พื้นที่ชุ่มน้ำ
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง

  ลักษณะทั่วไป
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง ประกอบด้วยระบบนิเวศ 3 ลักษณะ คือ แม่น้ำ ปากแม่น้ำ และชายฝั่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดตรัง ซึ่งมีความหลากหลายของระบบนิเวศสูง ประกอบด้วย ป่าชายเลน แหล่งน้ำกร่อย ชายหาด หาดหิน แนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล
  คุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
  พืช
สังคมพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลน ในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่มีความสำคัญ พบหญ้าทะเลอย่างน้อย 8 ชนิด จัดเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบรูณ์ของหญ้าทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งหากินของพะยูน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของประเทศไทย
  สัตว์
พบนกอย่างน้อย 212 ชนิด บางชนิดอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ หาดเจ้าไหมเป็นแหล่งทำรังวางไข่แห่งเดียวของนกกระสาคอดำใน Malay Peninsula
พบปลาอย่างน้อย 75 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งอาศัยอยู่ในแนวหญ้าทะเล เช่น ปลา กะพง ปลาใส้ตัน เป็นต้น
พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 13 ชนิด เช่น กบอ่อง อึ่งน้ำเต้า พบสัตว์เลื้อยคลาน 39 ชนิด เช่น เต่าบึงหัวเหลือง พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างน้อย 22 ชนิด ชนิดที่มีความสำคัญ ได้แก่ พะยูน
  คุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม
ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำตรังสามารถอำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงในรูปฟืน ถ่าน และผลผลิตอื่นๆ กับประโยชน์ทางอ้อมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมีการประมง โดยการจับปลา ปู เลี้ยงปลาในกระชัง ทำนากุ้ง จัดเป็นแหล่งประมงที่สำคัญสำหรับชุมชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามมาก