โดย กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG)
กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG)
ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
เนคเทค สวทช.
เทคโนโลยีเครือข่ายเซลลูลาร์ไร้สายมีวิวัฒนาการมาถึงยุคที่ 5 หรือที่เรียกว่าย่อว่า 5th Generation Cellular Network (5G) ในช่วงปี พ.ศ. 2562 ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมแก่บุคคลทั่วไปในการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเทคโนโลยี 5G มีศักยภาพที่สอดคล้องกับแนวทางการปรับปรุงอุตสาหกรรมการผลิตให้เข้าสู่ยุคที่ 4 หรือ ที่เรียกว่า Industry 4.0 ด้วยการเพิ่มการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายข้อมูลที่มีเสถียรภาพ เข้าไปในสายการผลิต เป็นผลให้การผลิตสามารถปรับให้มีความยืดหยุ่นได้ สามารถตรวจสอบ และปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ยังมีความใหม่ และมีการปรับปรุงมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์ที่ใช้งานได้ในโรงงานกำลังค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น อีกทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้งานยังมีความเข้าใจในการประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างจำกัด ผนวกกับความกังวลในความคุ้มค่าที่จะลงทุนในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละราย เป็นส่วนสำคัญที่ยับยั้งการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของการลงทุนใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการทดลองทดสอบและการถ่ายทอดการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G ให้กับอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่ Smart Factory/Manufacturing ได้อย่างยั่งยืน ให้เข้ากับบริบทของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งการทดลองมาจากความต้องการของผู้ประกอบการโรงงาน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถของเทคโนโลยี 5G ในด้านต่าง ๆ ซึ่งเอกสารเผยแพร่ฉบับนี้เป็นสรุปผลการทดลองภายใต้โครงการทดลองและถ่ายทอดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับ Smart Factory/Manufacturing ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อเป็นการนำร่องศึกษาการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในโรงงาน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากแนวทางการเลือกใช้เทคโนโลยีทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการลงทุน และผลกระทบต่อภาคธุรกิจโทรคมนาคมและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโอกาสและข้อจำกัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง