รามานสเปกโทรสโกปี (Raman spectroscopy) เป็นเทคนิคกระเจิงแสงแบบไม่ยืดหยุ่นของแสงที่มากระตุ้นโมเลกุลของสาร เป็นเทคนิคที่นำมาใช้บ่งชี้ลักษณะเฉพาะของสารดังกล่าวได้แม่นยำ แต่ด้วยสัญญาณการกระเจิงของรามานจะมีสัญญาณน้อยมากทำให้การตรวจวัดมวลสารที่มีปริมาณน้อย ๆ โดยตรงเป็นไปได้ยาก จึงได้เกิดการพัฒนาพื้นผิวขยายสัญญาณรามาน (surface-enhanced Raman spectroscopy, SERS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขยายสัญญาณรามานดังกล่าว ซึ่งทำให้การตรวจวัดและวิเคราะห์โมเลกุลของสารเป็นไปได้จนถึงระดับที่ตรวจวัดสารตกค้าง (trace) ประเภทต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำมาก การประดิษฐ์คิดค้นพื้นผิวขยายสัญญาณรามานในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเลเซอร์และอุปกรณ์ตรวจวัดทำให้เครื่องตรวจวัดด้วยเทคนิครามานมีขนาดที่เล็กลงและมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น จึงได้มีการนำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการเกษตร เช่น การตรวจพิสูจน์ยาฆ่าแมลงตกค้าง ด้านนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจพิสูจน์สารเสพติด การตรวจพิสูจน์สารระเบิด การตรวจเปรียบเทียบและพิสูจน์ชนิดหมึกปากกา ด้านความมั่นคง เช่น การตรวจสารตั้งต้นของวัตถุดิบในการทำระเบิด รวมทั้งด้านการแพทย์ เช่น การตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรค และการตรวจวัดสารชีวโมเลกุลทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องการความเชื่อมั่นในกระบวนการ เครื่องมือตรวจวัด อุปกรณ์ และผลลัพธ์การตรวจวัดเป็นอย่างมาก
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติซึ่งมีหน่วยวิจัยที่มีองค์ความรู้ด้านเทคนิคและศักยภาพในการพัฒนาตัวขยายสัญญาณรามาน และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐานระดับชาติ เห็นควรกำหนดมาตรฐานของตัวขยายสัญญาณรามานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของตัวขยายสัญญาณรามาน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการด้านชิปขยายสัญญาณรามาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตัวขยายสัญญาณรามาน ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นจะส่งมอบให้ สมอ. พิจารณาประกาศเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตัวขยายสัญญาณรามาน พร้อมกับจัดทำเป็นเอกสารศูนย์ฯ ตัวขยายสัญญาณรามานเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของศูนย์ฯ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้อ้างอิงใช้งานในเบื้องต้น
บัดนี้ คณะกรรมการวิชาการด้านมาตรฐานชิปขยายสัญญาณรามาน ได้จัดทำ ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตัวขยายสัญญาณรามาน เสร็จสิ้นแล้ว และเห็นควรให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดของร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว ก่อนนำเสนอคณะกรรมการวิชาการพิจารณาให้ได้ข้อยุติต่อไป
หากท่านมีความประสงค์จะให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าว โปรดส่งข้อคิดเห็นพร้อมกับรายละเอียดของท่านในแบบเสนอข้อคิดเห็น มาทางโทรสารหมายเลข 0 2564 6889 หรือ อีเมล ecec@nectec.or.th ภายในวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จักขอบคุณยิ่ง
1. ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตัวขยายสัญญาณรามาน
3. แบบเสนอข้อคิดเห็น แบบ odt (สำหรับโปรแกรม OpenOffice Write, LibreOffice Write)
4. แบบเสนอข้อคิดเห็น แบบ docx (สำหรับโปรแกรม Microsoft Word)