การ์ทเนอร์แนะ "ย่อส่วน" ซอฟต์แวร์ เจาะองค์กรยุคใหม่

นักวิจัยแนะผู้ผลิตซอฟต์แวร์องค์กร แบ่งจำหน่ายสินค้าเป็นแพ็คเกจขนาดเล็ก หลังพบผู้ประกอบการยุคใหม่ เน้นใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน พร้อมนิยมอัพเดทโปรแกรมแยกส่วน ขณะการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม บีบวงจรชีวิตธุรกิจหดสั้น เชื่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แบ่งค่ายสร้าง "ระบบนิเวศน์"

 

ข้อสรุปของนักวิจัยบริษัทการ์ทเนอร์หลายราย ที่เข้าร่วมในงานประชุมไอที เอ็กซ์โป ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง คานส์ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการในปัจจุบันไม่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ทางการตลาด และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ กลับกลายเป็น "ซอฟต์แวร์" ที่ใช้รันองค์กรอยู่นี่เอง ด้วยเหตุที่ซอฟต์แวร์สมัยนี้เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายได้ จึงทำให้บริษัทต่างๆ ปรับเปลี่ยนโปรแกรมเหล่านี้ได้ยากขึ้นตามไปด้วย และทำให้ผู้ประกอบการหลายเจ้า กลับต้องจมอยู่กับซอฟต์แวร์ที่ตนไม่ได้ต้องการจะใช้อีกต่อไป

 

ชี้วงจรธุรกิจหดสั้น

"บริษัทต่างๆ ได้พยายามปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยการนำเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ มาใช้ แต่กลายเป็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ระบบไอทีมีวงจรชีวิตที่ยาวนานขึ้น ขณะที่วงจรทางธุรกิจกลับหดสั้นลงเรื่อยๆ" นายปีเตอร์ ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลกของการ์ทเนอร์ กล่าว ทางการ์ทเนอร์จึงคิดว่า ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการระบบในบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการจ่ายเงิน, การจัดเก็บสินค้าคงคลัง ไปจนถึงซอฟต์แวร์ระบบความสัมพันธ์ลูกค้า อย่างเช่น เอสเอพี, ไอบีเอ็ม, ออราเคิล และไมโครซอฟท์ ควรจะต้องจัดแบ่งซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่มหึมาของตน ให้เป็นแพ็คเกจที่มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ลูกค้าสามารถอัพเกรดหรือปรับเปลี่ยนได้เร็วขึ้น "คำถามก็คือ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ลูกค้าต้องการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีขนาดเล็กลง และในขณะเดียวกัน ก็ต้องชักจูงให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นได้หรือไม่" นายซอนเดอร์การ์ด กล่าว

 

เน้นซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน

และปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ผลิตเหล่านี้ยังต้องพัฒนาให้ชิ้นส่วนซอฟต์แวร์ของตนสามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งได้ เนื่องจากองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ มักจะเฉพาะเจาะจงเลือกใช้โปรแกรมพิเศษบางตัวจากผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ แต่ก็ยังต้องการให้ซอฟต์แวร์ทั้งหมดสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

"เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้ซอฟต์แวร์ต้องมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจ หรือกำหนดว่าซอฟต์แวร์ตัวใดเหมาะสมกับขั้นตอนใดที่สุดได้ง่ายขึ้นมาก" นายอีวอนน์ จีโนวีส นักวิเคราะห์รายหนึ่งของการ์ทเนอร์ กล่าว ด้วยเหตุนี้เอง ธุรกิจต่างๆ จึงเปลี่ยนจากการใช้โครงการไอทีขนาดใหญ่ ที่มีระยะเวลาการทำงานแบบมาราธอน เป็นแอพพลิเคชั่นย่อยๆ ที่สามารถใช้งานได้รวดเร็ว หรือการปรับเปลี่ยนระบบที่มีอยู่แล้วแทน ทางการ์ทเนอร์ยังเห็นว่า แทนที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะพยายามสร้างโปรแกรมที่ทำงานกับผลิตภัณฑ์ต่างค่ายได้ แต่ผู้ผลิตเหล่านี้กลับกำลังพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ระบบนิเวศน์" ขึ้น

 

ระบบนิเวศน์ซอฟต์แวร์

ระบบที่ว่าก็คือ อาณาจักรที่มีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่เป็นผู้กำหนดสภาพแวดล้อม หรือสร้างมาตรฐานกลางที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายอื่นจะต้องปฏิบัติตาม โดยทุกวันนี้ บริษัทแต่ละแห่งก็จะต้องพยายามเข้าเป็นสมาชิกของระบบนิเวศน์แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อให้ตนอยู่รอดได้ ถ้าหากตนไม่ใหญ่พอที่จะเป็นผู้กำหนดระบบนิเวศน์เสียเอง

ตัวอย่างเช่น กรณีของผู้ผลิตซอฟต์แวร์สหรัฐ "พีเพิลซอฟท์" ซึ่งถูกยักษ์ใหญ่ออราเคิล เปิดศึกควบกิจการเป็นมูลค่า 8,800 ล้านดอลลาร์อยู่ "พีเพิลซอฟท์ จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตอิสระ และจะต้องตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมกับระบบนิเวศน์แห่งไหน" นายซอนเดอร์การ์ด กล่าว "เมื่อออราเคิลซื้อพีเพิลซอฟท์ได้สำเร็จ นั่นก็คือ การตัดสินใจได้เสร็จสิ้นแล้ว"

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.