จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ “ไดซิน” ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของไทย วาง Roadmap อย่างชัดเจนในการนำเทคโนโลยีเข้ายกระดับกระบวนการผลิต เพื่อก้าวสู่ “Smart Factory” ภายในปี 2025 โดยไดซินได้ร่วมเป็นหนึ่งในโรงงานนำร่องใช้งาน IDA Platform แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform) เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการไปสู่เป้าหมาย Smart Factory
.
คณะผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากร เนคเทค สวทช. นำโดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในฐานะหัวหน้าโครงการ IDA Platform เดินทางไปเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform ณ บริษัท ไดซิน จำกัด เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565
.
คุณธนินทร์ ลี้โกมลชัย ประธาน บริษัท ไดซิน จำกัด กล่าวถึง การวาง roadmap เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สำหรับการใช้งาน IDA Platform นั้น อยู่ในแผนงานด้าน IIoT & Automation ที่บริษัทเริ่มต้นนำระบบอัตโนมัติที่มีราคาเหมาะสมเข้ามาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น Karakuri kaizen, หุ่นยนต์, รถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ (AGV) ไปจนถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวบสอบชิ้นงาน
.
ไดซิน ติดตั้งอุปกรณ์ ใน IDA Platform ณ เครื่องจักร จาก 2 กระบวนการผลิตที่สำคัญและใช้ค่าพลังงานสูง ได้แก่
1) Die Casting เป็นกระบวนการผลิตต้นน้ำในการฉีดขึ้นรูปชิ้นงานและส่งต่อไปยังกระบวนการถัดไป ซึ่งเครื่องจักรสำคัญในกระบวนการนี้ คือ “เตาหลอม”
2) Machining เป็นกระบวนการตกแต่งและเจาะรูชิ้นงานตามแบบ ซึ่งเครื่องจักรสำคัญในกระบวนการนี้ คือ เครื่องอัดอากาศ(Air Compressor)
.
IDA Platform ได้เข้ามาช่วยลดภาระงานในการเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมด และเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรปกติให้เป็น “Smart Machine” ที่สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ และผู้ดูแลได้ โดยมีกระบวนการเริ่มจากรับค่าสัญญาณจากเครื่องจักรด้วย Sensor ต่างๆ ในส่วนของเตาหลอมที่ให้พลังงานเชื่อเพลิงสูงจะใช้ Recorder ในการส่งต่อข้อมูล และในส่วนของเครื่องอัดอากาศ จะใช้ MK5 GATEWAY ในการส่งต่อข้อมูล โดยทั้งสองอุปกรณ์ที่ทำงานต่างกันค่าต่างๆที่เครื่องจักร ตรวจจับได้ จะถูกส่งต่อมายังอุปกรณ์ URConnect ที่วิจัยพัฒนาโดย NECTEC เพื่อแปลงสัญญาณสู่รูปแบบดิจิทัล จากนั้นข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งผ่าน Siemens Gateway มายัง Cloud ของ NEXPIE เพื่อนำไปตรวจสอบ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลแบบ real-time บน Dashboard ต่อไป
.
คุณประสงค์ เกรียงไกรกุล Section Manager เล่าว่า บริษัทมีนโยบายการผลิตบนพื้นฐาน Lean Production system ไม่ผลิตสินค้า และจัดเก็บวัตถุดิบเกินความจำเป็น โดยทำการผลิตตามคำสั่งซื้อ และจัดส่งให้ทันตามรอบที่กำหนด ข้อมูลจาก IDA Plarform ช่วยให้ทราบสถานะของเครื่องจักรแบบ real-time พร้อมการแจ้งเตือนความผิดปกติ ทำให้ทีมเข้าแก้ปัญหา หรือ ป้องกันได้ทันท่วงทีจึงเข้ามาช่วยรักษาประสิทธิภาพ และเสถียรภาพกระบวนการผลิตของบริษัท ง่ายต่อการบริหารจัดการ และตัดสินใจ
.
ทีมได้นำข้อมูลเครื่องจักรจาก IDA Platform มา วิเคราะห์กำหนดค่ามาตรฐานเพื่อกำหนดการแจ้งเตือน (Alarm) ผ่านแอปพลิเคชัน Line เมื่อค่าต่างๆ ผิดไปจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้ดูแลเข้าตรวจสอบ และ แก้ปัญหาที่เกิดกับเครื่องจักรได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสามารถคาดการณ์สถานภาพของเครื่องจักรเพื่อป้องกันก่อนเกิดความเสียหายได้อีกด้วย (Predictive Maintainance)
.
คุณประสงค์ ยังได้ยกตัวอย่างการนำข้อมูลจาก IDA Platform ไปใช้ลดปัญหาการเกิดน้ำ ในระบบอากาศอัดเข้าสู่ระบบการผลิต เนื่องจากเครื่องอัดอากาศ (Air compressor) เมื่อผลิตอากาศอัดอากาศที่ผลิตได้จะมีอุณหภูมิที่สูง เมื่อเจอกับอุณหภูมิต่ำจึงเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ สร้างความเสียหายแก่ระบบการผลิต ทำให้เกิดสนิมภายในท่อ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ต้องผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Air dryer ที่ทำหน้าที่เป็นตัวทำให้อากาศที่ผลิตได้แห้งก่อนที่จะส่งไปใช้งานในกระบวนการผลิต บริษัทจึงทำการวัดค่าและศึกษาอุณหภูมิจุดน้ำค้าง (Dew point) ของเครื่อง Air dryer และติดตั้งอุปกรณ์ระบายน้ำ (Auto drain) โดยกำหนดค่ามาตรฐานอุณหภูมิจุดน้ำค้างอยู่ที่ 10 – 15 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าค่าดังกล่าว ระบบจะแจ้งเตือนความผิดปกติให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขทันที
.
รวมถึงการวัดค่าและแจ้งเตือนอุณหภูมิของเตาหลอม เนื่องจากอุณหภูมิมีผลต่อคุณภาพของน้ำอลูมิเนียมในการฉีดขึ้นรูป รวมถึงสถานะภาพของเตาหลอมที่อาจเสียหายได้จากอลูนิเนียมที่แข็งจากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม
.
นอกจากนี้ในเรื่องการลดต้นทุนพลังงาน ไดซินยังได้ตรวจวัดพฤติกรรมของเครื่องอัดอากาศในด้าน Load/Unload, Air Pressure เพื่อคำนวณการจ่ายแรงดันให้เหมาะสมกับการใช้งาน พร้อมทั้งดูสถานะการใช้พลังงานของเครื่องจักรในแต่ละกระบวนการผลิตเพื่อวางแผนใช้พลังงานให้คุ้มค่าต่อไป
.
ด้านคุณเอกณัท สุวรรณศรี Executive Vice President กล่าวว่า ไดซิน ยังมีแผนในการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ (Yokoten) ของการใช้งาน IDA Platform ไปยังกระบวนการผลิตอื่น ๆ และสาขาอื่น ๆ ของบริษัทไดซินอีกด้วย
.
นอกจากนี้ คณะนักวิจัย เนคเทค สวทช. ยังได้นำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับโจทย์จริงของบริษัทไดซินที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้าระดับกระบวนการผลิตในส่วนอื่น ๆ เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ตรวจสอบชิ้นงาน (Visual inspection System & AI) การใช้งานรถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ (AGV) ผ่านระบบ 5G เป็นต้น
.
สืบเนื่องจากแผนการลงทุนวิจัย พัฒนา และการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของไดซิน ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) จึงได้เชิญคุณชุติมา ศรีสิทธิรัตน์กุล นักวิเคราะห์อาวุโส งานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) สวทช. แนะนำมาตรการส่งเสริม การเงิน ภาษี และบัญชีนวัตกรรม เช่น มาตรการยกเว้นภาษี 200% สำหรับค่าใช้จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDI) มาตรการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนเพื่อขยายสิทธิประโยชน์ BOI ตามมาตรการ Merit-Based Incentives เป็นต้น