปกรณ์หรืออะไหล่ต่างๆ มาสร้างหรือ ซ่อมแซมตัวเองได้ ดังนั้นแนวคิดในการพัฒนาหุ่นยนต์นี้ จึงมาจากหลักการพื้นฐานง่ายๆ ทั่วไปในการประดิษฐ์ให้ หุ่นยนต์สามารถสร้าง/ขยาย/เพิ่มจำนวนด้วยการใช้ชิ้นส่วนของอุปกรณ์หรืออะไหล่ต่างๆ ที่สำรองไว้ โดยหุ่นยนต์ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิปสันพัฒนาขึ้นนี้จะมีความยืดหยุ่นสูง สามารถที่จะงอพับกลับไปมาเพื่อยกชิ้นส่วนอะไหล่มาใช้งานในขณะสร้างหรือซ่อมแซมตัวเองได้ หากต้องการขยายหรือเพิ่มขนาดตัวเอง หรือแม้แต่เมื่อเกิดปัญหา เกิดการชำรุดเสียหายในขณะทำงานไม่ว่าจะอยู่ในอวกาศหรือในสภาพ แวดล้อมที่เสี่ยงภัยที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปทำงานด้วย ตนเองได้

Robot
ภาพลักษณะของหุ่นยนต์และโครงสร้างภายใน ซึ่งฝังไมโครโพรเซสเซอร์ไว้
ที่มา: news.bbc.uk/2/science/nature/4538547.stm

          หุ่นยนต์นี้เป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์หรือมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับลูกเต๋าจำนวน 4 ก้อนตั้งเรียงซ้อนกันขึ้นไปและออกแบบมาเป็น 3 มิติ ยืดหยุ่นและดัดได้ ลูกเต๋าแต่ละก้อนสูง 10 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วนในลักษณะทะแยงมุมเพื่อให้หมุนเปลี่ยนมุมและรูปร่างรับกับก้อนอื่นๆ ได้ 

          โดยภายในลูกเต๋าแต่ละลูกจะบรรจุไมโครโพรเซสเซอร์ซึ่งเป็นหน่วยความจำของหุ่นยนต์สำหรับใช้ในการวางแผนสร้างหรือซ่อมแซมและเก็บคำสั่งในการสั่งงานให้หุ่นยนต์ทำงานในระหว่างทำสำเนาตัวเอง และเมื่อมีการปรับปรุงข้อมูลคำสั่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่หุ่นยนต์จะสร้างหรือซ่อมแซมหรือทำสำเนาตัวเองขึ้นใหม่ได้ด้วยตัวเองไม่ ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่หรือรูปร่างอย่างไร ดังนั้นหุ่นยนต์ เพียงหนึ่งตัวจะสามารถสร้างตัวอื่นๆ ได้อีกเป็นร้อยๆ พันๆ ตัว ตามแต่ทางเลือกหรือคำสั่งในการทำงาน/สร้างหรือสำเนาตัวเองที่เก็บไว้ แต่หุ่นยนต์นี้ยังมีข้อจำกัดคือ จะสามารถสร้างหรือสำเนาตัวใหม่ขึ้นมาได้มากน้อยเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้นส่วนอะไหล่หรือลูกเต๋าอันใหม่ที่สำรองหรือเตรียมไว้ให้เป็นสำคัญ ฉะนั้นในกระบวนการสร้างหรือสำเนาตัวเองจะต้องมีมนุษย์เตรียมชิ้นส่วนอะไหล่หรือลูกเต๋าสำรองไว้ล่วงหน้า ถ้าลูกเต๋าที่เตรียมไว้หรือสำรองไว้มีไม่เพียงพอหุ่นยนต์นี้ก็จะหยุดการทำงานหรือ หยุดการสร้างหรือสำเนาตัวเองลง

          การสร้าง/ซ่อมแซมหรือสำเนาตัวเองขึ้นมาใหม่จะเริ่มต้นจากการที่หุ่นยนต์ที่เป็น “ตัวแม่” หรือต้นกำเนิดจะงอตัวลงและแปะด้านบนสุดของตัวเองเข้ากับพื้นโต๊ะ ซึ่งจะกลายเป็นฐานของหุ่นยนต์เกิดใหม่ “ตัวลูก” จากนั้น “ตัวแม่” จะยกชิ้นส่วนอะไหล่หรือลูกเต๋าอันใหม่ขึ้นมาโดยใช้พลังงาน จากแม่เหล็กไฟฟ้าจากด้านสัมผัสที่อยู่บนพื้นผิว แล้วตั้งลงบน “ตัวลูก” ซึ่งมีฐานรอไว้แล้วและระหว่างที่ “ตัวแม่” ส่งชิ้นส่วนอะไหล่หรือก้อนลูกเต๋าอันใหม่ให้ “ตัวลูก” นั้น “ตัวลูก” จะงอลงเพื่อช่วยรับลูกเต๋าจาก “ตัวแม่” มาใส่ให้กับตัวเองด้วย และในเวลาไม่กี่นาทีจากแถวลูกเต๋าสูง 4 ลูก 1 แถว ก็จะกลายเป็น 2 แถว ตั้งอยู่เคียงกัน และจะสามารถสร้าง หุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนกว่านี้ขึ้นไปได้อีกด้วยวิธีง่ายๆ เพียงเพิ่มจำนวนลูกเต๋าเข้าไปอีกเท่านั้น

Robot
ภาพขั้นตอนการสร้าง/ซ่อมแซม/ทำสำเนาตัวเอง
ที่มา: www.physorg.com/news4055.html

          งานวิจัยนี้ทางทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ได้ดำเนินการทดสอบจนเห็นแน่ใจแล้วว่าเครื่องจักรกลหรือหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นนี้จะสามารถสร้างหรือซ่อมแซมหรือทำสำเนาตัวเองได้อย่างอัตโนมัติภายในเวลาไม่กี่นาที และ คาดว่าน่าจะมีประโยชน์หากมีการนำไปใช้งานภายใต้สภาพแวดล้อมที่อันตรายหรือเสี่ยงภัยอย่างเช่น อวกาศนอกโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหุ่นยนต์นี้ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบก่อนจะนำไปใช้งานจริงในอนาคต

ที่มา:
https://www.physorg.com/news4055.html
https://news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/4538547.stm
https://technovelgy.com/ct/Science-Fiction-News.asp?NewsNum=386

แบตเตอรี่นาโน 

          แบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานเคมีที่เก็บไว้มาเป็นพลังงานไฟฟ้า และในยุคที่ความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีได้รับการยอมรับมากขึ้น แบตเตอรี่แบบธรรมดาดูเหมือนจะลดความสำคัญลง และนักวิทยาศาสตร์มีความหวังว่าจะสามารถพัฒนาแบตเตอรี่แบบใหม่ขึ้นได้ โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ อาทิ นาโนเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

          แบตเตอรี่ธรรมดาทั่วไปจะประกอบด้วยสารเคมีจำนวนเล็กน้อยสองชนิดทำปฏิกิริยากันก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้า และถึงเป็นความจริงที่ว่า แม้จะไม่ได้มีอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าต่อพ่วงไว้กับแบตเตอรี่ก็ตาม แบตเตอรี่ก็มีการสูญเสียประจุ ไฟฟ้าไปเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในแบตเตอรี่เอง โดยแบตเตอรี่จะสูญเสียประจุไปประมาณร้อยละ 7 ถึง 10 ต่อปี

          ดังนั้น เพื่อลดความสูญเสียและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ปัจจุบันนักวิจัยได้พัฒนาแบตเตอรี่ที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งวารสาร Scientific American ได้รายงานว่า ขณะนี้นักวิจัยได้พัฒนาส่วนประกอบที่เรียกว่า "นาโนเมมเบรน (nanomembrane)” ซึ่งเป็นเยื่อที่มีขนาดเล็กมากและมีรูแบบรูปรังผึ้ง เพื่อนำมาใช้กั้นภายในของเหลวที่เป็นอิเล็กโตรไลต์ (electrolyte) จากส่วนที่ทำปฏิกิริยาของเหลวที่เป็นอิเล็กโตรไลต์จะไม่สามารถไหลผ่านเยื่อนาโนเมมเบรนจนกว่าจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาต่อเข้ากับแบตเตอรี่

Nanomembrane
ภาพนาโนเมมเบรน ซึ่งเป็นเยื่อที่มีขนาดเล็กมาก มีรูแบบรูปรังผึ้ง (ภาพจาก Lucent Technologies)
ที่มา: https://www.sciencentral.com/articles/ view.php3?type=article&article_id=218392734

          เยื่อนาโนเมมเบรนรูปรังผึ้งนี้ช่วยให้แบตเตอรี่มีความเสถียรมากขึ้น สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งสามารถจ่ายไฟได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ชั้นรูปรังผึ้งนี้โดยปกติแล้วจะไม่ยอมให้น้ำผ่านได้ภายใต้สภาวะปกติ แต่เมื่อแบตเตอรี่ถูกใช้งาน ชั้นรูปรังผึ้งจะปรับสภาพโดยยอมให้น้ำหรือสารละลายอิเล็กโตรไลต์ผ่านได้ และผลจากการที่สารเคมีทีทำปฏิกิริยาถูกเก็บแยกกันจนกว่าแบตเตอรี่จะถูกใช้งานนั้น มีผลให้แบตเตอรี่นาโนนี้จะสามารถเก็บไว้ได้ถึง 15 ปี โดยไม่สูญเสียพลังงาน

          ในอนาคตคาดว่า แบตเตอรี่นาโนจะมีบทบาทสำคัญในอุปกรณ์ฉุกเฉินต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ต้องการให้แบตเตอรี่พร้อมใช้งานเสมอ หรือสามารถใช้งานได้เป็นเวลานานมากๆ ตัวอย่างเช่น เซนเซอร์ตรวจระเบิดชีวภาพ ซึ่งต้องพร้อมใช้งานและมีความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อเครื่องเริ่มทำงาน นอกจากนั้นแบตเตอรี่นาโนยังพุ่งเป้าไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์พกพาอีกด้วย

          นอกจากการพัฒนาให้แบตเตอรี่สามารถเก็บรักษาและใช้งานได้นานขึ้น นักวิจัยยังได้พยายามที่จะทำให้แบตเตอรี่นาโนไม่มีพิษ โดยใช้ขั้นตอนที่จะทำให้สารเคมีภายในกลายสภาพเป็นกลางเมื่อพลังงานหมดลง และพวกเขาคาดหวังว่านาโนแบตเตอรี่จะสามารถวางขายในท้องตลาดได้ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้

ที่มา:
https://www.sciencentral.com/articles/view.php3?type=article&article_id=218392734

 

ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology