Web Standard
เอกสารแนบ 3
มาตรฐานทางด้านรูปแบบการใช้ภาษาบนเว็บ
ข้อกำหนด
หน่วยงานย่อยต่างๆ ของศูนย์ฯ จะต้องนำเสนอข้อมูลโดยมีรูปแบบของการนำเสนอข้อมูล และการแสดงผลภาษาดังต่อไปนี้
- ในการนำเสนอข้อมูลในแต่ละหน้าจะต้องมี Header และ Footer ของเว็บศูนย์ฯ ใส่อยู่เสมอ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
- Header จะต้องประกอบด้วย โลโก้ขององค์กรที่จะลิงก์กลับไปที่หน้าแรกขององค์กร, ชื่อของหน่วยงานที่จะลิงก์ไปที่หน้าแรกของหน่วยงาน, เมนูหลักของเว็บไซต์, และช่องสำหรับค้นหาข้อมูล
- Footer จะต้องประกอบไปด้วยชื่อหน่วยงาน, อีเมล, และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อผู้ดูแลเว็บข้อความสงวนลิขสิทธิ์ (Copyright) ในการนำข้อมูลในเว็บไซต์ไปใช้
- สำหรับเอกสารภาษาไทย การใช้เครื่องหมายวรรคตอนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
- นขลิขิต หรือวงเล็บ (...) วงเล็บเหลี่ยม [...] และวงเล็บปีกกา {...} ควรเคาะแป้นเคาะวรรค เพื่อเว้นวรรค 1 ครั้งก่อนเปิดวงเล็บ และอีก 1 ครั้งหลังปิดวงเล็บ ส่วนข้อความภายในวงเล็บจะต้องติดกับเครื่องหมายวงเล็บเปิดและปิด ตัวอย่างเช่น xxx (yyy) xxx, xxx [yyy] xxx, xxx {yyy} xxx เป็นต้น
- อัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูด "..." และอัญประกาศเดี่ยว '...' ควรเคาะแป้นเคาะวรรค เพื่อเว้นวรรค 1ครั้ง ก่อนเปิดเครื่องหมายคำพูด และอีก 1 ครั้งหลังปิดเครื่องหมายคำพูด ส่วนข้อความภายในเครื่องหมายคำพูดจะต้องติดกับเครื่องหมายคำพูดเปิดและปิด ตัวอย่างเช่น xxx "yyy" xxx เป็นต้น
- ไม้ยมก ๆ ต้องอยู่ติดกับข้อความหน้าเครื่องหมายไม้ยมก ส่วนข้อความที่อยู่หลังเครื่องหมายไม้ยมกให้เคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้ง ตัวอย่างเช่น xxxๆ yyy เป็นต้น
- ไปยาลน้อย ฯ จุลภาคหรือจุดลูกน้ำ , ทวิภาคหรือจุดคู่ : อัฒภาคหรือจุดครึ่ง ; อัศเจรีย์หรือเครื่องหมายตกใจ ! ปรัศนีหรือเครื่องหมายคำถาม ? และวิภัชภาคหรืออภัชภาค :- ต้องอยู่ติดกับข้อความที่อยู่ก่อนหน้าเครื่องหมายเหล่านี้ ส่วนข้อความที่อยู่ตามหลังเครื่องหมายเหล่านี้ จะต้องเคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้ง ตัวอย่างเช่น xxxฯ yyy หรือ xxx, yyy หรือ xxx: yyy หรือ xxx; yyy หรือ xxx! yyy หรือ xxx? yyy หรือ xxx:- yyy ยกเว้นการใช้เครื่องหมายจุลภาคคั่นตัวเลขทุกสามหลัก ในจำนวนที่ประกอบด้วยตัวเลขตั้งแต่สี่หลักขึ้นไป ตัวอย่างเช่น 1,000 และ 1,000,000 เป็นต้น
- ไปยาลใหญ่ ฯลฯ ควรเคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้ง หน้าเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ส่วนใหญ่เครื่องหมายนี้จะแสดงท้ายประโยค ดังนั้นก่อนขึ้นประโยคใหม่ จึงต้องเคาะแป้นเคาะวรรค 2 ครั้งหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ตัวอย่างเช่น xxx ฯลฯ yyy
- มหัพภาค . ควรอยู่ติดข้อความที่อยู่หน้าเครื่องหมายมหัพภาค และเคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้งหลังเครื่องหมายมหัพภาค ตัวอย่างเช่น xxx. yyy ยกเว้นการใช้เครื่องหมายมหัพภาคเป็นจุดทศนิยมหรือประกอบชื่อของเว็บไซต์ หรือส่วนหนึ่งของที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ห้ามมีวรรคก่อนหรือหลังเครื่องหมายมหัพภาค ตัวอย่างเช่น www.nectec.or.th, webmaster@nectec.or.th ถ้าข้อความนั้นมีการใส่เครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายวงเล็บ ให้ใส่เครื่องหมายมหัพภาคไว้ติดกับเครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายวงเล็บ ตัวอย่างเช่น xxx (yyy). หรือ xxx "yyy". เป็นต้น
- ไข่ปลาหรือจุดไข่ปลา ... ประกอบด้วยจุด 3 จุดเรียงติดกัน ไม่เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังเครื่องหมาย และอาจอยู่ท้ายประโยคได้ ตัวอย่างเช่น xxx...yyy หรือ xxx... ในกรณีพิเศษที่เป็นชื่อร่างกฎหมายต่างๆ ซึ่งมักจะระบุช่องว่างหลังปีพุทธศักราช ให้เคาะแป้นเคาะวรรคหลังจุดของปีพุทธศักราช 1 ครั้ง ก่อนใส่เครื่องหมายไข่ปลา ตัวอย่างเช่น พ.ศ. ... เป็นต้น
- เสมอภาค = ควรเคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้งหรือมากกว่า 1 ครั้ง ก่อนและหลังเครื่องหมายเสมอภาค ขึ้นอยู่กับความสวยงาม ตัวอย่างเช่น 1+1 = 2
- ทับ / ไม่เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังเครื่องหมาย ตัวอย่างเช่น วว 5204/ว.1022
- การใช้อักขระพิเศษอื่นๆ สำหรับเอกสารภาษาไทย จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
- เปอร์เซ็นต์ % และดอกจันทร์ * ให้อยู่ติดกับข้อความหน้าเครื่องหมายทั้งสองนี้ ส่วนหลังเครื่องหมายให้เคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้ง แล้วตามด้วยข้อความ แต่ถ้าเป็นตำแหน่งจบประโยค ให้เคาะแป้นเคาะวรรค 2 ครั้ง ตัวอย่างเช่น xxx% yyy หรือ xxx* yyy เป็นต้น
- เครื่องหมาย @ # และ $ ให้เคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้งก่อนเครื่องหมาย ส่วนหลังเครื่องหมายไม่ต้องเคาะแป้นเคาะวรรค ตัวอย่างเช่น xxx @yyy หรือ xxx #yyy หรือ xxx $yyy ยกเว้นกรณีที่เป็นที่อยู่ของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จะไม่มีการเว้นวรรค ตัวอย่างเช่น webmaster@nectec.or.th เป็นต้น
- เครื่องหมาย - เมื่อใช้แทนคำว่า "ถึง" ไม่ต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังเครื่องหมาย ตัวอย่างเช่น 22-25 มิถุนายน พ.ศ.2543 แต่ถ้าใช้แทนสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ และต้องการแสดงความชัดเจน ควรเคาะวรรค 1 ครั้งขึ้นไป ที่หน้าและหลังเครื่องหมาย ตัวอย่างเช่น 100 - 1,000
- การใช้อักขระไทยร่วมกับตัวเลข หรืออักขระในภาษาอื่น ให้เคาะแป้นเคาะวรรค 1 ครั้ง ก่อนและหลังตัวเลขหรืออักขระในภาษาอื่น ตัวอย่างเช่น กกก xxx กกก หรือ กกก 555 กกก
คำแนะนำ
หน่วยงานต่างๆ ควรจะมีรูปแบบของการนำเสนอ และการแสดงผลภาษาไทยดังต่อไปนี้
- ข้อมูลทุกส่วนของเว็บไซต์ ควรจะมีการนำเสนอทั้งหน้าเอกสารภาษาไทย และหน้าเอกสารภาษาอังกฤษ และควรจัดทำลิงก์สำหรับการเปลี่ยนระหว่างหน้าภาษาไทย และหน้าภาษาอังกฤษ และควรจัดวางตำแหน่งของลิงก์ไว้ในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน
- ในเอกสารภาษาอังกฤษ ในการแสดงตัวเลขที่มีค่าน้อยกว่า 20 ควรจะใช้คำในภาษาอังกฤษแทนตัวเลขนั้น เช่น I bought 5 pens for 20 baht. ควรเขียนเป็น I bought five pens for 20 baht. ตามหลักทั่วไปของการใช้ภาษาอังกฤษที่ดี
- ในเอกสารภาษาไทยควรจะใช้ตัวเลขเป็นเลขไทย
- การใช้คำทับศัพท์แนะนำให้ใช้ตามรายการที่แสดงดังต่อไปนี้ ตัวอย่างคำทับศัพท์
:: ::